ความต้องการแบงก์ 1 พันบาท เลือกตั้ง 54 สะพัด ตัวเลขธนบัตรหมุนเวียนของ ธปท. ล่าสุด เดือน พ.ค. ยุบสภาเดือนแรก แบงก์พันบาทเพิ่มขึ้นในระบบอีก 509 ล้านบาท ขณะที่ย้อนไปเดือน เม.ย. เดือนที่นายกฯประกาศชัดว่าจะยุบสภาแน่ ปริมาณแบงก์พันเพิ่มมากอย่างน่าสังเกต เพราะเพิ่มขึ้นถึงเดือนเดียว 70,011 ล้านบาท ผู้ว่า ธปท. ระบุการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากธรรมชาติเลือกตั้ง และเศรษฐกิจที่ดีขึ้น...
นาย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การใช้จ่ายภาคเอกชนในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 5.1% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็น อัตราเพิ่มที่สูงเมื่อเทียบช่วงที่ผ่านมานั้น ธปท.มองว่าส่วนหนึ่งของเม็ดเงินที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอาจจะมา จากความต้องการใช้จ่ายเงินในช่วงการรณรงค์หาเสียง เลือกตั้ง เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะมีการใช้จ่าย เงินเพิ่มขึ้นในช่วงเลือกตั้งที่ มีกิจกรรมในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง การใช้จ่ายที่ดีขึ้น มาจากกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจไทยที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และเมื่อเศรษฐกิจของเราใหญ่ขึ้น ทำให้ความต้องการธนบัตร เพิ่มมากขึ้นด้วย
“ในช่วงเดือน พ.ค. เป็นเดือนที่มีการยุบสภา การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทำให้มีการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่ง แต่ตามปกติการเร่งใช้จ่ายเงินเพื่อการเลือกตั้ง หรือ การใช้เงินเพื่อซื้อเสียงนั้น ธปท.ไม่ได้ตามว่าเม็ดเงินส่วนไหนไปทำอะไร และคงแยกแยะได้ยาก ขณะเดียวกัน ในเดือน พ.ค. ถึงจะมีการใช้จ่ายเพิ่มเห็นได้ชัด แต่ยังอีกไกลกว่าจะมีการเลือกตั้งจริง เพราะการเลือกตั้งจะ เกิดขึ้นในวันที่ 3 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่ การเคลื่อนไหวของเงินหรือธนบัตรหมุนเวียนอาจจะเปลี่ยนไปอีกใกล้ๆช่วงเลือกตั้ง ถ้าต้องการตามดู ความเคลื่อนไหวของเงินว่าเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือไม่ คงจะต้องรอดูช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. อีกครั้ง”
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า จากตัวเลขการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ธปท.คงระบุไม่ได้ว่าเงินส่วนไหนเป็นเม็ดเงินที่ใช้จ่ายเพื่อการเลือกตั้ง และ ส่วนไหนเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นจากกำลังซื้อของประ-ชาชนที่ดีขึ้น เพราะการดูเม็ดเงินในระดับมหภาคคงแยกแยะเม็ดเงินได้ค่อนข้างยาก แต่หากมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ การผลิตในส่วนรถยนต์ที่หายไปจากผลกระทบญี่ปุ่น ก็เริ่มกลับมาขยายตัวแล้ว
ทั้ง นี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประ-เทศไทย (ธปท.) ได้รายงานเงินสดหมุนเวียนใน ระบบเศรษฐกิจไทยล่าสุดสิ้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนที่มีการยุบสภา เดือนแรกเพื่อเข้าสู่การรณรงค์หาเสียงเพื่อการเลือกตั้งทั่ว ไป พบว่ามีธนบัตรหมุนเวียนอยู่ในระบบการเงิน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับธนบัตรที่อยู่ในมือ ธปท.ทั้งสิ้น 1,214,485 ล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณธนบัตรหมุนเวียนที่เท่ากับเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าระบบการเงินมีความต้องการธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพราะเป็นธนบัตรชนิดราคาเดียว ที่มีการหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ธนบัตรชนิดราคาอื่นๆ เช่น ราคา 500 บาท 100 บาท และ 50 บาท ลดลง ส่วนธนบัตร ชนิดราคา 20 บาท มีปริมาณหมุนเวียนเท่ากับเดือน เม.ย. โดย ณ สิ้นเดือน พ.ค. มีธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท หมุนเวียนในระบบทั้งสิ้น 961,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 509 ล้านบาท ขณะที่ธนบัตรชนิดราคา 500 บาท มีหมุนเวียนในตลาด 108,599 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 246 ล้านบาท ขณะที่ธนบัตรชนิดราคา 100 บาท มีหมุนเวียนทั้งสิ้น 100,449 ล้านบาท ลดลง 58 ล้านบาท ขณะที่ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท หมุนเวียนทั้งสิ้น 12,189 ล้านบาท ลดลง 206 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความต้องการธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท ที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจในช่วงการเลือกตั้งนั้น เกิดขึ้นชัดเจนมาตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนที่นายกรัฐมนตรีมีการประกาศชัดเจนว่าจะยุบสภาอย่างแน่นอนใน ช่วงปลายเดือน เม.ย. หรือต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยสิ้นเดือน เม.ย. มีธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท หมุนเวียนในระบบ 961,134 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าถึง 70,011 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นที่ค่อนข้างผิดปกติ เพราะหากย้อนกลับไปอีกเดือน ณ สิ้นเดือน มี.ค. ธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 4,033 ล้านบาท
ทั้งนี้ ฝ่ายออกบัตรธนาคาร ธปท.ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพิมพ์ธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงสิ้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ที่ปริมาณธนบัตรที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นชนิดราคา 1,000 บาท และ 500 บาท แต่ครั้งนี้ เป็นธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท ล้วนๆ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายออกบัตรธนาคาร ธปท.ตั้งข้อสังเกตว่าจำนวนธนบัตรที่เพิ่มขึ้นในช่วงสิ้นเดือน เม.ย. อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเพียง อย่างเดียว แต่เป็นช่วงของการปรับขึ้น เงินเดือนของพนักงาน และค่าจ้างแรงงานประจำปี ซึ่งมีส่วนทำให้ความต้องการเงินธนบัตรเพิ่มขึ้นด้วย
ไทยรัฐ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น