บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

‘พลเมืองอภิวัฒน์’ เดินหน้าจัดเวที 20 คมความคิด 20 ปฏิบัติการเปลี่ยนประเทศ


“จรัส สุวรรณมาลา” เปรียบ ปชช.-พรรคการเมืองหลงใหลนโยบายขนมหวาน ชอบเกทับ เป็นผีเน่ากับโรงผุ แนะต้องกล้าเป็นกบฏกับหัวคะแนน ไม่กา ไม่เลือกคนไม่ดี ด้าน “พิทยา ว่องกุล” ซัด ประชาธิปไตยอ่อนแอ เพราะปล่อยให้นักการเมืองครอบงำ-กำหนดชะตากรรมสังคมมานาน
วันที่ 8 มิถุนายน เวทีพลเมืองอภิวัฒน์ คนเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยน โดยความร่วมมือของสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองอภิวัฒน์ สำนักงานปฏิรูป (สปร.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย  ฯลฯ จัดงานแถลงข่าว “20 คมความคิด 20 ปฏิบัติการเปลี่ยนประเทศ” ณ โรงแรมปริ้นพาเลซ กรุงเทพ โดยมี รศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย นายบวร ยสินทร และนายพิทยา ว่องกุล นักวิชาการอิสระ ร่วมแถลงข่าว
ยุทธวิธีขับเคลื่อนประเทศไทย
นายบวร กล่าวว่า ประสบการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงการเลือกตั้งนักการเมืองทุกพรรคจะรับปากในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะพรรคเล็ก ซึ่งไม่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล หรือพรรคใหญ่ก็ต่างเอาใจประชาชนด้วย นโยบายประชานิยม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา ดังนั้น เมื่อประชาชนมีโอกาสขึ้นมาอีกครั้งก็ต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่ เพื่อไม่ให้เข้าสู่วงจรเดิม
“เครือข่ายพลเมืองอภิวัฒน์ ได้มีการกำหนดยุทธวิธีขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวออกไปจากวิกฤต ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มจากฤดูกาลเลือกตั้ง และแบ่งการปฏิบัติ การออกเป็น 3 ระยะคือ 1.ช่วง 50 วันก่อนการเลือกตั้ง 2.ช่วง 100 วัน หลังการเลือกตั้ง และ3.1500 วัน หรือตลอด 4 ปีของการทำงาน โดยในช่วง 50 วันก่อนการเลือกตั้ง จะเป็นการดำเนินการเพื่อต้องการให้นักการเมืองตื่นรู้ว่า ประชาชนต้องการอะไร แนวคิดเรื่องการปฏิรูปที่ภาคประชาชนเสนอมีการผลักดันเป็นนโยบายหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดเป็นพันธสัญญาระหว่างนักการเมืองกับภาคประชาชน ขณะเดียวกัน จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์ลงคะแนน โหวตปฏิรูป หรือพรรคที่มีนโยบายเอื้อต่อการปฏิรูปมากที่สุด”
สำหรับการโหวตปฏิรูปนั้น นายบวร กล่าวว่า เป็นการรณรงค์ ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ โดยตัดสินใจโหวตอย่างใดอย่างงหนึ่ง นั่นคือ 1.โหวตแซงชั่น หรือการไม่เลือก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เป็นสีเทา ส.ส.ขี้เกียจหลังยาว ไม่ทำหน้าที่ 2.โหวตสนับสนุน พรรคการเมืองที่ยอมรับเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ 3.โหวตสั่งสอน คือการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่กากบาทในช่องไม่ประสงค์เลือกผู้ใด หรือ โหวตโน หากเห็นว่า ไม่มีคนดี หรือพรรคดีให้เลือก
ส่วนหลังการเลือกตั้งนั้น นายบวร กล่าวว่า จะต้องติดตามว่าพรรคการเมืองได้นำนโยบายที่ได้รับปาก เมื่อครั้งหาเสียงไปปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร โดยดูจากการแถลงนโยบายต่อสภา หากไม่เป็นไปตามที่ได้มีการรับปากไว้ จะต้องมีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อผลักดันต่อไป ส่วนการติดตามผลในระยะยาว จะต้องคำถึงถึงนโยบายปฏิรูป ควบคู่ไปกับการพิจารณาในประเด็นทางโครงสร้างการเมืองที่จะนำไปสู่การปฏิรูป หรืออภิวัตน์ต่อไปด้วย
2 เผด็จการสมัยใหม่ - 1 ประชาธิปไตยที่อ่อนแอ
ขณะที่นายพิทยา กล่าวถึงการสร้างเครือข่ายพลเมืองอภิวัฒน์ในครั้งนี้ว่า สถานการณ์บ้านเมืองของไทย มีความขัดแย้ง มีการแบ่งสีแบ่งฝ่าย ยืดเยื้อยาวนาน กระทั่งไม่สามารถเกิดการประนีประนอมขึ้นได้จริง ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า หลังการเลือกตั้งจะนำไปสู่สถานการณ์ 2 เผด็จการสมัยใหม่ และ 1 ประชาธิปไตยที่อ่อนแอ
"กล่าวคือ หากพรรคการเมืองที่มีผลประโยชน์มาก เป็นพรรคที่มีกระบวนการขับเคลื่อนภาคประชาชน ได้อำนาจกลับคืน จะมีการรักษาอำนาจ ผลประโยชน์อย่างเหนียวแน่น จนนำไปสู่เผด็จการทางรัฐสภา รวมทั้งมีการจัดสรรตำแหน่ง ดึงพรรคพวกของตนเองไปสู่กลไกราชการ ทหาร ตำรวจ ดังนั้น ประชาชนที่รับไม่ได้ จะลุกขึ้นมาต่อต้าน สุดท้ายก็จะนำไปสู่เผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ เผด็จการทหาร สิ่งที่ตามมาคือ บ้านเมืองเละเหมือนเดิม เพราะไม่ว่าจะเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์จะได้เสียงข้างมาก ย่อมอาจเกิดการประท้วงหรือต่อต้านเกิดขึ้น กระทั่งในที่สุด ก่อให้เกิดสภาวะของประชาธิปไตยอ่อนแอ"
นายพิทยา กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอว่า เนื่องจากประเทศไทยปล่อยให้นักการเมืองมีบทบาทครอบงำสังคมมาอย่างยาวนาน รวมทั้งมีอิทธิพลในกำหนดชะตากรรม ดังนั้น ประชาชนทั่วทุกสารทิศต้องรวมกันขยับ เพื่อเปลี่ยนสังคม
“การโหวตเพื่อปฏิรูป ประชาชนต้องมีบทบาท ควบคุม ดูแลพรรคการเมือง ไม่ให้ซ้ำรอยวงจรอุบาทว์เดิม อีกทั้งในระยะต่อไป อาจจะต้องมีการเสนอให้มีการจัดตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการแยกอำนาจนิติบัญญัติ กับอำนาจบริหารออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อให้การซื้อสิทธิขายเสียงเป็นไปได้ยาก และนักการเมืองจะหันมาเสนอนโยบายที่เป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง” นายพิทยา กล่าว และว่า พัฒนาการในระบบการเลือกตั้งของไทย ก่อให้เกิด ตระกูล ส.ส. แก๊ง ก๊วนต่างๆ ทางการเมือง ตั้งแต่การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น กระทั่งนำไปสู่การสร้างฐานอำนาจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับว่าน่ากลัว และส่งผลต่อประชาธิปไตยโดยตรง ดังนั้น ภาคประชาชนจะต้องมีการสร้างเครือข่ายและมีส่วนร่วมในการปฏิรูป ไม่ใช่เลือกตั้งเสร็จแล้วหยุด
ฝากนักการเมืองหยุดดูถูกประชาชน
ด้าน รศ.ดร.จรัส กล่าวถึงการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาว่า จะต้องมีผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งในเรื่องพฤติกรรมการเลือกตั้งของภาคประชาชน และนโยบายพรรคการเมือง โดยในส่วนของนโยบายพรรคการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนโยบายขายขนมหวาน แจกลูกอม ที่นับวันจะยิ่งน้ำเน่า และไม่สามารถนำพาสังคมออกจากภาวะวิกฤตทางการเมืองได้นั้น ภาคประชาชนจะต้องผลักดันให้เกิดกระแสของการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายดังกล่าว เป็นนโยบายที่เรียกว่า ดูถูกประชาชนอย่างมาก เพราะเห็นประชาชนเป็นสัตว์เลี้ยง ชอบอาหารอะไร ก็ให้ปริมาณมากๆ
นักการเมืองชอบเลือกนโยบายเกทับกัน ส่วนนโยบายปฏิรูป นักการเมืองส่วนใหญ่กลับมองข้าม และไม่รับไปเป็นนโยบาย เพราะเห็นผลช้า ต้นทุนสูง ได้ผลตอบแทนน้อย อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ก็ชอบนโยบาย ‘สัตว์เลี้ยง’ มากกว่า กระทั่งกลายเป็น ผีเน่ากับโรงผุไปทั้งคู่”
รศ.ดร.จรัส กล่าวถึงความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยว่า ประชาชนต้องมองว่าตนเองเป็นเจ้านาย ส่วนนักการเมืองเป็นผู้ที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่ เปรียบได้กับคนใช้ ของประชาชน ฉะนั้น เมื่อปล่อยให้สภาพเช่นนี้เป็นมายาวนาน ถึงเวลาที่ต้องผลักดันให้พรรคการเมืองเปลี่ยนนโยบาย เปลี่ยนจุดยืน และให้ความสำคัญกับนโยบายปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ กระจายอำนาจ การพึ่งตนเองของประชาชน รวมทั้งสร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมกับทุกคน ไม่ใช่ยิ่งอยู่ยิ่งจน
รศ.ดร.จรัส กล่าวถึงนักการเมืองในประเทศไทยว่า แบ่งออกเป็นนักการเมืองดี ร้อยละ 30 พอใช้ได้ร้อยละ 40 นักการเมืองพฤติกรรมแย่ร้อยละ 20 และเข้าขึ้นแย่มาก ถึงขนาดต้องร้องยี้ อีกร้อยละ 10 ดังนั้น ต้องทำให้ ส.ส. แย่ๆ ที่ทำให้สภาเสียเกียรติหลุดออกไป โดยภาคประชาชนจะต้องมีการเคลื่อนไหว ศึกษาข้อมูลก่อนเลือกตั้ง อีกทั้งจะต้องเป็น ‘กบฏ’ต่อหัวคะแนน เนื่องจากพบว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ใช้คะแนนจัดตั้งเป็นกลยุทธ์ในการเลือกตั้ง ส่วนนโยบายที่นำเสนอนั้นเป็นเพียงเรื่องหลอก
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรม “20 คมความคิด 20 ปฏิบัติการเปลี่ยนประเทศ” ระดมพลังทางสังคม พลังสาธารณะที่ตื่นรู้ เพื่อผลักดัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่สนองต่อปัญหาของประเทศชาติและประชาชน จะมีการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-30 มิถุนายน 2554 เวลา 18.00-20.00 น. ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ประเดิมเสาร์ที่11 มิถุนายนนี้ ในหัวข้อ “วิกฤตการเมืองและประเทศไทยฤาจะใกล้กลียุค จะก้าวข้ามอย่างไร” โดย ยุค ศรีอารยะ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง