โดย : นิภาวรรณ แก้วรากมุกข์
นักการเมืองอาชีพ กำลังมองความเคลื่อนไหวของการเมืองไทยปี 2555 (ด้วยใจระทึก)
ไปในทิศทางเดียวกันว่า น่าจะอยู่ในภาวะที่ "ไม่ปกติ" มากยิ่งขึ้น เพราะมีสัญญาณส่อไปในทางจะเกิดความวุ่นวายใหญ่โต ไม่จบไม่สิ้น
ทั้งความเคลื่อนไหวทั้งในสภา และนอกสภา
สถานการณ์ทุกวันนี้ มีหลายปัจจัย ที่ฉุดรั้งไม่ให้การเมืองไทยเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างราบรื่น มิหนำซ้ำยังเป็นสัญญาณที่ชี้ว่าการเมืองไทยคงไม่สงบสุขได้ง่ายๆ
ปัจจัย ส่วนหนึ่งก็เกิดจากนโยบายของรัฐบาลเองด้วยซ้ำ รวมทั้ง "คนเบื้องหลัง" รัฐบาล
โดยเฉพาะเป้าหมายของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่าง "เพื่อไทย" ก็ถูกมองว่า ภารกิจหลักนับแต่เข้ามาบริหารบ้านเมือง ก็มุ่งแต่การช่วยเหลือ "คนเบื้องหลัง" มากกว่าช่วยประเทศชาติ ก็ยิ่งตอกย้ำความหวาดหวั่นที่ว่านี้
หากดู "ประเด็น" ที่กำลังเริ่มร้อนและจะ "เดือด" ปีหน้า มีอยู่หลายเรื่อง ที่เสี่ยงจะนำไปสู่ความปั่นป่วนทางการเมืองอีกระลอก
ทั้งเรื่องการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่หมายถึงเป้าหมายการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นต้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับปี 2555 ซึ่งเป็นท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่สอดรับกับแนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดง นปช.
ล่าสุด ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุว่าจะผลักดันการแก้ไขมาตรา 309 โดยอ้างว่าเป็นต้นตอปัญหาทั้งหมด จากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของกลุ่มนักวิชาการที่ใช้ชื่อว่า "นิติราษฎร์" ที่เสนอให้ ล้มล้างผลพวงรัฐประหารครั้งนี้เช่นกัน โดยประกาศข้ามปีแล้วว่า จะเคลื่อนไหวเข้มข้นขึ้นหลังปีใหม่
อีกกรณีที่เริ่มแรงขึ้นมาเรื่อยๆ คือ ความพยายามแก้ไขกฎหมายอาญา "มาตรา 112" เปิดทางให้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างอิสรเสรี ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กลุ่มพันธมิตรฯ "เสื้อเหลือง" ประกาศจะใช้เป็น "เส้นตาย" ในการออกมาชุมนุมบนท้องถนนอีกระลอก
พ.ร.บ.กลาโหม เป็นอีกประเด็นที่ ฝ่ายการเมืองหวังจะแก้ เพื่อให้สามารถเข้าไปล้วงลูกการแต่งตั้งโยกย้ายระดับ "นายพล" เพื่อจัดวางกำลังของตัวเองได้
ขณะที่ สถานการณ์ล่าสุด ความพยายามในการปรองดองทางการเมือง ที่มีหัวขบวนอย่าง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาก็ส่อแววจะล่มเอาดื้อๆ เมื่อสถาบันพระปกเกล้า ปฏิเสธที่จะพิจารณายกร่างกฎหมายปรองดองให้ กมธ.ชุดนี้
อีกทั้ง กมธ.ในซีกประชาธิปัตย์ ก็เริ่มไม่เอาด้วย เพราะไม่พอใจที่แนวทางปรองดอง ชักจะเอียงไปในทางช่วยกลุ่มเสื้อแดง ช่วยอดีตนายกฯ ทักษิณ มากกว่าส่วนรวม
จะว่าไปแล้ว "โมเดลปรองดอง" ของ พล.อ.สนธิ เอง ก็ไม่ชัดเจน เหมือนไม่มีต้นร่าง เอาแต่ "นั่งรอความหวัง" เดียวจากสถาบันพระปกเกล้า ว่าจะบันดาลโมเดลวิเศษใดๆ มาให้ ทั้งที่ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี "คณิต ณ นคร" เป็นประธาน สรุปรายงานส่งให้รัฐบาลไปแล้ว 2 ชุด แต่ความเข้าใจของ พล.อ.สนธิ "หัวหน้าคณะปรองดอง" ที่ผันตัวมาจาก "หัวหน้าคณะรัฐประหาร" กลับยังตามไม่ทัน
เวลานี้ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง วงในนักการเมือง ต่างเห็นสัญญาณไม่ปลอดภัย และต่างห่วงใย ความเสี่ยงครั้งนี้อย่างมาก โดยมองไปถึงขั้นที่ว่า รอบนี้ อาจจะถึงคราวต้องเว้นวรรคการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไปหลายปี
"ปรองดอง" ที่เป็นนโยบายเร่งด่วน ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาล ได้แถลงต่อรัฐสภา ผ่านมา 3 เดือน จนบัดนี้ ก็ยังไม่เห็นความหวังใดๆ นอกจากสัญญาณอันตราย ที่ "ขั้ว" ขัดแย้ง รวมทั้ง "มวลชน" ที่เลือกข้าง แบ่งสี แบ่งฝ่าย กำลังจ้องจะกระโจนเข้าใส่กัน
เวลานี้ ทั้งฝ่ายทหาร ก็ไม่รับประกันว่า การเมืองไทยจะปลอดจากการ "รัฐประหาร" ไปถึงเมื่อไหร่ เช่นเดียวกับฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะระดับแกนนำในรัฐบาล ก็ไม่รับประกันว่า "รัฐบาลนี้จะไปได้อีกสักกี่น้ำ"
มิหนำซ้ำยังประสานเสียงตรงกันว่า "มันยังไม่จบ
"
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น