บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

"ไวพจน์" ผ่าวงจร "ทหาร-การเมือง" ใช้ประโยชน์-ครอบงำ-ไร้สมดุล

  by ปกรณ์ ,
         
พลวัตการเมืองไทยในห้วงครึ่งทศวรรษมานี้ นับจากการรัฐประหารเที่ยวล่าสุดเมื่อปี 2549 ปฏิเสธไม่ได้ว่า "กองทัพ" เข้ามามีบทบาททางการเมืองสูงมาก และกลายเป็นจุดเปราะบางอันสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นคู่ขัดแย้งกับทหารโดยตรง
           ประเด็นที่เกี่ยวกับ "บทบาท" ที่เหมาะควรของทหาร และ "ระยะห่าง" หรือ "ความสัมพันธ์" ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลควรเป็นอย่างไร เพื่อขับเคลื่อนการเมืองไทยต่อไปในทิศทางที่เหมาะสมตามระบอบประชาธิปไตยนั้น นับเป็นโจทย์ที่น่าค้นหาคำตอบไม่น้อยทีเดียว
           พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งผ่านงานการเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานความมั่นคง ทั้งผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) และผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานเดิมของเขา คือสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ทั้งยังร่วมกับองค์กรเอกชนต่างประเทศจัดทำยุทธศาสตร์การปฏิรูปกองทัพสำหรับ ประเทศกำลังพัฒนาด้วย เพ่งมองภาพความเปราะบางนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ
            พล.อ.ไวพจน์ ชี้ว่า ปัญหากองทัพหรือทหารเข้าไปมีบทบาททางการเมือง เกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนาแทบทุกประเทศ ไม่เฉพาะไทย สาเหตุประการหนึ่งเป็นเพราะกองทัพมีทรัพยากรบุคคลมาก จึงช่วยงานพัฒนาในประเทศที่ยังไม่พร้อมได้เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าจำกัดบทบาทอยู่เพียงแค่นี้ก็จะไม่มีปัญหาอะไร
            แต่ สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ก็คือ เมื่อสถานการณ์การเมืองไม่มีเสถียรภาพ ฝ่ายการเมืองเองจึงพยายามใช้ทหารเป็นเครื่องมือ เมื่อเลือกใช้ทหาร ฝ่ายทหารก็ชอบ เพราะได้งบประมาณมากขึ้น แล้วก็แสดงบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ จนบางประเทศกลายเป็นการครอบงำฝ่ายการเมืองไปเลย ซึ่งเป็นสร้างปัญหามากกว่าช่วยแก้ปัญหา
            ฉะนั้นทางออกที่ดีที่สุด พล.อ.ไวพจน์ บอกว่า ต้องสร้างสมดุลด้วยการ "ปฏิรูปกองทัพ" หรือ Military Reform ซึ่งสำหรับประเทศไทยก็คิดและทำมานานมากแล้ว แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้า
           "สาเหตุที่การปฏิรูปกองทัพทำได้ไม่ค่อยดี เพราะ 1.การเปลี่ยนแปลงกองทัพเป็น Political Issue หรือประเด็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งฝ่ายการเมืองต้องเตรียมพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนด้วย คือต้องมี Political Will หรือเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน แน่วแน่ แต่บ้านเราฝ่ายการเมืองไม่เข้มแข็ง กลับใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ กองทัพก็เอนจอย (enjoy - สนุกสนาน) เพราะได้อำนาจต่อรองเพิ่ม ทั้งงบประมาณ และสถานะ เนื่องจากกลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการเมืองไปแล้ว เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปจึงไม่คืบหน้าเท่าที่ควร และจะไม่คืบหน้าต่อไปถ้าการเมืองยังไม่เข้มแข็งอยู่แบบนี้"
           "2.กระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ของกองทัพยังมีลักษณะยึดติดกับกรอบคิดแบบ เดิมๆ ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ซึ่งกระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ถูกชี้นำโดยประเทศมหาอำนาจ แม้จะยึดผลประโยชน์ชาติ หรือ National Interest แต่ทิศทางยังมีอคติ เพราะอยู่ภายใต้การชี้นำของมหาอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ จึงไม่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ชาติแบบเต็มร้อย แต่กลับเป็นไปในลักษณะตอบสนอบเฉพาะกลุ่ม"
            ในทัศนะของ พล.อ.ไวพจน์ เขาให้น้ำหนักไปที่กระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเห็นว่าเป็นจุดอ่อนทั้งในระดับกองทัพเองและรัฐบาล
            เขาขยายความว่า ในระดับผู้นำกองทัพหรือนายทหารระดับสูงส่วนใหญ่ที่ผ่านมา แม้ทำให้กองทัพมีการเปลี่ยนแปลงก็จริง แต่เป็นการเปลี่ยนเฉพาะโครงสร้างการบริหารจัดการ ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อน คือเมื่อเดินตามฝรั่ง ก็จะมุ่งเปลี่ยนแปลงเฉพาะโครงสร้างการบริหารจัดการ ซึ่งเกิดผลน้อย หากจะเปลี่ยนแปลงให้ได้ผลจริงๆ ต้องเปลี่ยนคู่กัน 2 แนวทาง คือ โครงสร้างการบริหารจัดการ และทิศทางการก้าวเดินซึ่งต้องเปลี่ยนด้วย
            เมื่อหันไปพิจารณาในระดับการเมืองหรือรัฐบาล จะเห็นว่าฝ่ายการเมืองเองก็ไม่มีกรอบคิดทิศทางที่ชัดเจน ใครขึ้นเป็น รมว.กลาโหม ก็ปรับโครงสร้างนิดหน่อย ซื้ออาวุธนิดหน่อย ก็ถือว่าได้ปฏิรูปกองทัพแล้ว ทั้งๆ ที่เรายังมีจุดอ่อนการปฏิรูปเพื่อทำให้เกิดสมดุลระหว่างกองทัพกับการ เมืองอยู่มาก
           "นาย ทหารระดับสูงส่วนใหญ่ในบ้านเรามองแนวคิดแต่ Military Strategy (ยุทธวิธีทางทหาร) คือใช้กำลัง แล้วก็จัดซื้ออาวุธ ถามว่าเดินถูกทางไหม มันก็ถูก แต่ถ้าจะแก้ปัญหาให้ได้ต้องมองให้เหนือกว่าเรื่องยุทธวิธีทางทหาร คือต้องมองไปที่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง หรือ  Security Strategy"
             อย่างไรก็ดี พล.อ.ไวพจน์ ชี้ว่า สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เพราะในประเทศเหล่านั้นประชาชนจะศรัทธากองทัพมาก และกองทัพมีอิทธิพลมาก เมื่อเสนอยุทธศาสตร์อะไรไป ผู้กุมนโยบายด้านความมั่นคงก็ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ปัญหาจึงแก้ไม่ได้เพราะมองเฉพาะยุทธวิธีทางทหาร
            "ยกตัวอย่างปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ามองแค่กรอบ Military Strategy ก็สั่งให้เอากำลังไปวาง แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรเลย จุดอ่อนคือกระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ไม่ได้รับการพัฒนา ประชาชนไม่สามารถหวังพึ่งกองทัพให้แก้ปัญหาชาติได้ เพราะแก้ได้แค่ระดับยุทธวิธี จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมากองทัพแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของชาติไม่ได้เลย รวมทั้งปัญหาภาคใต้ด้วย เพราะมองแต่ยุทธวิธีทางทหาร เมื่อผนวกกับการเมืองก็อ่อนแอ ต้องการใช้ทหารเป็นเครื่องมือ จึงยิ่งไม่กล้าปรับเปลี่ยน ทำให้เจตจำนงทางการเมืองไม่แจ่มชัด ถ้าเป็นอย่างนี้ก็พัฒนาไม่ได้"
             พล.อ.ไวพจน์ เสนอว่า การจะก้าวข้ามปัญหานี้ องค์กรเหนือกองทัพต้องแสดงบทบาทมากขึ้น อาทิ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และฝ่ายการเมือง จะมาใช้กองทัพแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว มิฉะนั้นปัญหาจะทับถม
            "ปัญหาของกองทัพกับปัญหาของฝ่ายการเมือง จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องเดียวกัน คือการกำหนดนโยบายยุทธศาตร์ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนส่วนใหญ่หรือขับเคลื่อนประเทศไปข้าง หน้าได้ ปัญหาต่างๆ จึงแก้ไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ถ้าไม่รีบแก้ตรงจุดที่เป็นต้นเหตุนี้ การก้าวเดินต่อไปจะยิ่งไร้ทิศทาง"
             "ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ยังเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง แล้วสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการจัดเวทีไปฟังปัญหา จากนั้นก็นำประเด็นที่รับฟังมากำหนดเป็นนโยบาย วิธีการแบบนี้แม้จะถูกต้องแต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาระดับชาติ เพราะปัญหามันไม่ได้ง่ายแบบเดิมแล้ว ไม่เหมือนยุคสงครามเย็น เนื่องจากปัญหามีความซับซ้อนสูง ไม่ใช่เรื่อง 1+1 = 2 อีกต่อไป"
             "อย่าง เช่นการจะสร้างความปรองดอง แล้วบอกว่าคนในชาติมีแต่ความแตกแยก จริงๆ แล้วแตกแยกไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นผลกระทบ ฉะนั้นต้องมองย้อนกลับไปว่าสาเหตุของความแตกแยกเกิดจากอะไร ด้วยเหตุนี้การโฆษณาให้ปรองดองจึงไม่เกิดผลอะไร เพราะต้องเข้าใจและหาวิธีแก้ปัญหาที่แก่น"
              "เช่น เดียวกับนโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง ประชาชนชอบเพราะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในระยะสั้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ฉะนั้นจึงใช้วิธีเดิมๆ ต่อไปอีกไม่ได้ เรากำลังจะมีรัฐบาลชุดใหม่ หลังจากนี้ก็จะมีการแถลงนโยบาย และทำแผนปฏิบัติ แต่ถ้ายังเป็นแผนเดิม ทิศทางก็เดิมๆ ก็จะไม่มีทางแก้ปัญหาชาติได้สำเร็จ"
             ส่วนการปฏิรูปกองทัพด้วยการปรับลดขนาดลงเพื่อให้มีความคล่องตัวและพัฒนา ประสิทธิภาพได้ง่ายขึ้นนั้น พล.อ.ไวพจน์เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เพราะภัยคุกคามในลักษณะที่เป็น Traditional Treat (ภัยคุกคามแบบเก่า) ในยุคสงครามเย็น ได้เปลี่ยนเป็น Nontraditional Treat หรือภัยคุกคามแบบใหม่ไปแล้ว
            "การต่อสู้กับภัยคุกคามแบบเดิม คือการรบด้วยกำลังทหาร ใครที่มีกำลังพลมากกว่า อาวุธมากกว่าก็เป็นฝ่ายชนะนั้น ปัจจุบันแทบจะหมดไปแล้ว ทุกวันนี้ทุกประเทศพยายามเป็นมิตรกัน มีการรวมกลุ่มกัน เช่น อาเซียน และมีองค์กรระหว่างประเทศคอยแก้ไขความขัดแย้ง อาทิ องค์การสหประชาชาติ ฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดการรบขนาดใหญ่มีน้อยมาก"
            "ส่วนภัยคุกคามรูปแบบใหม่มี 4 เรื่องหลัก คือ ยาเสพติด แรงงานข้ามชาติ ภัยพิบัติ และก่อการร้าย จึงต้องถือว่ารูปแบบเปลี่ยนไป การลดกำลังพลของกองทัพลงจึงเป็นเหตุเป็นผล ปัจจุบันเทคโนโลยีมีมากขึ้น สามารถใช้แทนได้ และยังเป็นการป้องปรามทางยุทธศาสตร์ โดยไม่ต้องใช้กำลังด้วย เรื่องแบบนี้เราก็เคยคิดกัน แต่อาจจะละเลยไป"
           พล.อ.ไวพจน์ บอกด้วยว่า ระบบป้องปรามทางยุทธศาสตร์ก็เช่น การพัฒนาเรื่องการรบร่วม แทนการจัดซื้ออาวุธบางประเภท เช่น ปืนเล็ก ซึ่งไม่ได้ตอบสนองอะไรในทางยุทธศาสตร์ ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าภัยคุกคามรูปแบบใหม่ทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับประชาชน จึงต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและเอ็นจีโอจึงจะประสบความสำเร็จ
            ทั้งหมดนี้คือทิศทางที่ควรจะเป็นของกองทัพในความเห็นของอดีตขุนพลด้านความ มั่นคงอย่าง พล.อ.ไวพจน์ แต่การปรับบทบาทจะเป็นจริงได้หรือไม่ ต้องย้อนกลับไปถามฝ่ายการเมืองด้วยว่าเมื่อไรจะเลิกใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ เสียที!

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง