บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เปิดรายงาน 'คอป.' ฉบับที่2 ชี้ ละเมิดหลักนิติธรรม ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง


คณิต ณ นคร ประธานคอป. แถลงผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือน

คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. ได้เผยแพร่รายงานผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือน ครั้งที่ 2 ห้วงระหว่างวันที่ 17 ม.ค.2554-16 ก.ค.2554 โดยระบุถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและข้อเสนอแนะที่มีต่อรัฐบาล รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สาระสำคัญของรายงานอยู่ที่ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวม 8 ข้อ แต่ที่เป็นความก้าวหน้าและสอดรับกับสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันอย่างมากมีอยู่ 5 ข้อ กล่าวคือ

1.การดำเนินคดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามมาตรา 215 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และคดีที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทั้งหลายทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 รวมทั้งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ล้วนเป็นเรื่องที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลสมควรดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีในความผิดดังกล่าว ดังนี้

- เร่งรัดตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแจ้งข้อหาและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยสอดคล้องกับพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือไม่ และทบทวนว่ามีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควรหรือการดำเนินคดีที่พยานหลักฐานอ่อนไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดหรือไม่

- ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้มีการปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยสามารถต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวอันเกิดจากการถูกจำกัดเสรีภาพ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาและจำเลยว่ามีเหตุที่จะหลบหนีเหตุ ที่จะทำลายพยานหลักฐาน หรือเหตุที่จะเป็นอันตรายต่อสังคมหากได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ หากไม่มีสาเหตุดังกล่าวให้ยืนยันหลักกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราว

- เนื่องจากผู้ต้องหาและจำเลยมิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นในคดีอาญาตามปกติ แต่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีมูลเหตุเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในทางการเมือง หากผู้ต้องหาและจำเลยนั้นไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ในการควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่เรือนจำปกติเป็นสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาและจำเลย ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต

- เนื่องจากคดีอาญาเหล่านี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยผู้กระทำผิดมีมูลเหตุจูงใจในทางการเมือง และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากเหง้าที่สำคัญมาจากสภาพสังคมไทยอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน (Transition) การนำเอาหลักความยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) ที่มีเพียงมาตรการการฟ้องคดีอาญาในเชิงลงโทษมาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จึงไม่เหมาะสมกับสภาพของปัญหา ดังนั้นจึงสมควรนำเอาหลักวิชาการเกี่ยวกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาศึกษาและปรับใช้

นอกจากนั้น ในระหว่างที่มีการศึกษาถึงแนวทางในการนำมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยมาใช้ สมควรขอความร่วมมือให้อัยการชะลอการดำเนินคดีอาญาเหล่านี้ไว้ โดยยังไม่พิจารณานำคดีขึ้นสู่ศาล

2.คอป.เห็นว่าการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่ายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความปรองดองในชาติ จึงควรดำเนินการอย่างน้อยตามแนวทาง ดังนี้

- ต้องใช้มาตรการพิเศษที่ไม่ติดยึดอยู่กับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบของกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานและองค์กรที่ดำเนินการในกรณีปกติ

- รัฐบาลควรเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง โดยกลุ่มเป้าหมายในการเยียวยาไม่ควรจำกัดเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วงเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.2553 เท่านั้น แต่ควรครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 เป็นต้นมา โดยให้รวมถึงประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชน ตลอดจนครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ควรขยายขอบเขตการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบในระดับพื้นที่ชุมชนและสังคมด้วย โดยเฉพาะแหล่งที่อยู่อาศัยและย่านการค้าที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและเหตุการณ์ความรุนแรง

- รัฐบาลควรกำหนดกรอบในการเยียวยาให้กว้างขวาง สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเหตุการณ์ และครอบคลุมถึงความสูญเสียในลักษณะต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยให้ครอบคลุมถึงความสูญเสียในทางเศรษฐกิจและโอกาสของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งต้องเหมาะสมกับผู้ได้รับผลกระทบแต่ละราย

- รัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อทำหน้าที่ในการให้การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โดยจัดให้มีองค์กรเฉพาะกิจที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานความช่วยเหลือด้านงบประมาณในการเยียวยาอย่างเป็นระบบ ทั่วถึง และต่อเนื่อง

3.ควรดำเนินการเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมเนื่องจากการชุมนุม ดังนี้

- เร่งรัดการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมของผู้เข้าร่วมชุมนุมและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ โดยตรวจสอบว่าไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงเกินสมควร ปรับบัญชีรายชื่อผู้ต้องขังและจำเลยที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน จำแนกกลุ่มผู้ต้องขังและจำเลยกลุ่มต่าง ๆ อีกครั้งอย่างเป็นระบบ โดยเร่งดำเนินการเยียวยากลุ่มผู้เสียหายที่ตกสำรวจจากบัญชีรายชื่อดังกล่าว หรือที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาโดยเร็ว

- จ่ายค่าทดแทนแก่จำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าศาลได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่

- สำหรับจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษถึงที่สุดแล้ว หรือไม่ให้ประกันตัว ควรให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวของจำเลยเหล่านั้นในด้านมนุษยธรรม และหากพ้นโทษแล้ว รัฐบาลควรมีมาตรการให้ความช่วยเหลือแนะนำในการประกอบอาชีพ เพื่อลดความคับแค้น และฟื้นฟูให้สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ตามปกติ

4.คอป.มีความกังวลต่อสถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนส่งผลกระทบในทางการเมือง โดยในปัจจุบันประเด็นเรื่องพัฒนาการทางการเมืองและการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (Lèse majesté) ของประเทศไทยกลายเป็นประเด็นที่สหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และนานาประเทศให้ความสนใจติดตามอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คอป. เห็นว่าประเด็นเกี่ยวกับการนำกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาใช้ในช่วงเวลานี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และการแก้ไขปัญหานี้อย่างเหมาะสมจะส่งผลดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีส่วนสำคัญในการคลี่คลายความขัดแย้งของประเทศไปสู่ความปรองดอง โดย คอป. เห็นควรให้มีการดำเนินการดังนี้

- ในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ คอป. เห็นว่ารัฐบาลต้องดำเนินการทุกวิถีทางโดยคำนึงถึงเป้าหมายสุดท้าย คือการปกป้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ในสถานะที่สามารถดำรงพระเกียรติยศได้อย่างสูงสุดเป็นสำคัญ โดยควรดำเนินการอย่างเด็ดขาดและเคร่งครัดต่อผู้ที่จาบจ้วงล่วงละเมิดที่มีเจตนาร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะและหวงแหนของปวงชนชาวไทย แต่ไม่ควรนำเอามาตรการในทางอาญามาใช้มากจนเกินสมควรโดยขาดทิศทางและไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนของคดีอันอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตามมาทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ

- ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งในทางการเมือง และต้องยุติการกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุและตรงประเด็นสามารถทำได้โดยนักการเมือง พรรคการเมือง และกลุ่มทางการเมืองที่เกี่ยวข้องต้องหารือกันอย่างจริงจัง เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินการให้เกิดผลอันเป็นการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งในทางการเมือง

- รัฐบาลต้องดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีความเป็นเอกภาพและดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการ มีกลไกที่สามารถกำหนดนโยบายในทางอาญาที่เหมาะสม สามารถจำแนกลักษณะของคดีโดยพิจารณาจากความหนักเบาของพฤติกรรม เจตนา แรงจูงใจในการกระทำ สถานภาพของบุคคลที่กระทำ และบริบทโดยรวมของสถานการณ์ที่นำไปสู่การกระทำ โดยคำนึงถึงสภาพปัญหาในความเป็นจริงของสังคมไทยในปัจุบันมีความขัดแย้งในทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงมีความพยายามที่จะนำความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นในทางการเมือง ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นจากการถวายพระเกียรติยศสูงสุดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ

- ในการดำเนินการคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อัยการซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ ควรให้ความสำคัญกับแนวทางการสั่งคดีโดยใช้ดุลพินิจ (Opportunity Principle) ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการอันเป็นสากล แม้ว่าคดีมีหลักฐานเพียงพอในการสั่งฟ้อง แต่อัยการต้องให้ความสำคัญกับการชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบผลดีผลเสียในการดำเนินคดีด้วย โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ในกรณีนี้ ประเด็นที่อัยการต้องพิจารณาคือแนวทางใดระหว่างการสั่งฟ้องคดีหรือการสั่งไม่ฟ้องคดี จะเป็นผลประโยชน์สูงสุดในการปกป้องและถวายพระเกียรติยศที่เหมาะสมแด่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ อันเป็นแนวทางที่ใช้กันอยู่ในประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

- รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากข้อหาที่ร้ายแรงมิได้เป็นเหตุตามกฎหมายที่ทำให้ผู้ต้องหาและจำเลยไม่ได้รับสิทธิ การปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ดังที่ศาลได้อนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราวในคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่าอัตราโทษในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งศาลได้อนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิพื้นฐานอยู่เสมอ

- รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนการดำเนินคดีที่นำเอาประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาขยายผลในช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง อาทิเช่น การกล่าวหาและโฆษณารณรงค์เรื่องขบวนการ "ล้มเจ้า" ซึ่งอาจมีการตีความกฎหมายที่กว้างขวางจนเกินไปและอาจส่งผลต่อความปรองดองในชาติ และไม่เป็นผลดีต่อการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ในการดำเนินคดีต่อไปจะต้องมีการพิจารณาโดยมีพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเฉพาะบุคคลที่ชัดเจนที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม

5.จากการทำงานของ คอป. ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่าสาเหตุอันเป็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งของประเทศจนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.2553 ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นผลของการกระทำ และเหตุการณ์หลายๆ ครั้งต่อเนื่องกัน ซึ่ง คอป.ได้เรียงลำดับเหตุการณ์สำคัญๆ ตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นต้นมา

จากภาพเหตุการณ์ดังกล่าว คอป.เห็นว่ารากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการที่ละเมิดหลักนิติธรรม กระบวนการประชาธิปไตย กระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ทุกๆ อย่างมีความอ่อนแอและขาดประสิทธิภาพ จนนำไปสู่กระบวนการใช้อำนาจนอกระบบในการแก้ไขปัญหา โดยการรัฐประหารซึ่งเป็นการละเมิดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง ซึ่งแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหา แต่ในท้ายที่สุดกลับสร้างปัญหามากยิ่งขึ้น

การละเมิดหลักนิติธรรมโดยกระบวนการยุติธรรมอันเป็นรากเหง้าของปัญหาเกิดจากกรณีของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2547 ในคดี "ซุกหุ้น" ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 2 คนที่เคยลงมติว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ลงไปวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาของคดี ซ้ำศาลรัฐธรรมนูญยังนำเอาคะแนนเสียง 2 เสียงหลังนี้ไปรวมกับคะแนนเสียงจำนวน 6 เสียงที่วินิจฉัยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กระทำผิดในข้อกล่าวหาว่า "ซุกหุ้น" แล้วศาลรัฐธรรมนูญได้สรุปเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดยกฟ้อง ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดหลักกฎหมายโดยแท้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงในหลักนิติธรรมของประเทศไทย

แต่ที่ผ่านมารัฐยังละเลยและไม่ได้เข้าไปตรวจสอบถึงรากเหง้าของความไม่ชอบมาพากลหรือความที่น่ากังขาของเรื่องนี้ ดังนั้น คอป.จึงขอเสนอแนะให้รัฐและสังคมได้ตรวจสอบการยึดถือปฏิบัติตามหลักนิติธรรมอย่างจริงจัง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง