แฉหนังสือลับ“ปุระชัย”ถึง “แม้ว” ยันหลบหนีคดีขอพระราชทานอภัยโทษไม่ได้
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น |
|
|
| |
ASTVผู้จัดการ - คำต่อคำ เอกสารลับ “ปุระชัย” ทำเรื่องถึง “ทักษิณ” เมื่อ 9 ปีก่อน ยกเลิกคำขอพระราชทานอภัยโทษของผู้ต้องหาหลบหนีคดี หลังถูกศาลฎีกาพิพากษาสั่งจำคุก ระบุเหตุผลชัดเจน ไม่ได้แสดงตัวต่อเรือนจำระหว่างบุตรสาวทำหนังสือ ถือว่าไม่มีความสำนึกผิด
หลังจากที่วานนี้ (7 ก.ย.) นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ รมว.ยุติธรรมเงา ได้กล่าวถึงความพยายามที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยการเดินหน้ากระบวนการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยได้นำเอกสารเทียบเคียงการยกเลิกคำขอพระราชทานอภัยโทษของนักโทษหลบหนีคดี หลังถูกศาลฎีกาพิพากษาสั่งจำคุกรายหนึ่งมาเปรียบเทียบนั้น
จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว พบว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือรายงานลับของกระทรวงมหาดไทยที่ออกโดย ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รมว.มหาดไทยในขณะนั้น ลงวันที่ 18 เม.ย.2545 ทำหนังสือรายงานถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กรณีที่ น.ส.อรภา แสงขำ บุตรสาวนายสุรินทร์ แสงขำ ได้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่บิดา ซึ่งถูกพิพากษาจำคุก 24 เดือน ในข้อหาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ
สำหรับเนื้อหาของเอกสารดังกล่าว มีดังต่อไปนี้
- 1 -
ลับ
ที่ มท 0911/806
กระทรวงมหาดไทย
ถนนอัษฎางค์ กทม. 10200
18 เมษายน 2545
เรื่อง ขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่นายสุรินทร์ แสงขำ
กราบเรียน นายกรัฐมนตรี
อ้างถึง หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0207/11881 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2543
สิ่งที่ส่งมาด้วย (1) ฎีกาทูลเกล้าฯ พร้อมเอกสารตามบัญชีแนบท้าย จำนวน 1 ชุด
(2) สำเนาหนังสือฉบับนี้ 1 ฉบับ
ตามหนังสือที่อ้างถึงแจ้งว่า นางสาวอรภา แสงขำ ได้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่นายสุรินทร์ แสงขำ ผู้เป็นบิดาบุญธรรม ซึ่งต้องโทษในคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม โดยอ้างมูลเหตุแห่งคดีเกิดจากบุคคลหลายฝ่ายที่เป็นลูกหนี้นายสุรินทร์ฯ ไม่พอใจที่ถูกนายสุรินทร์ฯ ฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อบังคับให้ชำระหนี้ จึงกลั่นแกล้งให้เกิดเป็นคดีพิพาท โดยประสงค์ให้นายสุรินทร์ฯ รับโทษจำคุกเพื่อจะได้ไม่ต้องชำระหนี้ ปัจจุบันผู้ฎีกาและน้องได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากขาดผู้นำครอบครัวโดยไม่ ทราบว่าขณะนี้นายสุรินทร์ฯ อยู่ที่ใด และเห็นว่าเมื่อมีกฎหมายว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฉบับใหม่ออกมายก เลิกกฎหมายฉบับเก่าแล้ว การที่นายสุรินทร์ฯ ฟ้องคดีความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฉบับใหม่ออกมายกเลิกกฎหมายฉบับเก่าแล้ว การที่นายสุรินทร์ฯ ฟ้องคดีความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คตามกฎหมายเก่าจึงควรสิ้นผลไปด้วย เมื่อการฟ้องคดีตามกฎหมายเก่าสิ้นสุดลง นายสุรินทร์ฯ จึงไม่มีความผิดฐานฟ้อง หรือเบิกความในคดีดังกล่าวอันเป็นเท็จต่อไปอีก โดยอาศัยหลักกฎหมายเป็นคุณตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 ตลอดเวลาที่ผ่านมานายสุรินทร์ฯ ประกอบคุณงามความดีเพื่อสังคมมาโดยตลอด มีโรคประจำตัวเป็นโรคหัวใจและเบาหวาน ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์อย่างต่อเนื่อง จึงขอพระมหากรุณาธิคุณเป็นที่พึ่งขอพระราชทานอภัยโทษ โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาพร้อมถวายความเห็นเพื่อจะได้นำความกราบบังคม ทูลพระกรุณาประกอบพระราชดำริต่อไป นั้น
- 2 -
กระทรวงมหาดไทยได้ตรวจสอบเรื่องราวของนายสุรินทร์ แสงขำ แล้ว ปรากฎข้อเท็จจริงว่า
1. นายสุรินทร์ฯ อายุ 66 ปี ต้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5433/2528 ของศาลอาญา คดีความผิดฐานฟ้องเท็จ และฐานเบิกความเท็จ คดีสิ้นสุดชั้นศาลฎีกา กำหนดโทษจำคุก 2 เดือน แต่นายสุรินทร์ฯ หลบหนียังไม่ได้ตัวมาบังคับโทษตามคำพิพากษา ศาลจึงออกหมายจับนายสุรินทร์ฯ ไว้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2543
2. พฤติการณ์กระทำความผิด เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นายสุรินทร์ฯ มีอาชีพออกเงินให้กู้ เมื่อมีผู้กู้ซึ่งไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันมาขอกู้เงิน นายสุรินทร์ฯ จะใช้วิธีให้ผู้กู้ออกเช็คไว้จำนวน 2 ฉบับ เช็คฉบับแรกจะระบุจำนวนเงินเท่าที่กู้ไปจริง ส่วนเช็คฉบับที่สองจะระบุจำนวนเงินสูงกว่าฉบับแรกเพื่อค้ำประกันหนี้ตามเช็ค ฉบับแรก และจะให้ผู้กู้ทำหนังสือประกอบการออกเช็คไว้ด้วย สำหรับมูลเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2527 โจทก์ (พันตำรวจโทวิชิต อิทธิไมยยะ) ได้มากู้เงินจากนายสุรินทร์ฯ จำนวน 100,000 บาท และนายสุรินทร์ได้ให้โจทก์ออกเช็คไว้ 2 ฉบับ คือ ฉบับแรกเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาถนนมหาไชย ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2527 จำนวนเงิน 100,000 บาท เท่ากับจำนวนเงินที่กู้ไปจริง ส่วนฉบับที่สอง ลงวันที่ 20 กันยายน 2547 จำนวนเงิน 290,000 บาท เพื่อค้ำประกันเช็คชำระหนี้เงินกู้ฉบับแรก พร้อมกับทำหนังสือประกอบการออกเช็คทั้งสองฉบับมอบให้ไว้แก่นายสุรินทร์ฯ ด้วย ต่อมาเช็คฉบับ 100,000 บาท ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์ไม่ชำระเงินตามเช็คให้นายสุรินทร์ฯ วันที่ 21 ธันวาคม 2527 นายสุรินทร์ฯ จึงดำเนินการฟ้องร้องโจทก์ (พันตำรวจโทวิชิตฯ) เป็นจำเลยในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้ เช็ค ตามคดีหมายเลขดำที่ 31382/2527 โดยนายสุรินทร์ฯ เอาความอันเป็นเท็จในกรณีเช็คฉบับจำนวนเงิน 290,000 บาท ซึ่งเป็นเช็คค้ำประกันที่ไม่มีมูลหนี้จริงมายื่นฟ้อง และเบิกความอันเป็นเท็จทำนองเดียวกันในชั้นศาล แต่ในคดีที่นายสุรินทร์ฯ ฟ้องโจทก์ (พันตำรวจโทวิชิตฯ) ศาลฎีกาได้ยกฟ้องในที่สุด โจทก์จึงนำเหตุแห่งการฟ้องเท็จในคดีดังกล่าวมาฟ้องนายสุรินทร์ฯ ในคดีนี้ โดยนายสุรินทร์ฯ ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาเรียงกระทงลงโทษนายสุรินทร์ฯ ฐานฟ้องเท็จ จำคุก 1 ปี ฐานเบิกความเท็จ รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุกทั้งสิ้น 3 ปี นายสุรินทร์ฯ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าฐานฟ้องเท็จ จำคุก 6 เดือน ฐานเบิกความเท็จ 2 กระทง จำคุกกระทงละ 9 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 24 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นายสุรินทร์ฯ ฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน
3. เนื่องจากในปัจจุบันนายสุรินทร์ฯ ได้หลบหนีคดีไม่อยู่ในความควบคุมของทางราชการ และจากการตรวจสอบพบว่านายสุรินทร์ฯ ยังต้องโทษในคดีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมอีกคดีหนึ่ง จึงได้มีหนังสือประสานงานไปยังนางสาวอรภาฯ ในฐานะผู้ฎีกา ทราบว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีที่นายสุรินทร์ฯ ถูกฟ้องร้องโดยนายนิทัศน์ ละอองศรี ตามคดีหมายเลขดำที่ 1186/2537 หมายเลขแดงที่ 6136/2541 ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุก 18 เดือน และศาลได้ออกหมายจับไว้เช่นเดียวกัน
- 3 -
กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วขอเรียนว่า กรณีที่นายสุรินทร์ฯ ซึ่งมีอาชีพออกเงินให้กู้และใช้วิธีการให้ลูกหนี้ออกเช็คเพื่อเป็นการชำระ หนี้ที่กู้ยืมไว้หนึ่งฉบับ แล้วยังให้ออกเช็คที่มีมูลค่าสูงกว่าเพื่อเป็นการค้ำประกันเช็คฉบับแรกอีก เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ นอกจากนายสุรินทร์ฯ จะฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ที่มีอยู่จริงแล้ว ยังนำเช็คค้ำประกันที่ไม่มีมูลหนี้ไปฟ้องร้องเป็นคดีอาญาตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คอีก ซึ่งนับได้ว่านายสุรินทร์ฯ มีพฤติการณ์เอารัดเอาเปรียบ และฉ้อฉลผู้กู้อย่างร้ายแรง และน่าจะมีการกระทำในลักษณะเช่นนี้กับผู้อื่นมาแล้วหลายครั้ง ฉะนั้นการที่ศาลพิพากษาลงโทษให้จำคุกนายสุรินทร์ฯ จึงสมควรกับความผิดที่ได้กระทำแล้ว สำหรับประเด็นที่ผู้ฎีกาได้หยิบยกเรื่องการใช้กฎหมายอาญาในส่วนของกฎหมาย เป็นคุณตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 มาอ้างนั้น เห็นว่าผู้ฎีกายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลักกฎหมาย เพราะนายสุรินทร์ฯ จะได้ประโยชน์และพ้นจากความผิด หรือไม่ต้องรับโทษโดยอาศัยหลักกฎหมายเป็นคุณได้นั้น จะต้องปรกฎว่าในภายหลังได้มีบทบัญญัติขึ้นใหม่ว่าด้วยการฟ้องเท็จและการเบิก ความเท็จไม่เป็นความผิดอีกต่อไป แต่ตามข้อเท็จจริงในปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญายังบัญญัติให้การฟ้องเท็จและ การเบิกความเท็จเป็นความผิด และผู้กระทำความผิดยังต้องรับโทษอยู่ ดังนั้นกรณีนายสุรินทร์ฯ จึงมิใช่กรณีที่จะได้รับประโยชน์ตามหลักกฎหมายเป็นคุณดังที่ผู้ฎีกากล่าว อ้างแต่อย่างใด ประกอบกับคดีของนายสุรินทร์ฯ ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมจนถึงชั้นศาลฎีกาย่อมเป็นที่ยุติได้ว่านาย สุรินทร์ฯ กระทำผิดตามฟ้อง และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงในส่วนที่นายสุรินทร์ฯ ได้หลบหนีคดีแสดงให้เห็นว่านายสุรินทร์ฯ ไม่มีความสำนึกผิด ข้ออ้างประการอื่นๆ จึงไม่อาจรับฟังและไม่มีเหตุพิเศษอื่นใดที่จะสนับสนุนขอพระราชทานอภัยโทษให้ ได้ จึงเห็นควรยกฎีการายนี้เสีย
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณานำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในโอกาสอันควร
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
ร้อยตำรวจเอก ..........(ลายมือชื่อ)..........
(ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
กรมราชทัณฑ์
กองนิติการ
ฝ่ายอภัยโทษ
โทร. 0 2967 3361
โทรสาร 0 2967 3360 |
|
|
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น