เว็บไซต์ดังแฉเอกสารลับหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้ประเทศคู่เจรจาข้อตกลงกลุ่มหุ้นส่วนสองฟากฝั่งแปซิฟิกยกเลิกการ คัดค้านก่อนออกสิทธิบัตร เพื่อปลดล็อกการขอสิทธิบัตร ส่อเอื้อประโยชน์บริษัทยา ระวังรัฐบาลใหม่ของไทยเจอแน่ๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความน่าสนใจของเอกสารฉบับนี้อยู่ที่ความพยายามของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ประเทศต่างๆ ที่กำลังเจรจาจัดทำข้อตกลงทีพีพีเอ ยกเลิกสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิในการร้องคัดค้านก่อนการออกเอกสารสิทธิบัตร (Pre-Grant Opposition)’
แหล่งข่าวจากทีมโครงการวิจัย ‘สิทธิบัตรยาที่จัดเป็น Evergreening Patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น’เปิดเผย ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนฯ (TCIJ)ว่า ประเด็นนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลห่างประเทศไทย เพราะเราเองก็ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับข้อตกลงนี้ แต่ในอดีตการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ สหรัฐฯ เคยยกประเด็นนี้เป็นหัวข้อเจรจากับไทยเมื่อมกราคม 2549 ก่อนที่การเจรจาจะหยุดชะงักไปในปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การกลับมาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าคือพรรคไทยรักไทยในอดีต ก็ชวนให้ตั้งข้อสังเกตได้ว่า อาจจะสานต่อให้เกิดการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
“น่าสนใจว่าทำไมสหรัฐฯ จึงต้องการให้ประเทศนั้นประเทศนี้ยกเลิกสิทธิการร้องคัดค้านก่อนออกสิทธิ บัตรนั่นก็เป็นเพราะว่ากลไกการร้องคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตรเปรียบเสมือน ปราการหลักที่ปกป้องผู้บริโภคจากการขอสิทธิบัตรยาที่ไม่สมควรได้รับของ บริษัทยา”แหล่งข่าวกล่าวและว่า
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า ในกระบวนการขอสิทธิบัตรจะมีขั้นตอนที่เป็นขั้นการร้องคัดค้านที่ใช้ปฏิบัติ กันในประเทศต่างๆ อยู่ 2 แนวทางคือ การคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตร และการคัดค้านหลังออกสิทธิบัตร (Post-Grant Opposition) ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างในหลักการสำคัญอยู่มากและส่งผลกระทบไม่เหมือนกัน
ยกตัวอย่าง ถ้าบริษัท ก. ต้องการจดสิทธิบัตรยา Aกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะทำการประกาศโฆษณาสิ่งประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตร ซึ่งหากเห็นว่า ยา A ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรเพราะไม่ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นใหม่ เช่น แค่เปลี่ยนจากเม็ดเป็นแคปซูล ก็สามารถยื่นข้อมูลหลักฐานและเหตุผลในการคัดค้านได้ภายใน 90 วัน โดยผู้ที่คัดค้านนี้เป็น ‘ใครก็ได้’
ขณะที่การคัดค้านหลังออกสิทธิบัตร หมายความว่า ยาAถูกรับรองและได้รับการคุ้มครองไปแล้ว จึงค่อยยื่นคัดค้านภายหลังว่า ยา Aมีความไม่เหมาะสมอย่างไร โดยผู้ร้องคัดค้านแบบนี้จะต้องเป็น ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’เท่านั้น ซึ่งตามการตีความของกรมทรัพย์สินฯ มักนิยามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจแข่งขันกัน เป็นส่วนได้ส่วนเสียในเชิงผลประโยชน์ทางธุรกิจ
แต่จากคดีความที่เคยเกิดขึ้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาได้ตีความผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียครอบคลุมถึงคนที่เสีย ประโยชน์จากการเข้าไม่ถึงยาด้วย
แต่จะเห็นได้ว่าการร้องคัดค้านในแบบแรกเปิดกว้างให้สังคม นักวิชาการ ผู้บริโภค รวมถึงบริษัทยาเอง ได้มีส่วนในการตรวจสอบความเหมาะสมของการขอสิทธิบัตรมากกว่าแบบหลัง
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในภาวการณ์ปัจจุบัน มีการขอสิทธิบัตรยาที่มีเจตนาในการขยายระยะเวลาการถือสิทธิบัตรของยาชนิด เดิมออกไป โดยอ้างว่ามีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เป็นเช่นนั้นและไม่มีความใหม่ในการประดิษฐ์เพียงพอ
การยกเลิกการร้องคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตรจึง เท่ากับเป็นการปิดกั้นการตรวจสอบจากภาคสังคมไปโดยปริยาย และจะสร้างผลกระทบต่อการเข้าถึงยาในระยะยาว
ในเอกสารที่รั่วไหลออกมาชิ้นนี้ สหรัฐฯ อ้างว่า สิทธิในการร้องคัดค้านก่อนการออกเอกสารสิทธิบัตรเป็นการสร้างภาระอันไม่ สมควรให้แก่ทั้งผู้ขอจดสิทธิบัตรและสำนักสิทธิบัตร สร้างความไม่แน่นอนและ ‘มีความเสี่ยงต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบ’ของบุคคลภายนอกซึ่งอาจคุกคามผู้ตรวจ สอบและผู้ขอจดสิทธิบัตรได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บทวิเคราะห์เรื่องนี้ในเว็บ www.citizen.orgก็ได้พยายามชี้ให้เห็นว่า คำกล่าวอ้างของสหรัฐฯ ไม่เป็นจริง โดยยกเหตุผลดังนี้
-ในวงวิชาการชั้นสูงด้านเวชภัณฑ์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยี ใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ มีปัญหาเรื้อรังเรื่องการขอจดสิทธิบัตรที่ต่ำกว่ามาตรฐานอยู่เป็นประจำ สิทธิบัตรที่ได้มาโดยไม่สมควรทำให้รัฐบาลและผู้บริโภคต้องสิ้นเปลืองค่าใช้ จ่าย รวมทั้งทำให้คู่แข่งที่ถูกต้องตามกฎหมายต้องสิ้นเปลืองเงินทองเพื่อทำธุรก รรมเป็นจำนวนมาก แต่สิทธิในการร้องคัดค้านก่อนการออกเอกสารสิทธิบัตรจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ ขอจดสิทธิบัตรใช้กฎระเบียบหาประโยชน์ใส่ตัวโดยไม่ถูกต้อง และยังจะช่วยยกระดับคุณภาพสิทธิบัตรด้วยการขจัดการขอจดสิทธิบัตรที่ด้อยคุณ ค่าออกไปอย่างเคร่งครัด
-สิทธิในการร้องคัดค้านก่อนการออกเอกสารสิทธิบัตรจะช่วยเพิ่มความแน่นอน ให้การตัดสินใจด้านธุรกิจของผู้ทำการประดิษฐ์และบริษัทผลิตยาชื่อสามัญ ด้วยการกำหนดข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรที่มีการคัดค้านได้เร็วมากกว่า (และสิ้นเปลืองน้อยกว่า) การไปฟ้องร้องคดีหลังจากมีการออกเอกสารสิทธิบัตรให้แล้ว
-การยื่นคำขอจดสิทธิบัตรที่ไร้สาระและน้ำหนักต่างหากที่เป็นการสร้างภาระทางปกครองให้แก่สำนักสิทธิบัตรโดยไม่สมควร
-การร้องคัดค้านก่อนการออกเอกสารสิทธิบัตรสามารถช่วยยกระดับประสิทธิภาพ และความแม่นยำในการควบคุมกฎระเบียบได้ โดยการรายงานให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรทราบถึงงานที่ปรากฏอยู่แล้ว เพื่อที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวอาจจะตรวจสอบข้ออ้างสิทธิเรื่องความใหม่ (Novelty) และการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (Inventiveness) ได้ เนื่องจากผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรในประเทศกำลังพัฒนามีเวลาและทรัพยากรจำกัด จึงมักไม่ค่อยมีโอกาสได้ใช้เครื่องมือการวิจัยที่ดีที่สุด ส่วนผู้ขอจดสิทธิบัตรนั้น บางครั้งก็ประมาทหรือบ้างก็ถึงกับเจตนาที่จะละเลยไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลของงาน ที่ปรากฏอยู่แล้วให้ผู้ตรวจสอบทราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อครั้งรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งพบว่า เนื้อหาของฟากอียูก็มีความต้องการให้ยกเลิกการคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตรเช่น กัน แต่ด้วยจุดยืนของอาเซียนที่ไม่ต้องการเจรจาในกรอบที่เกินกว่าข้อตกลงของ องค์การการค้าโลก ทำให้การเจรจาดังกล่าวต้องยุติไป ทำให้อียูหันมาเจรจาในแบบทวิภาคีกับรายประเทศ และไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมาย
นอกจากนี้ ในปี 2549 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เคยทำการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร มาแล้วครั้งหนึ่ง และได้มีการตัดการคัดค้านก่อนออกสิทธิบัตรออกไป แต่ถูกคัดค้านในวงกว้างจึงทำให้ร่างดังกล่าวถูกยกเลิกไป อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปีนี้ ทางกรมทรัพย์สินฯ ได้มีหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยกร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรอีกครั้งหนึ่ง
(สามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ www.keionline.org/node/1091 และบทความวิเคราะห์เอกสารนี้ได้ที่ www.citizen.org/document/Leaked-US-TPPA- paper-on-eliminating-pre-grant-opposition.pdf.)
ภาพจาก www.aidsaccess.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น