เปิดถุงเงินเลือกตั้ง 4 พรรคการเมือง เสี่ยเจริญ ล่ำซำ โสภณพนิช ตระกูลดังพรึ่บเลือกปชป. ซี.พี.จ่าย 2 พรรค นักธุรกิจใกล้ชิด “คุณหญิงอ้อ”ท่อน้ำเลี้ยงเพื่อไทย พรรคเนวิน“โนเนม”อื้อ ชาติไทยฯรับสดๆบ.เจียรวนนท์ 11 ล้าน
ศึกเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้เป็นการเดิมพันเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทยระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับ 1 และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อหมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย โดยมีบุคคลอื่นเป็นตัวสอดแทรก
ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (Thailand Information Center For Civil Rights And Investigative Journalism- TCIJ) เจาะข้อมูลกลุ่มทุนสนับสนุนแต่ละพรรคมานำเสนอดังนี้
พรรคประชาธิปัตย์นับตั้งแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้เปิดเผยเงินบริจาคในปลายปี 2543 จนถึงเดือนเมษายน 2554 ผู้บริจาคมากสุดคือ บริษัทในเครือ ซี.พี.ของตระกูลเจียรวนนท์ จำนวน 65.9 ล้านบาท
รองลงมา นายประกอบ จิรกิติ ผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเครือญาติ ผู้บริหารกลุ่มยูคอม ประกอบด้วย นายประทีป จิรกิติ ประเสริฐ จิรกิติ นางสิริกานต์ ทองไท และ นางสาวสมรศรี จิรกิติ รวมทั้งสิ้น 58.9 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ บริษัทในเครือข่าย นายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อน้ำเมา จำนวน 53.7 ล้านบาท
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค นายแทน เทือกสุบรรณ บุตรชาย และ บริษัท ศรีสุบรรณฟาร์ม จำกัด ของนายแทนและน้องสาว รวม 35.6 ล้านบาท (นายแทนบริจาคมากสุด 4 ครั้ง รวม 14.5 ล้านบาท)
นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ และบริษัทในเครือเมืองไทยประกันชีวิต 34 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการบริจาคครั้งใหญ่สุดวันที่ 18 ก.ย.2549 โดยนายโพธิพงษ์ 10 ล้านบาท
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ เจ้าของโรงงานน้ำตาลมิตรผล บริษัท แฟซิฟิก ซูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด 30 ล้านบาท
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ,นายชาตรี โสภณพนิช นายชาญ โสภณพนิช คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช และธนาคารกรุงเทพ 15.9 ล้านบาท
ระดับยอดรวมต่ำกว่า 10 ล้าน นายกรณ์ จาติกวาณิช และเครือญาติ 6.7 ล้านบาท
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ เจ้าของยักษ์รับเหมา “ช.การช่าง” และบริษัทในเครือ อาทิ บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป บริษัท โรจนะสวนเกษตรและรีสอร์ท จำกัด บริษัท คอนสตรัคชั่น แมททีเรียลซัพพลาย บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) รวม 6.5 ล้านบาท
บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัดของนายสงวน-นางสมจิตร ชื่นพาณิชยกุล 5.1 ล้านบาท ,บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง 3.5 ล้านบาท ,บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ รวม 2.7 ล้านบาท เป็นต้น
รวมวงเงินเฉพาะ 7 อันดับแรก 294 ล้านบาท
ผู้บริจาคพรรครายใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ (ตั้งแต่ ต.ค. 2543-เม.ย.2554)
รายชื่อ | จำนวนเงิน (บาท) |
เครือซี.พี.และตระกูลเจียรวนนท์ | 65.9 ล้าน |
นายประกอบ จิรกิติ และเครือญาติ | 58.9 ล้าน |
เครือนายเจริญ สิริวัฒนภักดี | 53.7 ล้าน |
นายสุเทพ-นายแทน เทือกสุบรรณ และ บ.ศรีสุบรรณฟาร์ม | 35.6 ล้าน |
นายโพธิพงษ์ ล่ำซำ และบริษัทในเครือ | 34 ล้าน |
กลุ่มนายอิสระ ว่องกุศลกิจ และน้ำตาลมิตรผล | 30 ล้าน |
ตระกูลโสภณพนิชและธนาคารกรุงเทพ | 15.9 ล้าน |
นายกรณ์ จาติกวาณิช และเครือญาติ | 6.7 ล้าน |
กลุ่ม ช.การช่าง | 6.5 ล้าน |
ที่มา: สำนักงาน กกต. ,ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนฯ (TCIJ) รวบรวม
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ในช่วงปี 2552- 2553 ผู้บริจาคหลักยังเป็นคนใกล้ชิด คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มากสุด นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จำนวน 12 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2552 เดือนมิถุนายน จำนวน 5 ล้าน บาท เดือนตุลาคม 2 ล้าน บาท และ ปี 2553 เดือนเมษายน 2 ล้าน บาท เดือนธันวาคม จำนวน 3 ล้าน บาท
รองลงมา
- นางสาวจุฑารัตน์ เมนะเสวต จำนวน 7 ล้านบาท แบ่งเดือนพฤษภาคม 2552 จำนวน 2 ล้าน บาท เดือนธันวาคม 2552 จำนวน 5 ล้านบาท
- นางสาวพนิดา ปัญจาบุตร 6 ล้านบาท แบ่งเป็น เดือนพฤษภาคม จำนวน 4 ล้าน บาท เดือนพฤศจิกายน 2552 จำนวน 2 ล้าน บาท
- บริษัท ซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด จำนวน 5 ล้านบาท (เดือนสิงหาคม 2552)
- นายองอาจ เอื้ออภิญญากุล จำนวน 4 ล้าน บาท แบ่งเป็น เดือกมกราคม 2552 จำนวน 2 ล้าน บาท เดือนกรกฎาคม 2553 จำนวน 2 ล้านบาท
- บริษัท เฉลิมโลก จำกัด (ของกลุ่มนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์) จำนวน 3 ล้าน บาท
- นางสาวสุกัญญา ประจวบเหมาะ จำนวน 2 ล้านบาท
- นางสาวธิติมา เลขะวณิช 2 ล้าน บาท
- นางสาวพิสมัย จิตรวิมล 2 ล้าน บาท
ทั้งนี้นายพิชัย นางสาวจุฑารัตน์ นางสาวพนิดา ล้วนเป็นคนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร (ชินวัตร-ดามาพงศ์)
พรรคภูมิใจไทย ผู้สนับสนุนทางการเงินหลักยังเป็นเครือข่ายของ นายอนุทิน ชาญวีรกุล และนายเนวิน ชิดชอบ
ทั้งนี้ข้อมูลจาก กกต. ระบุว่า ในปี 2552 (เฉพาะ 5 เดือนหลัง) -2553 พรรคภูมิใจไทยได้รับเงินบริจาครวม 54,780,000 บาท มากสุด นายพรชัย สุนิศทรามาศ จำนวน 4 ล้านบาท (ก.ย. 2552 จำนวน 2 ล้าน , เดือนสิงหาคม 2553 จำนวน 2 ล้าน) บริษัท เชียงใหม่ คอนสตรัคชั่น จำกัด ของนายคะแนนบุญสุภา พ่อตานายเนวิน 3 ล้านบาท
รายละ 2 ล้านบาท 17 คน ได้แก่ นางสนองนุช ชาญวีรกูล ภรรยา นายอนุทิน ชาญวีรกูล ,นายพิสิษฐ์ อำไพพิพัฒนกุล , นายสุธี มีบุญมี , นายบุญสุข สุริยนนท์ ,นายมีน ธเนศวาณิชย์ , นางสาวศิริพร โกศลสมบัติ , นายพีระศักดิ์ ศรีรุ่งสุขจินดา , นายจำเริญ ศรีสมบัติไพบูลย์, นายวิสุทธิ์ ขันศิริ ,นายยิ่งศักดิ์ พงษ์ช้าง , นางสาวบรรณสี ธเนศวาณิชย์ , นายสิทธิชัย สุรัชตชัยพงศ์ ,นางสาววัฒนา เอี่ยมอร่ามศรี , นายวสันต์ กระจ่างเมธีกุล ,นางสุขศรี ปึกขาว ,นายชาญชัย สุรัชตชัยพงศ์ ,นายวิวรรธน์ สรรพกิจทิพากร
น่าสังเกตว่าผู้บริจาคเกือบทั้งหมดไม่เป็นที่รู้จักทางการเมือง และไม่อยู่ในผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ
พรรคชาติไทยพัฒนา ผู้สนับสนุนเงินหลักคือนายบรรหาร ศิลปะอาชา และ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตเลขาธิการพรรครวมใจชาติพัฒนาซึ่งย้ายเข้ามาอยู่กับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์
ในปี 2552-2553 นายบรรหารบริจาคเงินให้พรรคทั้งสิ้น 6.9 ล้านบาท นายสณชัย เล็กสมบูรณ์ และ ห้างหุ้นส่วนจำกัดศรีสมบูรณ์สุวัฒนะ รายละ 1 ล้านบาท ส่วนนายประดิษฐ์ ขณะเป็นพรรครวมใจชาติพัฒนาได้รับเงินบริจาคจากเครือญาติเกือบ 8 ล้านบาท
ล่าสุดในการระดุมทุนเมื่อเดือนเมษายน 2554 บริษัทเครือซี.พี.บริจาคถึง 11 ล้านบาท (บมจ.กรุงเทพโปรดิ๊วส์ 3 ล้านบาท บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อีสาน 2 ล้านบาท บริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด 2 ล้านบาท บริษัท บี พี ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด 2 ล้านบาท และ บริษัท ราชบุรีอาหาร 2 ล้านบาท) ,หจก.ประสิทธิ์ 1 ล้านบาท ,บริษัท ปิ่นรังษี จำกัด 5 แสนบาท ,บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง ของกลุ่มนายสันติ ภิรมย์ภักดี 5 แสนบาท และนางศรวิษฐา นิสิตสุขเจริญ 5 แสนบาท
กล่าวสำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีสมบูรณ์สุวัฒนะ รับเหมาก่อสร้าง เครือญาตินายสณชัย เล็กสมบูรณ์ ตั้งอยู่ใน ต.สนามชัย อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี
จากการตรวจสอบพบว่า ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ผู้รับเหมารายนี้ได้งานก่อสร้างในหน่วยงานรัฐทั้งหมด 9 แห่ง รวม 26 สัญญา 163.7 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงคมนาคม อาทิ
- รับเหมาปรับปรุงภูมิทัศน์ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัด สุพรรณบุรี โดยศูนย์การท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการ จังหวัดสุพรรณบุรี กรมพลศึกษา เป็นผู้ว่าจ้าง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2552 วงเงิน 40 ล้านบาท
- ปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์ชาวนาไทย โดยศูนย์การท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้ว่าจ้าง เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 วงเงิน 1.9 ล้านบาท
- ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แม่น้ำท่าจีน ต.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เป็นผู้ว่าจ้าง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2533 วงเงิน 13.3 ล้านบาท
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น