บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

คาถาเด็กไทยรู้ทัน

คาถาเด็กไทยรู้ทัน : อนุสติเพื่อการป้องกันเด็กและเยาวชน จากการครอบงำของลัทธิบริโภคนิยมโดยสื่อมวลชน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี



        สวัสดีครับทุกๆ ท่าน ขอแสดงความชื่นชมกับคณะครูที่รักเด็กๆ ที่ต้องการปกป้องลูกศิษย์
        ผมเองเคยเขียน เคยพูดไว้เป็นเวลานานว่า ครูนั้นเหมือนเมล็ดพันธุ์แห่งความดี เมื่อตกไปอยู่ที่ไหน ความดีงามก็จะเกิดขึ้นงอกงามขึ้นทั่วไป เมื่อเห็นครูทีไร มีความดีใจปลื้มปิติ เพราะนึกถึงครูของตัวเองเมื่อเด็กๆ ครูที่รักเรา พ่อแม่ ครูนั้น เป็นคนที่รักลูก รักลูกศิษย์ มากกว่าคนอื่นๆ ทั้งสิ้น
        แล้วก็มีความยินดีที่ สสส. มาร่วมสนับสนุนเรื่องนี้ กับสถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาหรือ มายา สำหรับสถาบันนี้ผมเองก็รู้จักมานาน สถาบันมายาได้พยายามทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนมานาน เข้าใจว่าได้ทำงานกับเด็กและเยาวชนมาจำนวนหลายแสนคน หายากที่จะมีองค์กรอะไรอย่างนี้ ที่ทำงานยาวนาน พยายามส่งเสริมให้เด็กๆ เยาวชนมีวิธีคิด มีจิตใจที่ดี นี่เขาไปตามมาพูด ก็อดมาไม่ได้ ทั้งๆ ที่พูดอยู่อีกโรงหนึ่ง บอกว่า มาไม่ได้หรอก เขาบอกไม่ได้ต้องมา ก็เลยรีบตัดตอนที่ตรงโน้นให้สั้นลง แล้วก็รีบมาที่นี่ สำหรับ สสส. หรือว่าสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นสปอนเซอร์ เป็นผู้สนับสนุนสำหรับงานนี้ ผมเองใน ๒๔ ชม.ที่ผ่านมา ไปพูด ๓ งาน เจอ สสส. ทั้งหมดเลย เมื่อเย็นวานไป เขามีโครงการหนังสือเพื่อเด็ก ที่หอศิลปวัฒนธรรม สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็มีดร.สิริกรไปพูด มีอาจารย์สมบูรณ์ มีคนอื่น คุณพรอนงค์ ก็เป็นรายการที่สนับสนุนโดย สสส. เมื่อกี้นี้ไปบรรยายเรื่อง เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน ซึ่งคนมาประชุมเยอะมาก มาจากทุกภาคของประเทศเลย ก็ปรากฏว่า เป็นรายการที่สนับสนุนโดย สสส. อีก มาที่นี่ก็ สสส. อีก รู้สึกไปที่ไหน คงหลบไม่พ้นกิจกรรม ที่สนับสนุนโดย สสส. ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี มีองค์กรที่สนับสนุนเรื่องที่ดีงามให้เกิดขึ้นในแผ่นติน ก็รู้สึกไปทั่วหมด เกิดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นกุศลธรรม
        ทีนี้สำหรับเรื่องนี้ ที่มีความเป็นห่วงใยว่า เด็กลูกหลานของเรา จะตกเป็นเหยื่อ จะถูกหลอกโดยโฆษณา เขาเรียกว่าขนมหลอกเด็ก เครื่องดื่มหลอกเด็ก ทำสีสันต่างๆ ล่อเด็ก เอาคนมาพูดจาต่างๆ นานา เป็นเรื่องร้ายแรง ที่มีผลกระทบร้ายแรงมาก อาจารย์ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยได้กล่าวกับผม บอกว่า สื่อ-สื่อสารมวลชน ที่กระตุ้นนักเรียนไปทางลบ มีพลังมากกว่าโรงเรียนทั้งหมด เพราะเขาใช้เงินมากมาย เป็นหมื่นล้านที่จะกระตุ้นการบริโภคทุกรูปแบบที่เราเห็น เดี๋ยวเราก็เห็นในโทรทัศน์ล่ะ “ครอกๆๆ ความสุขที่คุณดื่มได้” เขาเสียค่าโฆษณา ค่าคิด อันนั้นล้านบาท ก็คิดดูล้านบาท ครูสอนหนังสือแทบตาย ได้ไม่กี่พันบาท แต่คนไปคิดจะให้คนดื่มเบียร์ได้ล้านบาท
        ทุก ๕ นาที มีคนมาชี้หน้าว่า “เป็นคนไทยหรือเปล่า” ถ้าเป็นคนไทยต้องดื่ม “ดื่มแล้วภาคภูมิใจ เบียร์คนไทยทำเอง” ทุกอย่างล้วนแต่เป็นการปลุกระดม ทั้งวันทั้งคืน จะให้คนบริโภค เป็นระบบเศรษฐกิจ ที่เขาเรียกว่าเสรี แต่จริงๆ เป็นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยโลภจริต เสรีทั้งโลกเลย ทีนี้ขบวนการอย่างนี้เขามีเงินเยอะ เขามีคนเกี่ยวข้องเยอะ เป็นโครงสร้างของผลประโยชน์ ที่มีคนมาเกี่ยวข้องเยอะ ฉะนั้น สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ เผชิญกับเรื่องหนักหนาสาหัส ไม่ใช่เรื่องเบาๆ เลย
        การที่จะกระตุ้นให้คนบริโภคสูงสุด คือวัตถุประสงค์ของระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่อาศัยโลภจริตเป็นตัวขับเคลื่อน เขาไม่แคร์ ว่าผู้บริโภคจะเกิดอะไรขึ้น จะเสียเงินเสียทอง สุขภาพจะเสีย จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ขอให้บริโภคสูงสุด
        ในสหรัฐอเมริกา ถ้าเราเดินไป คนที่เดินมาตามถนน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า เป็นคนอ้วน เพราะว่า โดนไอ้เศรษฐกิจการค้า ที่มันจัดขนาดของอาหาร ที่จะให้คนกินเยอะๆ จะได้เก็บเงินเยอะๆ หรือว่าเป็นเรื่องบุฟเฟต์ คุณกินเท่าไรกินเต็มที่เลย เราเก็บเงินแค่นี้ เขาก็จะกินมากเกินนะครับ กินมากเกินเลย มันก็เกิดโรคอ้วน
        เขาจะทำทุกชนิดให้คนบริโภค เขาไม่เลือก เด็กเขาก็เอา แล้วเด็กโดยเฉพาะเป็นเป้า เพราะว่าเด็กมีจุดอ่อน ที่พ่อแม่รักลูก ลูกอยากได้อะไร ลูกอยากกินอะไรพ่อแม่ก็ใจอ่อน อันนี้เขารู้ว่าเป็นจุดอ่อน เขาก็เข้ามาตรงนี้ ที่จะกระตุ้นเด็กให้บริโภค มีรายการสำหรับเด็ก รายการแฝงมา ทำรูปแบบสินค้ามา จะล่อใจเด็ก เอาเด็กมาเป็นผู้โฆษณาเอง อะไรต่ออะไรสารพัดอย่าง ทำทุกประการ และจากตัวเลข ที่ผมเห็นในเอกสาร ที่กลุ่มมายาไปหามา บอกว่า ตัวเลขการบริโภคของเด็ก ใน ๓ เรื่องใหญ่ๆ คือ พวกขนมกร๊อบแกร๊บ สแน็ค ขนมหวานแคนดี้ แล้วก็เครื่องดื่ม สรุปเรียกว่า ขนมหลอกเด็ก ต้องใช้ชื่อเรียกเข้าไป “ขนมหลอกเด็ก” เขาอาจจะใช้ชื่ออื่น เพื่อสร้างคุณค่าให้มันสวยงาม เป็นของดีเด่น แต่เราต้องเรียก ให้คุณค่ามันต่ำลง ซึ่งเดี๋ยวผมจะอธิบาย เรียกว่า ขนมหลอกเด็ก เพราะจริงๆ เด็กไม่อยากถูกหลอกหรอก ถูกหลอกแล้วมันเสียเกียรติ
        ขนมหลอกเด็ก เครื่องดื่มหลอกเด็ก เป็นมูลค่าถึงประมาณแสนเจ็ดหมื่นล้านบาทต่อปีใช่ไหมครับ เป็นมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี ผู้รวบรวมได้เอาตัวงบประมาณของกระทรวงหลายกระทรวง ๖ กระทรวง มารวมกันยังน้อยกว่า เงินที่พ่อแม่ต้องเสียไปในเรื่องถูกหลอก เด็กถูกหลอกทั้งประเทศเลย พ่อแม่ต้องเสียเงินเพิ่มขึ้น โดยไม่จำเป็น แล้วเสียเงินเพิ่มไป กลับเกิดผลร้ายกับลูก ๒ ประการใหญ่ แล้วเป็นผลร้ายต่อประเทศไทย คือ
        ประการที่ ๑ กระทบสุขภาพของเด็ก เพราะว่าพวกขนมหลอกเด็ก ไม่ใช่อาหารสุขภาพ ไม่ใช่อาหารหลัก กินเข้าไปแล้ว ก็กินข้าวไม่ลง ถึงเวลามื้ออาหาร กินไม่ลง เพราะกินพวกของหวานพวกนี้เข้าไปแล้ว เด็กบางคนก็ผอมซี่โครงขึ้น เพราะกินข้าวไม่ลง ไปกินของหลอกเด็กมา เพราะฉะนั้น กระทบกระเทือนสุขภาพของเด็ก
        ประการที่ ๒ ทีนี้ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น ทำให้สมองฝ่อ ทำให้เด็กโง่ลง โดยการดูรายการโทรทัศน์ ที่จัดมาเสร็จเลย ไม่ต้องคิด สำเร็จรูป ดูแล้วให้เกิดความต้องการไม่ต้องคิด สมองก็จะฝ่อ เด็กก็จะโง่ลง
        พระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง ท่านรับสั่งหลายปีแล้ว เดิมเราก็ไม่เข้าใจ ท่านบอก คราวนั้นท่านทรงพระประชวร แล้วก็ต้องประทับเงียบๆ อยู่หลายวันด้วยกัน ก็ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ ทอดพระเนตร ท่านบอก มันเต็มไปด้วยโฆษณาต่างๆ รับสั่งว่า มันเดินเข้าไปในหัวคน มันเดินเข้าไปในหัวคน รับสั่งอย่างนี้ ตอนนั้นเราก็ไม่เข้าใจว่า รับสั่งเรื่องอะไร และรับสั่งซ้ำๆ กัน มันเดินเข้าไปในหัวคน แล้วก็เดินเข้าไปเลย คนไม่ต้องคิด ไม่ต้องกลั่นกรองอะไร นะครับ อันนี้เป็นอันตรายร้ายแรง ทำให้คนโง่ลง
        มีอีกเรื่องหนึ่ง อยากจะนำมาเล่า ผมเองเป็นคนบ้านนอก บ้านอยู่ริมภูเขา ที่เมืองกาญจน์ ไม่เคยเห็นกรุงเทพฯ จนกระทั่งอายุ ๑๕ อยู่ในป่า ทีนี้เวลาเราอยากกินอะไร เช่นอยากกินข้าวหลาม ก็ช่วยกันทำข้าวหลาม คนหนึ่งไปแช่ข้าวเหนียว คนหนึ่งไปตัดไม้ไผ่มาทำกระบอกข้าวหลาม คนหนึ่งไปปอกมะพร้าวคั้นกะทิ คนหนึ่งไปทำจุก เอาใบตองมาทำจุก เสร็จแล้วก็คั้นกะทิ กรอกข้าวเหนียวกับกะทิ แล้วก็อุดจุก แล้วก็ไปตั้งเรียงกันไว้ ปักไว้ที่ดิน แล้วก็ก่อไฟ ให้มันเดือด มันเดือดกะว่าสุกแล้ว ก็ราไฟให้มันระอุ เสร็จแล้วมันร้อน เผาข้าวหลาม เราก็ไปลงอาบน้ำในแม่น้ำ แล้วกลับมา ข้าวหลามสุกพอดี ก็ได้กินข้าวหลาม อร่อยมาก
        เราทำอะไรที่มันสนุก สนุกมาก แต่ว่าเด็กกรุงเทพฯ ไม่ได้ทำอะไรที่กระตุ้นสมองเลย เพียงแต่หยิบเงินก็ได้แล้ว อย่างนี้เด็กจะโง่ลง เพราะการต้องทำอะไรต้องคิด ต้องหยิบโน่นหยิบนี่ ให้มันกระตุ้นสมอง เพราะฉะนั้น ถ้าสังคมเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เป็นสังคมกระตุ้นบริโภคนิยม ใช้เงินแล้วก็ได้ของ สมองจะฝ่อลงไปเรื่อยๆ อันนี้อันตรายเป็นอย่างยิ่ง สังคมแบบนี้ที่ญี่ปุ่น มีการศึกษาแล้วว่า คนญี่ปุ่นปัจจุบันโง่ลง เพราะฉะนั้น ถ้าอย่างนี้นานไปเรื่อย เป็นบริโภคนิยมกระตุ้นเพียงแต่ให้หยิบเงิน แล้วก็ได้ของ ไม่ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นระบบเงินนิยม คนรุ่นใหม่จะสมองฝ่อ เพราะไม่ได้คิด ไม่ได้ทำ ก็จะโง่ลงๆ ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ทำอะไรไม่ถูก อนาคตมนุษย์จะเสื่อมลง และหนักเข้าสูญพันธุ์ไปเลย อยู่ไม่ได้ในสังคมแบบนี้ เราจะอยู่ได้ ต่อเมื่อเราฉลาด เรารู้ความจริง รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ลัทธิบริโภคนิยมใช้สื่อกระตุ้นอย่างรุนแรง อย่างไร้ศีลธรรม โดยไม่คำนึงถึงพ่อ ถึงแม่ ถึงลูก ถึงใครทั้งสิ้น ขอให้บริโภคมากๆ เข้าไว้ เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง เป็นเรื่องทำลาย ทำลายทั้งสุขภาพของเด็ก ทำลายเงินของพ่อแม่ ทำลายสมองเด็ก เมื่อทำลายสมองเด็ก ก็เท่ากับ ทำลายสมองของชาติ ต่อให้ครูหวังดีเท่าไร จะไปสอนเท่าไร แต่ว่าอีกอันมันมาแรงกว่า
        คนที่โครงสร้างผลประโยชน์ที่นั่น มันเยอะแยะ มันใหญ่โต ผู้คนเชื่อมกันเยอะมาก แล้วบางคนก็ไม่รู้สึกตัว อย่างคนจบนิเทศศาสตร์ คนจบแล้วเขาได้ปริญญา แต่เขาไปคิด เขาไปทำงานกับบริษัท แล้วคิดเรื่องโฆษณา จะกระตุ้นการเสพอย่างไร จะไปบอกเขาทำไม่ดี เขาก็บอกเป็นอาชีพเขา พวกโฆษณาเขาบอกเป็นอาชีพเขา ตกลงทุกคนเป็นอาชีพหมด แต่อาชีพนี้มันเชื่อมโยงกันเป็นมิจฉาอาชีวะ ถ้าอาชีพอะไรทำร้ายคนอื่น ไม่ใช่สัมมาชีพ ซึ่งประเดี๋ยว ผมจะกลับมาพูดถึงประเด็นนี้ ขณะนี้เรามีอาชีพ ที่ไม่ใช่สัมมาชีพ เต็มไปหมด สัมมาชีพ คือ อาชีพที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ สัมมาชีพมันจะบูรณาการทุกอย่างเข้ามา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากบ้านเมืองของเรา ไม่ได้เน้นเรื่องเศรษฐกิจศีลธรรม มันก็มีคนทำที่ไม่ใช่สัมมาชีพ มันก็มาทำลายเด็ก ทำลายผู้ปกครอง ทำลายสมองของเด็ก ของชาติ ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง มันเป็นไวรัสชนิดใหม่ ถ้าพูดไป เป็นไวรัสชนิดใหม่ที่มากับสื่อ มาทำลายสมองเด็ก เป็นไวรัสชนิดใหม่เลย แล้วร้ายแรงกว่าไอ้ไวรัสที่พูดกัน เพราะมันมาแล้ว มองไม่เห็นตัว ไม่รู้มันอยู่ที่ไหน แล้วมันมาทำลายสมองของเด็ก
        เพราะฉะนั้นตรงนี้ ผมคิดว่าเราต้องมาดูล่ะว่า เออ..แล้วเราจะทำอะไร ซึ่งยากมาก ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ทำยากมาก เพราะกระบวนการที่มาทำลายนี้มันใหญ่โต มันเชื่อมโยงกัน ผมอยากจะเสนอ ถ้าเรียกเป็นคาถาก็คงสัก ๗ ข้อ ด้วยกัน
        ข้อ ๑ การรู้เท่าทันของคนไทยทั้งชาติ คือ ถ้าเราไม่รู้ โรคมันก็ระบาด โรคมันก็กินเรา โดยเราไม่รู้ว่า มันเป็นโรคด้วยซ้ำ ข้อที่ ๑ คนไทยทั้งชาติต้องรู้เท่าทันว่า ขณะนี้มีโรคระบาดชนิดใหม่ ที่กำลังกินสมอง กินเงินของทุกครอบครัว กินเงินของพ่อแม่ กินสมองเด็ก ทำลายชาติ ที่มากับ “ทุสนเทศ” เราจะพูดเรื่องข้อมูล ข่าวสารเฉยๆ ไม่ได้ ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ เรียกว่า “สุสนเทศ” แต่ข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ เป็นของที่มีโทษ เรียกว่า “ทุสนเทศ” เพราะฉะนั้นตรงนี้ เราต้องรู้เท่าทัน
        การเรียนหนังสือของเรา เราท่องแต่วิชาที่อยู่ในหนังสือ เราไม่ดูว่าสิ่งที่มันมาทุกวันเลย เช้าวันเสาร์ เช้าวันอาทิตย์มันก็มา เยอะเลย มันเอาเด็ก มันจะกินเด็ก เต็มไปหมด แล้วการเรียนของเรา ท่องแต่หนังสือแค่นี้ไม่ได้ เราจะไปเผชิญกับมันไม่ได้
        ฉะนั้น คนไทยทั้งชาติ จำเป็นต้องรู้เท่าทันว่า ขณะนี้กำลังมีโรคระบาดร้ายแรง ที่กำลังมากินสมองคนไทย กินเงินคนไทย เอาหนักเข้า มันทำลายคนไทยย่อยยับหมดทั้งประเทศ แล้วโรคนี้มากับ “ทุสนเทศ” กับระบบข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นโทษกับประชาชน ที่ไม่จริง เป็น “วจีทุจริต” ไม่ใช่ “วจีสุจริต”
        ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าสอนเรื่องวจีสุจริตในนั้นมากเลย แสดงว่าเป็นเรื่องสำคัญ “วจีสุจริต” ประกอบด้วย ข้อ ๑ เป็นความจริง จะพูดอะไร ต้องเป็นความจริง มีที่มา มีที่อ้างอิง ข้อ ๒ พูดเป็นปิยวาจา พูดแล้วน่ารัก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดอย่างอื่น เป็นปิยวาจา ข้อ ๓ พูดถูกกาลเทศะ ทุกกาลเทศะ พูดไม่ถูกกาลเทศะก็ไม่พูด ก็ห้าม ก็บอกว่าพูดเป็นภาษาชาวเมือง อันนี้พูดเป็นภาษาที่คนรู้เรื่อง ไม่พูดภาษาที่ไม่รู้เรื่อง ข้อ ๔ พูดแล้วเกิดประโยชน์ ถ้าพูดแล้วเกิดโทษไม่พูด เพราะฉะนั้นดูให้ดีว่า วจีสุจริต ๑. เป็นความจริง มีที่มา มีที่อ้างอิง ๒.เป็นปิยวาจา ๓.พูดถูกกาลเทศะ ๔.พูดแล้วเกิดประโยชน์ เกิดโทษด้วยประการใดๆ ไม่พูด
        แล้วเราลองมาดูว่า เอ๊ะ..พูดแล้วก็เกิดโทษกับเด็ก ไปเอาเงินของพ่อแม่เด็ก มันเป็นโทษนะ พูดทำไม เมื่อพูดก็เป็นวจีทุจริต ไม่ใช่วจีสุจริต เพราะฉะนั้น ตรงนี้ต้องรู้เท่าทัน
        หลักสูตรอะไรต่างๆ ต้องมีหลักสูตร ที่จะให้คนรู้เท่าทันสิ่งที่มันมาตามสื่อ เราไม่มีวิชาที่จะวิเคราะห์สื่อ วิเคราะห์สื่อต้องเรียนทุกชั้น ทุกชนิดหมด ต้องวิเคราะห์สื่อ เพราะมันเป็นสิ่งใหญ่ อย่าไปท่องแต่หนังสืออย่างเดียว ไม่ได้ น่าเบื่อมากด้วย แล้วก็ไม่รู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ถ้าท่องแต่หนังสือ คนจะโง่ทั้งชาติ ไม่สนุกด้วย ฉะนั้นข้อ ๑ ที่จริง คือ สัมมาทิฐิ คือ ปัญญา ต้องรู้เท่าทัน คนไทยทั้งชาติต้องรู้เท่าทันว่า ขณะนี้มีโรคระบาดชนิดใหม่ ที่มากับ “ทุสนเทศ” มากับ “ทุสนเทศ” ผมพยายามเน้น เรามักจะบอกว่า ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องดี ใครมีข้อมูลข่าวสารก็ฉลาด จริงๆ ข้อมูลข่าวสารตอนนี้ ทำให้คนโง่ลง เพราะเป็น ทุสนเทศ ไม่ใช่ สุสนเทศ แล้วกำลังกินสมองของคนไทย กินเงินของพ่อแม่ไปปีละ แสนกว่าล้านบาท จนลง แล้วก็จะทำให้คนไทยโง่ลง
        อันนี้ต้องรู้เท่าทัน ถ้าเรารู้เท่าทันมัน เราก็ยังพอที่จะหาทางป้องกันมัน แต่เราไม่รู้ทัน ไม่รู้ว่าศัตรูเป็นใคร ในปัจจุบันนี้
        อันนี้ผมพูดมา ๑๐ กว่าปี ว่าขณะนี้สังคมไทยวิกฤต ที่เรียกว่า คลื่นลูกที่สี่ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แล้วเป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าศัตรูคือใคร วิกฤตการณ์สามลูกแรกนี่เรารู้ ลูกแรก คือ สงครามพม่า ลูกที่สอง คือ มหาอำนาจตะวันตก มาล่าอาณานิคม จักรวรรดินิยม ลูกที่สาม ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมือง คือ เรื่องคอมมิวนิสต์ ลูกที่สี่ นี่คือวิกฤตการณ์ปัจจุบัน เป็นวิกฤตการณ์แห่งการทำลายตัวเอง (Self -Destruction) แล้วคนไม่รู้ด้วยว่าศัตรูอยู่ที่ไหน ฉะนั้นยากที่สุด รุนแรงที่สุดขณะนี้ จุดนี้ต้องรู้ว่าอะไรเป็นศัตรูเรา ถึงจะมียุทธศาสตร์ที่จะต่อสู้ได้ ตอนพม่ายกมามันง่าย เพราะมันรู้ว่าศัตรูนี่คือพม่า เดี๋ยวเราก็มียุทธศาสตร์ต่อสู้ได้ ไม่ช้าก็จะขับไล่ไปได้ แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นศัตรู เราขับไล่ไม่ได้ ฉะนั้นข้อ ๑ คือข้อนี้เลย ที่ผมเสนอไว้ดังกล่าวว่า คนไทยต้องรู้เท่าทันว่า ขณะนี้โรคระบาดที่กำลังทำลายเราอย่างรุนแรง มากับทุสนเทศ
        ข้อ ๒ พ่อแม่ต้องปกป้องคุ้มครองลูกจากสื่อ จากทุสนเทศ จากสื่อที่เป็นพิษเป็นภัย ผมชอบอยู่บ้านนอก ชอบดู มองสัตว์ต่างๆ และเห็นสัตว์ต่างๆมันรักลูก มันปกป้อง แม่ไก่ตามปกติลูกไก่ก็คุ้ยเขี่ยหากินเอง แต่พอทำท่าจะมีเหยี่ยวมีอะไรมานะ แม่มันก็กางปีก ลูกมันก็เข้าซุก แม่มันปกป้อง งูมันมีไข่มันก็จะคอยดู อันนี้เป็นธรรมชาติของสัตว์ ของมนุษย์ จะต้องปกป้องคุ้มครองลูก ไม่งั้นลูกไม่รอดชีวิต ธรรมชาติก็ต้องสร้างมาว่า พ่อแม่ปกป้องคุ้มครองลูก ยังไงก็อยากปกป้อง แต่ไม่รู้ว่าศัตรูมันคืออะไรแค่นั้นแหละ เพราะว่า ในสมัยปัจจุบัน ศัตรูที่มันจะมาทำร้ายลูก มันมาคนละรูปแบบกับที่รู้จัก
        ฉะนั้นตรงนี้ พ่อแม่ทุกคู่ ทุกครอบครัว รวมทั้งปู่ย่าตายายด้วย ต้องปกป้องคุ้มครองลูก ลูกนี่เป็นของมีค่าที่สุด ไม่มีอะไรมีค่ามากเท่ากับลูกอีกแล้ว แก้วแหวนเงินทอง ก็ไม่มีค่าเท่าลูกใช่ไหมครับ แต่แก้วแหวนเงินทองนี่ ไม่ยอมทิ้งไว้ให้กับคนอื่น แต่ลูกบางทีทิ้งไว้กับคนอื่น ลูกนี่ต้องปกป้องคุ้มครองอย่างดีที่สุด และถ้ารู้ว่าสิ่งที่มาทำร้ายลูก มันมากับทุสนเทศ พ่อแม่ก็ไปดูว่า เออ..แล้วจะทำอย่างไร ถ้าพ่อแม่มีเวลา ต้องควรจะมีเวลากับลูก ถ้าดูโทรทัศน์กับลูก แล้วพยายามวิเคราะห์ ดูอย่างวิเคราะห์ว่า เออ..ที่พูดนี่จริงหรือเปล่า หลอกหรือเปล่า ส่วนใหญ่จะหลอก หลอกแต่มาแนบเนียน ชวนลูกวิเคราะห์ มันหลอกหรือเปล่า ถ้าไม่มีการวิเคราะห์ มันเดินเข้าสมองไปเลย อย่างพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า เดินเข้าสมองคนไปเลย ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำอะไร เห็นก็อยากซื้อเลย
        แต่ถ้าวิเคราะห์ ซึ่งมันเป็นขบวนการทางปัญญา แล้วเด็กเขาฉลาด เด็กนี่จริงๆ เขาฉลาด เขาจะรู้โน่นรู้นี่ต่างๆ ฉะนั้นต้องชวนกันดู อย่างวิเคราะห์วิจารณ์ เด็กก็จะฉลาด แล้วก็จะมีเครื่องกลั่นกรอง
        ลูกชายผมเขามีลูก ลูกเขาก็คือหลานผม อายุ ๖ ขวบ เขาคุยกับลูกเขาบอก “ขนมหลอกเด็กๆ” ไอ้ลูกก็ไม่อยากถูกหลอก เด็กถูกหลอกแล้วมันเสียเกียรติ เด็กไม่อยากถูกหลอก เวลาเขาหลอก เขาจะพยายามให้มีสีสัน มีความงาม อาจจะมีเทวดาหรือว่ามีนางฟ้ามา อะไรต่างๆ ร้อยแปด ให้มันเป็นสิ่งมีค่าดีงาม
        ฉะนั้น คำที่ใช้ ก็อาจจะหาคำอื่นอะไรมาอีก ที่จะกระตุ้นความรู้สึกเด็ก ไอ้ขนมหลอกเด็กนี่ก็อันหนึ่ง มันหลอกเด็ก พยายามวิเคราะห์ ช่วยกันดู อย่างไรก็แล้วแต่
        ผมคิดว่า ถ้าพ่อแม่รู้ คงคิดได้ดีกว่าเท่าที่ผมพูดนะ เพราะพ่อแม่อยากจะปกป้องดูแลลูก เมื่อเห็นภัย รู้ว่าอะไรเป็นภัย พ่อแม่ก็จะมีวิธีต่างๆ ฉะนั้น พ่อแม่ลูกปู่ย่าตายาย ทุกครอบครัว ควรจะปกป้องคุ้มครองเด็ก จากพิษภัย จากทุสนเทศที่มากับโทรทัศน์ มากับวิทยุ
        ข้อ ๓ บทบาทของเด็กเอง เด็กไม่ควรจะเป็นคนที่ถูกหลอก เด็กต้องโตขึ้นเป็นคนฉลาด รู้อะไรเป็นอะไร อย่าให้เขาหลอก แต่จริงๆ ธรรมชาติของเด็ก ก็ฉลาดอยู่แล้ว ที่ถูกทำให้โง่ เพราะผู้ใหญ่ทำ โทรทัศน์ทำ วิทยุทำ เพราะฉะนั้นตรงนี้เอง วิธีการ คือ ให้เด็กดูอย่างวิเคราะห์วิจารณ์ มันก็ผ่านกระบวนการกลั่นกรองทางปัญญา ถ้าไม่วิเคราะห์วิจารณ์ ดูไปเรื่อย พ่อแม่ให้ทีวีเลี้ยงเด็ก ให้ทีวีเลี้ยงลูก ลูกก็เสร็จ ทีวีก็กินลูกเข้าไป ทำให้ลูกโง่
        ตรงนี้ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน ต้องฝึกเด็กให้ดูอย่างวิเคราะห์วิจารณ์ ว่าจริงหรือเปล่า ที่พูดนี่จริงหรือเปล่า หลอกหรือเปล่า มีผลดีอะไร มีผลเสียอะไร หัดวิเคราะห์ผลดี ผลเสีย อันนี้เลยจะทำให้เด็กฉลาดไปเลย ถ้าหัดวิเคราะห์ผลดีผลเสียอยู่เรื่อย จากเรื่องง่ายๆ ต่อไปเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย นี่คือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เราไปเรียนวิทยาศาสตร์เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ เราก็เลยไม่เก่งวิทยาศาสตร์ ไปท่องว่านิวตันพบอะไร เอดิสันทำอะไร คนนั้นทำอะไร กลายเป็นไปท่องวิชาวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่กระบวนการวิทยาศาสตร์ กระบวนการวิทยาศาสตร์ คือ กระบวนการการวิเคราะห์เหตุ วิเคราะห์ผลในทุกเรื่อง ไม่ใช่อยู่เฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์
        วิทยาศาสตร์อยู่ในทุกเรื่อง ไม่ว่าการกินการอยู่ การดู การเห็น การอะไรทุกเรื่อง รอบตัวหมด อันนี้จะกลายเป็นวิทยาศาสตร์ แล้วต่อไปเด็กจะเก่งวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรียนวิทยาศาสตร์ อย่างที่เราเรียนทุกวันนี้ วิทยาศาสตร์นี่คือว่า เวลาเรารับรู้อะไรมา เราวิเคราะห์สังเคราะห์ ให้มันเป็นปัญญาที่สูงขึ้น ถ้าเราเพียงแต่รับรู้มัน ๑. ต้องรับรู้ความจริง ถ้ารับรู้ความหลอก เราจะเสียหาย ทีนี้ถ้ารับรู้ความจริงเข้ามานั้น ยังไม่พอ ต้องวิเคราะห์สังเคราะห์ ให้มันเป็นความเข้าใจที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามองโลกไป เท่าที่เราเห็นนี่ เราก็ต้องบอกว่าโลกมันแบน แต่ความรู้มันบอกว่ามันกลม จากความรู้ จากการวิจัย จากการวิเคราะห์สังเคราะห์นั้น บอกว่ามันกลม ฉะนั้นทุกอย่างที่เราสัมผัส ต้องเอามาวิเคราะห์สังเคราะห์ ให้มันเป็นปัญญาที่สูงขึ้นเสมอ ฝึกจนเป็นนิสัย อันนี้คือการวิจัย การวิจัยต้องเป็นวิถีชีวิต ไม่ว่าจะเจออะไร รับรู้อะไรขึ้นมา วิเคราะห์สังเคราะห์ เป็นปัญญาที่สูงขึ้น ถ้าเราทำอย่างนี้ ต่อไปเด็กเก่งทุกเรื่อง เข้าไปอยู่ในกระบวนการชีวิตเลย แล้วตรงนี้น่าทำมาก ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
        ฉะนั้นที่โรงเรียน ควรจะมีชั่วโมงว่าด้วยเรื่องข่าวสาร อย่าไปท่องวิชาหมด ท่องวิชาหมด เป็นการไม่รับรู้ความจริงที่มันกำลังเกิดขึ้น ข่าวสารที่เด็กรับมา มันเป็นความจริงที่กำลังเกิดขึ้น ถ้าเราไปท่องวิชาหมด เท่ากับไล่ตามอดีต แต่ไล่ตามไม่ทัน และไม่เห็นปัจจุบัน ไม่เห็นอนาคต อันนั้นคือการศึกษาของเราในปัจจุบัน เพราะเราไปไล่ตามอดีต คือการท่องหนังสือ
        การศึกษาที่ดีต้องรู้ทั้งอดีต รู้ทั้งปัจจุบัน รู้ทั้งอนาคตพร้อมกันไป เพราะฉะนั้นต้องฝึกตรงนี้ ผมคิดว่าควรตัดชั่วโมงที่ท่องวิชาลง ให้เหลือน้อยที่สุด คุณอดิศัย บอกอยากลดชั่วโมงเรียนลงเหลือครึ่งหนึ่ง ผมคิดว่าอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง แล้วเอาที่เหลือมาเรียนจากของจริง จากชีวิตจริง ทุกวันควรจะมีชั่วโมงข่าวสาร ว่าเด็กรับรู้ข่าวสารอะไรมา แล้วให้เด็กวิเคราะห์ทุกวัน คราวนี้เด็กจะเก่ง แล้วมันจะรวมขบวนการวิทยาศาสตร์ เข้าไปอยู่ในนี้แล้ว ทำตรงนี้ให้เยอะว่า เออ เด็กไปรับรู้อะไรมาใน ๒๔ ชั่วโมงที่แล้ว แล้วไหน ลองวิเคราะห์สิ่งที่รับรู้มาซิ วิเคราะห์สังเคราะห์มัน ใช้อันนี้ทุกวัน ทำทุกวันๆ เด็กก็จะเก่ง มีขบวนการทางปัญญา แล้วเขาจะรู้เท่าทันสิ่งที่ได้รับรู้มา ก็จะเกิดปัญญา เกิดภูมิคุ้มกันตัวเองขึ้น
        นี่คือข้อ ๓ เด็กไทยวิจารณ์สื่อ อันนี้เป็นกระบวนการวิจัยเลย วิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นกระบวนการวิทยาศาสตร์ เป็นการวิจัยไปด้วยในตัวจากสิ่งที่พบทุกวัน เป็นการเชื่อมโยงการศึกษากับชีวิต พระธรรมปิฎกพูดมากว่า ๒๐ ปี ว่าปัญหาการศึกษาปัจจุบัน ทำแบบแยกส่วน แยกว่าชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อย่างหนึ่ง การศึกษาไปเอาวิชาเป็นตัวตั้ง แล้วชีวิตก็ทิ้งไป จุดสำคัญข้อใหญ่ใจความของการศึกษา ต้องจับการศึกษากับชีวิต ให้มาอยู่ที่เดียวกัน ในคติทางพุทธศาสนานั้นถือว่า ชีวิตกับการศึกษาอยู่ที่เดียวกัน การศึกษาคือชีวิต ชีวิตคือการศึกษา อยู่ที่เดียวกัน แล้วครูบาอาจารย์ลองนึกดูว่า ถ้าเรามีการเรียนอย่างที่ว่านี้ทุกวัน ว่าภายใน ๒๔ ชั่วโมงที่แล้ว นักเรียนได้สัมผัสเรื่องอะไรบ้าง เรื่องพ่อ เรื่องแม่ เรื่องกับข้าว เรื่องอะไรก็แล้วแต่ ไปอ่านหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ทำอะไรมาทุกเรื่อง เอามาวิเคราะห์วิจารณ์ อันนี้ก็จะทำให้ชีวิตกับการเรียนรู้ เข้าไปเชื่อมโยง เป็นกระบวนการเดียวกัน
        อันนี้เป็นจุดสำคัญ ที่จะปฏิรูประบบการเรียนรู้ ต้องปฏิรูประบบการเรียนรู้ หรือปฏิรูประบบการศึกษา ที่ปฏิรูปไปที่แล้วนี้มันกลับไปปฏิรูปกระทรวงศึกษา ปฏิรูปที่สำคัญที่สุด คือ การจับชีวิตกับการศึกษา ให้มาอยู่ที่เดียวกันให้มากที่สุด อันนี้เป็นตัวอย่าง ถ้าเราทิ้งชีวิต ชีวิตก็ไปยาว อ้าว..เด็กจะไปดูอะไรก็ช่างมัน ไอ้เรียนก็มาท่องวิชา มันแยกกัน ถ้าว่าการศึกษาทิ้งชีวิต ก็เท่ากับทิ้งชีวิตเด็กหมดเลย เด็กก็ไปเป็นเหยื่อของพวกหากินกับเด็กหมด ฉะนั้นถ้าครูไม่ทิ้งเด็ก ต้องจับชีวิตกับการศึกษามาอยู่ที่เดียวกัน โดยวิชาอย่างที่ว่านี่ทุกวันเลย เด็กเอาประสบการณ์ของเด็ก มาวิเคราะห์สังเคราะห์กันให้เป็นปัญญาสูงขึ้น แล้วจะเก่งทุกทางเลย แล้ววิทยาศาสตร์อยู่ที่นี่ครับ ถ้าเราไปทำอย่างที่ว่านี่ ผมสงสารครูเป็นที่สุด เพราะพูดกันแต่ว่าครูไม่เก่ง อยากให้ครูเก่ง ทำไงก็ครูไม่เก่ง จริงๆ ไม่ใช่ครับ จับผิดประเด็น เป็นที่ระบบการศึกษา ถ้าเป็นระบบอย่างนี้ ทำไงครูก็ไม่เก่ง ครูที่เคยเก่งก็จะกลายเป็นไม่เก่ง ถ้าระบบการศึกษามันถูกต้อง ให้ครูเก่งเอง ทุกคนเก่งหมด นักเรียนก็เก่ง ครูก็เก่ง ทุกคนเป็นคนเก่งหมด ถ้าเราเรียนอย่างปัจจุบัน จะมีเด็กไม่กี่คน ที่บอกว่า เป็นเด็กเก่ง นอกนั้นไม่เก่ง ซึ่งทำร้ายเด็กเหลือประมาณ
        ถ้าเรามีโอกาส ให้เด็กทำอย่างที่เขาชอบ บางคนชอบคณิตศาสตร์ บางคนชอบวิทยาศาสตร์ บางคนชอบศิลปะ บางคนชอบเกษตรกรรม บางคนชอบอะไรก็แล้วแต่ ให้ทำสิ่งที่เขาชอบ เขาจะเก่ง ตกลงทุกคนจะเป็นคนเก่งหมด ในทางที่ต่างกัน จิตใจเขาก็จะดีขึ้นเยอะ ถ้าเขาถูกบอกว่า เป็นคนไม่เก่ง มีเด็กอยู่ ๒-๓ คนเท่านั้นที่เก่งในชั้นอะไรอย่างนี้ มันทำลายจิตใจเด็กหมด ฉะนั้นทุกคนเป็นคนเก่ง นักเรียนทุกคนเป็นคนเก่ง ครูทุกคนเป็นคนเก่งหมด โดยจัดตัวระบบการศึกษา ระบบการเรียนรู้ ถ้าระบบมันดี ทุกคนเก่งหมดไปในตัว
        อันนี้ที่ผมกำลังพูดอยู่ คือ เอาชีวิตกับการเรียนรู้เข้ามาอยู่ที่เดียวกัน แล้วข้อเสนอนี่คือ ทุกชั้นเรียน ทั้งประเทศ อันนี้ควรจะเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาเลย ทุกชั้นเลย ลดการเรียนวิชาลง แต่มาเป็นการเรียน ที่เอาสิ่งที่นักเรียนประสบ สัมผัสขึ้นมาวิเคราะห์สังเคราะห์ แล้วเด็กจะรู้ทัน
        ข้อ ๔ ชุมชนเข้มแข็ง เป็นป้อมปราการต่อภัยคุกคามทุกประเภท ขณะนี้ กำลังมีกระบวนการที่เรียกว่า ชุมชนเข้มแข็ง คนในชุมชน กำลังรวมตัวกัน ที่เรียกว่า รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ ทำการวิจัยว่ามันมีอะไร มีปัญหาอะไร ทำอย่างไร แล้วเอาผลวิจัย มาทำแผนแม่บทชุมชน กำลังประชุมกันอยู่ ที่โรงแรมขณะนี้ เป็นแผนแม่บทชุมชน เวลาเขาทำแผนแม่บทชุมชนแล้ว เขาจะเก่งมาก เขาจะเกิดภูมิคุ้มกัน เขาจะหายจน
        ครอบครัวจะเข้มแข็ง ชุมชนจะเข้มแข็ง อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ รักษาวัฒนธรรมได้ ทำเรื่องสื่อของเขาเอง เคยได้ยินเรื่องวิทยุชุมชนไหมครับ ชุมชนทำวิทยุเอง เพราะว่าสื่อที่มาจากส่วนกลาง ถูกใช้เป็นเครื่องมือทุสนเทศ อย่างที่ว่า ไปเข้าสมองคน ให้คนใช้เงิน แต่เวลาชุมชนทำวิทยุเอง วิทยุเขาไปซื้อเครื่องส่งมาราคา ๒ หมื่น ถึง ๔ หมื่น ส่งรัศมี ๑๐-๒๐ กิโล แล้วชาวบ้านเป็นผู้มาสื่อเอง สื่อกัน ๘ เรื่องด้วยกัน ๑. สื่อเรื่องทำมาหากิน ใครทำอะไรดี ไม่ดียังไงเอามาสื่อกัน ๒. สื่อเรื่องการศึกษา ๓. สื่อเรื่องสุขภาพ ๔. สื่อเรื่องศาสนา พระศาสนธรรม ๕. สื่อเรื่องวัฒนธรรม ๖. สื่อเรื่องฤดูกาล เพราะมันเกี่ยวข้อง ร้อนหนาว ฝนตกไม่ตก ๗. สื่อเรื่องบ้านเรื่องเมือง มันเป็นยังไง ข่าวสารบ้านเมือง ๘. สื่อเรื่องโลก ว่าโลกเขาเป็นยังไงกัน เดี๋ยวนี้มันเชื่อมโยงกันหมดทั้งโลก เวลาเขาสื่อเอง เขาแข็งแรงมาก เพราะเขาไม่ทำลายกันเอง เขาทำแต่เรื่องมีประโยชน์ เป็นสุสนเทศ เห็นไหมครับ
        เออ เรื่องนึง อย่างนี้ เรื่องขนมเด็ก มีตัวอย่างนะครับ ชุมชนเขาทำวิจัย ว่าเขามีรายจ่ายอะไรบ้าง เดิมเขาไม่รู้ แต่ละคนก็ซื้อ กันคนละกระป๋อง กันคนละขวด คนละอะไรก็แล้วแต่ ในตำบลนึง เช่นตำบลเขาคราม ที่จังหวัดกระบี่ เขาวิจัย เขาพบว่าค่าน้ำปลาของเขา ทั้งตำบล ปีนึง ๗ แสนบาท เขาตกใจ บอกว่าค่าน้ำปลาอย่างเดียวตั้ง ๗ แสน เราทำเองได้รึเปล่า ทำเองได้ เท่าไหร่ ไม่ถึงแสน กำไรมา ๖ แสน
        ค่าขนมลูกเท่าไหร่ โฆษณากร๊อบแกร๊บ เขียวแดงอะไรต่างๆ ไปเอาตัวเลขมาดู เดิมไม่รู้นะครับ หลายล้านบาท ในตำบล ค่าขนมลูกหลายล้านบาท เขาช็อค นี่ประโยชน์ของการวิจัย การวิจัยให้เห็นภาพรวม เขาก็เกิดตั้งคำถามขึ้น ว่าเราทำขนมให้ลูกกินได้หรือเปล่า คำตอบคือได้ ทำอะไรได้ อูย ได้ตั้ง ๒๐-๓๐ ชนิด ลูกกินอิ่มเหลือขาย ได้กำไรอีก ประหยัดได้หลายล้านบาท เพราะทำให้ลูกกินเอง ทำสารพัดอย่าง แล้วก็ปรับปรุงขึ้น พัฒนาขึ้น ก็เก่งขึ้น ทำขนมก็ฉลาดขึ้น ใช่ไหมครับ เพราะต้องคิดต้องทำ ถ้าหยิบสตางค์ไปซื้อ ก็โง่ทั้งแม่ทั้งลูกใช่มั๊ย ไม่ได้ทำอะไรนี่ เพียงแต่หยิบเงินแล้วได้ขนม ถ้าทำขนมมันทำให้ฉลาด เพราะคิดทำโน่นทำนี่ ทำอะไรดัดแปลงต่างๆ เอา ได้กำไรมาอีกแล้ว
        เห็นไหมครับว่า กระบวนการชุมชนเข้มแข็ง เขาคุ้มครองลูก เขาประหยัด เพราะฉะนั้น ตรงนี้เอง กระบวนการตรงนี้กำลังเกิดขึ้น ที่เขาเรียกแผนแม่บทชุมชน ที่กำลังประชุมกันอยู่ แล้วเวลามันเกิดขึ้นเต็มพื้นที่ ทั้งเจ็ดพันกว่าตำบล ชุมชนจะเข้มแข็ง และเกิดภูมิคุ้มกัน ทำให้ครอบครัวเข้มแข็งด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้ ควรจะเข้ามา เข้ามาเป็นข้อนึง มันช่วยกัน ถ้าชุมชนเข้มแข็ง ครอบครัวก็เข้มแข็งด้วย จึงเป็นคาถาข้อหนึ่ง ว่าชุมชนเข้มแข็ง เป็นป้อมปราการต่อภัยคุกคามทุกประเภท สร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ทำให้หายจน เศรษฐกิจดี จิตใจดี ครอบครัวดี สิ่งแวดล้อมดี วัฒนธรรมดี สุขภาพดี ทุกอย่าง ถ้าชุมชนเข้มแข็ง เป็นกุญแจอย่างหนึ่งของสัมมาพัฒนา ของการพัฒนาที่ถูกต้อง อันนั้นเป็นข้อสี่
        ข้อ ๕ รัฐบาลต้องปกป้องคุ้มครองเด็กไทย รัฐบาลทำลายเด็กไม่ได้ รัฐบาลไหนทำลายเด็ก ไม่ปกป้องคุ้มครองเด็ก ก็ไม่ควรอยู่เป็นรัฐบาล จะเป็นทำไม เด็กเป็นของมีค่าของแผ่นดิน แล้วคุณไม่รักไม่รักษาของแผ่นดิน คุณจะอยู่ทำไม เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลที่ปกป้องคุ้มครองเด็ก อย่าอยู่เฉย อย่าปล่อยให้คนมาฆ่าเด็ก เหมือนเป็นพ่อแม่ แล้วอยู่เฉยได้อย่างไง รัฐบาลต้องมาดูต่างๆ ว่ามันมีพิษภัยต่อเด็กอะไรบ้าง แล้วต้องจัดการ ต้องทำ เรื่องสื่อต้องมาดู
        มีมาตรการตั้งหลายอย่าง ที่รัฐบาลทำได้ สร้างกฎหมาย สร้างแรงจูงใจ ที่จะทำให้สื่อนั้นลดการทำลายผู้คนลง แต่ว่าทำไปในทางบวก ถ้าสื่อทำไปในทางบวก ผลดีจะเกิดขึ้นโดยรวดเร็ว เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องมาตรงนี้ รัฐบาลต้องลงทุนเท่าไหร่ก็ได้ แสนล้านบาทก็ได้ต่อปี ที่จะทำให้สื่อหันไปทางบวก แล้วผลบวกก็จะเกิดขึ้นโดยรวดเร็ว ตรงนี้รัฐบาลต้องมาทำด้วยมาตรการต่างๆ ลงโทษสื่อที่ไม่ดี สร้างแรงจูงใจในทางบวก ที่สื่อจะไปสู่การเป็นสื่อสร้างสรรค์ อันนี้เรียกร้องเลยว่า รัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลที่ปกป้องคุ้มครองเด็กไทย ถ้ารัฐบาลไม่ปกป้องคุ้มครองเด็กไทยแล้ว ไม่ควรอยู่เป็นรัฐบาล ไม่ได้พูดรุนแรงนะฮะ แต่ต้องพูด ถ้าคนแก่ไม่พูด มันก็ไม่ดี
        ข้อ ๖ สื่อต้องมีจริยธรรม ให้แจกทุกข้อ เราอย่ามาบอกว่า เป็นเรื่องของเด็กแค่นั้น ขณะที่คนทำร้ายเด็กโครมๆ มันเป็นเรื่องของเด็กจะต้องช่วยตัวเอง มันไม่ได้ มันต้องแจกทุกคนนะฮะ แจกตั้งแต่พ่อแม่ ครู รัฐบาล ตัวสื่อเอง ข้อหก สื่อต้องมีจริยธรรม สื่อต้องมีศีลธรรม สื่อต้องไม่ทำร้ายคนอื่น สื่อต้องทำเรื่องดีๆ สื่อต้องเป็นสุสนเทศ สื่อต้องไม่เป็นทุสนเทศ อะไรที่ทำร้ายคนอื่น ต้องไม่ทำ สื่อต้องเป็นสื่อสร้างสรรค์
        เพราะฉะนั้น สื่อทั้งหมด ควรจะมาทบทวนตัวเอง ทั้งหมดเลย ทั้งระบบ ทุกชนิด ว่าทำอย่างไร สื่อจึงจะเป็นสื่อสร้างสรรค์ ถ้าเป็นสื่อสร้างสรรค์ บ้านเมืองจะเจริญรวดเร็วมาก รวดเร็วกว่าอย่างอื่นๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นประชาคม ประชาชน สื่อเอง รัฐบาล ระบบราชการ ครูบาอาจารย์ ทั้งหมดต้องมาร่วมมือกัน ร่วมมือกันตั้งคำถาม แล้วร่วมกันทำความเข้าใจระบบสื่อ ว่าทำอย่างไร ระบบสื่อจะเป็นระบบสื่อสร้างสรรค์ทั้งหมดเลย แล้วตรงนี้บ้านเมือง ไปเร็วเลย สื่อต้องมีจริยธรรม และเป็นสื่อสร้างสรรค์ บ้านเมืองจะเจริญรวดเร็ว จะปกป้อง คุ้มครองเด็ก และทุกๆ คน จากพิษภัยทั้งปวง
        ข้อ ๗ ข้อสุดท้าย ปรับระบบเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้ ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ต้นตอใหญ่ คือระบบเศรษฐกิจที่ไร้ศีลธรรม เอาเงินเป็นตัวตั้งอย่างเดียว ขอให้ได้เงินเยอะๆ อย่างเดียว ไอ้สิ่งร้ายๆ มันก็เกิดขึ้นทั่วไปหมด ก็รุนแรงทั่วไปหมด เพราะระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยโลภจริต แล้วบอกว่ามันเป็นของดี เอามาจากตะวันตก ตะวันตกเขาพูดเลย ผมเคยไปถ่ายไว้ ในหนังสือ Time Magazine เขาบอก Greed is good ความโลภเป็นของดี เขาถือว่าเป็นอย่างนั้นนะ Greed is good ความโลภทำให้เจริญ เขาถืออย่างนั้นจริงๆ อันนั้นทำให้ยุ่งไปหมดทั้งโลก
        ยุทธศาสตร์ของฝรั่ง กับของพระพุทธเจ้า ไม่เหมือนกัน ยุทธศาสตร์ของฝรั่ง เขาจับตรงที่เรียกว่า สร้างสุข ยุทธศาสตร์ของพระพุทธเจ้า คือลดทุกข์ ถ้าลดทุกข์มันก็สุขใช่ไหม แต่ ถ้าไปสร้างสุข มันนำไปสู่ความโลภ และการแย่งชิง แต่ถ้ายุทธศาสตร์ บอกเป็นยุทธศาสตร์ลดทุกข์ มันนำไปสู่ปัญญา และความร่วมมือกัน จะไม่เหมือนกัน
        พี่น้องคนไทยครับ ต้องเลือกแล้ว จะเลือก “ฝรั่ง สะระณัง คัจฉามิ” หรือเลือก “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ” คนไทยมาถึงจุดต้องเลือกแล้วครับ เราลำบากมามากแล้ว เราเป็นเหยื่อมามากแล้ว คนทุกคน เป็นคนมีเกียรติ มีศักดิ์มีศรี สามารถจะกำหนดอนาคตตัวเองได้ ไม่ควรจะมาล้างสมองกัน หนังฮอลลีวูด ทำมา ๗๕ ปี ล้างสมองเอาเงินคน ด้วยขายสองอย่าง คือขายเซ็กส์กับความรุนแรง ใช่หรือเปล่า เพราะหลักของเขาคือ Greed is good นะฮะ ซึ่งไม่ตรงกับหลักของพระพุทธเจ้า หลักของพระพุทธเจ้า ก็ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ทำจิตให้บริสุทธิ์ อะไรจะดีอย่างนี้นะ มนุษย์ก็เป็นสัตว์ มีกิเลสมีอะไรได้ แต่ว่าพุทธศาสนาสอนว่า ไม่ทำบาปทั้งปวง ไปทำร้ายคนอื่นมันไม่ดี ทำความดีให้ถึงพร้อม แล้วทำจิตให้บริสุทธิ์อีก พัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นอีก ใช่ไหมครับ เราก็พึ่งผ่านวันมาฆบูชามาไม่กี่วันนี้เอง แล้วก็หลักของพระพุทธเจ้าที่แสดงที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ แสดงที่เวฬุวัน คือป่าไผ่อยู่นอกกรุงราชคฤห์ ใครเคยไปบ้าง ผมไปมาแล้ว ไปตรงจุดที่ท่านแสดงโอวาทปาติโมกข์เลย กับพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ที่ตรงนั้นเลย แล้วก็แสดงตรงนี้ละครับว่า ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำความดีถึงพร้อม ทำจิตให้บริสุทธิ์อันนี้ เพราะฉะนั้นไปคนละทาง เราต้องมาตรงสัมมาพัฒนาแล้ว เราต้องไปถึงจุด ที่คนไทยจะมากำหนดระบบเศรษฐกิจใหม่ เป็นระบบเศรษฐกิจศีลธรรม แล้วเราก็ไม่ลำบากอะไร เพราะพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งตรงนี้ไว้แล้ว คือระบบเศรษฐกิจพอเพียง ระบบเศรษฐกิจพอเพียงนั้น คือระบบเศรษฐกิจศีลธรรม เป็นระบบเศรษฐกิจที่เอามนุษย์เป็นตัวตั้ง ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน เป็นระบบที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ระบบเศรษฐกิจที่เอามนุษย์เป็นตัวตั้งเบื้องต้น ต้องส่งเสริมให้เกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่ อาชีพที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ บ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข จะไม่มาหลอกโฆษณาหลอกเด็ก เอาสตางค์เด็ก เอาสตางค์ผู้ปกครองต่างๆ อันนี้ไม่ใช่สัมมาชีพ
        ฉะนั้น ข้อเจ็ดนี้ จะต้องไปให้ถึงจุดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หรือเศรษฐกิจที่เอามนุษย์เป็นตัวตั้ง แล้วรูปธรรมของตรงนั้น ก็คือ มีสัมมาชีพเต็มพื้นที่
        ตกลงคาถานี้ เป็นคาถาเจ็ดประการด้วยกัน ที่ไม่ได้คุ้มครองเฉพาะเด็กไทย คุ้มครองเด็กไทย คุ้มครองผู้ใหญ่ไทย คุ้มครองประเทศชาติ ด้วยทั้งหมดไปพร้อมกัน คือ
        ข้อ ๑ คนไทยทั้งชาติรู้เท่าทันโรคระบาดชนิดใหม่ที่มากับทุสนเทศ
        ข้อ ๒ พ่อแม่ต้องปกป้องคุ้มครองลูก จากสื่อที่เป็นพิษเป็นภัย
        ข้อ ๓ เด็กไทยวิจารณ์สื่อรู้เท่าทันการหลอกเด็ก
        ข้อ ๔ ชุมชนเข้มแข็งเป็นป้อมปราการต่อภัยคุกคามทุกประเภท
        ข้อ ๕ รัฐบาลต้องปกป้องคุ้มครองเด็กไทย
        ข้อ ๖ สื่อต้องมีจริยธรรม
        ข้อ ๗ ต้องปรับระบบเศรษฐกิจ จากเศรษฐกิจโลภจริต ไปสู่ธรรมเศรษฐกิจ คือเศรษฐกิจที่ถูกต้อง ที่มีธรรมเป็นหลัก คือเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือเป็นระบบเศรษฐกิจ ที่เอามนุษย์เป็นตัวตั้ง มีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นรูปธรรม
        ก็ขอมอบคาถาเจ็ดประการนี้ ไว้กับเพื่อนคนไทยทุกคน ขอให้คาถานี้ ได้ช่วยปกป้องคุ้มครองเด็กๆ ลูกหลานเราทุกคน พ่อแม่ ทุกคน ตลอดจนประเทศชาติ ให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข
        ขอบพระคุณครับ

โครงการเด็กไทยรู้ทัน

ทำไมต้องรู้ทัน

        ขนมขบเคี้ยวประเภทแป้งกรอบ (Snack), ลูกกวาดลูกอม (Candy) และน้ำอัดลม (Soft drink) เป็นขนมยอดนิยม (๙๐%) ของเด็กไทยปัจจุบัน เฉพาะขนมขบเคี้ยวอย่างเดียว มีมูลค่าตลาดมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท (พ.ศ. ๒๕๔๓) โดยมีเด็กและวัยรุ่นเป็นฐานใหญ่ของตลาด (๗๐%)
        เมื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นเด็กและวัยรุ่น การเปลี่ยนยี่ห้อสินค้า ที่นิยมซื้อ จึงเกิดขึ้นได้ง่าย ผู้ผลิตจึงต้องโหมจัดกิจกรรมทางการตลาดรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการโฆษณา ที่หวังให้ส่งผลกระทบ ต่อพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค เทคนิคการโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้น ที่สินค้าเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการขายสินค้าแก่เด็กและเยาวชน จึงเพิ่มอัตราเสี่ยงภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) แก่เด็ก ปลูกฝังลีลาชีวิตที่เป็นภัยต่อสุขภาวะในระยะยาว และทำให้เด็กขาดโอกาสวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาด (Wise Consumer) ในอนาคต
        สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา (มายา) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงพัฒนาโครงการเด็กไทยรู้ทันขึ้น เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ แก่เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา ให้รู้เท่าทันกลวิธีโฆษณาชวนเชื่อ ของสินค้าขนมเด็กทางโทรทัศน์ โดยการนำเสนอทางเลือก และเทคนิคการรู้เท่าทันกลวิธีโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยวิธีการศึกษาสื่ออย่างวิพากษ์วิจารณ์ (Critical Media Study) ผ่านละครการศึกษา เรื่อง “เด็กไทยรู้ทัน” การฝึกอบรมครู เพื่อพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น, การพัฒนาโครงการรณรงค์ในโรงเรียนระดับประถมศึกษา, การพัฒนาเครือข่ายครู และ การสัมมนาระดับชาติ ภายใต้ความเชื่อว่า เด็กจะดูแลรักษาสุขภาพของตน และพึ่งพิงตนเองได้ ด้วยการรู้คิด

กิจกรรมรู้ทัน

        ละครการศึกษา เรื่อง “เด็กไทยรู้ทัน” ได้จัดการตระเวนแสดงสด จำนวน ๑๑๑ รอบ ให้แก่ผู้ชม จำนวน ๙๑,๔๘๘ คน ซึ่งเป็นเด็ก จำนวน ๘๔,๒๔๘ คน และ ครูประจำการ จำนวน ๔,๕๒๒ คน จาก ๖๐๕ โรงเรียนของ ๑๐ จังหวัดพื้นที่เป้าหมายได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ชลบุรี, เชียงใหม่, นครสวรรค์, พิษณุโลก, นครราชสีมา, อุบลราชธานี, ขอนแก่น และสงขลา ในระหว่างเดือน พ.ย. ๔๕ - ก.พ. ๔๖ รวมทั้งได้จัดการฝึกอบรมปฏิบัติการ หลักสูตรท้องถิ่น “เด็กไทยรู้ทัน” และ ๑๐๐ โครงการรณรงค์ ในโรงเรียน จำนวน ๖๐ ครั้ง ให้แก่ครูประจำการ จำนวน ๖,๐๒๙ คนครั้ง โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอทางเลือก และเทคนิคการรู้เท่าทันกลวิธีโฆษณาชวนเชื่อ ด้วยวิธีการศึกษาสื่ออย่างวิพากษ์วิจารณ์ ให้แก่เด็กๆ และเพื่อนครู นอกจากนี้ โครงการ ยังมีกิจกรรมรู้ทันอื่นๆ ที่จัดให้แก่ ครูอาจารย์ ครอบครัวและนักนโยบาย อาทิ ชุมชนเด็กไทยรู้ทัน, บทเรียนครูสื่อสุขภาพ และการสัมมนาระดับชาติ “เด็กไทยรู้ทัน”


(สมุดปกแดง)


ทำไมการตลาดและการโฆษณาสินค้าเด็ก ถึงต้องได้รับการควบคุมดูแลเป็นการเฉพาะ

        ขนมเจ้าปัญหาเหล่านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า เป็นอาหารทำลายสุขภาพ แม้จะไม่ใช่อาหารอันตรายกินแล้วตายทันที (ดังที่ชอบอ้างกันว่า “ก็ผ่าน อย. แล้ว”) แต่การบริโภคมากเกินไป จะทำลายสุขภาพประชากรตั้งแต่เล็กๆ และมีผลกระทบรุนแรง ต่อระบบสุขภาวะของสังคม ในระยะยาว
        เด็กและเยาวชนเป็นตลาดใหญ่ เป็นเป้าหมายสำคัญของอาหารทำลายสุขภาพเหล่านี้ การตลาด และการโฆษณาที่ขาดความรับผิดชอบ ขาดการควบคุมดูแลเป็นการเฉพาะ จะมุ่งสร้างอิทธิพล ต่อพฤติกรรมการซื้อบริโภคของเด็กและเยาวชน ด้วยวิธีบ่อนทำลายวิจารณญาณ และขัดขวางการพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ และการตัดสินใจซื้อจากคุณค่ามากกว่าภาพลักษณ์ ด้วยโฆษณาหลอกเด็ก ที่เกินกำลังควบคุมของพ่อแม่และโรงเรียน
นี่คือเหตุผลขั้นพื้นฐาน ที่การตลาดและการโฆษณาสินค้าเด็ก ต้องได้รับการควบคุมดูแลเป็นการเฉพาะ

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม
        คลิกเข้าไปอ่านเอกสาร “Broadcasting Bad Health: Why food marketing to children needs to be controlled” โดย องค์การ IACFO ที่เสนอต่อ องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ www.foodcomm.org.uk/Broadcasting_bad_health.pdf

ข้อเรียกร้อง ๑๒ ประการ โครงการเด็กไทยรู้ทัน

เด็กไทยรู้ทัน

๑. มีวิธีจัดการกับขนมเจ้าปัญหา
๒. สามารถวิเคราะห์วิจารณ์โฆษณา
๓. รู้จักออมทรัพย์ช่วยบิดามารดาประหยัด

พ่อแม่รู้ทัน

๔. ปิดทีวีเช้าเสาร์อาทิตย์สร้างชีวิตใหม่
๕. สอนลูกให้รู้วิธีใช้จ่ายเงินอย่างมีประโยชน์
๖. สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังโฆษณาหลอกเด็ก

โรงเรียนรู้ทัน

๗. โรงเรียนปลอดขนมเจ้าปัญหา
๘. ไม่ยอมให้โฆษณาบุกเข้าโรงเรียน
๙. สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กด้วยสื่อศึกษาในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

รัฐบาลรู้ทัน

๑๐. มีกฎหมายควบคุมโฆษณาสินค้าเด็กโดยเฉพาะ
๑๑. ส่งเสริมรายการโทรทัศน์ดีๆ สำหรับเด็กและครอบครัวที่ปลอดโฆษณา
๑๒. สร้างกิจกรรมทางเลือกให้เด็กเรียนรู้ในช่วงเวลาเย็นและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์

เด็กไทยรู้ทัน

ต่อต้านโฆษณาหลอกเด็ก ข้อเรียกร้อง ๑๒ ประการ ๑. ทำไมใครๆ ถึงอยากได้เงินค่าขนมของเด็กและเยาวชนกันนัก?
        คำตอบง่ายๆ ก็คือ เด็กมีเงินมาก และจ่ายง่าย
        ความด้อยประสบการณ์ และการเชื่อถืออะไรได้โดยง่ายของเด็ก ถูกผู้ใหญ่นำมาใช้เป็นช่องทางสำคัญ ที่จะสร้างโฆษณากระตุ้นเร้า ให้เกิดการซื้อ “ภาพลักษณ์” มากกว่าคุณค่าที่แท้จริงของสินค้า
        นำไปสู่การปลูกฝังพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ใช้เหตุผล (Irrational Consumer Behaviour) ตามวิถีการครอบงำของลัทธิบริโภคนิยมในสังคมทุนนิยม
        เด็กที่ซึมซับบทเรียนจากมิ่งมิตรโฆษณาทางโทรทัศน์เหล่านี้ จะกลายเป็นลูกค้าคนสำคัญในวันนี้และวันหน้า ที่เทเงินหมดกระเป๋า เพื่อซื้อความฝันลมๆ แล้งๆ แถมเป็นนกต่อตัวน้อยน่ารัก ที่ทำให้พ่อแม่หยิบเงินออกจากกระเป๋าสตางค์ ด้วยความห่วงใยลูก ทุ่มเทกับสินค้าที่ชุบชูความฝันลมๆ แล้งๆ อีก เช่นกัน
        ครอบครัวสุขสันต์ใช้จ่ายเพลิดเพลิน สินค้าขนมเด็ก ลูกกวาด ลูกอม น้ำอัดลม ขนมกรอบกรอบ สินค้าเด็ก สินค้าครอบครัว ต่างยิ้มแป้นไปตามกัน
๒. เด็กมีกำลังซื้อเท่าไร? หลายคนมีคำถาม
        เด็กและเยาวชนอายุ ๕-๒๔ ปี ประมาณ ๒๑ ล้านคน มีเงินไปโรงเรียนปีละ “สามแสนห้าหมื่นสี่พันเก้าร้อยเจ็ดสิบเอ็ดล้านบาท” คือคำตอบ แล้วเด็กซื้อขนมสักเท่าไร? ขอถามต่อ ทั้งปีเพียง “หนึ่งแสนหกหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยแปดสิบล้านบาท”
        ไม่มากไม่มาย เป็นเพียง ๑๕.๗% ของเงินงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๗ หรือมากกว่างบประมาณประจำปีของ ๖ กระทรวงรวมกันไปนิดหน่อย คือ ๑. กระทรวงกลาโหม ๗๘,๕๕๑,๓๒๔,๕๐๐ บาท ๒. กระทรวงการต่างประเทศ ๕,๔๐๑,๑๘๑,๓๐๐ บาท ๓. กระทรวงพาณิชย์ ๔,๖๒๐,๘๕๓,๘๐๐ บาท ๔. กระทรวงยุติธรรม ๑๑,๓๐๕,๓๑๕,๐๐๐ บาท ๕. กระทรวงแรงงาน ๑๒,๙๕๘,๕๘๑,๓๐๐ บาท และ ๖. กระทรวงสาธารณสุข ๔๕,๑๔๗,๘๙๑,๒๐๐ บาท
        น่าเสียดาย ถ้าใครอยากจะนำเงินที่เด็กซื้อขนมไปจัดการศึกษา เพราะเม็ดเงินยังไม่เพียงพอ คงจัดได้ไม่ทั่วถึง เพราะครอบคลุมได้เพียง ๘๔.๙๒% ของงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. ๒๕๔๗) จำนวน ๑๙๐,๒๖๒,๘๓๖,๒๐๐ บาทเท่านั้น
        หากตัวเลขเหล่านั้นดูไกลตัวไป มาดูในครอบครัวกัน ครอบครัวไทย ๑๖,๔๗๐,๐๐๐ ครัวเรือน (ซึ่ง ๖๒.๔% มีหนี้สินรุงรัง) มอบเงินให้ลูกซื้อขนมกินเล่น คนละ ๙,๘๑๐.๕๖ บาท ต่อปี หรือเฉลี่ย ๘๐๐ บาทต่อเดือนต่อคน โดยที่ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยเพียงครัวเรือนละ ๑๓,๗๓๖ บาทต่อเดือน ถ้ามีลูก ๒ คน เตรียมไว้ได้เลย ๑,๖๐๐ บาทต่อเดือน แต่รู้ไหมว่า ครอบครัวใช้จ่ายเงินเพื่อการศึกษาของลูกเท่าไร? มีลูก ๑ คน ใช้จ่ายเงินเพื่อการศึกษาเฉลี่ยปีละ ๓,๐๒๔ บาท น้อยกว่าเงินซื้อขนมถึง ๓.๒๔ เท่า
๓. แล้วปัญหาคืออะไร?
        ปัญหามีอยู่ ๓ ประการ
        ประการแรก เด็กๆ จะเท่าทันบรรดาขนมเจ้าปัญหาได้อย่างไร ทั้งรู้จักโทษภัย และมีทางเลือกลดการบริโภคลง
        ประการที่สอง จะควบคุมโฆษณาหลอกเด็กได้อย่างไร ด้วยตัวเด็กเอง พ่อแม่ ครู โรงเรียน และรัฐบาล
        ประการที่สาม ทำอย่างไรเด็กและครอบครัวจะเท่าทันการใช้จ่ายเงินที่ไร้ประโยชน์ ได้รับการพัฒนาทักษะการเป็นผู้บริโภคที่ชาญฉลาด รู้จักคิด รู้จักผลิต รู้จักออมทรัพย์
        ปัญหาเหล่านี้มีคำตอบ หากยอมรับร่วมกันว่า ปัญหาทั้งหมดนี้ เริ่มต้นจากโฆษณาสินค้าเด็กทางโทรทัศน์ ที่ขาดความรับผิดชอบและไว้การควบคุม
๔. ช่วงเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ เด็กไทยส่วนใหญ่ใจจดจ่อ
        เฝ้ารอชมรายการการ์ตูนยอดนิยม ทางสถานีโทรทัศน์สีช่อง ๙ อสมท.
        วันเสาร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ วันแห่งความรัก ทดลองอัดเทปรายการช่องดังกล่าวตั้งแต่เวลา ๗.๐๐-๑๐.๓๐ น. และนำมาวิเคราะห์ พบว่า การชมรายการ ๕ รายการในช่วงนี้ ได้แก่ ๑. อาซามิ แก๊ง ๓ ซ่า ซามูไร ๒. สนุกคิด ๓. ไฮไลท์การ์ตูน ๙ ๔. ช่อง ๙ การ์ตูน (โดราเอมอน, ยอดกุ๊กแดนมังกร, ครัชเกียร์เทอร์โบ และฮันเตอร์เอ็กซ์ฮันเตอร์) และ ๕. ซุปเปอร์จิ๋ว เด็กไทยจะได้พบกับโฆษณาตรง จำนวน ๖๙ ผลิตภัณฑ์ ความถี่ ๑๓๒ ครั้ง และโฆษณาแฝง จำนวน ๒๗ ผลิตภัณฑ์ ความถี่ ๓๕๕ ครั้ง ๖๑ ผลิตภัณฑ์ จาก ๖๙ ผลิตภัณฑ์ หรือร้อยละ ๘๘ เป็นการโฆษณาอาหาร ซึ่งในจำนวนนี้ ๔๔ ผลิตภัณฑ์ เป็นโฆษณาสินค้าขนมกรอบๆ และลูกกวาดลูกอม
        ธรรมดาสินค้าพวกนี้ก็ไม่มีประโยชน์อยู่แล้ว ยิ่งมีการโหมโฆษณาให้เกิดการบริโภคเกิน เด็กและเยาวชนไทยจึงตกอยู่ในปัญหาสุขภาพกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ เป็นประชากรทุกข์รุ่นใหม่ ที่จะเติบโตมาเป็นทาสทุกข์ต่อจากรุ่นเดิม
๕. น่าตกใจที่โฆษณาสินค้าเด็ก สินค้าขนมเด็ก ไร้การควบคุมเป็นการเฉพาะ
        มีกล่าวถึงไว้ในจรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณา ข้อที่ ๑๐ โดยสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย เพียงว่า “ไม่ควรกระทำการโฆษณา อันอาจมีผลเป็นอันตรายต่อเด็กและผู้เยาว์ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ หรือทำให้ขาดความรู้สึกรับผิดชอบ หรือโดยอาศัยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุคคลดังกล่าว มาใช้เป็นเครื่องมือในการจูงใจ โดยไม่สมควร”
        นอกจากนี้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๒๕ (๒) (ข) กำหนดหลักเกณฑ์ควบคุมโฆษณา และการบริการธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ข้อ ๒๓ พูดถึงเรื่องการนำเด็กมาใช้ในการโฆษณาและธุรกิจอยู่บ้าง และในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ที่จะต้องตีความกันเอาเองว่า ผู้บริโภคที่พูดถึงรวมๆ นั้น น่าจะครอบคลุมและหมายถึงเด็กด้วย
        แต่กระนั้น กฎหมายไทยยังไม่มีการเสนอแนะวิธีการใดๆ ในการควบคุมโฆษณาสินค้าเด็ก และสินค้าขนมเด็กเป็นการเฉพาะ
๖. จากการศึกษากฎหมายและวิธีการควบคุมโฆษณาสินค้าเด็กทางโทรทัศน์
        ใน ๑๘ ประเทศ คือ อังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลีย, แอฟริกาใต้, สวีเดน, สเปน, โปรตุเกส, เนเธอร์แลนด์, ลักส์เซมเบอร์ก, อิตาลี, ไอร์แลนด์ , กรีซ, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, ฟินแลนด์, เดนมาร์ก, เบลเยี่ยม และออสเตรีย เปรียบเทียบกับประเทศไทย ประกอบกับการศึกษาจรรยาบรรณเรื่องการโฆษณา (Code of Advertising Practice) ขององค์การหอการค้านานาชาติ ICC (International Chamber of Commerce) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก (แต่ไม่มีข้อกำหนดเรื่องการโฆษณาออกมาเหมือนประเทศอื่น) พบว่า นานาชาติดูแลเรื่องโฆษณาสินค้าเด็กกันอย่างเข้มงวด มีทั้งจรรยาบรรณที่กำหนดออกมา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกฎหมายควบคุมโฆษณาสินค้าเด็กเป็นการเฉพาะ
        ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างความทุ่มเทควบคุม เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนให้พ้นจากอนาคตร้ายร้าย
๗. ความเชื่อพื้นฐานของมาตรการควบคุมโฆษณาสินค้าเด็ก สำหรับนานาชาติ โดยเฉพาะหอการค้านานาชาติ ICC ได้แก่
        ก. ปัจจุบันเด็กอยู่ในสังคมข่าวสาร และโฆษณาก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็ก ดังนั้นเด็กที่กำลังเติบโต จักต้องได้เรียนรู้ทักษะการคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อใช้ในการประเมินข้อมูลที่มาจากการโฆษณาและสื่อต่างๆ โดยเด็กมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่เขาสนใจอย่างถูกต้อง
        ข. นักการตลาดและนักโฆษณาต้องขายสินค้าแก่เด็กด้วยความรับผิดชอบ ทั้งนี้ ผู้ปกครอง นักการศึกษา สื่อต่างๆ ภาครัฐและองค์กรพัฒนาภาคเอกชน มีบทบาทสำคัญที่จะร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาเด็ก ในเรื่องการวิเคราะห์สื่อโฆษณาและสื่ออื่นๆ รวมทั้งการเฝ้าระวัง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ข่าวสารทางการค้าและการโฆษณา จะเป็นการสื่อสารที่มีความรับผิดชอบต่อเด็กอย่างแท้จริง
๘. ลองมาดูมาตรฐานการควบคุมโฆษณาสินค้าเด็กของประเทศแคนาดา ซึ่งโฆษณาสินค้าเด็กทุกชิ้น ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมที่กำหนด และต้องเสนอให้ตรวจสอบ เพื่อรับหมายเลขอนุญาตให้โฆษณาได้ จากองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบ ตามมาตรฐานต่อไปนี้
มาตรฐาน ๑ : การให้ข้อเท็จจริง (Factual Presentation)
        ๑.๑ ห้ามโฆษณาสินค้าเด็กโดยใช้วิธีการหรือเครื่องมือใดๆ ดัดแปลงข่าวสาร ให้ต่างไปจากความตระหนักรู้โดยปกติของเด็ก
        ๑.๒ ข้อความ, เสียง, ภาพถ่าย หรือรูปภาพใดของสินค้าและบริการใดๆ ต้องไม่นำเสนอเกินจริง เช่น คุณประโยชน์, ความเร็ว, ขนาด, สี, ความทนทาน
        ๑.๓ ต้องแสดงให้เห็นขนาดที่แท้จริงของสินค้า
        ๑.๔ การแสดงผลเป็นภาพวาด, การก่อสร้าง, การประดิษฐ์, การทำแบบจำลอง ของเล่น หรือชุดกิจกรรม ต้องเป็นการแสดงผลที่เด็กทุกคนทำได้ในความเป็นจริง
        ๑.๕ คำว่า “ใหม่” “สินค้าช่วงแนะนำ” “ขอแนะนำ” หรือข้อความทำนองเดียวกันนี้ สามารถใช้ในบริบทเดิมที่ใช้อยู่ในโฆษณาชิ้นนั้นๆ ได้ไม่เกิน ๑ ปี
มาตรฐาน ๒ : สินค้าห้ามโฆษณา (Product Prohibitions)
        ๒.๑ สินค้าที่เด็กไม่ได้ใช้ แต่ดึงเอาเด็กมาเป็นส่วนร่วม ทั้งที่เป็นโฆษณาตรง และกิจกรรมส่งเสริมการขาย
        ๒.๒ ยาเสพติด, ยาควบคุมพิเศษ และวิตามินในรูปของยา ยกเว้นยาสีฟันผสมฟลูออไรด์
มาตรฐาน ๓ ห้ามกดดันเด็ก (Avoiding Undue Pressure)
        ๓.๑ โฆษณาสินค้าเด็ก ต้องไม่บอกให้เด็กซื้อ หรือให้เด็กขอให้ผู้ปกครองซื้อให้ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
        ๓.๒ ห้ามใช้เทคนิคชวนซื้อตรง โดยเชิญชวนผู้ชมให้ซื้อสินค้าหรือบริการ ผ่านทางไปรษณีย์หรือโทรศัพท์
        ๓.๓ โฆษณาสินค้าเด็กที่มีของแถมหรือการแข่งขันชิงโชค ต้องไม่ใช้เวลากล่าวถึงการแข่งขันชิงโชค หรือของแถมเกินกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาโฆษณา หากมีการกำหนดอายุต้องประกาศให้ชัดเจน โดยคำประกาศหรือข้อความ
มาตรฐาน ๔ : กำหนดเวลาออกอากาศ (Scheduling)
        ๔.๑ ข้อความทางการค้าเดียวกันหรือต่างกัน ของสินค้าชนิดเดียวกัน ไม่สามารถออกอากาศได้เกิน ๑ ครั้ง ต่อครึ่งชั่วโมง
        ๔.๒ รายการสำหรับเด็กความยาวครึ่งชั่วโมง โฆษณาได้ ๔ นาที ความยาวหนึ่งชั่วโมง โฆษณาได้ ๘ นาที
        ๔.๓ ทั้งนี้ไม่จำกัดเวลาการประชาสัมพันธ์กิจกรรมสาธารณประโยชน์ แต่ต้องมีการตรวจพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหาการประชาสัมพันธ์สาธารณประโยชน์ ก่อนการนำออกอากาศทุกครั้ง
        ๔.๔ เวลาที่อนุญาตให้โฆษณาได้ในมาตรฐานนี้ ครอบคลุมทั้งโฆษณาตรงและโฆษณาแฝง
มาตรฐาน ๕ : การใช้ตัวละคร ตัวการ์ตูน หรือบุคคลรับรองในโฆษณา (Promotlon by Characters and Personal Endorsements)
        ๕.๑ หุ่น, บุคคล และตัวละคร (รวมทั้งตัวการ์ตูน) ที่เด็กรู้จักเป็นอย่างดีหรืออยู่ในรายการสำหรับเด็ก ห้ามนำมาใช้รับรองสินค้า บริการ หรือของแถม รวมทั้งห้ามจับถือ, บริโภค, กล่าวถึง, รับรอง หรือกระทำการใดๆ เพื่อเป็นการโฆษณาสินค้า
        ๕.๒ ข้อห้ามนี้ไม่ครอบคลุมถึงหุ่น, บุคคล และตัวละครที่ผู้โฆษณาสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง เพื่อใช้ประโยชน์ในการโฆษณาขายสินค้า หรือกิจกรรมส่งเสริมการขายอื่นๆ
        ๕.๓ นักแสดงหรือผู้ประกาศ ที่ไม่ได้แสดงหรือเกี่ยวข้องกับตัวละครในรายการที่เด็กนิยม สามารถเป็นผู้เสนอขายสินค้าในโฆษณาสินค้าเด็กได้
        ๕.๔ หุ่น, บุคคล และตัวละคร (รวมทั้งตัวการ์ตูน) ที่เด็กรู้จักเป็นอย่างดี สามารถนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงโดยทั่วไปเกี่ยวกับโภชนาการ, ความปลอดภัย, การศึกษา และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ได้ ในโฆษณาสินค้าเด็ก
มาตรฐาน ๖ : เงื่อนไขราคาและการซื้อขาย (Price and Purchase Terms)
        ๖.๑ เงื่อนไขราคาและการซื้อขายต้องประกาศอย่างชัดแจ้งสมบูรณ์ ส่วนประกอบอื่น และอุปกรณ์เสริม ที่ต้องเพิ่มเงินหรือมีเงื่อนไขการซื้อขายเฉพาะ และที่เด็กจะเข้าใจผิดได้ว่า จะได้มากับการซื้อขายตามปกติ ต้องระบุให้ชัดเจนในโฆษณาทั้งทางภาพและเสียง
        ๖.๒ ห้ามทำให้สินค้าดูราคาไม่แพง ด้วยการใช้คำ อาทิ “เพียง” “เท่านั้น” “ราคาต่ำ” “ลดราคา” หรือ อื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
        ๖.๓ ถ้าเป็นของที่ต้องนำไปประกอบให้สมบูรณ์เอง ต้องมีข้อความประกาศชัดเจน ให้เด็กรู้ว่า จะได้รับของที่ยังประกอบไม่เสร็จ
        ๖.๔ เมื่อมีของเล่นมากกว่า ๑ ชิ้นปรากฏในโฆษณา ต้องแสดงให้เข้าใจชัดเจน ว่าชิ้นไหนคือชิ้นที่เด็กจะได้รับจากการซื้อ และชิ้นไหนที่จะต้องซื้อแยกหรือซื้อเพิ่มเติม
มาตรฐาน ๗ : การเปรียบเทียบคุณค่า (Comparison Values)
        ๗.๑ ไม่ควรเปรียบเทียบด้วยวิธีการทำลายคุณค่าสินค้าและบริการของคู่แข่งขันทางการค้า
        ๗.๒ ห้ามการโฆษณาเปรียบเทียบสินค้าหรือของเล่นเก่าที่เด็กมีอยู่แล้ว กับรุ่นใหม่ที่เพิ่งออกมา แม้จะเป็นข้อเท็จจริงก็ตาม
มาตรฐาน ๘ : ความปลอดภัย (Safety)
        ๘.๑ ห้ามนำเสนอข้อความทางการค้า ที่แสดงภาพผู้ใหญ่หรือเด็กกระทำสิ่งที่ไม่ปลอดภัย หรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย เช่น การจุดไฟ
        ๘.๒ ห้ามนำเสนอการใช้สินค้าที่อาจนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยและอันตราย เช่น โยนขนมขึ้นบนฟ้าแล้วอ้าปากคอยรับเวลาตกลงมา
มาตรฐาน ๙ : ระบบคุณค่าสังคม (Social Values)
        ๙.๑ ห้ามการนำเสนอคุณค่าที่ไม่ไปด้วยกันกับศีลธรรม จริยศาสตร์ และมาตรฐานกฎหมายของสังคมแคนาดาร่วมสมัย
        ๙.๒ ห้ามการนำเสนอทั้งโดยตรง และโดยนัยว่าผู้ใช้สินค้ามีความเหนือกว่าผู้อื่น หรือถ้าไม่ใช้สินค้าจะเป็นคนน่าขบขัน เชย ไม่ทันสมัย ข้อห้ามนี้ไม่รวมถึงข้อเท็จจริงที่นำมาใช้ เพื่อการจัดการศึกษาและพัฒนาสุขภาพ
มาตรฐาน ๑๐ : ต้องพิสูจน์ได้ (Substantiation Required)
        เมื่อมีการกล่าวอ้างถึงการวัดค่าใดๆ อาทิ สมรรถนะ, ความปลอดภัย, ความเร็ว, ความทนทาน ผู้โฆษณา จะต้องพร้อมแสดงข้อพิสูจน์คำกล่าวอ้าง หรือตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างประกอบการพิจารณา
๙. ประเทศอื่นๆ มีข้อห้ามปลีกย่อยที่มีมาตรฐานสูงแตกต่างกันออกไปตามสภาพจริงของประเทศ
        เช่น ในเรื่องความรุนแรง เรื่องเพศ บุหรี่ เหล้า อาชญากรรม พฤติกรรมดูถูกการศึกษา หยาบคาย โลภ กระตุ้นความเพ้อฝัน หยามศักดิ์ศรีของมนุษย์ ล้อเลียนเรื่องเพศ ข้อเลือกทางเพศ ศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม ความพิการ ทำลายภาพพจน์ของผู้หญิง ความทุกข์ และการทำร้ายสัตว์
        เฉพาะ “มาตรฐาน ๔ : กำหนดเวลาออกอากาศ” และ “มาตรฐาน ๕ : การใช้ตัวละคร ตัวการ์ตูน หรือบุคคลรับรองในโฆษณา” ถ้านำมาตรฐานเหล่านี้มาตรวจสอบโฆษณาสินค้าเด็กของประเทศไทย ที่มีโฆษณาตรงและแฝงรวมกัน ๔๘๗ ครั้ง ในช่วง ๓ ชั่วโมงครึ่งของรายการสำหรับเด็กทางช่อง ๙ อสมท. หรือเฉลี่ยทุก ๒๖ วินาที เด็กไทยจะได้รับการปลูกฝังลัทธิบริโภคนิยมจากโฆษณาครั้งหนึ่ง ผลที่ออกมา ดูท่าจะไม่อยู่ในมาตรฐานเสียเป็นส่วนมาก อาการน่าเป็นห่วง
๑๐. พ่อ แม่ ครู ไม่โกรธเป็นฟืนเป็นไฟกันหรือ?
        เช้าอันสงบสุขวันเสาร์-อาทิตย์ แทนที่เด็กไทยจะได้รับสาระบันเทิงคุณภาพ เริ่มต้นสุดสัปดาห์ ด้วยการค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่ที่งดงาม
        พ่อแม่ที่ทำงานหนักอย่างสุจริตมาทั้งสัปดาห์ ไม่อาจนอนตื่นสายอย่างวางใจ ต้องกุลีกุจอมาดูทีวีเป็นเพื่อนคอยแนะนำลูก เหมือนถูกลากออกจากเตียงมาตบหน้าแต่เช้าตรู่ ด้วยโฆษณาสินค้าโลภ ที่หวังใช้ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของลูกหลานไทย สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ตนเอง โดยไม่มีความรับผิดชอบ เด็กและเยาวชนไทยจะเป็นอย่างไร ช่างหัวมัน ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของโฆษณา ยอมได้หรือ น่าแค้นใจ!
        เอาเถอะ ใครทนได้ก็ทนไป แต่เราไม่ทน เราจะรณรงค์เพื่อป้องกันลูกหลานของเราจากโฆษณาหลอกเด็ก สมุดปกแดงนี้คือข้อเรียกร้องเบื้องต้น เริ่มต้นที่การควบคุมโฆษณาสินค้าเด็ก เด็กไทยทุกคนมาร่วมกัน พ่อแม่ทุกคนมาร่วมด้วย โรงเรียนทุกแห่งมาช่วยกัน รัฐบาลทุกหน่วยงานรวมพลัง เพื่อสร้างสรรค์โลกที่ดีกว่าสำหรับเด็กไทย


เคยพบเด็กๆ มีอาการแบบนี้บ้างไหม

๑. ปวดท้องมากเพราะกินน้ำอัดลมและขนมกรอบกรอบ
๒. เบื่ออาหารทั่วไป แต่ชอบกินน้ำอัดลมและขนมกรอบกรอบ (บางคนผอมซีด พบภาวะทุโภชนาการ)
๓. อ้วน (บางคนเป็นเบาหวานด้วย) และกินลูกกวาดลูกอม น้ำอัดลม และขนมกรอบกรอบเป็นประจำ
๔. ฟันผุ เพราะชอบกินลูกกวาดลูกอม และน้ำอัดลม
๕. อาการป่วยไข้ไม่สบายอื่นๆ เพราะชอบกินขนมเจ้าปัญหาคือ ลูกกวาดลูกอม น้ำอัดลม และขนมกรอบกรอบเหล่านี้

ช่วยกันรายงานให้สังคมรับรู้

        กุมารแพทย์เกือบทุกคน เคยพบเด็กที่มีอาการข้างต้นเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอยู่เสมอ พ่อแม่ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ครู และคนรักเด็กเช่นคุณ เคยมีประสบการณ์กับการเจ็บป่วยเช่นนี้ของเด็กบ้างไหม?
        โครงการเด็กไทยรู้ทัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขอเชิญชวนทุกท่าน ช่วยกันรายงานให้สังคมรับรู้ โดยเขียนเล่าเรื่องราวกรณีเด็กที่พบ พร้อมที่อยู่เบอร์โทรศัพท์ของผู้เล่า ส่งมาที่ โครงการเด็กไทยรู้ทัน ตู้ปณ. ๔๔๕ ปณจ.ลาดพร้าว กทม. ๑๐๓๑๐ หรือส่งโทรสารมาที่ ๐๒-๙๓๑-๘๗๔๖ หรือ E-mail มาที่ Childrenintheknow@hotmail.com หรือจะโทรมาบอกเล่าเรื่องราว บันทึกไว้ ที่โครงการเด็กไทยรู้ทัน โทร ๐๒-๙๓๑-๘๗๙๑ ๐๒-๙๓๑-๘๗๙๒ เราไม่มีอะไรจะมอบตอบแทน นอกจากของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ จากโครงการเด็กไทยรู้ทัน อาทิ สมุดปกแดง, เสื้อยืด, กระเป๋า และคำขอบคุณจากใจ ที่ทุกท่านช่วยกันพิทักษ์เด็กไทย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง