เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2554 มูลนิธิองค์กรกลาง ร่วมกับเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (อันเฟรล) และ ตัวแทนเครือข่ายพีเน็ต แถลงข่าวข้อเสนอ 6 ประการเพื่อปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้ง
ข้อเสนอของพีเน็ตมีตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรีตรง, การเลิกจำกัดสิทธิ์ของพระสงฆ์และผู้ต้องขัง, และตั้งศาลเลือกตั้งมาตัดสินคดีแทน กกต.
ข้อเสนอทั้ง 6 ประการมีรายละเอียดดังนี้
ปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ให้สะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง
ควรเปลี่ยนระบบเสียงข้างมากธรรมดา หรือระบบคะแนนนำกำชัย ให้เป็นระบบใหม่ที่สะท้อนจำนวนคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างแท้จริงและเป็นธรรม ให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เคารพเสียงส่วนน้อย และลดการซื้อขายเสียง ส่งเสริมการมีตัวแทนผู้สมัคร ส.ส. จากทุกภาคส่วน
การเลือกตั้งในระบบสัดส่วน กำหนดเขตเลือกตั้งไม่เกินห้าเขต ให้เป็นระบบบัญชีรายชื่อแบบเปิด โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดลำดับที่ และเลือกข้ามพรรคได้
ส.ส. ระบบเขต ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการใช้สิทธิ
ให้จัดทำบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยสมัครใจ และให้มีการลงทะเบียนก่อนวันเลือกตั้งทุกครั้ง รวมทั้งยกเลิกการจำกัดสิทธิของผู้ต้องขัง ภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช (แม่ชี ภิกษุณี) รวมทั้งกำหนดให้มีวันเลือกตั้งล่วงหน้ามากกว่าหนึ่งวัน
การปฏิรูป คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
องค์ประกอบของ กกต. ต้องประกอบด้วยบุคคล ที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ มีประสบการณ์ที่หลากหลาย มีสัดส่วนหญิงชายที่ใกล้เคียงกัน
ปรับบทบาท กกต. ให้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งเป็นหลัก
ส่งเสริมให้องค์กรเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างแท้จริง
กกต. เป็นผู้ผลิตสื่อและดำเนินการประชาสัมพันธ์การหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียม
ปฏิรูป กฏหมายพรรคการเมือง
เสนอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร (head of government) มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ผู้ชนะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง (ใช้ระบบเลือกตั้งสองรอบได้)
ไม่ควรให้มีการยุบพรรค เมื่อกรรมการและสมาชิกพรรคทำผิด
ควรมีกฏหมายกำหนดให้ทุกพรรคการเมืองมีสัดส่วนผู้สมัครสตรีเป็นจำนวนที่ชัดเจน และมีบทลงโทษหากไม่มีการปฏิบัติตาม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ตัวแทนชนกลุ่มน้อย หรือผู้ด้อยโอกาส มีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรด้วย
ควรกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน และทำการลงโทษหากพรรคการเมืองไม่เปิดเผยข้อมูลการรับจ่ายเงิน และข้อมูลของนักการเมืองในพรรคที่ตนสังกัดอยู่ต่อสาธารณะ
พระราชบัญญัติ องค์กรเอกชนตรวจสอบการเลือกตั้ง
ภาคประชาชน เสนอให้มี พรบ. องค์กรเอกชนตรวจสอบการเลือกตั้ง เพื่อให้ ประชาชน สามารถตรวจสอบการเลือกตั้งในทุกระดับอย่างอิสระ และตรวจสอบพรรคการเมืองได้ โดยปราศจากอุปสรรคใดๆ รัฐจำเป็นต้องกำหนดให้องค์กรตรวจสอบดังกล่าวมีกองทุนพัฒนาองค์กรเอกชน โดยมีสัดส่วนเท่าเทียมกับกองทุนพัฒนาการเมือง
ศาลเลือกตั้ง
เพื่อให้การทำงานของ กกต. มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่ประชุมเสนอให้มีการแก้ปัญหาการร้องเรียน การฉ้อฉลในการเลือกตั้ง โดยมี “ศาลชำนัญพิเศษคดีเลือกตั้ง” ขึ้นมาดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยรับการร้องเรียนจากหน่วยงาน ผู้เสียหาย และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ศาลเลือกตั้งดังกล่าวจะปฏิบัติงานอย่างเต็มเวลา
ข้อมูลจาก พีเน็ต
ข้อเสนอของพีเน็ตได้รับการขานรับจากพรรคชาติไทยพัฒนา โดยนายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงข้อเสนอของมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ต่อการปรับปรุงกระบวนการเลือกตั้งว่า ข้อเสนอดังกล่าวตนเห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นกรณีการกำหนดกฎหมายมาบังคับพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมายแทนการยุบพรรค เพราะประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบการเมืองไทยอ่อนแอ ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ให้ผู้ที่มีสมณะเพศและผู้ต้องขังมีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขตไม่สังกัดพรรคนั้น ต้องมาพิจารณาและถกเถียงในรายละเอียด เพราะบางประเด็นนั้นมีความอ่อนไหวต่อระบบการปกครองของประเทศไทย และอาจกระทบต่อความมีเอกภาพในการลงคะแนนเสียง และความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมือง
ที่มา – ผู้จัดการ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น