วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ที่มา: http://www.facebook.com/verapat.pariyawong
_______________________________________________________________
วันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. นี้จะออกไปเลือกตั้งทำไม?”
ตอบ เพราะ เราซื้อของต้องได้เงินทอน น้ำดื่มในขวดต้องสะอาดได้มาตรฐาน คุณตำรวจต้องวิ่งจับโจรและห้ามวิ่งมาจับเรา ไม่ว่าทรงผมหรือรสนิยมทางเพศของเราจะเป็นอย่างไร ฯลฯ
สิ่ง เหล่านี้คือสิทธิ เสรีภาพ หรือประโยชน์ที่เราเรียกร้องได้จากกฎหมายทุกวัน แต่กฎหมายก็ขอให้เราทำหน้าที่ เช่น ต้องชำระหนี้ จ่ายภาษี รวมถึงไปเลือกตั้ง
สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ เป็นของคู่กัน เราจะเป็นเพียงคนเห็นแก่ตัวมัวแต่เอา มีมโนสำนึกแยกเป็นสองมาตรฐาน ใจหนึ่งเรียกร้องประโยชน์จากกฎหมาย แต่อีกใจละเลยหน้าที่เอาเปรียบกฎหมาย หาได้ไม่
จะ Vote No หรือ Vote ให้ใคร เป็นสิทธิของเรา เสรีภาพของเรา และหน้าที่ของเรา
โปรด วัดใจของเรา เรียนรู้จากอดีตให้ดี ใช้คะแนนที่มีให้คุ้ม 3 ก.ค. ผลออกมาเช่นไร ขอให้เรารับผิดชอบร่วมกัน เล่นตามกติกา และพาประเทศไทยเดินต่อไปพร้อมกันครับ!
สรุป Vote No มีผลหรือไม่?
ตอบ ล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกมายืนยันว่า คะแนน Vote No นั้น ไม่มีผลต่อการเลือกตั้งในเขตที่มีผู้สมัครมากกว่า 1 คน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศล้วนมีผู้สมัครมากกว่า 1 คน (http://bit.ly/lGeCot)
หากผู้ใดยังหลง เชื่อว่า “มาตรา 89 ภายใต้บังคับ มาตรา 88” หมายความว่า มาตรา 89 กรณีผู้สมัครหลายคนต้องเอามาตรา 88 มาใช้ คือกรณีผู้สมัครคนเดียวผู้จะชนะการเลือกตั้งต้องได้คะแนนมากกว่า Vote No นั้น ก็ขอให้ผู้นั้นอธิบายให้เต็มปากว่า แล้วกฎหมายจะแยกมาตรา 88 และ 89 เพื่ออะไร และท่านจะอธิบายถ้อยคำว่า “มาตรา 81 ภายใต้บังคับ 85” ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ส่วนเดียวกัน มาตราใกล้ๆกัน ในแบบที่ท่านเชื่อได้อย่างไร ในเมื่อ:
มาตรา 81 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับ มาตรา 85 การนับคะแนนเลือกตั้งให้กระทำ ณ ที่เลือกตั้งโดยเปิดเผยจนเสร็จสิ้นในรวดเดียว ห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงการนับคะแนนเลือกตั้ง”
มาตรา 85 บัญญัติว่า “(หากน้ำท่วม หรือ ไฟไหม้ ฯลฯ) ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศงดการนับคะแนน...”
หรือท่านกำลังบอกว่า คะแนนต้องนับให้เสร็จทีเดียวแต่ (ภายใต้บังคับ) ก็ต้องประกาศงดไม่ให้นับต่อ?
ผู้ เขียนขอย้ำให้ชัดว่า คำว่า “ภายใต้บังคับ” แปลว่า “ยกเว้นในกรณี” ผู้ร่างตั้งใจเขียนกำกับไว้เพื่อเตือนให้ผู้อ่านกฎหมายรู้ว่ามาตรานี้มีข้อ ยกเว้น เช่น มาตรา 89 ให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดชนะ “ยกเว้นในกรณี” มาตรา 88 คือมีผู้สมัครคนเดียว ก็ต้องชนะ Vote No ด้วยถึงจะชนะในเขตนั้น เอาสองมาตรามาปนกันไม่ได้
ที่สำคัญ หากผู้ใดตีความ มาตรา 88 ปน 89 เพื่อตีหัวประชาชน จูงใจให้ประชาชนเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด เช่น Vote No เยอะๆ ชนะได้แน่ ตอนนี้ไม่มีใครไปเลือกคนของพรรคที่จะแพ้เพราะคะแนนไม่ผ่าน Vote No ฯลฯ ผู้นั้นอาจมีความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งตามมาตรา 53 มีโทษจำคุก สูงสุดถึง 10 ปีตามมาตรา 137!
ส่วนคำถามว่า การไม่นับคะแนน Vote No ให้ชนะแม้คะแนน Vote No จะสูงสุดในเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครหลายคนนั้น เป็นการไม่เคารพเสียงประชาชน และขัดแย้งกับ "หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" ตาม มาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหรือไม่?
ตอบ การ ที่ มาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ทำให้คะแนน Vote No ไม่มีผลทางกฎหมายในเขตที่มีผู้สมัครหลายคนเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องตาม "หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" และไม่มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังอธิบายได้ดังนี้
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ เป็นเรื่อง อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ควบคู่กับ หลักการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ พวกเราผู้เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญต้องอ่านให้ครบถ้วน คือ
“มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม”
หมาย ความว่า แม้อำนาจอธิปไตยจะเป็นของเราปวงชนชาวไทย แต่เราจะใช้อำนาจนั้นให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไร จะกำหนดกฎเกณฑ์รายละเอียดเรื่องต่างๆ ในสังคมอย่างไร ย่อมเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญจะแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ไปยัง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล เป็นผู้ใช้อำนาจหรือทำหน้าที่แทนปวงชน (ส่วนจะเป็นไปตาม "หลักนิติธรรม" หรือไม่นั้น ผู้เขียนขอสงวนไปเขียนเป็นตำรา เพราะมิอาจสรุปสั้นๆได้)
ยกตัวอย่าง แม้ปวงชนจะเป็นเจ้าของอำนาจ แต่ปวงชนจะมาตั้งศาลเตี้ยใช้อำนาจวินิจฉัยลงโทษเพื่อรุมประหารชีวิตนักการ เมืองที่เลวทรามต่ำช้ากันเองมิได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 บัญญัติให้ศาลเป็นผู้รับแบ่งอำนาจอธิปไตยไปทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีแทน ปวงชน
ถามว่าแล้วเรื่องการนับไม่นับ Vote No นี้ ปวงชนเจ้าของอำนาจได้ตกลงในรัฐธรรมนูญให้เป็นอำนาจหน้าที่ของใคร ผู้เขียนตอบได้ชัดเจนและปราศจากข้อสงสัยใดๆว่า ปวงชนชาวไทยได้กำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย เรื่องการเลือกตั้ง (รัฐธรรมนูญ มาตรา 138-141)
ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรคสาม บัญญัติว่า
“หลัก เกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่ง สมาชิกวุฒิสภา”
ดังนั้น จึงไม่มีข้อสงสัยว่า หลักเกณฑ์การนับคะแนน Vote No จะ เป็นอย่างไรนั้น ปวงชนชาวไทยได้ตกลงให้เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 88 และ 89 ที่เคยอธิบายไว้แล้ว และผู้มีอำนาจวินิจฉัยบังคับใช้กฎหมายย่อมได้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (หากมีการโต้แย้งว่าใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ก็ย่อมไปโต้แย้งในศาลตามขั้นตอน)
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ จึงสอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 อย่างแท้จริง กล่าวคือ Vote No คืออำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยในลักษณะเป็นไปตามกฎหมาย เขตไหนผู้สมัครคนเดียว (มาตรา 88) Vote No อาจมีผล แต่หากผู้สมัครหลายคน Vote No ย่อมไม่มีผล (มาตรา 89)
แต่ทั้งนี้ หากเราเชื่อว่า เสียงข้างมากของการ Vote No เป็นเสียงของเจ้าของอำนาจที่ไม่เห็นด้วยกับ มาตรา 88 และ 89 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแล้วไซร้ เสียง Vote No ข้าง มากเหล่านั้นย่อมชอบที่จะดำเนินการแก้ไขหรือยกเลิก มาตรา 88 และ 89 ตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายแก้ไขกฎหมายดังกล่าว การเรียกร้องการทำประชามติที่กำหนดประเด็นชัดเจน หรือการใช้สิทธิเสรีภาพประท้วงเรียกร้อง ซึ่งหากเลือกตั้งครั้งนี้มีคะแนน Vote No ล้นหลาม ก็ย่อมอาจจุดประกายการดำเนินการเช่นนั้น
ผู้เขียนย้ำว่า บางคนอาจต้องการ Vote No เพื่อแสดงออกด้วยพลังบริสุทธิ์ตามวิถีรัฐธรรมนูญ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการเมืองที่ล้มเหลว ซึ่งผู้เขียนยืนยันอีกครั้งว่า Vote No เช่นนั้นเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพอันประเสริฐยิ่ง
ผู้ เขียนย้ำอีกว่าสังคมไทยเป็นสังคมนิติรัฐ บ้านเมืองมีกฎหมาย มีกติกา แม้ปวงชนชาวไทยกว่า 67 ล้านคนจะเป็นเจ้าของอำนาจก็จริง แต่จะใช้อำนาจอย่างไรย่อมเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญ มิฉะนั้นสังคมที่มีกว่า 67 ล้านความคิดเห็นก็มิอาจเคลื่อนเดินไปข้างหน้าได้
และการเหมารวมว่า Vote No ทุก เสียงคิดเห็นเหมือนกันหมดทุกประการ ก็คงมิใช่ตรรกะที่ถูกต้องนัก บางคนแสดงออกโดยบริสุทธิ์ใจ แต่บางคนอาจทำไปเพื่อขัดขวางวิถีรัฐธรรมนูญ หรือบางคนอาจ Vote No เพียงเพราะรักพี่เสียดายน้อง หรือไม่รู้จะเลือกใคร เมื่อเราสรุปอะไรโดยง่ายไม่ได้ เราจึงต้องมีกฎหมายเป็นกติกา
สรุป การไม่นับคะแนน Vote No ให้ชนะกรณีเขตเลือกตั้งมีผู้สมัครหลายคน มิได้ขัดต่อ "หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" แต่อย่างใด.
ในทางตรงกันข้าม ผู้ใดล้มการเลือกตั้ง หรือวางแผนล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้นั้นย่อมไม่เคารพ “อำนาจอธิปไตย" ไม่ต่างไปจากเป็นกบฏต่อปวงชนเจ้าของประเทศ อาจติดคุกเหมือนกันครับ!
ย้ำอีกครั้ง จะ Vote No หรือ Vote ให้ใคร เป็นสิทธิของเรา เสรีภาพของเรา และหน้าที่ของเรา
โปรด วัดใจของเรา เรียนรู้จากอดีตให้ดี ใช้คะแนนที่มีให้คุ้ม 3 ก.ค. ผลออกมาเช่นไร ขอให้เรารับผิดชอบร่วมกัน เล่นตามกติกา และพาประเทศไทยเดินต่อไปพร้อมกันครับ!
---
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น