บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

ขุมทรัพย์ในมือ 11 กสทช.ผลประโยชน์แสนล้าน ใครได้ – ใครเสีย Read more: ขุมทรัพย์ในมือ 11 กสทช.ผลประโยชน์แสนล้าน ใครได้ - ใครเสีย

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 ประเทศไทยก็ได้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้ง 11 คน เป็นที่เรียบร้อย หลังจากที่รอคอยกันมาหลายปี แม้จะมีเสียงวิจารณ์ตามมาว่ากระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส และผู้ที่ได้ตำแหน่งส่วนใหญ่เป็น “บิ๊กทหาร” (อ่านล้อมกรอบ ใครเป็นใครในกสทช.) ที่สำคัญผู้ที่ได้เกือบทั้งหมดเป็นไปตามโพยรายชื่อบล็อกโหวตที่มีการคาด การณ์กันไว้ก่อนหน้านี้

ขุมทรัพย์ในมือ 11 กสทช.ผลประโยชน์แสนล้าน ใครได้ - ใครเสีย
เหตุผลที่ทำให้เชื่อได้เช่นนั้นเป็นเพราะ กลุ่มทุน-นักธุรกิจ-เจ้าของกิจการสื่อ ตลอดจนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ต่างต้องการส่งคนของตนเอง หรือพรรคพวกเข้าไปนั่งอยู่ใน กสทช. เพื่อหวังให้เป็นแขนขามาเอื้อประโยชน์ภายหลัง โดยเฉพาะผลประโยชน์เรื่องการออกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทร คมนาคม และการออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ รวมทั้งคลื่นความถี่วิทยุโทรคมนาคมที่ถือเป็น “เค้กก้อนโต” ที่บรรดากลุ่มทุนต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่มีกิจการเหล่านี้ต่างต้องการรักษาสมบัติของตนเองเอา ไว้ รวมทั้งยังหวังจะขอ “มีเอี่ยว” ในส่วนอื่นๆด้วย
ไม่ว่าจะถูกจับจ้อง หรือถูกตั้งข้อสงสัยถึงที่มาที่ไปอย่างไร แต่เชื่อขนมกินได้เลยว่าทันทีที่ กสทช. ทั้ง 11 คนได้รับโปรดเกล้าสิ่งที่ต้องเร่งทำเป็นลำดับแรก และเชื่อว่าการพิจารณาคงใช้เวลาไม่นานก็สำเร็จลุล่วง ไม่แท้งเหมือนที่ผ่านมากก็คือ การเปิดประมูล 3 จี บนคลื่นความถี่ใหม่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เพราะช่วยลดความเสี่ยงจากธุรกิจสัมปทานเดิมที่จะทยอยหมดอายุลง และเป็น 3 จี บนคลื่นความถี่ใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า 3 จี บนความถี่เดิม (HSPA) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายก็ถูกลงกว่าสัมปทานเดิมด้วย เพียงแต่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตและลงทุนโครงข่ายเพิ่มเติม และหากในที่สุดการเปิดประมูล 3 จี เกิดขึ้นได้จริงก็จะทำให้มูลค่าจากธุรกิจ 3 จี ของเอไอเอส ดีแทค และทรู เพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน
เพราะเอาแค่ธุรกิจทั้งทางตรงและเกี่ยวเนื่องก็ปาเข้าไปหลายแสนบาทเข้าไปแล้ว
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้ประกอบการทั้ง 3 ค่ายใหญ่จะออกมาเร่งเครื่องกสทช. ให้จัดประมูล 3จีคลื่นความถี่ย่าน 2 กิกะเฮิรตซ์โดยเร็ว รวมถึงให้โอนย้ายคลื่นความถี่ที่อยู่ในระบบสัญญาสัมปทานเดิมกลับไปสู่การ บริหารของ กสทช. เมื่อผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือสิ้นสุดสัมปทานลง
อย่างไรก็ตาม กสทช.ไม่ได้มีหน้าที่แค่ตามที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดเท่านั้น เนื่องด้วยมีกฎหมายเกี่ยวข้องที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งคือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งที่ผ่านมานับแต่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วแต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างการประกอบกิจการกระจายเสียงและ กิจการโทรทัศน์ เนื่องจากในเวลาดังกล่าวยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลอย่างสมบูรณ์
กระทั่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2554 มีผลใช้บังคับและเมื่อมีการแต่งตั้ง กสทช. อำนาจหน้าที่ของ กสทช. จึงไม่ได้มีเพียงการจัดสรรคลื่นความถี่ การออกใบอนุญาตประกอบกิจการหรือการประมูลคลื่นความถี่ 3จี เท่านั้น แต่ กสทช.ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างกิจการกระจายเสียงและกิจการ โทรทัศน์ทั้งระบบ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ ที่เป็นผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์จะต้องคืนคลื่นความถี่ และสัญญาสัมปทานที่มีอยู่เดิม ด้วยการยกเลิกสัมปทานวิทยุ โทรทัศน์ทั้งหมด ปลดล็อกคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์จากเจ้าของเดิม นำคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์มาออกประมูล และนำเงินเข้ากองทุนฯ โดยไม่ต้องส่งเข้าคลังหลวง กสทช.เป็นผู้มีอำนาจในการจัดสรรเงินจำนวนมหาศาลนี้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การเปิดประมูลไลเซนส์ 3 จี เข้าใจว่าทั้งผู้ประกอบการเอกชน ประชาชน หรือภาครัฐต้องการให้เกิดโดยเร็ว เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นที่กสทช. ต้องจัดการ ส่วนการแก้ไขปัญหาภาควิทยุโทรทัศน์ ทีวีดาวเทียม และวิทยุชุมชนก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเช่นเดียวกัน และถือเป็นความท้าทายของกสทช. ในการเรียกคืนคลื่นความถี่จากกองทัพ และหน่วยงานอื่นๆเพื่อเข้ามาจัดสรรให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นอย่างเท่าเทียม กัน
บางคนกล่าวว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่บรรดา “บิ๊กทหาร” พาเหรดเข้าเป็นกสทช. มากเป็นเพราะต้องการรักษาผลประโยชน์ของกองทัพไว้ เนื่องจากคลื่นความถี่วิทยุที่มีอยู่จำนวนหลายสิบคลื่นในปัจจุบันอยู่ภายใต้ การครอบครองของ อสมท. กองทัพ และกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งแม้ธุรกิจวิทยุจะไม่รุ่งเรืองเหมือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นธุรกิจที่มีรายได้จากโฆษณาไม่น้อย และมีอัตราการเติบโตของโฆษณาเป็นตัวเลข 2 หลัก จึงทำให้หลายค่ายพยายามกอดธุรกิจนี้ไว้จนแน่น
อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของ กสทช.ครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม วิทยุ และโทรทัศน์ ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท เนื่องจาก กสทช. มีบทบาทสำคัญด้านการกำกับดูแล จัดสรรคลื่นความถี่ และออกใบอนุญาตประกอบกิจการทั้ง 2 ส่วน คือ โทรคมนาคม และวิทยุโทรทัศน์ โดยคาดว่าในช่วงระหว่างปี 2555-2558 การลงทุนด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์จะอยู่ใน 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรก ธุรกิจสื่อที่ไม่ใช้ย่านความถี่ที่ต้องมีการจัดสรรคือ ธุรกิจเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตรายการรายใหญ่ อย่าง อาร์เอส, จีเอ็มเอ็มแกรมมี่, เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ หรือแม้แต่กันตนา ที่เข้ามาลุยในทีวีดาวเทียมอยู่แล้ว จะยิ่งเข้ามาลงทุนในธุรกิจเหล่านี้มากขึ้นไปอีก
ขณะเดียวกันบรรดาฟรีทีวี อย่าง 3-5-7 และโมเดิร์นไนน์ ก็คงไม่พลาดที่จะเข้ามาร่วมวงขยายขอบข่ายสื่อของตนเองให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นไป อีก เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันเม็ดเงินโฆษณาในทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีกำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ล่าสุดมีตัวเลขการใช้เงินผ่านสื่อนี้กว่า 5,000 ล้านบาท คิดเป็น 8-9% เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมโฆษณาโดยรวมทั้งปี แม้จะไม่มากมายนัก แต่ถ้ามองศักยภาพการเติบโตน่าจะไปได้สวย หากพิจารณาจากฐานผู้ชม โดยเฉพาะในส่วนของจานดำ PSI จากตัวเลขเมื่อสิ้นปี 2553 อยู่ที่ 6 ล้านจาน ปีนี้คาดจะเพิ่มเป็น 7.2 ล้านจาน และในภาพรวมของเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมตอนนี้สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ แล้วกว่า 31.2 ล้านคนทั่วประเทศ
เมื่อเป็นเช่นนี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์การแข่งขันในสมรภูมิทีวีดาวเทียม ต่อไปสนุกขึ้นแน่นอน เนื่องจากแต่ละค่ายต่างมีเงินลงทุน และคอนเทนต์อยู่ในมือกันอย่างพรักพร้อมอยู่แล้ว แต่กรณีของฟรีทีวีบางรายอาจจะมีปัญหาเพิ่มขึ้นมาบ้างตรงที่ต้องมีค่าใช้จ่าย เกิดขึ้นมาอีก 2 ส่วนคือ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีให้กสทช. ประมาณ 6% ของรายได้โฆษณา และจ่ายเงินเข้ากองทุนสาธารณะตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไปในอัตรา 2% ของรายได้โฆษณาทั้งทางตรงและทางอ้อม ยกเว้นบริษัทเอกชนบางราย เช่น บีอีซี เวิลด์ (ช่อง 3), ช่อง7 และทรู วิชั่นส์ ให้ดำเนินงานภายใต้สัมปทานเดิมไปก่อนจนกว่าจะครบสัญญาในปี 2563 ส่วนหน่วยงานภาครัฐที่มีรายได้จากค่าสัมปทาน อย่าง อสมท. และช่อง 5 นั้นจะต้องปรับบทบาทตนเองมาเป็นผู้ดำเนินการอย่างเดียว ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจาก 2 รายการข้างต้น จากปัจจุบันที่ไม่มีค่าใช้จ่ายดังกล่าว
กลุ่มที่สอง การขอใบอนุญาตกิจการวิทยุและโทรทัศน์ที่ใช้ย่านความถี่ กลุ่มนี้จะต้องรอแผนแม่บทจัดสรรคลื่นอีกระยะหนึ่ง โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ การเปลี่ยนระบบการส่งสัญญาณและภาครับสัญญาณในประเทศไทย จากอนาล็อกไปเป็นดิจิตอลในปี 2558 ซึ่งมีข้อกำหนดร่วมกันในเวทีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ที่ให้ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนยกเลิกแพร่ภาพโทรทัศน์ระบบอนาล็อกในปี 2558
ทว่า ปัจจัยการเปลี่ยนโทรทัศน์สู่ดิจิตอลคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากจะต้องลงทุนด้านอุปกรณ์การส่งสัญญาณ และการผลิตใหม่ทั้งหมด ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการขอใบอนุญาตคลื่นความถี่กิจการธุรกิจโทรทัศน์ ซึ่งใช้งบลงทุนสูงอาจมีจำนวนไม่มาก เพราะต้องรอความชัดเจนของการเปลี่ยนระบบดิจิตอลและแผนแม่บทการประมูลคลื่น ความถี่โทรทัศน์ก่อน
กสทช. ทั้ง 11 คน จะเป็นกลางและโปร่งใสตามที่วาดหวังได้หรือไม่ คงต้องรอหลังจัดทำแผนแม่บทเสร็จและมีผลบังคับ เมื่อยกเลิกสัญญาทีวี วิทยุ ทั้งหมดแล้ว กฎหมายให้ กสทช.นำคลื่นดังกล่าวออกประมูลใหม่ และแบ่งคลื่นออกเป็นสามระดับ คือ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น
ในเวลานั้นจึงจะเป็นเครื่องตัดสินว่า กสทช.จัดสรรคลื่นความถี่อย่างเสรี และเป็นธรรม ได้สมดังที่ทุกฝ่ายรอคอยหรือไม่

| WiseKnow | Knowledge Blog

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง