บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ราษฎรชาตินิยม


เวลานี้มีการปลุกกระแสชาตินิยมกันมาก เราจึงควรทำความเข้าใจวิวัฒนาการของความคิดนี้ให้ดี เท่าทันและรู้ด้วยว่าชาตินิยมนั้นมีหลายประเภท
และไม่ควรไปกล่าวหาใครว่า “คลั่งชาติ” “ขายชาติ” หรือ “ไม่รักชาติ” อย่างเลื่อนลอย ผมขอย้อนรอยแนวคิดชาตินิยมว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร โดยที่มีแนวคิดเป็นแกนอุดมการณ์สำคัญในการปลุกเร้าให้เกิดการอภิวัฒน์หลายประเทศออกจากแอกของประเทศเจ้าอาณานิคม
โดยผมไล่เรียงพูดถึง ราษฎรชาตินิยมหรือชาตินิยมแบบสามัญชน ก่อน เพราะอุดมการณ์นี้นำมาสู่การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นเพียงชาตินิยมของชนชั้นนำ
นักวิชาการบางท่านอย่าง อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ใช้คำว่า “ชาตินิยมแบบประชาสังคม” ชาตินิยมเหล่านี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อเอกราช บุคคลเหล่านี้ถือว่าเป็นพวกชาตินิยมที่รักชาติจริงๆ เพื่อคนส่วนใหญ่ เพื่อประเทศชาติ ซึ่งมีทั้งบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้แล้วได้เอกราช บางท่านถูกประหารชีวิต บางท่านเสียชีวิตในระหว่างการต่อสู้ บางท่านนั้นงานยังไม่สำเร็จ แต่มาเสียชีวิตไปก่อน ก็คือยังรวมชาติไม่สำเร็จ อย่างกรณีของ ดร.ซุนยัตเซ็น หรืออีกท่านหนึ่ง มุสตาฟา เคมาล อตาเตอก์ เป็นนักชาตินิยมของตุรกี โจวเอินไหล เหมาเจ๋อตงของประเทศจีนใหม่ โฮจิมินห์แห่งเวียดนาม หรือซูการ์โนบิดาผู้ก่อตั้งประเทศอินโดนีเซีย
เมื่อพูดถึงนักชาตินิยมของเมืองไทยก็มีหลายท่าน ตั้งแต่สามัญชนไปจนถึงพระมหากษัตริย์ อย่างสามัญชนก็มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ท่าน อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย
กระบวนการสร้างชาติต่อสู้เพื่อเอกราช หากได้สืบค้นแล้วจะพบว่าเริ่มต้นครั้งแรกที่ยุโรป ซึ่งอุดมการณ์ชาตินิยมในยุโรปเข้ามาแทนที่อุดมการณ์ของศาสนจักรกับราชาธิปไตย เป็นการปลดพันธนาการจากศาสนจักรกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ ระบบเทวราช หรือ ลัทธิเทวสิทธิ์ ซึ่งเป็นลัทธิที่มีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้า
คำว่า “ชาตินิยม” หมายถึง องค์รวม ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติในอังกฤษ ปี ค.ศ. 1688 การประกาศอิสรภาพของอเมริกาหรือการปฏิวัติของอเมริกา ปี ค.ศ. 1788 และช่วงเวลาใกล้เคียงกันก็มีการปฏิวัติในฝรั่งเศสด้วย เหตุการณ์เหล่านี้มีความคิดที่เป็นแก่นแกนของลัทธิชาตินิยม แต่เป็นลัทธิชาตินิยมที่ได้รับอิทธิพลในเรื่องหลักของสิทธิเสรีภาพและลัทธิของประชาธิปไตย อย่างเช่น จอห์น ล็อค จัง จาร์ค รูสโซ แม้กระทั่ง โทมัส ฮอป ที่มองว่ามนุษย์มีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกผู้ปกครองของตัวเอง มีสิทธิที่จะสร้างองค์กรหรือสร้างชาติของตัวเองขึ้นมาได้ คือว่า ไม่ได้เชื่ออำนาจที่อยู่นอกตัวเองนั่นเอง
ความคิดแบบนี้มีรากฐานที่สอดคล้องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม และความเชื่อของลัทธิเหตุผลนิยม เชื่อในเรื่องกระบวนการของเหตุผลมากกว่าเชื่อถือศรัทธาโดยไม่ลืมหูลืมตา ในแง่ของสิทธิเสรีภาพได้สะท้อนความเป็นปัจเจกชน จึงมีบางอย่างไปขัดต่อความคิดชาตินิยม เพราะชาตินิยมจะเป็นองค์รวม ผลประโยชน์ส่วนรวม จิตวิญญาณส่วนรวม หรือสิ่งที่เป็นลักษณะของทุกคน แต่นักคิดหรือปัญญาชนคนสำคัญอย่าง จัง จาร์ค รูสโซ แม้เขาจะพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ลัทธิปัจเจกชนนิยม แต่เขาได้พูดถึงคำหนึ่งที่เป็นฐานความคิดของชาตินิยมได้ระดับหนึ่ง ก็คือ คำว่า “General Will” นั่นก็หมายถึงว่า สิทธิเสรีภาพของมนุษย์ต้องขึ้นอยู่กับ General Will คำนี้นักวิชาการของไทยได้แปลว่า “เจตจำนงร่วม” หรือ “เจตจำนงของส่วนรวม” ซึ่งก็คือความเป็นชาติ ประเทศ พลเมืองของประเทศ
บุคคลกลุ่มนี้จึงมีอิทธิพลต่อบรรดาประเทศทั้งหลายที่ถูกปกครองโดยจักรวรรดินิยม มีอิทธิพลต่อความคิดที่ใช้ขับเคลื่อนต่อขบวนการกู้ชาติทั้งหลายในเกือบทุกประเทศ และตัวผู้นำขบวนการล้วนแล้วแต่เป็นนักชาตินิยมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนักชาตินิยมแบบเผด็จการ นักชาตินิยมแบบประชาธิปไตย นักชาตินิยมแบบสังคมนิยม หรือเป็นนักชาตินิยมแบบมาร์กซิสต์ ทั้งหมดถือว่ามีฐานคิดเป็นนักชาตินิยม แต่จะก่อรูปขึ้นไปเป็นนักชาตินิยมแบบซ้ายหรือขวา ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำคนนั้นไปสมาทานความเชื่อแบบไหน
ผู้นำบางท่านเดิมทีมีสมาทานในความเชื่ออย่างหนึ่ง แต่เมื่อไม่มีความหวัง หรือผู้นำในประเทศที่มีความเชื่อที่เคยศรัทธานั้นไม่ได้มาช่วยเหลืออันใดเขาเลย เขาจึงหันไปสมาทานความเชื่ออย่างอื่นแทน ซึ่งเป็นเรื่องของสภาวะแวดล้อมเป็นตัวกำหนด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละประเทศ
การเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาหนึ่ง อาจมีผู้คนมารวมตัวสมัครสมานเป็นแนวร่วมเดียวกัน แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งหรือประสบชัยชนะในขั้นตอนนั้นแล้ว ขั้นตอนต่อๆ ไปอาจจะแยกวงก็ได้ บ้างก็อาจเผชิญหน้าเป็นศัตรูต่อกันก็มี
สำหรับบ้านเรานั้นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของบรรดานักลัทธิชาตินิยมทั้งหลาย ก็คือ ลัทธิล่าอาณานิยมที่แผ่ขยายอำนาจเข้ามาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 มาสู่รัชกาลที่ 4 ที่ 5 แผ่อิทธิพลมา จนทำให้สยามประเทศต้องสร้างอุดมการณ์รักชาติขึ้นมาบ้าง จนในที่สุดได้เกิดแนวความคิดแบบราชาชาตินิยม
ความเป็นชาตินิยมของสยามประเทศนั้นมีความแตกต่างจากประเทศอื่นพอสมควร อันเนื่องจากสาเหตุคือ 1.ไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของใคร 2.ชนชั้นนำของไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีลักษณะปฏิรูป ในหมู่คนชนชั้นนำมีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็สามารถประนีประนอมปรองดองกันได้ ไม่ได้ต่อสู้แตกหักรุนแรงเหมือนหลายประเทศ
ลัทธิชาตินิยมอยู่บนพื้นฐานของความคิดที่เรียกว่ามีสิทธิในการกำหนดตัวเอง ขยายความได้ว่า ผู้คนจำนวนหนึ่งเคยอยู่ร่วมกับจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อมีแนวความคิดเรื่องสิทธิในการกำหนดตัวเอง จึงอยากแตกตัวออกมา เพราะคิดว่าตัวเองแตกต่างจากจักรวรรดิโดยรวมทั้งหมด อย่างเช่น การแตกตัวของจักรวรรดิออสเตรีย ฮังการี หรือแม้กระทั่งจักรวรรดิของจีนในอดีตก็มีแนวความคิดอย่างนี้เช่นกัน
ฉะนั้น ในด้านหนึ่งของความเป็นลัทธิชาตินิยมนั้นดูเหมือนว่าปฏิเสธความเป็นพหุสังคมหรือพหุวัฒนธรรม แต่อีกด้านหนึ่งในเมื่อเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ ก็ยังมีความต้องการในการกำหนดอัตลักษณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเรื่องชาติพันธุ์ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของตัวเอง ก็คือการต้องการหาความเหมือนในความเป็นเอกภาพ อย่างถ้าเป็นเรื่องชาติพันธุ์ก็จะต้องเป็นคนเชื้อสายเดียวกัน ถ้าเป็นเรื่องวัฒนธรรมก็จะต้องเป็นเรื่องธรรมเนียมปฏิบัติ วิถีชีวิต และความเชื่อแบบเดียวกัน
แต่ยังมีบางคนที่ไม่ได้คิดในมิติที่รอบด้าน ได้สรุปแบบง่ายๆ ว่าคนที่ไปเรียนหนังสือต่างประเทศนั้นคนเหล่านี้ไม่ใช่นักชาตินิยม เพราะไปสมาทานหรือรับความเจริญจากตะวันตก เห่อวัฒนธรรมตะวันตก แต่ปรากฏว่าบรรดานักชาตินิยมทั้งหลายในเอเชียที่เป็นระดับผู้นำจำนวนหนึ่งนั้นเป็นนักเรียนนอก ก็คือว่า ช่วงที่ได้ไปเรียนเมืองนอก แล้วเกิดความรู้สึกรักชาติตนเองขึ้นมา อยากให้ชาติของตัวเองมีการเปลี่ยนแปลงและเจริญก้าวหน้าแบบตะวันตก ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกคนสำคัญของคณะราษฎรรุ่นก่อตั้ง
ยกตัวอย่างปัญญาชนของไทยในยุคหนึ่ง นั่นคือ เทียนวรรณ เป็นนักชาตินิยมคนหนึ่งที่มีความปรารถนาดีต่อประเทศชาติ และอยากให้มีความเจริญก้าวหน้ากว่าตะวันตก
รัชกาลที่ 6 ก็เป็นนักชาตินิยม ต้องการให้ผู้คนรักชาติ มีทัศนคติที่ต้องการป้องกันประเทศไทยจากการคุกคามของชาติตะวันตก แต่ความเป็นนักชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 กับเทียนวรรณจะมีความแตกต่างกันอยู่ อย่างเช่น เทียนวรรณเป็นนักชาตินิยมแบบประชาสังคม ในขณะที่ความเป็นนักชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 นั้นได้มีนักวิชาการท่านหนึ่งชื่อ ดร.ธงชัย วินิจจกูล อดีตผู้นำนักศึกษารุ่น 6 ตุลา ขณะนี้เป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน บอกว่าอันนี้เป็นราชาชาตินิยม
เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปประเทศไทย ได้มีเหล่าขุนนางหัวเก่าคิดเห็นว่ารัชกาลที่ 5 ไม่ใช่นักชาตินิยมเพราะจะปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยแบบตะวันตก แต่ความจริงแล้วรัชกาลที่ 5 เป็นนักชาตินิยม เพียงแต่ว่าคิดกันคนละมุม เพราะอยากให้ประเทศชาติมีความเจริญ ทันสมัย แล้วจะได้เป็นเอกราช พ้นจากภัยการคุกคามของจักรวรรดิตะวันตก
ลัทธิชาตินิยมในบางประเทศเกิดมาควบคู่กับลัทธิประชาธิปไตย แต่ในหลายประเทศเกิดมาพร้อมกับลัทธิฟาสซิสม์ ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร ในหลายประเทศมีพัฒนาการที่คล้าย ๆ กัน แต่มีเส้นทางเดินที่ต่างกัน บางคนทำสำเร็จ บางคนไม่สำเร็จ บางประเทศได้แตกตัวออกไปเป็นหลายประเทศก็มี อย่างเช่น ลัทธิชาตินิยมในปรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศเดิมของเยอรมัน สมัยปรัสเซียได้ทำการปฏิรูปประเทศครั้งยิ่งใหญ่ และมีการรวมชาติเยอรมันขึ้นมา
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้ศึกษาพัฒนาการของลัทธิชาตินิยมในยุโรปว่า ลัทธิชาตินิยมที่มีลักษณะเป็นประชาสังคมในยุคหนึ่งของยุโรปได้พัฒนาไปสู่ลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก เพราะลัทธิการล่าอาณานิคมน่าจะเป็นแนวคิดที่มีลักษณะในเชิงกดขี่คนอื่น แต่ปรากฏว่าคนที่อยู่ในลัทธิชาตินิยมแบบประชาสังคมนั้นมีฐานของคนส่วนหนึ่งที่เป็นแบบลัทธิล่าอาณานิคมรวมอยู่ด้วย ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่า ช่วงนั้นเกิดการปฏิรูปบ้านเมือง จึงส่งผลให้มีการปลดปล่อยพลังการผลิต แล้วเริ่มเข้าสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรม นั่นคือ การขยายตัวของกลุ่มทุนที่ต้องการพื้นที่ ทรัพยากร วัตถุดิบ โดยจากเดิมนั้นเป็นการผลิตแบบระบบศักดินา
นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาต่อไปว่า ชาตินิยมในยุโรปที่มีลักษณะเน้นเรื่องชาติพันธุ์และความเป็นหนึ่งเดียวทางด้านวัฒนธรรม อันนี้ได้พัฒนาไปสู่การเป็นรัฐเผด็จการหรือลัทธิฟาสซิสม์ของยุโรปในเวลาต่อมา ซึ่งนักวิชาการได้สรุปฟันธงตรงกันว่า ลัทธิชาตินิยมนำมาสู่สงคราม แต่เราจะเห็นว่าประเทศที่มีความเจริญหรือพลิกฟื้นตัวเองได้อย่างรวดเร็วนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีความเป็นนักชาตินิยมอย่างยิ่ง นี่คือข้อดีของชาตินิยม
ยกตัวอย่าง เยอรมันที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 อย่างย่อยยับ แต่กลับกลายเป็นว่าฟื้นประเทศได้รวดเร็วมาก เพราะประชากรของเยอรมันมีความเป็นชาตินิยม จุดร่วมกันนี้เป็นส่วนสำคัญ
ผลักดันให้เยอรมันกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของยุโรป แต่เมื่อเยอรมันได้รวมประเทศมานานถึง 20 ปี คนทางตะวันออกจำนวนหนึ่งก็เลยอยากให้เยอรมันกลับไปเป็นเหมือนเดิมจะดีกว่า เพราะทางตะวันออกปรับตัวตามระบบทุนนิยมไม่ทัน
เมื่อกลับมาศึกษากรณีของไทยเราที่ได้เปรียบเทียบกับหลายชาติในยุโรป หรือแม้แต่ในเอเชียด้วยกันเอง ไทยเรามีพัฒนาการคล้ายญี่ปุ่นและอังกฤษ นั่นคือมีพัฒนาการปฏิรูปเกิดขึ้นจากชนชั้นนำ มีกษัตริย์และขุนนางที่ต้องการพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัย ในขณะเดียวกันไทยเรามีบางอย่างคล้ายรัสเซีย แต่รัสเซียทำไม่สำเร็จ ซึ่งเคยได้พยายามปฏิรูปในสมัยพระนางเจ้าคัทธรีน ก่อนศตวรรษที่ 19 ประมาณปี ค.ศ.1762-1796 และ ปีเตอร์ เดอะเกรท ปี ค.ศ. 1672-1725 ทำการปฏิรูป แต่ไม่สำเร็จ เพราะ 1.มีลักษณะก้าวหน้าน้อย 2.เปลี่ยน แค่เพื่อประคองตัวเอง


พลวัตเศรษฐกิจ :
ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ หัวหน้าพรรครักษ์สันติ เปรียบตัวเองเป็น “ชาวบ้านบางระจัน” ซึ่งก็คือ “ราษฎรสามัญชน” ฃ
ที่อาสาลุกขึ้นมาปกป้อง “ชาติบ้านเมือง” และสะสางปัญหาวิกฤติของชาติ พรรคการเมืองอื่นๆ ก็เช่นเดียวกันก็ต่างเสนอนโยบายเพื่อ “ชาติ” เพื่อ “ประชาชน” กันทั้งสิ้น
หาก “กองทัพ” จะทำรัฐประหาร ก็จะอ้างว่าทำเพื่อชาติ เพื่อประชาชน เพื่อสถาบันกษัตริย์ ด้วยเช่นเดียวกัน ดีแต่ว่า “กองทัพ” ออกมาปฏิเสธว่าจะไม่ทำรัฐประหาร การเคลื่อนไหวของมวลชนไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีไหนก็บอกว่า ทำเพื่อชาติ เพื่อประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ทั้งสิ้น
คำว่า “เพื่อชาติ” หรือ “เพื่อประชาชน” ของแต่ละกลุ่มน่าจะแตกต่างกัน
ระยะเวลาและผลของการกระทำจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า “ชาติ” ในที่นี้ หมายถึง ประชาชนส่วนใหญ่ของแผ่นดินหรือไม่
ในบรรดาชาติต่างๆ ที่มีกระแสชาตินิยมเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ จะมีกลุ่มที่มีเป้าหมายทางการเมืองเพื่อเอกราชอธิปไตย กลุ่มการเมืองเหล่านี้จะแสดงจุดยืนความคิดชาตินิยมอย่างชัดเจน ฉะนั้นในยุคหนึ่งเราจะได้เห็นกลุ่มทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่าปิตุภูมิ มาตุภูมิ มาเธอร์แลนด์ เกิดขึ้นเยอะแยะเต็มไปหมด อย่างในมาเลเซีย มีแนวคิดของ ตนกู อับดุล รามาน ท่านเน้นสิ่งที่เรียกว่าภูมิบุตร ก็คือ คนที่ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายจีน มาเลย์ ทมิฬ สิงหล แม้กระทั่งเชื้อสายไทย แต่ถ้าถือกำเนิดบนแผ่นดินมาเลเซีย ก็ถือว่าเป็น ภูมิบุตร มีความหมายว่าปกป้องแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเอง นี่ก็เป็น ชาตินิยมแบบเอาดินแดนถิ่นกำเนิดเป็นฐาน
การตั้งชื่อว่าพรรคมาตุภูมิในหลายประเทศก็สะท้อนถึงแนวคิดชาตินิยมแบบนี้ อัตลักษณ์ที่สำคัญคือมีแผ่นดินร่วมกัน แต่ไม่จำเป็นต้องไปยึดถือเรื่องของศาสนา ชาติพันธุ์ หรือวัฒนธรรม เป็นอัตลักษณ์ตัวตนรวมหมู่ ยึดเอาแผ่นดินเกิดเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวของแนวคิดชาตินิยมลักษณะนี้
ถ้าเรามาดูพัฒนาการของชาตินิยมไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นการก่อตัวของรัฐสยามอย่างชัดเจนที่สุด ประเทศไทยหรือสยามเคยเผชิญชะตากรรมที่ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียด้วยกัน เผชิญการขยายอำนาจของจักรวรรดินิยมตะวันตก แต่เราได้ชนชั้นนำที่มีความสามารถสูง ก็เลยรอดพ้นมาได้ อีกทั้งส่วนหนึ่งเรามีสภาพเป็น “รัฐกันชน” หรือ “Buffer State” ด้วย แต่ว่าเป็นปัจจัยส่วนน้อยที่อธิบายว่าทำไมไทยถึงเป็นเอกราช รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก
สาเหตุหนึ่งที่ไทยเราพ้นจากการถูกเป็นเมืองขึ้นนั้น ก็เพราะว่ากระบวนการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นกระบวนการที่แม้ว่าขุนนางรุ่นเก่าแย้งว่ารัชกาลที่ 5 ไม่ชาตินิยม แต่ว่าความจริงแล้วเป็นชาตินิยม อย่างการปฏิรูประบบราชการแม้นทำตามมาตรฐานตะวันตกแต่ความมุ่งหมาย คือ ต้องการดำรงรักษาความเป็นชาติสยามให้ได้ท่ามกลางการรุกรานของจักรวรรดินิยมตะวันตก มีจัดตั้งเป็นกระทรวงทบวงกรม การยกเลิกระบบไพร่ทาส
นอกจากนี้ พระองค์ยังส่งพระราชโอรสและเจ้านายชั้นสูงไปศึกษาต่อเกือบทุกสาขาวิชาในหลายประเทศ ต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้กลับมาสถาปนาหรือสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมากมายในประเทศไทย กลุ่มคนเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มชนชั้นใหม่หรือคนที่มีความคิดใหม่ๆ ยังได้กลับมาเป็นฐานของการปฏิรูปประเทศในระยะต่อมา หรือแม้กระทั่งเป็นเชื้ออย่างดีสู่การอภิวัฒน์ 2475 โดย “คณะราษฎร”
พระองค์ยังทรงได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับสามัญชน ก็คือ ที่วัดมหรรณพ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2428 จัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก ในปี พ.ศ.2430 จัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งต่อมาก็คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการปฏิรูปครั้งยิ่งใหญ่ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชาติรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น แต่คำว่า “ชาติ” ที่ถูกนำมาพูดถึงโดยสามัญชนคนแรกๆ ก็คือ เทียนวรรณ ในหนังสือตุลวิพากษ์พจนกิจ คำว่า “ชาติ” ที่มีการพูดหรือเขียนแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นวิชาการ ซึ่งเกิดขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาเทียนวรรณถูกจับติดคุกในสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะได้ไปแสดงความคิดเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่เหมาะสมกับระบบราชาธิปไตยในยุคนั้น
คนไทยเราเมื่อจะพูดถึงประเทศหรือสยาม เรามักจะใช้คำว่า “บ้านเมือง” หรือ “กรุงสยาม” หรือ “แผ่นดิน” ซึ่งหมายถึงชาติไทยหรือชาติสยาม แต่ไม่ใช้คำว่า “ชาติ” ตรงๆ
สำหรับท่านเทียนวรรณซึ่งอดีตได้บวชเรียนแล้วสึกออกมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นปัญญาชนที่ทำงานด้านสื่อ ทำงานเขียนหนังสือ มีชีวิตอยู่จนกระทั่งเกิดการอภิวัฒน์ 2475 แต่ก็แก่มากแล้ว ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงก่อนละสังขารไป
ส่วนหนังสือตุลวิพากษ์พจนกิจเล่ม 4 มีเนื้อหาวรรคหนึ่งระบุว่า “พวกเราจึงมีชื่อเสียง เขาเรียกว่าคนไท และควรนับถือพวกพ้องที่เป็นคนไทยด้วยกันว่าเป็นพวกชาติเดียวกัน คำว่าชาติเดียวกันหรือพวกเดียวกันนี้เด็กๆ เมื่อได้อ่านคงจะไม่ลืมเลย เพราะตัวเป็นคนไทย ที่เรียกว่าชาติของเรา เพราะเราเกิดเป็นคนไทยด้วยกัน เป็นพวกเดียวกัน เป็นชาติเดียวกัน”
เทียนวรรณถือว่าเป็นปัญญาชนสาธารณะผู้กล้าหาญ เคยเขียนหนังสือตอบโต้กับรัชกาลที่ 6 หลายครั้ง แต่เป็นการตอบโต้ในเชิงวิชาการ ด้านสติปัญญา รัชกาลที่ 6 เองก็เป็นปราชญ์ มีอุดมการณ์เป็นนักชาตินิยม เป็นนักกวี อย่างคำว่า “ใครรานใครรุกร้าวแดนไทย ไทยรบจนสุดใจขาดดิ้น” ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของรัชกาลที่ 6 ต่อมากลายเป็นเพลงและวรรณกรรมที่เราทุกคนได้ร่ำเรียนกันมา
สิ่งที่เทียนวรรณได้เขียนอธิบายไว้ข้างต้นนั้นตรงกับความหมายที่ได้อธิบายถึงลัทธิชาตินิยมในมุมกว้าง นั่นคือ ระบุถึงการถือมั่น มีความพึงพอใจในอัตลักษณ์หรือตัวตนรวมหมู่ชนิดหนึ่ง
ลัทธิชาตินิยมเป็นฐานของประชาธิปไตยด้วยเช่นเดียวกัน ขณะเดียวกันผู้นำบางประเทศเอาไปใช้เป็นฐานของลัทธิฟาสซิสต์ก็ได้เช่นเดียวกัน เพราะอุดมการณ์ชาตินิยมสร้างแรงกดดันสู่ลัทธิความเท่าเทียมกันในสังคม เพราะเมื่อเราพูดถึงชาตินิยมหรือประเทศไทย นั่นหมายถึง ทุกคนเป็นสมาชิกของชาติ จะไม่มีการแบ่งชนชั้นสูง กลาง หรือล่าง คือว่าพูดถึงชาติไทย คนไทยเท่านั้น ฉะนั้นกรอบความคิดแบบประชาธิปไตยในเรื่องความเสมอภาคอยู่
จะเห็นได้ว่า ขึ้นอยู่จะเอา “ชาตินิยม” ไปใช้ในทางไหน ส่งเสริมประชาธิปไตยก็ได้ ส่งเสริมเผด็จการก็ได้
พัฒนาการของชาตินิยมในไทยหรือสยามก็ยอกย้อน คือว่าไม่ได้มีพัฒนาการที่เป็นเส้นทางสายเดียวกันหมด เทียนวรรณก็อย่างหนึ่ง รัชกาลที่ 6 ก็อย่างหนึ่ง แบบจอมพล ป. ก็อย่างหนึ่ง แบบจอมพลสฤษดิ์ก็อีกอย่างหนึ่ง แบบปรีดี พนมยงค์ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันไป
ส่วนชาตินิยมแบบสีเหลือง สีน้ำเงิน สีแดง หรือ แบบประชาธิปัตย์ แบบเพื่อไทย ผมไม่ขอวิเคราะห์ในเวลานี้
ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในการผนวกรวมความแตกต่างหลากหลายได้ดีพอสมควร จึงทำให้ไทยเป็นสังคมที่ไม่มีปัญหาเรื่องความแตกแยกชาติพันธุ์อย่างรุนแรง ยกเว้นในระยะหลังที่มีกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่บ้าง
ขบวนการผนวกรวมในไทยทำได้สำเร็จและทำอย่างต่อเนื่องมาหลายสิบปี อย่างเวลาที่เราเรียกชาวเขาซึ่งเป็นชาติพันธุ์ จะเรียกต่างจากคนไทยทั่วไป เราก็เรียกว่าชาวไทยภูเขา และในยุคหนึ่งเราเรียกคนอีสานว่าไทยอีสาน หรือเรียกชาวเหนือว่าไทยล้านนา แล้วต่อมาเราได้มีกระบวนการหลอมรวมกันได้อย่างดี
ชาตินิยมในไทยที่เกิดขึ้นช่วงยุคแรกๆ นั้นเกิดจากกระแสการปฏิรูปของชนชั้นนำ ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ตลอดจนถึงพฤษภาประชาธรรม ส่งผลให้ชนชั้นกลางและล่างมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นพัฒนาการของชาตินิยมไทยจึงเริ่มขยายวงกว้างออกไป
สังคมไทยมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการหลอมรวมกันเป็นคนไทยด้วยกันทั้งหมด แต่ภายใต้การหลอมรวมไม่ได้หมายความว่าไม่มีการขัดแย้งเลย มีบ้างเป็นระยะๆ แต่ไม่ได้มีความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นเป็นสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ เราไม่เคยมีกรณีสงครามกลางเมืองอย่างรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นกับเพื่อนบ้าน เช่น พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย เขมร
ถึงแม้ว่าสายความคิดชาตินิยมในไทยจะมีหลายสายก็ตาม อย่างชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 จะเน้นเรื่องหน้าที่พลเมืองของชาติ สมบัติผู้ดี การมีศีลธรรม การเป็นสมาชิกของชาติที่จะต้องจงรักภักดีต่อสถาบัน ทางด้านวัฒนธรรมก็จะมีการส่งเสริมบทบาทของพระมหากษัตริย์ในอดีตที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ชาติไทยขึ้นมา
แต่ขณะเดียวกันเราก็เข้าใจได้ว่าทำไมแกนความคิดจะต้องเป็นไปในทิศทางนั้น เพราะว่าในรัชกาลที่ 6 มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรป ถึงขั้นปฏิวัติสังคมล้มสถาบันหลักในหลายประเทศ เมื่อเราไปค้นพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีหลายพระราชดำรัส โดยเฉพาะพระราชดำรัสที่มีต่อโรงเรียนมหาดเล็กหลวง จะเห็นได้ชัดว่าพระองค์ทรงเน้นประเด็นนี้ และบอกว่าเมืองไทยหรือประเทศไทยไม่ได้เหมือนชาติอื่นที่มีที่มีความขัดแย้งทางชนชั้น แล้วมีการโค่นล้มกัน
พระองค์ทรงบอกว่าคนไทยตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาแล้ว มีเพียง 2 ชนชั้นเท่านั้น ชั้นหนึ่งคือพระเจ้าแผ่นดินซึ่งประชาชนได้มอบอำนาจทุกอย่าง เพราะเขาทั้งหมดไม่มีเวลาพอ และไม่อาจสามารถที่จะต่างคนต่างถืออำนาจนั้นไว้ได้ อีกชั้นหนึ่งก็คือคนไทยทั่วไป ถ้าใครจะมาแทรกแซงระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ก็จะไม่ได้รับความนับถือ เคารพ ยกย่องของคนไทยนัก เพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุที่มาตัดทอนอำนาจอันชอบธรรมของเขาเสีย ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งกุลบิดรของเขา
สิ่งนี้เป็นแนวคิดที่พยายามจะบอกว่า ระบบการปกครองของไทยโดยสถาบันกษัตริย์ เป็นเสมือนพ่อปกครองลูก ไม่เหมือนการปกครองในยุโรปบางประเทศที่มีปัญหา เนื่องจากเกิดการกดขี่ประชาชน หรือระยะห่างของพระมหากษัตริย์กับพสกนิกร ซึ่งจะต่างจากของไทยเรา
มีพัฒนาการอีกอย่างหนึ่งซึ่งช่วยเสริมให้เกิดความเป็นชาตินิยมอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ การที่มีสามัญชนจำนวนมากได้ไปเรียนหนังสือที่เมืองนอกมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัชกาลที่ 6 ท่านทรงส่งเสริมการเรียน นักเรียนนอกเหล่านี้มารับราชการเป็นทหาร พลเรือน ในระบบราชการไทย พวกนี้ถือว่าเป็นปัญญาชน เพราะมีการศึกษาที่ดี แล้วเกิดลัทธิชาตินิยมขุนนางใหม่ คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้เข้าร่วมขบวนการประชาธิปไตย ร.ศ.130
ขบวนการประชาธิปไตย ร.ศ.130 หรือ กบฏ ร.ศ.130 ประกอบไปด้วยคณะนายทหารชั้นผู้น้อย นำโดยนายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์ ซึ่งมีคำขวัญว่า “เสียชีพ ดีกว่าเสียชาติ” นี่ก็เป็นชาตินิยมอีกแบบหนึ่ง หรือคำขวัญว่า “จงมีความกตัญญูต่อชาติ และกระทำใจให้เป็นไทย”
แม้กระทั่งบทความที่ขบวนการประชาธิปไตย ร.ศ.130 ใช้เป็นแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ เพื่อต้องการการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เกิดการล้มเหลวเสียก่อน เพราะมีสมาชิกคนหนึ่งในคณะ ร.ศ.130 ทรยศหักหลังต่อผู้ก่อการด้วยกัน บทความนี้ชื่อว่าความเจริญและความเสื่อมทรามของประเทศ ในเกือบทุกย่อหน้าได้สะท้อนถึงความคิดชาตินิยม แต่เป็นชาตินิยมของขุนนางใหม่ ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องกับความเป็นชาตินิยมของจอมพล ป. ต่อมาภายหลังใช้แนวทางชาตินิยมแบบประชานิยม แล้วไปเปลี่ยนวัฒนธรรมพื้นบ้านทั้งหมดเลย เช่น ยกเลิกการกินหมาก ยกเลิกการนุ่งผ้าถุง ถือว่าไม่ทันสมัย เปลี่ยนมาเป็นให้หอมแก้มภรรยา มีการประดิษฐ์วิธีการรำวงขึ้นมาใหม่ อาหารไทยมาตรฐาน นอกจากนี้วัฒนธรรมในอดีตที่เป็นพื้นบ้านก็ได้มีการยกเลิกทั้งหมด
ผมเรียกชาตินิยมแบบนี้ว่า “ชาตินิยมแบบขุนนาง” สิ่งที่สังคมไทยต้องการนั้นน่าจะเป็น “ราษฎรชาตินิยม” ที่อยู่เป็นฐานคิดแบบประชาชาติ ประชาธิปไตย ประชาธรรม อันนำมาสู่สันติธรรม ความก้าวหน้าและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของราษฎรทั้งหลาย ครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง