บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แกะรอยนักการเมือง ก่อนสำแดงพลังเลือกตั้ง by Kittinun Nakthong Showcase

แกะรอยนักการเมือง ก่อนสำแดงพลังเลือกตั้ง by Kittinun Nakthong Showcase

พักนี้ผมเริ่มจะเอียนกับนักการเมืองครับ หลังจากที่เราได้รับบทเรียนอย่างสาสมมาตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย มาถึงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คงไม่มีคำพูดใดที่เห็นภาพได้มากกว่าคำว่า “อัปรีย์ไป...จัญไรมา”



เพราะไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทักษิณและนอมินี หรือรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่จับมือพรรคร่วมรัฐบาล สังคมไทยก็ได้เห็นความตกต่ำของการเมือง ที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม โฆษณาชวนเชื่อ เอื้อประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง ไม่นับรวมช่องว่างระหว่างคนชั้นกลางกับคนรากหญ้าที่ห่างกันมากขึ้น



ระหว่างนั้นเรายังได้เห็นข้ออ้างที่ถูกนำมาใช้แก่ผู้สนับสนุนนักการเมืองมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวของนักการเมือง เช่น คำว่า “โกงบ้างไม่เป็นไร... ขอให้ทำงานได้” “คอมมิชชั่นเป็นเรื่องปกติ” “เลี้ยงดูปูเสื่อ พาไปดูงานต่างประเทศ แถมพ็อกเก็ตมันนี่ เป็นเรื่องธรรมดา” “มีรัฐบาลไหนไม่โกงบ้าง โกงแล้วมีผลงานยังดีกว่าโกงแล้วไม่ทำงาน” ฯลฯ ซึ่งเป็นการปลูกฝังความเชื่อแก่ชาวบ้านแบบผิดๆ ที่นำไปสู่ความเสียหายของบ้านเมือง



ยิ่งไม่น่าเชื่อเข้าไปใหญ่ กับคำพูดของนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่พูดในทำนองว่า ขอให้ประชาชนพิจารณาเลือกพรรคที่ดีที่สุดหรือเลวน้อยที่สุดมาเป็นผู้บริหารประเทศ สวนทางกับพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตรัสว่า “ส่งเสริมคนดีให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” หรือแม้แต่คำว่า “ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป” ด้วยซ้ำ



อีกด้านหนึ่ง ช่วงนี้ใครฟังการปราศรัยของพรรคเพื่อไทย ที่มักจะถ่ายทอดสดผ่านทีวีเสื้อแดงช่วงนี้ จะเห็นว่าในแต่ละจังหวัด จุดขายอยู่ที่วิดีโอลิงก์ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร คุยโวโอ้อวดถึงนโยบายประชานิยม ทั้งบัตรเครดิตชาวนา เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แจกแท็บเล็ตพีซีให้นักเรียน แทบจะเรียกได้ว่า โฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้ตัวเองดูยิ่งใหญ่ไปก่อน หวังแค่ซื้อใจชาวบ้าน แทบไม่มีหลักประกันว่าจะทำได้ตามที่หาเสียงหรือไม่



ส่วนแกนนำสามเกลอหัวขวด มักจะชอบพูดเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองแบบแดงๆ ทั้งเรื่องความตายที่ราชประสงค์ เรื่องประชาธิปไตยกินได้ เรื่องถูกอำมาตย์กลั่นแกล้งเพื่อปลุกระดม ที่น่าแปลกคือ บนเวทีกลับพูดถึงผู้สมัครส.ส.น้อยมาก ซึ่งไม่รู้ว่าตั้งใจจะส่ง “เสาไฟฟ้า” แข่งกับพรรคประชาธิปัตย์หรือยังไงก็มิอาจจะทราบได้ แต่ที่แน่ๆ มันก็สะท้อนให้เห็นว่า เพราะด้วยค่านิยมแบบพวกมากลากไปนี่แหละ เราถึงได้ส.ส.ที่ไร้คุณภาพ นำไปสู่ความตกต่ำของรัฐสภาไทย และการเมืองไทยที่ไร้มาตรฐาน เพราะอำนาจที่หอมหวนกลายเป็นเรื่องสมบัติผลัดกันเข้ามาเขมือบนั่นเอง



