บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ย้อนรอย 15 ปี พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ จุดเหมือน-จุดต่างอย่างไร?

ตามที่ศูนย์ข่าว TCIJ ได้เสนอข่าวเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษไปแล้วในวันที่ 16 พ.ย.นั้น ต่อมาวันที่ 17 พ.ย.ได้มีการนำเสนอบทความของ 'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: นิติเหลิมภิวัตน์ ในเว็บไซต์ประชาไทเสนอในส่วนของตัวอย่างกฎหมายและรายละเอียดได้อย่างน่าสนใจ ทางศูนย์ข่าว TCIJ จึงขอนำมาเสนออีกครั้งเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ มีรายละเอียดดังนี้

พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เป็นกฎหมายที่ออกในวโรกาสมหามงคล ตามประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาได้แก่

พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี 9 มิถุนายน 2539
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 5 ธันวาคม 2542
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 9 มิถุนายน 2549
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกปีที่ 60 วันที่ 5 พฤษภาคม 2553


            

สำหรับการแบ่งประเภทของการพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา มี 2 ประเภทคือ

1. พระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวแก่นักโทษที่เหลือโทษน้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เจ็บป่วยระยะสุดท้าย ฯลฯ

2.พระราชทานอภัยโทษลดโทษ 1 ใน 2, 1 ใน 3, 1 ใน 4 ฯลฯ แก่นักโทษที่ประพฤติดี โดยจำแนกตามฐานความผิดที่ต้องโทษ ซึ่งพระราชกฤษฎีกาแต่ละฉบับ มีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามยุคสมัย

อย่างไรก็ตามยังคงสาระสำคัญที่สืบทอดกันมาเกือบทุกฉบับ โดยเฉพาะในมาตรา4 บัญญัติไว้ว่า

 “ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไป จนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อย หรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้”

ส่วนที่แตกต่างก็คือเงื่อนไขการอภัยโทษที่เปลี่ยนไป เช่น พ.ร.ฎ.ปี 2542 มาตรา 6(1) ให้ปล่อยตัว “ผู้ต้องโทษจำคุกไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่รวมกันไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ”

แต่ พ.ร.ฎ.ปี 2547 เปลี่ยนมาตรา 6(1) ให้ปล่อยตัวผู้ต้องโทษจำคุกที่เหลือโทษไม่เกิน 1 ปี ฉบับหลังๆ มีการคัดลอกกันต่อมา

พ.ร.ฎ.ปี 2542 มาตรา 6(2)จ ให้ปล่อยตัวคนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ โดยต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีหรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษตามกำหนดโทษ

แต่ พ.ร.ฎ.ปี 2553 มาตรา 6(2)ง กำหนดให้ปล่อยตัว “คนมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ.... และไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หรือเป็นคนมีอายุตั้งแต่เจ็ดสิบปีขึ้นไป”

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึง พ.ร.ฎ. ปี 2554 ไม่มีการบัญญัติความในมาตรา 4 เหมือนหลายฉบับที่ผ่านมา ซึ่งมีการตั้งคำถามว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่นั้นทางผู้เขียนบทความแนะนำให้พิจารณากฎหมายแม่ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 7 ว่าด้วยการอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาและลดโทษ ตั้งแต่มาตรา 259 ถึงมาตรา 261 ทวิ ซึ่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษออกตามมาตรา 261 ทวิ

“มาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใด ๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้

มาตรา 260 ผู้มีเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

มาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมี หน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อ พระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้

มาตรา 261ทวิ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้

การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

การยกเว้นความผิด

พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษทุกฉบับ จะมีข้อยกเว้นผู้ต้องโทษตามความผิดร้ายแรง ไม่ให้ได้รับการปล่อยตัว แต่ได้รับเพียงการลดโทษ ซึ่งลดโทษน้อยกว่าผู้ต้องโทษในคดีอื่นๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ในมาตรา 8 ของ พ.ร.ฎ.ทุกฉบับ โดยฉบับแรกๆ จะกำหนดความผิดไว้ในมาตรา 8 นั้น แต่ต่อมามีการเพิ่มฐานความผิดมากขึ้น ก็ทำเป็นลักษณะความผิดท้ายพระราชบัญญัติ

ตัวอย่างเช่น มาตรา 8 พ.ร.ฎ.ปี 2542  ว่า

“ภายใต้บังคับมาตรา ๙ และมาตรา ๑๐ นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษในลักษณะความผิดดังต่อไปนี้

(๑) ความผิดตามมาตรา ๑๙๐ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๐ วรรคสอง มาตรา ๒๒๒ มาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๗๖ วรรคสอง มาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๗๗ ทวิ มาตรา ๒๗๗ ตรี มาตรา ๒๘๐ มาตรา ๒๘๒ มาตรา ๒๘๓ มาตรา ๒๘๙ มาตรา ๓๑๓ วรรคสอง หรือวรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายอาญา

(๒) ความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ

ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษเด็ดขาดตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์หรือกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ดังต่อไปนี้......”

แต่ พ.ร.ฎ.ปี 2547 มาตรา 8 บัญญัติไว้ว่า

“ภายใต้บังคับมาตรา 9 มาตรา 10 และมาตรา 11 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ ดังต่อไปนี้.....”

แต่กล่าวโดยสรุปว่า ความผิดร้ายแรงนี้กำหนดแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น พ.ร.ฎ.ปี 2530 (เฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา) กำหนดให้ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภายนอกราชอาณาจักร อยู่ในความผิดร้ายแรง แต่พอปี 2539 กลับไม่มีความผิดต่อความมั่นคงฯ แต่มีความผิดกฎหมายยาเสพติดเข้ามาแทน และปี 2542 มีกฎหมายป่าไม้เข้ามาแทน เนื่องจากสังคมเริ่มตระหนักถึงกระแสรักษ์โลก

ทั้งนี้ผู้เขียนได้วิเคราะห์ด้วยว่า ถ้าย้อนไปดู พ.ร.ฎ.เก่าๆ เช่นปี 2514 (ฉลองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี) ยุคถนอม กิตติขจร หนักกว่าอีก มาตรา 8 เขียนว่า

“ผู้ต้องโทษในลักษณะความผิดดังต่อไปนี้ ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้

(๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา

.............................

(๓) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์”

อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้ให้ความสนใจกับ พ.ร.ฎ.ปี 2553 ที่ออกโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่ระบุ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงต่อราชอาณาจักร มาตรา 107-135 (รวม 112) ขณะที่ พ.ร.ฎ.ปี 2549 รัฐบาลก่อนเกิดรัฐประหาร ได้เพิ่มความผิดฐานก่อการร้าย และมีการระบุเรื่อยมาจนถึงปี 2553

ส่วนความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น ปี 2542 ไม่มี ซึ่งผู้เขียนระบุว่าขณะนั้นยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยฐานความผิดดังกล่าวมีขึ้นครั้งแรกในปี 2547 เรื่อยมาจนกระทั่งปี 2549,2550,2553

ขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์ประชาไท

 TCIJ


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง