ยุทธศาสตร์ประเทศไทยเป็นเรื่องระยะยาว แม้แต่รัฐบุรุษซึ่งปราดเปรื่องที่สุดก็ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่า นโยบายสุดเลิศหรูที่กระทำในวันนี้ จะยังส่งผลดีในอีก 50 ปีข้างหน้าหรือไม่ ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร ปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็ยิ่งมีความสลับซับซ้อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีผลกระทบไปทั่วทุกหย่อมหญ้า
“ประวัติศาสตร์” นับเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง ในการศึกษาเรียนรู้ถึงผลกระทบของนโยบายที่คนในชาติได้ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่อเป็นห้วงระยะเวลาที่ยาวนานนับ 1000 ปี ก็ย่อมมองเห็นถึงความคลี่คลายได้กระจ่างชัด ซึ่งจะเป็นบทเรียนล้ำค่าในการกำหนดนโยบายของรัฐบุรุษต่อไป
1. ทุนทางสังคม (Social Capital)
“อัสซีเรีย” นับเป็นชนชาติโบราณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทางด้านการทหาร โดยมีนวัตกรรมการจัดกำลังกองทัพที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งได้ถูกหยิบยืมไปใช้สร้างมหาอาณาจักรของชาวเปอร์เซียและโรมันในเวลาต่อมา ขณะที่ชื่อเสียงของอัสซีเรียกลับไม่ค่อยเป็นที่จดจำของคนทั่วไปนัก
กองทัพเกรียงไกร จึงไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดของชนชาติ เพราะที่สุดแล้วสิ่งซึ่งทำให้มนุษย์เอาชนะสัตว์ร้ายได้ ย่อมเป็นภาษาและความร่วมมือของเผ่าพันธุ์ ในการวางแผนกลยุทธ์และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อปราบปรามเขี้ยวเล็บของเหล่าเดรัจฉานทั้งหลาย
ชนชาติโรมันไม่ได้รบเก่งกล้ามาตั้งแต่กำเนิด ในช่วงต้นได้ผลัดกันแพ้ชนะกับชนชาติเพื่อนบ้าน หลายครั้งแทบจะต้องสูญสิ้นแผ่นดิน หากทว่าชาวโรมันก็อดทนยืนหยัดจนกระทั่งวิกฤตการณ์ผ่านพ้น สุดท้ายเมื่อชาติเพื่อนบ้านเกิดปัญหาขัดแย้งกันภายใน ชาวโรมันที่มีความประสานกลมเกลียวในสังคมดีกว่าก็สามารถอาศัยช่วงจังหวะนี้ในการรบพุ่งเอาชนะเพื่อนบ้านได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
สิ่งที่ทำให้อารยธรรมโรมันยิ่งใหญ่จนกระทั่งครอบครองไปครึ่งโลกอย่างยั่งยืน ยิ่งไม่ใช่เรื่องของกำลังรบหรือการบริหารจัดการอาณาจักรเพราะชนชาติเปอร์เซียก็มีความสามารถเช่นนี้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ดังนั้น จุดเด่นของอารยธรรมโรมันก็คือ “ทุนทางสังคม” ที่ทำให้คนในชาติหลอมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แม้จะมีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์กันเป็นระยะ หากทว่าชนชั้นสูงชาวโรมันก็มีวิสัยทัศน์เพียงพอที่จะแบ่งปันผลประโยชน์กลับคืนให้ชนชั้นล่างอย่างชาญฉลาด เพื่อร่วมกันรับมือภัยคุกคามจากภายนอก ในที่สุดชนชาติโรมันจึงแผ่แสนยานุภาพกลบทับเพื่อนบ้านที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อนได้อย่างแยบยล
นครรัฐกรีก เป็นต้นตำรับประชาธิปไตยซึ่งไม่มีอารยธรรมโบราณใดเสมอเหมือน หากทว่า ประชาธิปไตยของชาวเอเธนส์ก็จำกัดเพียงดินแดนของตนเท่านั้น ไม่สามารถเผื่อแผ่ไปถึงคนกรีกในนครรัฐอื่นที่มีเชื้อสายเดียวกัน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงชนต่างชาติที่ชาวกรีกดูถูกว่าเป็น “บาร์บาเรียน”
หลังจากร่วมมือกันจัดการศัตรูต่างชาติอย่างชาวเปอร์เซียที่ยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ เอเธนส์และสปาร์ตาก็กลับเปิดฉากทำสงครามห้ำหั่นกันเองอย่างนองเลือด จึงเป็นจังหวะโอกาสให้มาซิโดเนียที่เป็นรัฐบ้านนอกได้ฉกฉวยเพื่อทะยานสู่ความเป็นใหญ่ จนกระทั่งครอบครองไปครึ่งค่อนโลกในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช
ที่น่าเศร้าก็คือ อาณาจักรสุดลูกหูลูกตาที่แย่งชิงมาได้ ก็พลันต้องล่มสลายอย่างง่ายดายภายหลังองค์มหาราชันสวรรคตไม่นานนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะชนชาติกรีกไม่มีทุนทางสังคมที่เข้มแข็งซึมลึกเพียงพอในการปกครองคนต่างชาติ ซึ่งแตกต่างจากชาวโรมันที่เก่งกล้าในการสร้างความสามัคคีทั้งกับพลเมืองในชาติและชนต่างชาติ
“ทุนทางสังคม” จึงไม่ใช่การทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน หากทว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มคนทุกระดับชั้นในอาณาจักรได้มีส่วนร่วมปกครองประเทศ โดยไม่แบ่งว่าเป็นเมืองหลวงหรือต่างจังหวัด สายเลือดบริสุทธิ์หรือลูกเสี้ยวลูกครึ่ง ถึงแม้ผู้ต่ำต้อยที่สุดในราชอาณาจักรจะได้รับอำนาจไปเพียงเศษเสี้ยวธุลีดิน ก็ยังคงรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน
นี่เป็นเอกลักษณ์พิเศษของชาวโรมัน ที่แม้จะเป็นชาติอนุรักษ์นิยม เคารพในความโบราณเก่าแก่ของขนบธรรมเนียมประเพณี หากทว่าด้วยจิตใจที่เปิดกว้างและยืดหยุ่นให้กับทุกชนชั้นในสังคม ไม่เมียงมองเพื่อนบ้านเป็นเพียงคนป่าเถื่อนที่อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ จึงทำให้ชาวโรมันสามารถหยิบยืมใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของมนุษย์ในแต่ละท้องที่ เพื่อผลักดันอารยธรรมของตนไปสู่จุดสูงสุด ที่ยังไม่เคยมีชนชาติใดกระทำอย่างยิ่งใหญ่และยั่งยืนได้ทัดเทียมตราบจนปัจจุบัน
2. นวัตกรรม
ชาวโรมันไม่ได้ชาญฉลาดในการคิดค้น “นวัตกรรม” หากทว่าสามารถหยิบยืมจากเพื่อนบ้านมาผสมผสานกับลักษณะเฉพาะของตนเองได้ลึกซึ้งยิ่ง อารยธรรมโรมันจึงก้าวขึ้นสู่ความเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และรักษาอำนาจไว้ได้ยาวนานที่สุดในโลก
เมื่อโรมันได้ครอบครองโลกอารยธรรมโบราณจนสุดขอบเขตจำกัดทางภูมิศาสตร์แล้ว ทุกชนชาติก็ถูกหล่อหลอมให้กลายเป็น “ชนชั้นผู้ดีเยี่ยงโรมัน (Romanization)” อย่างเต็มที่ จึงยากจะมีนวัตกรรมและภูมิปัญญาใดให้ชาวโรมันได้หยิบยืมประยุกต์อีกต่อไป โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งโรมเคยได้เปรียบดุลการค้าด้วยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมดังเช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องแก้ว และภาชนะโลหะ เข้าไปค้าขายในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน และอังกฤษ ก็เริ่มถูกท้าทายภายในเวลาไม่นานนัก
ในคริสตศตวรรษที่ 2 ดินแดนที่เคยล้าหลังก็ประสบความสำเร็จในการเลียนแบบและผลิตสินค้าเข้าแข่งขันในตลาดได้ จึงส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของโรมันที่ไม่มีนวัตกรรมทั้งทางเทคโนโลยีหรือการบริหารจัดการใดอีกต่อไป ต้องพบเจอกับความเสื่อมทรุด
ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจที่ผลิตซ้ำแต่สิ่งเดิม ย่อมกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความล่มสลายทางอารยธรรมในอีกหลายศตวรรษต่อมา
“ทุนทางสังคม” ซึ่งเคยเป็นจุดได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของชาวโรมันที่มีเหนืออารยธรรมเพื่อนบ้าน จึงเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความเบื่อหน่ายและอ่อนแอ เมื่อไม่มีนวัตกรรมจากอารยธรรมภายนอกอื่นใดให้หยิบยืมได้อีกต่อไป การสนับสนุนให้เอกลักษณ์ที่หลากหลายได้ผุดบังเกิดขึ้นในสังคม จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่พึงกระทำในห้วงเวลาที่อาณาจักรถึงจุดอิ่มตัวและต้องการความกระฉับกระเฉงเปลี่ยนแปลง เพื่อว่าชาวโรมันที่มีลักษณะซื่อตรงทื่อด้านจะได้หยิบยืมความสามารถจากชนชาติอื่นที่นิยมความขัดแย้งแตกต่าง มาพัฒนาต่อยอดและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ไม่สิ้นสุด
3. จังหวะสุกงอม
“ผลประโยชน์” ที่ได้มาโดยไม่ต้องลงแรง บางครั้งก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นโทษภัยในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อผู้โชคดีคนนั้นไม่มีวุฒิภาวะที่เพียบพร้อม ไม่สามารถสร้างระบบบริหารจัดการเพื่อรองรับและต่อยอดได้
ชาวโรมันไม่ได้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลที่จะครอบครองโลกตั้งแต่เริ่มแรก หากทว่าเกิดจากสงครามป้องกันตัวเองหลายครั้งครา หากทว่าเมื่อโรมันเริ่มได้รับชัยชนะติดต่อกัน ชาติเพื่อนบ้านที่มีความขัดแย้งภายในก็หันเหเข้ามาพึ่งพาใบบุญ ในที่สุดจึงถูกโรมันที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยกลืนกินไปในที่สุด
ความยืดหยุ่นและลึกซึ้งในการบริหารจัดการอาณาจักรของชาวโรมัน ทำให้สามารถหลอมรวมและสร้างความเป็นโรมันให้กับชนชาติอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดภาวะสันติสุขและเจริญรุ่งเรืองที่ยาวนานหลายร้อยปี
อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของชนชาติโรมันคือ ความสร้างสรรค์ ในเมื่อไม่มีชนชาติอื่นใดนอกอาณาจักรโรมันให้สามารถหยิบยืมนวัตกรรมมาต่อยอดเป็นของตัวเองได้ อาณาจักรโรมันจึงเริ่มเข้าสู่ความเสื่อม ซึ่งเปิดโอกาสให้อนารยชนที่เรียนรู้ความเจริญแบบโรมันเข้าโจมตีและยึดครองได้ในที่สุด
หากในวันนั้น ชาวโรมันไม่รีบร้อนที่จะฮุบกลืนอาณาจักรของผู้อื่น แต่ปล่อยให้ความหลากหลายของชนชาติได้สร้างปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เหมือนกับที่เกิดขึ้นในยุโรปสมัย Renaissance ในอีกหลายร้อยปีต่อมา ก็อาจช่วยยืดอายุเวลาความรุ่งเรืองของอารยธรรมโรมันไปอีกนานแสนนาน ไม่ต้องถูกกลืนชาติและล้มหายไปจากแผนที่โลกเหมือนดั่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“จังหวะสุกงอม” จึงเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารประเทศ การเติบโตที่รวดเร็วเกินขีดจำกัดของนวัตกรรมและทุนทางสังคม ในที่สุดย่อมแฝงไว้ด้วยวิกฤตแห่งความล่มสลาย โดยเฉพาะเมื่อแกนนำในกลุ่มเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน ขณะที่ระบบจัดการขององค์กรยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการแก้ปัญหา ความยิ่งใหญ่ที่สั่งสมมาได้อย่างรวดเร็ว ก็พร้อมจะเลือนหายไปอย่างฉับพลันโดยที่ไม่มีผู้ทรงบารมีคนใดจะสามารถฉุดรั้งไว้ได้เลย
บทสรุป
ความยิ่งใหญ่ของประเทศชาติหรือปัจเจกชน ย่อมไม่ได้ชี้ขาดที่ความสามารถเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นกำลังทหาร พลังทางเศรษฐกิจ หรือไหวพริบทางการเมือง หากทว่ามาจากการสื่อสารร่วมมือกันของผู้คนที่หลากหลายในสังคมหรือองค์กร ที่สามารถต่อยอดไปสู่นวัตกรรมและความสร้างสรรค์ได้ไม่สิ้นสุด
“ทุนทางสังคม” ที่เป็นนามธรรมและจับต้องได้ยาก จึงกลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จขององค์กรและประเทศชาติในระยะยาว หากทว่าการพัฒนาทุนทางสังคมก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องบริหารจัดการให้พลังปรองดองกลมกลืนและพลังขัดแย้งแตกต่าง มีสมดุลที่กลมกล่อม เพียงพอที่จะรักษาความเป็นเปล่งปลั่งกระชุ่มกระชวยของอารยธรรมให้ยั่งยืนไปตราบชั่วกัลปาวสาน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น