บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

โถ ! ใครจะเชื่อ ว่าไทยผลิตน้ำมันเป็นอันดับที่ 33 ของโลกแล้ว!

โดย ประสาท มีแต้ม 31 กรกฎาคม 2554 14:28 น.

       หลังจากได้รวบรวมความคิดและวิธีการนำเสนอแล้ว สิ่งแรกที่ผมนึกถึงคือเนื้อเพลงลูกทุ่งยอดนิยม “สามสิบยังแจ๋ว” ของ ยอดรัก สลักใจ ที่ว่า “โถใครจะเชื่อว่าแม่บุญเหลืออายุมากแล้ว สามสิบยังแจ๋ว แจ๋วเสียจนน่าจีบ”
      
       ในที่นี้ก็คือว่า “โถใครจะเชื่อว่าไทยผลิตน้ำมันเป็นอันดับที่ 33 ของโลกแล้ว ใกล้เคียงกับประเทศเอกวาดอร์ ประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปก”
      
       ข้อมูลข้างต้นมาจากรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ” ของวุฒิสภาที่มี คุณรสนา โตสิตระกูล เป็นประธานคณะกรรมาธิการศึกษาฯ
      
       การส่งออกพลังงาน (ทั้งน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และคอนเดนเสท-ปิโตรเลียมเหลวที่ได้จากการเจาะก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงประมาณสิบปีมานี้ โดยที่ปี 2544 เป็นปีแรกที่เราเริ่มส่งออกน้ำมันดิบ และในอีก 3 ปีต่อมาเราก็เริ่มส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป สำหรับคอนเดนเสทนั้นมีการขนใส่เรือไปขายมาตั้งแต่เริ่มเจาะก๊าซในอ่าวไทย เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว
      
       มูลค่าการส่งออกพลังงานในปี 2551 เท่ากับ 9,700 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยในขณะนั้นก็ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท (ตอนนั้น 33 บาทต่อดอลลาร์) ในขณะที่ประเทศเอกวาดอร์ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปก (กลุ่มที่มีสมาชิก 12 ประเทศ ซึ่งมีแหล่งน้ำมันดิบรวมกันเท่ากับ 79% ของโลก) มีการส่งออกพลังงานมากกว่าไทยเราเพียงนิดเดียวเท่านั้น
      
       ถ้าพูดถึงการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เราถูกโฆษณาว่าจะ “โชติช่วงชัชวาล” ตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เอกสารของวุฒิสภาชิ้นนี้ระบุว่า ประเทศไทยเราผลิตก๊าซธรรมชาติได้เป็นอันดับที่ 27 ของโลก มากกว่า 2 ประเทศของสมาชิกกลุ่มโอเปก คือ ลิเบีย (ซึ่งสหรัฐอเมริกาเข้าไปแทรกแซงในสงคราม
      
       กลางเหมือง) และคูเวต (ซึ่งสหรัฐอเมริกาหวงยิ่งนัก) เสียด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับมูลค่าการส่งออกข้าวหรือยางพารา (ในปี 2551) พบว่าเราส่งน้ำมันมากกว่าครับ
      
       ผมถามจริงๆ นะครับว่า มีท่านผู้อ่านสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ได้ทราบความจริงเรื่องนี้มาก่อน ถ้าอย่างนั้นคงเห็นด้วยกับผมนะครับว่าเราต้องร้อง โถใครจะเชื่อ …
      
       อย่างไรก็ตาม มูลค่าในการส่งออกพลังงานดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าเป็นพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศไทยทั้งหมด เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนสักนิดครับ ผมขออธิบายโดยย่อดังนี้ (1) มูลค่าพลังงานที่ส่งออก 90% เป็นน้ำมันสำเร็จรูป อีก 10% เป็นน้ำมันดิบที่ขุดในประเทศไทย (2) น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดิบจากการนำเข้า มีบางส่วนเป็นน้ำมันดิบที่ขุดในบ้านเราเอง
      
       อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ยอดการส่งออกพลังงานเป็นการนับรวมทั้งน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้น้ำมันดิบทั้ง จากการนำเข้าและจากการขุดในประเทศ รวมทั้งการส่งออกน้ำมันดิบที่เจาะจากประเทศไทยด้วย
      
       ดังนั้น เมื่อพูดถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าของประเทศ (ที่มีมูลค่าประมาณถึง 70% ของจีดีพี) แท้ที่จริงแล้วเป็นการส่งออกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากนำเข้า มูลค่าการส่งออกจึงไม่ได้สะท้อนความมั่งคั่งของคนในประเทศ เราจึงอย่าไปหลงดีใจกับตัวเลขหลอกๆ รวมทั้งแนวคิดลวงโลกเรื่องจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติด้วย
      
       ถ้าเราอยากจะทราบว่า ประเทศไทยเราผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ (ที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และใช้ในอุตสาหกรรมรวมทั้งรถยนต์) ว่ามีมูลค่าปีละเท่าใด ก็ต้องสืบค้น แต่เนื่องจากผมไม่ทราบข้อมูลจึงขอคิดย้อนกลับจากข้อมูลในตารางที่ 6.1-6 ของกระทรวงพลังงาน เรื่องรายได้ของรัฐบาลจากค่าภาคหลวง
      
       พบว่าในปี 2553 รัฐบาลได้ค่าภาคหลวงจากกิจการปิโตรเลียมจำนวน 44,713 ล้านบาท ซึ่งค่าภาคหลวงหรือค่าสัมปทานนี้มีอัตราประมาณ 12.5% ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ทั้งหมด ดังนั้นเราสามารถคำนวณได้ว่า มูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้จากเขตประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 3.13 แสนล้านบาท
      
       สิ่งที่เราสนใจก็คือ ผลผลิตปิโตรเลียมที่สะสมมานับล้านปีจากบรรพชนรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนมาถึงคนรุ่น เราที่มีมูลค่า 3.13 แสนล้านนั้น ถ้าแหล่งปิโตรเลียมนี้ตั้งอยู่ในประเทศอื่นๆ คนในประเทศนั้นควรจะได้รับส่วนแบ่งไปเท่าใด มากหรือน้อยกว่าที่ประเทศไทยเราได้รับคือ 12.5% หรือไม่ นี่คือคำถามที่บทความนี้จะต้องตอบครับ
      
       รายงานของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาชิ้นเดิมระบุว่า ประเทศโบลิเวีย รัฐได้รับจากค่าภาคหลวงสูงถึง 82% ของยอดการผลิตก๊าซธรรมชาติ ประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างอินโดนีเซีย ก็ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากน้ำมันดิบที่ 85% และก๊าซธรรมชาติที่ 70%
      
       จากการศึกษาค้นคว้าของผมเอง พบสหรัฐอเมริกาได้ค่าภาคหลวงอยู่ในอันดับที่ 93 จากทั้งหมด 104 ระบบ โดยได้รับในช่วง 12.5 ถึง 16.6% (มากกว่าไทย) และต่อมาได้ปรับเพิ่มเป็น 18.75% ซึ่งเขายังถือว่าต่ำเกินไป (ข้อมูลจาก United States Government Accountability Office หรือ GAO)
      
       ที่น่าสนใจคือการคิดค่าภาคหลวงน้ำมันดิบของเมือง Alberta ประเทศแคนาดา โดยคิดอัตราค่าภาคหลวงตามราคาน้ำมันดิบ โดยที่เพดานได้กระโดดไปจาก 30% ไปอยู่ที่ 40% เมื่อราคาน้ำมันดิบเกิน $70 ต่อบาร์เรล
      
       โดยสรุป ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมของประเทศไทยน่าจะอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราต่ำที่สุดในโลก ถ้าเราใช้อัตรา ที่ 30% รัฐบาลก็จะได้ค่าภาคหลวงประมาณ 107,300 ล้านบาท ไม่ใช่ 44,713 ล้านบาทอย่างที่เป็นอยู่
      
       โถใครจะเชื่อ…ในชื่อบทความนี้ถือว่าเป็นข่าวดีของประเทศ แต่เมื่อสาวลึกถึงผลประโยชน์ที่คนไทยได้รับค่าภาคหลวงที่ต่ำที่สุดก็ถือเป็น เรื่องร้าย เรื่องเศร้าที่ไม่น่าเชื่อ มันชุ่ยและแสนทรามถึงเพียงนี้เชียวหรือ? มิน่าละ บริษัทยูโนแคล ที่ขุดเจาะก๊าซในหลายประเทศทั่วโลก แต่เกินกว่าครึ่งของกำไรของบริษัทแม่ มาจากประเทศไทยประเทศเดียวครับ!

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง