บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

คำถามจากคนเล็กๆ ถึงอัยการสูงสุด



โดย สุรวิชช์ วีรวรรณ

       การสั่งไม่ฎีกาในคดีการหลีกเลี่ยงภาษีหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ป ของนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดสร้างความกังขาต่อสาธารณชนโดยทั่วไป
      
        แม้ว่านายจุลสิงห์จะให้สัมภาษณ์ชี้แจงถึงเหตุผลของตัวเองแล้ว แต่ดูเหมือนว่ายิ่งให้สัมภาษณ์ความไม่เข้าใจต่อท่าทีดังกล่าวก็ยิ่งเพิ่ม ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความเป็นอิสระ” ต่ออำนาจหน้าที่ที่อัยการสูงสุดนำมาอ้างเพื่อสั่งไม่ฎีกาในคดี
      
        ในการให้สัมภาษณ์มติชน คุณจุลสิงห์ตอบคำถามว่า “อัยการเวลาจะสั่งคดีต้องถามใครหรือไม่ ผมจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง อุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ต้องถามใคร และประชาชนศรัทธาอะไร ศรัทธาในความเป็นอิสระของอัยการใช่หรือไม่ เวลาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ต้องไปถามรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือจำเลยหรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญรับประกันความเป็นอิสระ เราหวงแหนเราก็ได้มาแล้ว ศรัทธาของประชาชนหมายถึงอัยการสูงสุดต้องฎีกาทุกเรื่องหรืออย่างไร”
      
        คุณจุลสิงห์ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า “หน่วยงานที่รับรองความเป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ คือ ศาลกับอัยการ ทำไมจึงไม่สงสัยศาลอุทธรณ์บ้าง กล้าว่าหรือไม่ ทำไมศาลอุทธรณ์ตัดสินไม่ถูกต้อง มีใครกล้าพูดบ้าง สำนักงานอัยการก็รับรองความเป็นอิสระเหมือนกันทำไมพูดถึงแต่อัยการ ผมก็อ่านยึดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นหลักและก็เห็นพ้องด้วย”
      
        คุณจุลสิงห์ครับ ที่ถามว่าทำไมไม่มีใครกล้าพูดว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ผมนี่แหละที่จะพูดว่าไม่เห็นด้วย และอย่างน้อยประธานศาลอุทธรณ์ก็มีความเห็นแย้งว่า กรณีนายบรรณพจน์ ไม่สมควรรอลงอาญา
      
        ผมจับคำพูดของคุณจุลสิงห์ได้ว่า “ความเป็นอิสระ” ของอัยการในความหมายที่คุณจุลสิงห์เข้าใจ ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้าน “ความอิสระ” ที่ซ่อนอยู่ใต้นัยคำพูดของคุณจุลสิงห์ก็คือ เรื่องของกูคนอื่นไม่เกี่ยว
      
        แต่ความหมายที่ผมคิดว่าน่าจะถูกต้องก็คือ ความเป็นอิสระของอัยการนั้นหมายถึงการใช้อำนาจโดยปราศจากการแทรกแซง แต่การใช้อำนาจนั้นต้องตั้งอยู่บนความสุจริตและเที่ยงธรรมด้วย
      
        คุณจุลสิงห์เล่นลิ้นแบบยียวนว่า อัยการจะสั่งคดีต้องถามใครหรือ ในเมื่ออัยการเป็นอิสระ รัฐธรรมนูญประกันความเป็นอิสระ เราหวงแหนก็ได้มาแล้ว
      
        คุณจุลสิงห์ยืนกระต่ายขาเดียวว่าที่ไม่สั่งฎีกาเพราะเชื่อในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
      
        พอถูกถามว่า การไม่ฎีกาทั้งที่ศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ขัดกัน การไม่ฎีกา อัยการสูงสุดทำตัวเป็นศาลฎีกาเสียเองหรือไม่
      
        คุณจุลสิงห์ตอบว่า “ถ้าคุณบอกว่าผมเป็นศาลฎีกาเสียเอง ก็จะถามหน่อยว่ามีศาลอุทธรณ์ไว้ทำไม ถ้าทุกอย่างต้องไปที่ศาลฎีกาหมด”
      
        คำตอบของคุณจุลสิงห์นั้นเป็นคนละเรื่องกับคำถาม คุณจุลสิงห์ควรจะตอบว่าทำไมถึงไม่ฎีกา ในเมื่อศาลอุทธรณ์ขัดกับศาลชั้นต้น คุณจุลสิงห์กลับแถไปว่าแล้วมีศาลอุทธรณ์ไว้ทำไม
      
        นัยของคุณจุลสิงห์ก็คงต้องการบอกว่า เขามีศาลอุทธรณ์เอาไว้เพื่อตรวจสอบการพิพากษาของศาลชั้นต้น ถ้าเป็นเช่นนั้นคุณจุลสิงห์ก็ควรต้องถามตัวเองแล้วตอบคำถามด้วยว่า “แล้วมี 3 ศาลไปทำไม”
      
        ผมคิดว่าคุณจุลสิงห์น่าจะลองตอบคำถามตัวเองดูว่า ถ้าการใช้ “ความเป็นอิสระ” คือ การใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ นั่นคือ “การจรรโลงความเป็นอิสระของอัยการ” หรือแท้จริงแล้วคือ “การทำลายความเป็นอิสระของอัยการ” กันแน่ เพราะการอ้างความอิสระเช่นนั้นมันทำให้สังคมกังขา
      
        แล้วคุณจุลสิงห์เข้าใจหรือไม่ต่อคำพูดของตัวเองที่ว่า “ประชาชนศรัทธาอะไร ศรัทธาในความเป็นอิสระของอัยการใช่หรือไม่”
      
        คุณจุลสิงห์เข้าใจไหมว่า ประชาชนศรัทธาอำนาจอิสระของอัยการเพราะต้องการเห็นอัยการใช้อำนาจอย่างชอบ ธรรมปราศจากการแทรกแซงหรือศรัทธาเพราะอัยการจะใช้ความอิสระตามอำเภอใจกันแน่
      
        เรารู้ว่าในอดีตนั้นอัยการไม่มีความอิสระเพราะเป็นหน่วยราชการอยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมือง
      
        การได้ความเป็นอิสระของอัยการที่ได้มานั้นน่าจะหมายถึง การที่หลุดพ้นจากการเป็นหน่วยราชการภายใต้สังกัดของกระทรวงมหาดไทยแบบในอดีต มาเป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ การหวงแหนความอิสระของอัยการจึงน่าจะหมายถึงการใช้อำนาจตามครรลองของกฎหมาย ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของใคร
      
        ผมคงไม่ต้องสอนอัยการสูงสุดว่าตามครรลองของกฎหมายคืออะไร
      
        จริงอยู่พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 จะให้อำนาจอัยการในการไม่ยื่นคำร้อง ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกาด้วยโดยอนุโลม
      
        มาตรา 21 พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตาม รัฐธรรมนูญและตามกฎหมายโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่า การฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศให้เสนอต่ออัยการสูงสุดและอัยการสูงสุด มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้
      
        ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่า อัยการจะใช้อำนาจอิสระได้ตามอำเภอใจ นอกจาก ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่า การฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศจึงเสนอต่ออัยการสูงสุดและอัยการสูงสุด มีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้
      
        คำถามที่ตามมาก็คือ การสั่งไม่ฎีกาคดีการหลีกเลี่ยงภาษีหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ปของคุณหญิงพจมานและพี่ชายนั้น มันเข้ากับหลักการตามมาตรา 21ของพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 หรือไม่อย่างไร ทำให้สาธารณะได้ประโยชน์อย่างไร เกี่ยวกับความมั่นคงตรงไหน
      
        ดูเหมือนว่าในการให้สัมภาษณ์คุณจุลสิงห์จะใช้ข้ออ้างเรื่องความแตกแยกในบ้าน เมืองเป็นข้ออ้างด้วยว่า “ในยามที่บ้านเมืองมีสองฝักสองฝ่าย ถ้าสั่งไปในทางที่ฝ่ายหนึ่งพอใจ ฝ่ายที่สองก็อยากจะถอดถอน ผมเคยถูกทั้งสองฝ่ายต่อว่า ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือความเป็นกลาง”
      
        ผมคิดว่า คุณจุลสิงห์มีความสับสนเรื่องความเป็นกลาง ผมไม่รู้ว่า บ้านเมืองมีสองฝ่ายในความหมายของคุณจุลสิงห์ คือ การเอาทักษิณกับการไม่เอาทักษิณ เหลืองกับแดง หรือพวกเอาเจ้ากับไม่เอาเจ้าหรือไม่ แต่ผมว่าคำพูดนี้เป็นข้อแก้ตัวที่ตลกที่สุด ถ้ากระบวนการยุติธรรมยึดหลักการที่ว่ามาเป็นบรรทัดฐาน แสดงว่าคดีที่มีความขัดแย้งในบ้านเมืองทุกวันนี้จะตัดสินออกไปทางใดทางหนึ่ง ไม่ได้เลย
      
        และผมไม่ทราบว่า คุณจุลสิงห์จะเข้าใจสภาพความเป็นจริงของความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายของบ้านเมือง หรือไม่ว่า ส่วนหนึ่งนั้นมีปัญหามาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม ความไม่เชื่อมั่นต่อนิติรัฐและนิติธรรม ความไม่เท่าเทียมกัน หรือที่พูดกันอย่างกว้างขวางเรื่อง 2 มาตรฐาน
      
        คุณจุลสิงห์ทราบหรือไม่ว่า ปัญหาของบ้านเมืองทุกวันนี้มีต้นธารมาจากการตั้งคำถามต่อความไม่ชอบธรรมที่ เกิดขึ้นในยุคที่ระบอบทักษิณเรืองอำนาจ
      
        การสั่งไม่ฎีกาคดีคุณหญิงพจมานที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาขัดกันนั้นมันทำลายความเชื่อมั่นในกระบวนการ ยุติธรรมหรือไม่ แล้วตอบคำถามด้วยว่าเราจะมีศาลฎีกาไว้ทำไม

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง