มองประเทศไทยในแง่ดี (15) ส.ส. คือใคร? เราจะเลือก ส.ส.ที่ดีได้อย่างไร?
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ | 29 พฤษภาคม 2554 16:37 น. |
|
|
|
|
|
โดย พล.อ.สายหยุด เกิดผล
ประธานองค์กรกลาง และพีเน็ต, ประธานก่อตั้งองค์กรแอนเฟรล (ANFREL)
ส.ส.หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือใคร? ถ้ามีใครถาม หรือถ้าถามตัวเอง ก็จะต้องตอบว่า คือผู้ที่ราษฎร (ผู้มีสิทธิออกเสียง) ส่วนมากเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่แทนเขาในสภาผู้แทนราษฎร ตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นี้ แต่ละเขตเลือกตั้งจะเลือกผู้แทนได้ 1 คน เท่าเทียมกัน นับว่าให้ความเป็นธรรมแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งดีที่สุด เขตเลือกตั้งหนึ่งก็จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 200,000 เสียง หรือน้อยกว่านั้น ส.ส.ที่เลือกเข้าไปเพื่อทำหน้าที่แทนราษฎรที่เลือกเข้าไป มุ่งหมายที่จะให้ไปสะท้อนความต้องการของประชาชน สะท้อนความรู้สึกของประชาชน สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนในการบริหารบ้านเมือง ว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยอย่างไร นอกจากนั้นก็จะต้องเป็นผู้แทนของประชาชนในการควบคุม ตรวจสอบ ถอดถอน ผู้บริหารประเทศ ถ้าประพฤติตนไม่ดี ทุจริต คอร์รัปชัน ไม่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อความสุข สงบของประชาชน แต่ทำไปเพื่อญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ผู้มีบุญคุณ มากกว่าผลประโยชน์ของราษฎรที่เลือก ส.ส.ผู้นั้นเข้าไป
ดังนั้น ถ้า ส.ส.ผู้นั้นไม่ดี เช่น ไม่เข้าประชุมตามกำหนด ไม่เคยอภิปรายแสดงความคิดเห็นใดๆ เลย ในสภาฯ หรือพูดอภิปรายไม่มีเหตุไม่มีผล เป็นไปตามอารมณ์ และเพื่อความสะใจของตนเอง ด้วยความคะนองปาก อภิปรายด้วยความหยาบคาย ไม่มีกิริยามารยาทที่ดี ทั้งหมดนี้ก็ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความประพฤติของราษฎรที่เลือกผู้แทนนั้น เข้าไป คงเป็นคนเช่นนั้นด้วย ดังนั้น ราษฎรที่เลือก ส.ส.เช่นนั้นเข้าไป ควรจะละอายหรือสำนึกได้ว่า ตนได้เลือกคนผิดเข้าไป คราวต่อไปก็ควรจะต้องเลือกแก้ตัว เพราะเป็นเรื่องที่ผิดพลาดได้ อันเป็นความดีของระบอบประชาธิปไตย ที่กล่าวว่า ประชาชนเป็นผู้เลือก เป็นผู้ตัดสิน แต่ประชาชนก็อาจจะทำผิดพลาดได้ และประชาชนก็สามารถแก้ตัวได้ ไม่มีผู้ใดสามารถผูกขาดเหนือประชาชนได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงเห็นว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป เป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้ไปตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญ ผมจึงเห็นว่า ประชาชนไม่ควรจะละเลยโอกาสอันสำคัญนี้เสีย เพราะเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้แก้ตัวใหม่ ถ้าได้ตัดสินใจผิดพลาดมาแล้ว ถ้าประชาชนจะได้ใช้เวลาที่ล่วงเลยมาแล้ว ทำการศึกษาติดตามพฤติการณ์ผู้แทนของท่าน ว่าเขาได้มีความประพฤติปฏิบัติอย่างไร เป็นไปตามที่ท่านคาดหวังหรือไม่ บุคคลที่เสนอเข้ามาแข่งขันคราวต่อไปก็คงเป็นคนที่ท่านรู้จัก ถ้าท่านไม่รู้จัก ท่านก็ควรจะได้ศึกษาเขาซึ่งก็คงไม่ยาก เพื่อไม่ให้ท่านเลือกคนผิดซ้ำ ขณะนี้ทราบว่ามีศูนย์ข้อมูลอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านสามารถสอบถามได้ หรือมิฉะนั้น สื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ก็คงจะเปิดเผยข้อมูลของบุคคลเหล่านั้น ให้สาธารณชนได้ทราบ เพราะสังคมของเราดูจะเปิดเผยยิ่งขึ้น
ถ้าท่านไม่เบื่อ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่ท่านเรียกร้องได้มานี้เสียก่อน ตามคำกล่าวที่ว่า ระบอบประชาธิปไตย แม้จะไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด นอกจากนั้น ก็มีคำกล่าวต่อไปว่า ผู้ที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยลงนั้น ก็คือ ผู้ที่เคยเรียกร้องหาประชาธิปไตย แล้วพากันเบื่อ! นั่นเอง คำกล่าวเหล่านี้คงจะให้ข้อคิด และ เตือนสติ บางอย่างแก่ท่านได้บ้าง
จากประสบการณ์ของผมที่ได้เคยไปร่วมสังเกตการณ์ ตรวจสอบการเลือกตั้งของประเทศที่กำลังเริ่มต้นพัฒนาระบอบประชาธิปไตย จากที่เคยอยู่ในระบอบคอมมิวนิสต์ และระบอบเผด็จการ (ประชาธิปไตยรวมศูนย์) มาก่อน ในฐานะประธานแอลเฟรล ANFREL-Asian Net work for Free Election ซึ่งประเทศเหล่านั้นจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรสหประชาชาติ และประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วจากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ประเด็นสำคัญที่องค์กรสนับสนุนเหล่านั้น นอกจากความเป็นกลางของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต.ความเป็นกลางของรัฐบาลรักษาการแล้ว ก็จะให้ความสนใจอย่างยิ่งต่อ การให้การศึกษาแก่ผู้มีสิทธิออกเสียง - Voter Education เพราะจากประสบการณ์ที่ UN สะสมมานาน ทราบดีว่า หัวใจ ของการเลือกตั้งที่จะเป็นไปโดย สุจริต และยุติธรรม (Free & Fair) นั้น ไม่ใช่อยู่ที่กฎหมายและ การบังคับใช้กฎหมายแต่อย่างเดียว เพราะยากที่จะพิสูจน์และลงโทษผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะเขามีวิธียอกย้อน ซ่อนเงื่อนมากมาย สิ่งเดียวที่เขากลัวก็คือ การลงคะแนนเสียงของประชาชน การลงคะแนนเสียงของประชาชนที่ถูกต้อง ก็คือจากการให้การศึกษาแก่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง โดยเฉพาะก็คือ เสียงที่เป็นกลาง เสียงพลังเงียบ ซึ่งเป็น เสียงตัดสิน นั่นเอง เพราะเสียงที่เป็นฝ่ายที่เรียกว่า เสียงจัดตั้ง นั้น คงยากที่จะไปให้การศึกษาได้ เพราะเขาได้รับการศึกษาจากพรรคการเมืองที่เขาสนับสนุนจะด้วยอามิสสินจ้าง หรือด้วยความอุปถัมภ์ที่เคยได้รับ มีบุญคุณต่อกันมานานแล้ว
แล้วใครควรจะเป็นผู้ให้การศึกษา เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งถูกควบคุม รับใช้ พรรคการเมืองฝ่ายมีอำนาจอยู่ ประชาชนก็คงเชื่อว่าจะพูดได้ ก็เฉพาะตามคำชี้นำของพรรคการเมืองที่มีอำนาจนั้น พรรคการเมืองทั้งสองฝ่ายเขาก็ได้ให้การศึกษาแก่สมาชิก และผู้สนับสนุนเขาอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ กกต.ซึ่งต้องวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด และดูแล้ว กกต.ดูเหมือนจะทำหน้าที่ในฐานะเป็นองค์กรของรัฐมากขึ้น แทนที่จะทำตนเป็นองค์กรอิสระ ประชาชนก็ไม่เชื่อว่า ทาง กกต.จะพูดชี้แจงได้มากเพียงใด หากกระทบกับพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล ดังนั้น ทาง UN จึงสนับสนุนให้ประชาชนที่เป็นกลางทางการเมืองของประเทศนั้น รวมตัวกันขึ้นเป็นองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่ในเอเชียจะเป็นองค์กรสมาชิกของ ANFREL ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจาก ANFREL และองค์กรเอกชนจากอียู EU และอเมริกา เพื่อทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และเข้าร่วมในการสังเกตการณ์ตรวจสอบการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.เลือกตั้งของประเทศนั้นๆ โดย กกต.ให้ความสำคัญ และสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะลำพัง กกต.องค์กรเดียว ไม่สามารถทำให้การเลือกตั้งสุจริตและยุติธรรมได้ และ กกต.ถือว่าองค์กรเอกชนที่ว่านี้ได้อาสาสมัครมาทำงานช่วย กกต. มากกว่าที่จะเข้าใจผิดว่ามาคอยตรวจสอบ กกต.
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประเทศไทยเรา ได้มีองค์กรที่เป็นกลางชนิดนี้มาทำการตรวจสอบการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2535 ได้ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และเข้าร่วมสังเกตการณ์ตรวจสอบการเลือกตั้ง เป็นผลดีมาลำดับ ตามที่กล่าวไว้ในบทความที่แล้ว (มองประเทศไทยในแง่ดี 14) แต่ต่อมาไม่ได้รับการสนับสนุนจาก กกต. โดย กกต.ได้ใช้งบประมาณที่ทางสำนักงบประมาณจัดสรรให้ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้รัฐจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตามที่ผมทราบ และได้ทำหนังสือถึง กกต. เพื่อขอให้แก้ไขมาแล้ว ว่าการที่ กกต.ใช้งบประมาณนั้นจำนวนประมาณ 200 ล้านบาท ไปในการจ้างให้ประชาชนมาทำงานให้กับ กกต. มากกว่าที่จะส่งเสริมเอกชนที่เป็นกลางทางการเมือง เข้าทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประสบการณ์ของนานาชาติ และ UN อาจมีผู้สงสัยว่า จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า องค์กรกลาง หรือองค์กรเอกชนอื่นๆ นั้น จะเป็นกลางเพียงใด ทั้งนี้ ประชาชนคงจะทราบได้จากผลงานที่แล้วมาขององค์กรเหล่านั้น ทางหนึ่ง หรือถ้าเห็นว่ามีข้อสงสัยใดๆ ก็สามารถซักถามได้ เพราะเป็นเอกชนด้วยกัน แต่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว ประชาชนคงไม่กล้าซักถามถึงความเป็นกลาง
เมื่อพูดโดยรวมแล้ว ความเป็นกลางขององค์กรเอกชน ก็จะได้รับการตรวจสอบจากประชาชนด้วยกันนั่นเอง จะรู้ว่าเป็นกลางมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับความนิยมของประชาชนที่เป็นกลาง อย่างที่องค์กรกลางฯ ได้ทำหน้าที่นี้มาแล้ว อย่างน้อยก็เป็นการทำให้ประชาชนตื่นตัวเข้าร่วมในขบวนการเลือกตั้ง อันเป็นขบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตย และเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยที่สำคัญ ขอให้คิดดูว่า หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศมีมากกว่า 80,000 หน่วย ถ้ามีอาสาสมัครประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบสังเกตการณ์การเลือกตั้งหน่วยละ 2 คน ก็เป็นคนเข้าร่วมในขบวนการถึงเกือบ 200,000 คน มีผู้ทำงานในเครือข่ายอีกไม่น้อยกว่าหมื่นคน ที่สำคัญก็คือประชาชนสามารถได้ทำในสิ่งที่ตนคิดเอง เชื่อเอง ไม่ใช่ทำตามคำสั่งของใคร นี่คือ หัวใจ ของประชาธิปไตย ไม่ใช่หรือ?
ผมขอรับรองว่า ถ้าท่านได้ไปเห็นอาสาสมัครประชาชนที่มาร่วมทำกิจกรรมในการสัมมนา ในชนบท ทุกคนห่อข้าวมาทานกันเอง หรือทางองค์กรเอกชนจัดการสัมมนาตามสภาพความเป็นอยู่ของท้องถิ่น จะเสียงบประมาณน้อยมาก และทุกคนก็ยินดีเสียสละเพื่อส่วนรวม ในการจัดการหาเงินเพื่อเป็นกองทุนดำเนินการ ผมเชื่อว่า เมื่อเขาได้ทำในสิ่งที่เขาชอบ และยินดีเสียสละเข้าร่วมด้วยความเต็มใจ จะเป็นผลงานที่เขาประทับใจ และจะจดจำไปอีกนาน ไม่ใช่ทำเพื่อเงิน เพื่อเบี้ยเลี้ยง
เราเรียกร้องเรื่องประชาชนให้มีส่วนร่วม บทบัญญัติรัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้แล้ว งบประมาณก็จัดสรรให้แล้ว น่าที่จะใช้งบประมาณนั้นให้ถูก และให้ได้ผลตามเจตนารมณ์คงไม่ยาก และคงไม่เหลือความสามารถของท่านผู้รู้ ผู้มีอำนาจใน กกต.อย่างแน่นอน
เรื่องที่จะให้การศึกษาแก่ประชาชน ตามที่ผมเข้าใจซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ประชาชนกำลังสับสนอยู่ในขณะนี้ ประชาชนมีสิทธิซักถามผู้มาปราศรัยหาเสียงได้ ก็คือ
1. ประชาธิปไตย ที่ประชาชนบางกลุ่มกำลังเรียกร้องอยู่ในขณะนี้ คือ ประชาธิปไตยแบบไหน? มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือไม่, ประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วม มีฝ่ายค้านคอยถ่วงดุลหรือแบบรวมศูนย์ และจะได้ประชาธิปไตยเหล่านั้นมาได้อย่างไร? ถ้าไม่ผ่านการพัฒนา ผลักดัน ตามขบวนการประชาธิปไตย? ประชาธิปไตยไม่มีใครสร้างให้ได้ นอกจากประชาชนจะช่วยกันสร้างเอง ตามวัฒนธรรมของแต่ละชาติ ผมฟังดูแล้ว ดู จะเป็นหนังเรื่องเดิม ในสมัยต่อสู้กับการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์นั่นเอง เป็นเพียงเรื่องเรียกร้องบังหน้า โดยมีเจตนาที่แท้จริงซ่อนอยู่
2. ศัตรูของระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามเย็น และขณะนี้กำลังเกิดขึ้นในโลกประเทศอาหรับ ก็คือ เผด็จการ และคอร์รัปชัน เช่น เดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทย สมัยเมื่อมีการปกครองโดยระบบเผด็จการทหาร เพราะความจริงที่กำลังพิสูจน์อยู่ในโลกประเทศอาหรับก็คือ “เผด็จการจะอยู่ไม่ได้ ด้วยการพัฒนาประเทศแต่อย่างเดียว มุ่งหาเงินให้แก่ตนเองและพวกพ้อง โดยแบ่งให้ประชาชนบ้างเพียงเล็กน้อย” แม้ว่าผู้นำประเทศเหล่านั้น จะเป็นคนดี ได้รับความนิยมจากประชาชนมาแต่ต้น ในการต่อสู้กับอำนาจมหาประเทศอาณานิคม ประดุจเป็น “บิดา” ของประเทศเหล่านั้นมาแล้วก็ตาม แต่เขาไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ มุ่งที่จะรักษาอำนาจและคงอำนาจไว้ต่อไป ด้วยการสร้างระบบราชวงศ์ - Dynasty หมายถึง การถ่ายโอนอำนาจให้แก่ทายาท (ลูกหลานพี่น้อง) ขึ้นแทน ประชาชนรุ่นใหม่ไม่สามารถยอมรับได้ จึงเกิดเหตุการณ์รุนแรงอยู่ทั่วไป ตั้งแต่ตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย โอมาน เยเมน ซีเรีย อยู่ในปัจจุบัน ผมได้ไปเห็นประเทศเหล่านั้นมาแล้ว ไม่ใช่ผู้นำเหล่านั้นจะไม่พัฒนาประเทศ และลึกๆ กว่านั้นที่คนอื่นอย่างเราไม่ทราบ คงทราบแต่คนในประเทศนั้น ก็คือ คอร์รัปชัน (กินตามน้ำ) กับการสร้างราชวงศ์ขึ้นแทน
3. การปราบปรามยาเสพติด กับปัญหาคอร์รัปชัน เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันโดยใกล้ชิด ที่จะปราบปรามยาเสพติดให้สำเร็จ โดยไม่ปราบปรามคอร์รัปชันด้วยนั้นไม่มี ก็จะเห็นแล้วว่า บางประเทศ “ยิ่งปราบยาเสพติด ยิ่งเพิ่มคอร์รัปชัน” เพราะเงินที่พวกยาเสพติดได้มานั้น มากมายมหาศาล บางประเทศ จนสามารถมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ แล้วยาเสพติดจะหมดไปได้อย่างไร? ถ้ารัฐบาลใดจะปราบปรามยาเสพติด ด้วยการเพิ่มอำนาจให้กับเจ้าหน้าที่ ด้วยการลงโทษอย่างรุนแรงแต่ทางเดียว โดยไม่เพิ่มอำนาจ และลงโทษ การคอร์รัปชันอย่างรุนแรงด้วยนั้น คงไม่ใช่หนทางปราบยาเสพติด ด้วยความจริงใจแน่ แต่อาจใช้การปราบยาเสพติดเพื่อผลประโยชน์ทางอื่นควบคู่กันไปด้วย อย่างที่เป็นอยู่ในประเทศอื่น และดูเหมือนในประเทศไทยเราก็พอจะมองเห็นอยู่บ้าง
4. การแก้ปัญหาการก่อการร้ายในชายแดนภาคใต้ ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีหลักฐานว่ามีการสนับสนุนจากองค์กรก่อการร้ายนอกประเทศ แต่ถ้าไม่มีการก่อการร้ายในประเทศ เขาก็ไม่สามารถสนับสนุนใครได้ ดังนั้น น้ำหนักควรอยู่ที่เหตุภายในประเทศมากกว่า ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดการก่อการร้ายภายในประเทศ ก็คือ ความไม่เป็นธรรมในสังคม จึงมีส่วนเกี่ยวเนื่องการคอร์รัปชันด้วย เพราะตามชายแดนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องมาก ถ้าไม่ปราบคอร์รัปชันจริงจัง คงยากที่การก่อการร้ายจะหมดไปได้ ควรถามตัวเองว่าเหตุการณ์รุนแรงนี้ได้ยุติลงเป็นปกติสุขมาชั่วระยะหนึ่ง หลังจากที่สิ้นสุดการก่อการร้ายคอมมิวนิสต์แล้ว ทำไมจึงเริ่มเกิดขึ้นมาอีก!
ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ๆ 4 เรื่องนี้ ผู้รู้มีอยู่มาก ตัวอย่างบทเรียนก็มีอยู่มาก ทั้งนอกประเทศและในประเทศ ถ้า กกต.จะส่งเสริมให้องค์กรเอกชน เป็นผู้ให้การศึกษาแก่ประชาชน ผมเชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจดีขึ้น จะเลือกคนมาเป็นผู้แทนเขาได้ดีขึ้น หรือมิฉะนั้นก็ควรส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยช่วยสอนการ เมืองภาคพลเมือง (Non-Partisan) ให้ประชาชนได้เข้าใจและเห็นความสำคัญ จะได้ไม่เบื่อการเมืองประชาธิปไตย ที่เราเรียกร้องหามาได้เสียก่อน แต่เราจะต้องช่วยกันพัฒนาต่อไปให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อประชาชนให้จงได้ ขณะนี้ยังไปไม่ถึง
ผมเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยของเราได้พ้นจาก “อมาตยาธิปไตย” มาแล้ว แม้จะไม่พ้นมาเสียทีเดียว ยังมีสีเปื้อนอยู่บ้างก็ตาม แต่ยังติดอยู่ที่ “ธนาธิปไตย” ยังอยู่ในมือของพ่อค้า หรือผู้มีธุรกิจ โดยใช้อำนาจเงินเป็นใหญ่ ใครมีเงิน คนนั้นเสียงดัง ใครมีเงิน ก็นึกว่าจะซื้อ “อำนาจรัฐ” ได้
ผมเชื่อว่า “คนไทย” ทั้งประเทศ ไม่มีใครจะซื้อได้หรอกครับ จะซื้อได้ก็แต่บางคนเท่านั้น! ผมขอเตือนว่า แม้ว่าเงินจะซื้ออำนาจรัฐได้ แต่เงินก็สามารถทำลายอำนาจนั้นได้เช่นกัน
เมื่อท่านได้ทบทวนประเด็นสำคัญ 4 ประการ ที่ผมกล่าวมาโดยย่อ และได้ฟังข้อมูลจากผู้รู้ทั้งโดยทางตรง โดยสื่อ โดยคำพิพากษาของศาล โดยละเอียดแล้ว ผมเชื่อว่า ทุกคนคงคิดได้ว่า ตนควรจะเลือกใคร คนซื่อสัตย์จริงใจ หรือ คนซื่อสัตย์แกมโกง ดี ถ้ามีคนมาถามผม ผมก็จะตอบว่า ให้เลือกคนดี คนดีในที่นี้หมายถึง คนดีของท่าน ไม่ใช่คนดีของผม หรือคนดีของคนอื่น เมื่อเลือกแล้ว ท่านไม่จำเป็นต้องบอกใคร เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ให้เป็นความลับเฉพาะตัวท่าน แม้แต่ญาติพี่น้อง หรือผู้บังคับบัญชาก็ไม่ควรบอก และท่านเหล่านั้นก็ไม่ควรถาม แล้วท่านจะสบายใจ และอยากไปเลือกตั้ง จำหมายเลขที่ท่านเห็นว่าเป็นคนดี ท่านต้องการเลือก หรือเขียนลงในฝ่ามือไว้กันลืม รวมทั้งหน่วยเลือกตั้งและที่ตั้งของหน่วยเลือกตั้ง ลำดับที่หมายเลข ในบัญชีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ตามที่ทาง กกต.จะได้ส่งไปให้ท่านทราบล่วงหน้า
อย่าลืมนะครับ! ว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งในระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรทำเป็นเล่น ควรเป็นเรื่องจริงจัง คะแนนหนึ่งเสียงของท่านมีความหมายช่วยแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นความลับส่วนตัวของท่าน ถ้าทุกคนทำตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จะทำให้การเลือกตั้งมีความหมายยิ่งขึ้น จะทำให้ผู้สมัครทำตัวดีขึ้น เพราะไม่รู้ว่าตนได้รับเลือกตั้ง หรือไม่ได้รับเลือกตั้งเพราะใคร!
|
|
|
|
|
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น