สิ่งที่จะชี้วัดการเมืองไทยว่าจะเจริญรุ่งเรือง หรือจะตกต่ำถึงขีดสุดก็คือบรรดานักการเมือง โดยเฉพาะนักเลือกตั้ง ทุกวันนี้ที่เข้ามาก็เพื่อแสวงหาอำนาจ ทำหน้าที่แค่ยกมือเลือกนายกรัฐมนตรี และยกมือสนับสนุนตามมติพรรค มากกว่าที่จะเป็นผู้แทนเพื่อเป็นปากเสียงแทนประชาชน มิหนำซ้ำยังไม่สนใจว่า การได้มาซึ่งอำนาจนั้น ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งส.ส.ในอำนาจนิติบัญญัติ หรือนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีในอำนาจบริหาร ก็ต้องเคารพขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบจากประชาชน แต่กลับฝืนต่อกระแสสังคมและความถูกต้องของชาติบ้านเมืองเสียเอง



นำมาสู่ “วิกฤติที่สุดในโลก” ของประเทศไทย ที่เรื้อรังและรุนแรงมาถึงวันนี้...



วันก่อนผมเข้าไปชมเว็บไซต์ที่ชื่อ “เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย” (http://www.tpd.in.th/) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย 7 องค์กร โดยมี ศ.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหัวหน้า ร่วมกับนักวิจัยของหลายสถาบันประมาณ 20 คน ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล สถิติ ของนักการเมือง พรรคการเมือง มีทั้งผลงานของส.ส. สถิติการเข้าประชุม การลงมติ คำพูดนักการเมือง บัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งพฤติกรรมที่น่าสงสัย



ที่ผมสนใจมากที่สุดก็คงจะเป็นการเปิดเผยผลสำรวจที่เรียกว่า “ถอดรหัสนักการเมือง” ซึ่งในปัจจุบันแม้จะนำมาเรียกน้ำย่อยเพียงแค่ 2 ตอน คือ ภูมิหลังนักการเมือง และ กว่าจะมาเป็นนักการเมือง แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อที่จะร่วมกันกำหนดอนาคตของบ้านเมือง ไม่ว่าจะเลือกใคร หรือไม่เลือกใครเลยก็ตาม



เริ่มกันด้วย ภูมิหลังนักการเมือง เป็นการประมวลผลจากการเก็บข้อมูลเชิงลึกของส.ส.ในพื้นที่ 15 จังหวัด พบว่าโดยภาพรวมจากจำนวนส.ส. 119 คน พบว่าส่วนใหญ่มาจาก ตระกูลพ่อค้าคหบดี มากที่สุดถึงร้อยละ 35.29 ซึ่งเป็นต้นตอว่าทำไมต้องทำโครงการเยอะๆ รองลงมาอยู่ในตระกูลนักการเมือง ร้อยละ 22.69 ทั้งปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่อยู่ในแวดวงการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น เป็นต้นตอทำให้มีพฤติกรรมทั้งในและนอกสภาที่ไม่น่าประทับใจ



ส่วนคนที่เคยประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ก่อนมาเล่นการเมืองมีเพียงร้อยละ 14.29 ทำให้มองว่าทำไม ส.ส.น้ำดีถึงมีน้อย ที่มาจากเป็นคนธรรมดามีร้อยละ 11.76, อยู่ในตระกูลเก่าแก่ในพื้นที่ ร้อยละ 5.88, เกษียณในหน้าที่การงาน ร้อยละ 5.04 ที่น่ากลัวก็คือ มีภูมิหลังที่สืบสาวไปได้ว่ามีความสัมพันธ์หรือเป็นพวกกับนักการเมืองในเขตจังหวัดหลายระดับ ร้อยละ 4.20 ซึ่งบ่งบอกว่าอาจมีการโกงกันเป็นกระบวนการ และอยู่ในตระกูลกลุ่มอิทธิพล ร้อยละ 0.84



เมื่อพิจารณาภูมิหลัง ส.ส.แบ่งตามภูมิภาคออกเป็น 5 ภาค จากการสำรวจโดยกลุ่มตัวอย่าง ก็พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานบ้านเราเป็นภาคที่ส.ส. มีภูมิหลังประเภทอยู่ในตระกูลพ่อค้า คหบดี มากที่สุดในประเทศถึงร้อยละ 41.94 (ซึ่งภาคเหนือก็ไม่ได้น้อยหน้า มีถึงร้อยละ 41.18 และกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก ก็มี ส.ส.ที่มีภูมิหลังเช่นนี้ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนส.ส.กลุ่มตัวอย่าง) รองลงมาคืออยู่ในตระกูลนักการเมือง (ร้อยละ 16.13) เป็นพวกกับนักการเมืองหลายระดับ, ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน (ร้อยละ 12.90 เท่ากัน) อยู่ในตระกูลเก่าแก่ในพื้นที่ (ร้อยละ 9.68) เกษียณในหน้าที่การงานและเป็นคนธรรมดา (ร้อยละ 3.23 เท่ากัน)



จะมีก็แต่ภาคใต้ เป็นภาคที่มี ส.ส.น้ำดีมากที่สุดถึงร้อยละ 25 เพราะ ส.ส.เหล่านี้ได้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานก่อนเข้ามาเป็น ส.ส.แต่ถึงกระนั้นก็ยังน้อยกว่าส.ส.ที่อยู่ในตระกูลนักการเมือง (ร้อยละ 37.50) และส.ส.ที่อยู่ในตระกูลพ่อค้า คหบดี (ร้อยละ 31.25) ส่วนร้อยละ 2.33 ของส.ส. ในเขต กรุงเทพฯ ปริมณฑลและ ภาคตะวันออก นั้นเป็นประเภทอยู่ในตระกูลอิทธิพล ซึ่งถือว่าไม่มากไม่น้อย



เมื่อมาดูภูมิหลังนักการเมืองกันแล้ว ก็ต้องมาดูกันถึงแรงจูงใจในหัวข้อ กว่าจะมาเป็นนักการเมือง ซึ่งเป็นการสำรวจโดยตั้งสมมติฐานว่า ส.ส.คนนี้ได้รับการเลือกตั้งมาได้อย่างไร เพราะเข้ามาแล้วก็ไม่ได้ทำหน้าที่จริงจัง หรือดูแล้วไม่เห็นว่าจะมีคุณสมบัติที่ดีพอจะมาเป็นผู้แทนของคนในจังหวัดและในสภา ซึ่งส.ส.บางคนไม่เคยเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา แม้กระทั่งบางคนไม่เคยแม้แต่แสดงความคิดเห็นในสภา



ปรากฏว่าร้อยละ 45.2 ได้รับการชักชวนจากพรรคการเมือง เพราะเคยรู้จัก มีสายสัมพันธ์กับคนในพรรค หรือแม้กระทั้งเคยเป็นคน “หิ้วกระเป๋า” ตามนักการเมืองมาก่อน จึงไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่เห็นว่า ส.ส.ก็เป็นพวกกันทั้งนั้น รองลงมาคือร้อยละ 21 เป็นครอบครัวนักการเมือง ซึ่งมาเป็น ส.ส. เพราะได้รับมรดกมาจากคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายาย หรือสืบทอดอำนาจจากพ่อแม่ ซึ่งทำให้อำนาจทางการเมืองในจังหวัดถูกผูกขาดอยู่เพียงแค่ไม่กี่ตระกูล



นอกนั้นก็มาเป็น ส.ส.เพราะมีความต้องการส่วนตัว (ร้อยละ 11) ลงแทนนักการเมืองที่พรรคถูกยุบ หรือ ส.ส.ได้ใบแดง (ร้อยละ 8) มีแรงผลักดันจากสังคม (ร้อยละ 7) และเป็นส.ส.ตามกระแส (ร้อยละ 5) ส่วนคนที่เข้ามาเป็นส.ส.เพราะมีจิตอาสาเป็นที่น่าตกใจเพราะมีจำนวนน้อยที่สุด (เพียงแค่ร้อยละ 3)



เมื่อพิจารณาโดยแยกเป็นรายภาค ออกเป็น 5 ภาค พบว่าในทุกภาค ตำแหน่งส.ส. มักจะเป็นมรดกตกทอดจากคนในครอบครัวการเมืองรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งในภาคอีสานมี ส.ส.เหล่านี้มากถึงร้อยละ 22.58 และยังพบอีกว่าภาคอีสานครองแชมป์การมี ส.ส.จากการหิ้วกระเป๋าตามคนสำคัญในพรรค หรือนักการเมืองในพื้นที่มาก่อน (ร้อยละ 54.84) รองลงมาคือภาคใต้ เขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก นอกนั้นในส่วนของภาคอีสาน เพราะมีความต้องการส่วนตัว (ร้อยละ 16.13) หรือเป็นส.ส. แถว 2 แถว 3 เพราะส.ส. แถว 1 (ลูกพี่) ถูกใบแดง หรือพรรคถูกยุบ ติดอยู่ในหมู่บ้านโดนแขวนทั้งเลขที่ 111 และ 109 (ร้อยละ 6.45)



ที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง จากสถิติพบว่ากลุ่มตัวอย่างในภาคอีสาน ไม่มีใครเข้ามาเป็นส.ส.เพราะมีจิตอาสาแม้แต่คนเดียว เช่นเดียวกับภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก มีเพียงภาคใต้ (ร้อยละ 6.45) กับเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก (ร้อยละ 7.14) เท่านั้น ซึ่งก็พอจะอนุมานได้ว่า คนดีที่อยากทำงานเพื่อประชาชนมีน้อย ส่วนที่เหลือเข้าไปถ้าไม่แสวงหาอำนาจ ก็เข้าไปกอบโกยผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง



โดยสรุปก็คือ เส้นทางการเข้ามาเป็นส.ส.ที่สะท้อนกับความเป็นจริงของสังคมไทยคือ มาจากครอบครัวนักการเมือง หรือครอบครัวที่ทำธุรกิจส่วนตัวและค้าขาย เริ่มต้นจากการทำธุรกิจส่วนตัว ก่อนจะมารู้จักกับนักการเมืองแล้วช่วยหิ้วกระเป๋า กระทั่งเข้าสู่สนามการเมือง โดยเริ่มจากการเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ก่อนจะมาเป็นส.ส. หรือบางคนกระโดดข้ามไปเป็นส.ส.เลยก็มี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทำไมทุกวันนี้เราถึงได้ส.ส.คุณภาพต่ำเข้ามาปกครองบ้านเมือง



แม้ผลสำรวจเหล่านี้จะเป็นกลุ่มตัวอย่างเพียงแค่ 1 ใน 5 ของบรรดาส.ส.ทั้งหมด 500 คน ซึ่งหากได้ทำการสำรวจครบทุกคนโดยใช้มาตรฐานเดียวกัน ว่ากันตามความเป็นจริงโดยปราศจากอคติหรือละเลยความจริงที่รับไม่ได้ ก็น่าจะมีตัวเลขที่น่าสนใจมากกว่านี้ แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมาเราเลือกส.ส.โดยขาดความไตร่ตรองว่าจะได้คนที่มีคุณภาพจริงๆ ส่วนใหญ่เลือกเข้ามา เพราะยึดติดอยู่ที่ตัวหัวหน้าพรรค หรือผู้นำพรรคมากกว่าตัวบุคคลหรือส.ส.เหล่านั้น



กระทั่งยังมีคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะพลังเงียบ ที่ไม่พอใจภาพการเมืองน้ำเน่าแบบเดิมๆ และมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อนักการเมืองสั่งสมขึ้นมาเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าในการเลือกตั้งที่แท้จริง จะสำแดงพลังแห่งความไม่พอใจด้วยการไม่ไปใช้สิทธิ์ หรือเลือกที่จะไปใช้สิทธิ์แต่โหวตโนแบบตรงไปตรงมา หรือสงวนท่าทีเลือกคนที่เลวน้อยกว่า เพื่อไม่ให้คนที่คิดว่าเลวมากกว่าเข้ามา คงต้องดูการช่วงชิงพลังเงียบระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพรรคประชาธิปัตย์กันต่อไป



ถึงกระนั้น แม้คุณผู้อ่านจะไม่เลือกใครเลยในการเลือกที่กำลังจะมาถึงนี้ การศึกษาและรับรู้ถึงภูมิหลังของนักการเมือง โดยเฉพาะผู้แทนในเขตเลือกตั้งของท่าน ก็น่าจะมีประโยชน์สำหรับตนเองรวมถึงคนรอบข้าง เพราะอย่างน้อยนอกจากจะรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมนักกินเมืองหรือนักการเมืองแล้ว พลังแห่งการตรวจสอบจะช่วยตอกย้ำจิตสำนึกให้นักการเมืองรู้จักเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือมากกว่านั้นคือความตอกฝาโลงนักเลือกตั้งหน้าเดิมๆ



ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ ประชาชนอย่างเราต้องรู้เท่าทันนักการเมืองเหล่านี้ ด้วยการเลือกเสพข้อมูลทั้งนโยบายพรรคและตัวตนของส.ส. ก่อนจะไตร่ตรองข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างมีสติ และนึกถึงความเป็นไปได้



สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเลือกตั้งในครั้งนี้ คุณผู้อ่านก็ต้องคิดได้แล้วว่า ในวันนี้จะตัดสินใจเลือกใคร หรือไม่เลือกใครอย่างไร ถึงจะเป็นการเลือกที่ดีที่สุด และมีเหตุผลมากที่สุด?



(บทความนี้จะตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน ฉบับที่ 2014 ประจำวันที่ 10 - 14 พฤษภาคม 2554)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง