บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ระบบราชการ มาตรวัด"กฎหมาย-ความยุติธรรม" หาสูตรใหม่จัดดุลอำนาจย้ายทหาร


ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้น  รวมถึงการให้สัมภาษณ์ตัวบุคคลในข่าว  ที่ยืนยันว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งจากการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร  หรือ  การแย่งชิงอำนาจในกองทัพของนายทหารแต่ละรุ่น  จนบางครั้งทหารใช้การเมืองเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างคู่ต่อสู้ในเส้นทางรับราชการของตนเอง
ยิ่งเมื่อการเมืองมีความเข้มแข็ง  กลุ่มทหารที่เสียประโยชน์ในกองทัพ ก็มักวิ่งเข้าหาการเมือง เพื่อให้ช่วยเกื้อหนุนในช่วงโยกย้าย  โดยที่ฝ่ายการเมืองเองก็มุ่งหวังถ่วงดุลไม่ให้ทหารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในกอง ทัพมีอำนาจมากเกินไป จนกลายเป็นภัยของตัวเอง
ในช่วงหลังเมื่อมีการประกาศใช้  พระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมปี 2551 และถูกหยิบยกขึ้นมาพูด หลายครั้งในช่วงการโยกย้ายทหาร จนเข้าใจกันว่าเป็นกฎหมาย ที่ออกมาเพื่อใช้สำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารโดยเฉพาะ ทั้งที่ความเป็นจริงกฎหมายฉบับดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อกำหนดโครงสร้างส่วนราชการของกระทรวงกลาโหม และ อำนาจหน้าที่
โดยจุดเริ่มต้นของการจัดทำกฎหมายดังกล่าว  เริ่มขึ้นเมื่อปี 2548-2549 มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาในภาพรวม   ควบคู่ไปกับการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการ   ซึ่งหมวดเรื่องการโยกย้ายทหารแม้จะมีการกำหนดไว้แล้วในระหว่างการทำการศึกษา แต่มีการถอดออกไป เพราะมองว่ากลไกในการโยกย้ายข้าราชการน่าจะยึดหลักของฝ่ายบริหารทั้งหมด
แต่เมื่อหลังการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อเดือน กันยายน 2549 รัฐบาลที่มี  พล.อ.สุรยุทธ์   จุลานนท์  เป็นนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.บุญรอด สมทัศน์  รมว.กลาโหม  ได้เห็นชอบกฎหมายดังกล่าว และส่งให้รัฐสภาพิจารณา  ในขั้นของคณะกรรมาธิการฯ  มีการเพิ่มเติมหมวดเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารเข้าไป โดยให้มี คณะกรรมการปรับย้ายนายทหารระดับชั้นนายพล ประกอบด้วย  รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม  ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ
ทั้งนี้  เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง   เห็นชอบรายชื่อนายทหารซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากเหล่าทัพที่เสนอขึ้นมาตาม ลำดับชั้น   ก่อนนำรายชื่อทั้งหมดให้คณะกรรมการเห็นชอบ และ ส่งให้ รมว.กลาโหม ลงนามตามขั้นตอน
แหล่งข่าวซึ่งเป็นคณะทำงานที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า “เมื่อคณะกรรมการได้เห็นชอบ โผทหาร แล้วส่งให้รมว.กลาโหมลงนามก็ถือว่าผ่านขั้นตอนกฎหมายมาแล้ว  ใครไปเปลี่ยนแปลงระหว่างทางก็ถือว่าทำผิดกฎหมาย  หากมีการฟ้องร้อง และตัดสินว่าผิด ก็มีโทษจำคุก ไม่ว่าจะเปลี่ยนตรงไหน  เลขาฯ , ฝ่ายเสธ.ฯ , หน้าห้อง หรือ ขั้นตอนเลยจากนั้นไป ก็ถือว่ามีความผิดทั้งหมด”
ในขณะที่ พล.อ.บุญรอด  สมทัศน์  รมว. กลาโหม  ซึ่งถือเป็นรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในช่วงนั้น  เปิดเผยว่า "เป็น การศึกษามาจากส่วนกฎหมาย ที่เขาได้ดูข้อดี ข้อเสีย มาอย่างรอบคอบ มีความรัดกุมพอสมควร   เราไม่อยากให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งก่อนหน้านั้นอยู่ในระดับที่มากเกินไป  ทหาร และ กองทัพต้องอยู่ในฐานะ ทหารอาชีพ  ต้องเข้าใจว่ากองทัพไม่เหมือนกระทรวง  ทบวง กรมอื่นๆ เราเป็นสถาบันที่มีความสำคัญ  เป็นส่วนที่กระทบต่อความมั่นคง”
“ เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง  แต่ทำเพื่อให้กองทัพซึ่งเป็นสถาบัน  อยู่ได้อย่างที่ไม่ถูกการเมืองแทรกแซง  ทุกอย่างต้องทำให้เกิดความยุติธรรม  ถ้ายุติธรรม โปร่งใส  ทุกอย่างก็เป็นปกติ กฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้” พล.อ.บุญรอด กล่าว
พรบ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมฯ อาจนับได้ว่า  เป็นอาวุธสำคัญของทหาร  สำหรับช่วงที่การเมืองเข้มแข็ง เพราะนอกจากจะใช้ถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ที่อยากเข้ามาใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นเกราะป้องกันในการคัดกรองการเปลี่ยนโผได้ในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ทั้งหมด
จริงอยู่ว่าในประวัติศาสตร์ด้านการทหาร  มีการเล่นรุ่น และ เล่นพวกกันมาก แต่ยุคที่นายกรัฐมนตรีมีเครือข่ายพวกพ้องทหารและตำรวจมากที่สุด ก็น่าจะเป็นยุค พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  เป็นนายกรัฐมนตรี  เพราะนอกจากจบการศึกษาจาก โรงเรียนเตรียมทหาร และ  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ แล้ว ยังมีเครือข่ายในภาคธุรกิจ การเมือง มีความเข้มแข็งทางการเมือง จนทหารในกองทัพที่เป็นพรรคพวกเดียวกัน รุ่นเดียวกันพึ่งพา
ยุค “ทักษิณ” เรืองอำนาจ เครือข่ายญาติ และ คนใกล้ชิด จึงเริ่มได้รับการเลือกเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนสำคัญของอำนาจ  ในขณะที่ เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10  (ตท.10) และ เพื่อนนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 26 (นรต.26) ถูกส่งเข้าไปเป็นผู้บังคับหน่วย คุมกำลังสำคัญ ซึ่งหัวหน้าฝ่ายบริหารในฐานะนายกฯ สามารถสั่งตรงได้ในฐานะ “เพื่อน” โดยอาจไม่ต้องผ่านผู้บังคับบัญชาโดยตรงซึ่งเป็น ผบ.เหล่าทัพ
ส่งผลให้เกิดแรงกดดันในกองทัพจากทหารอีกสายที่ไม่ได้รับ “การโปรโมท” เพราะไม่ใช่พวกเดียวกับ “ทักษิณ โดยทำการร่วมมือกับ “ขุมอำนาจเก่า” ในการโค่นอำนาจ”ทักษิณ”
ก่อนที่รัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จะเข้ามาบริหารประเทศ และ เสนอ พรบ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม โดยมีหมวดเรื่องการ ปรับย้ายทหารเข้าไปด้วย  เพื่อเป็นเกราะป้องกันในกรณีที่รัฐบาล และ การเมือง มีความเข้มแข็งมากเกินไป
แต่สภาพปัญหาของการ “เล่นพวก – เล่นรุ่น” ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารก็ไม่ได้หมดไป  ยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล  “บูรพาพยัคฆ์-ทหารเสือราชินี” ขึ้นมาเรืองอำนาจ   ที่ได้เลือกฝ่ายตัวเองเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ และ จ่อทายาททางอำนาจไว้ในหลายหน่วย  ก็ก่อให้เกิด “กบถ”ขึ้นในกองทัพ  จนกลายเป็น “ทหารแตงโม” และ “ตำรวจมะเขือเทศ” ผลิตผลทางอำนาจในยุค “ทักษิณ”

การแต่งตั้งโยกย้ายในยุค “บูรพาพยัคฆ์” ถูกมองว่าเป็นการรวบอำนาจของ “ขั้วอำนาจใหม่” ที่ ต้องการวางคนของตัวเองในตำแหน่งสำคัญเพื่อสืบทอดทายาททางอำนาจให้ยาวนานที่ สุด   จนไม่เฉลี่ยอำนาจในกลุ่มอำนาจเก่า ที่ถูกเตะหลุดวงโคจรออกไปเมื่อการเมืองเปลี่ยนทิศ
รมว.กลาโหม ผบ.เหล่าทัพ  ถูกมองว่าเป็น “กลุ่มอำนาจเดียวกัน”  การแต่งตั้งโยกย้าย จึงมีลักษณะของการ “แบ่งโควต้า”เฉพาะกลุ่มพวกตัวเอง  ข่าวความขัดแย้งก็มักจะเป็นการแย่งชิงตำแหน่งกันในกลุ่มพวกตัวเองด้วยซ้ำ  แต่เมื่อ รมว.กลาโหม  เรียกมาคุย การโยกย้ายก็จบลงด้วยดี  คณะกรรมการโยกย้ายทหารฯ จึงกลายเป็นแค่ “เสือกระดาษ”  เพราะการพูดคุยกันภายในก่อน  ส่งชื่อตามขั้นตอนอย่างเป็นทางการ
แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว พรรคเพื่อไทยขึ้นมาเรืองอำนาจ  ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  ในระดับหัวของ ผบ.เหล่าทัพ ที่ยังมีความเกี่ยวพันกับรัฐบาล “ทักษิณ” จึงไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับ “กลุ่มบูรพาพยัคฆ์” อีกต่อไป  ทำให้คณะกรรมการปรับย้ายฯ  ตามกฎหมาย ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมืออีกครั้ง
การโยกย้ายทหารที่กำลังเกิดขึ้น จึงไม่แน่นอนจากการแบ่งสรรโควตากันเหมือนช่วงก่อน   คณะกรรมการปรับย้ายทหาร ฯ จึงกลายเป็น “อาวุธ” ที่ฝ่ายการเมือง ผ่านรมว.กลาโหม จากพรรคเพื่อไทย นำมาใช้ทิ่มแทงกลับ “ขั้วอำนาจบูรพาพยัคฆ์ และ เตรียมทหารรุ่น 12”
กฎหมาย ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นกรอบ - เป็นเกราะป้องกันจึงมีความลื่นไหล  ใช้ถ่วงดุล ฯ ในการแต่งตั้งโยกย้ายพอสมควร แต่บุคคลที่ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำให้กฎหมายมีความเข้มแข็ง ศักดิ์สิทธิ์ และ ยังความยุติธรรมให้กับทหารทุกขั้วทุกกลุ่ม  นั่นคือ รมว.กลาโหม
สูตรในการเลือก รมว.กลาโหม อาจจะต้องมาคิดกันว่า ควรจะเป็นแบบไหนที่เปิดโลกทัศน์ใหม่ในการบริหารกองทัพ ได้รับการยอมรับจากทหาร  ปรับย้ายได้อย่างยุติธรรม  และ  เข้าใจประเพณีของกองทัพที่ต้องทำงานคู่กับสถาบันสำคัญได้อย่างไม่สะดุดจน กลายเป็นปัญหาในเรื่องการแก่งแย่งอำนาจกันในกองทัพเช่นในอดีต

  • เขียนโดย ทีม thaireform

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง