โดย Peaw Krittaporn
”..ไดโนเสาร์มันก็คือสัตว์เดรัจฉานยุคดึกดำบรรพ์..มันก็คงไม่เคยรู้จักเรียนรู้บทเรียนความเสียหายที่เกิดขึ้นในอดีต..”
อันที่จริงไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ก็มีนโยบายที่เป็นรอยด่างต่อการตัดสินใจของตัวเองทุกรัฐบาล มันก็ขึ้นอยู่กับว่าจะจดจำมาเป็นบทเรียน มีสำนึกละอายถึงข้อผิดพลาดกันหรือไม่ หรือหากมีโอกาสจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า…นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำใจยอมรับที่จะไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บขุดเอามาด่ากันจนบ้านเมืองเดินไปข้างหน้าไม่ได้ ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่า ไม่รู้สึกต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพียงแต่นี่ก็ถือว่าเป็นการ “ยอมจำนน” กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น
สมัยรัฐบาลสมัคร ก็เอาแก่งเสือเต้นมาเต้นแย๊บๆ โครงการฟัน..เอ๊ย..ผันโขงชีมูนแสนล้านเกือบจะฟื้นคืนชีพ แต่พับไปด้วยบุญของบ้านเมือง..โดยส่วนตัว..คิดว่าต่อให้ไม่มีพันธมิตรก็ใช่ว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพ เพราะก็ต้องมีมวลชนในรูปแบบของการต่อต้านเมกะโปรเจ็คที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างอยู่ดี ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า ประชาชนไม่เคยทอดทิ้งรัฐบาล..ถึงแม้เราจะมอบอำนาจให้ท่านไปทำงานบริหารบ้านเมืองแทนเรา แต่เรื่องใหญ่ๆ ใช้เงินภาษีและสร้างหนี้ให้เรามากมายขนาดนี้ ขอให้เราตัดสินใจด้วยบ้างเถอะ อย่าคิดกันเอง ตัดสินใจกันเองแค่ไม่กี่ร้อยคนเลย ข้อสำคัญ ในเมื่อคุณไม่ได้ฉลาดปราดเปรื่องมากมายอะไร พวกคุณไม่กี่ร้อยคนก็ควรฟังคนจำนวนหมื่นแสนที่ได้รับความเดือดร้อนบ้าง
สำหรับตอนข้าพเจ้าไปฟังตัวแทนพรรคมาแถลงนโยบายก่อนเลือกตั้งหาที่มติชนจัด ..เห็นท่านปลอดประสพงับหัว NGOs ว่า”..บ้านเรามันมีพวกนี้ที่ทำให้เมืองไทยล้าหลังกลับไปขี่ควาย จะทำอะไรก็มีแต่ NGOs มาขัดขวาง ไม่รู้ประเทศนี้จะปกครองด้วยรัฐบาลประชาธิปไตยหรือ NGOs..” ฟังแล้วทำให้งงกับตรรกกระโดดๆเรื่องประชาธิปไตยและ NGOs ของท่านเสียจริงๆ แต่มานึกดูอีกทีก็พอจะเข้าใจเพราะท่านเรียนประมงมาคงจะดำน้ำให้อาหารสัตว์จนเคยกระมัง อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่วันมานี้ เห็นท่านลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนแล้วก็ให้งงไปอีกเพราะ ท่านกำลัง “หว่านล้อม” ให้ชุมชนชาวบ้านเห็นด้วยกับนโยบายของท่าน แทนที่ท่านควรจะ”ทำความเข้าใจ” ในข้อดี-ข้อเสีย ของนโยบายของรัฐ ซึ่งไอ้ที่ท่านทำน่ะเป็นวิธีการเดียวเหมือนกับนักการเมืองที่”หาเสียง” ให้ตัวและพรรคของตนเอง
โดยการนี้ กระบวนการตัดสินใจในนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาตินั้นถือว่ารัฐเป็นเป็นผู้ได้เปรียบอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การก่อตัวของนโยบายหรือโปรเจ็ค (Policy Formulation) พูดแบบบ้านๆ ก็คือใครเป็นต้นคิดด้วยเหตุผลอะไร เพื่อประโยชน์ใคร? ตัวอย่างเช่น เขื่อนต่างๆ โรงไฟฟ้า โรงถ่านหิน ฯลฯ ไม่เห็นมีชาวบ้านไปประท้วงขอให้รัฐบาลสร้างเลย แต่มันมาจากนักการเมืองล้วนๆ ก็ต้องหากันไปว่าเพราะอะไร และคงไม่ต้องบอกว่าทำไมรัฐถึงได้เปรียบ และนี่ยังไม่รวมถึง กระบวนการสร้างภาพให้เป็นประชาธิปไตยอย่าง ประชาพิจารณ์ ที่จัดแล้วเหมือนมาจาก ดาราวิดิโอ หรือแม้แต่ EIA ที่มีหน้าม้ารับจัดแบบวางคำตอบไว้ก่อนแต่ทำย้อนกลับไปหาคำถาม
หากมีโอกาสข้าพเจ้าแนะนำว่า ลองไปอ่านงานของ คณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams:WCD) ที่โต้กับการไฟฟ้าผลิตฯ เรื่องเขื่อนปากมูนแล้วล่ะก็ จะเห็นภาพเขื่อนแม่วงก์ที่กำลังมาแบบลางๆ ส่วนที่ชัดขึ้นคือตัวแทนรัฐไม่เคยจำ(เพราะไม่เคยเจ็บ) ตัวแทนรัฐทุกฝ่ายทุกระดับไม่ได้เรียนรู้กับบทเรียนของความขัดแย้งและความเสียหายที่เกิดขึ้น หากแต่ได้เรียนรู้ในการเอาชนะชุมชนที่ต่อต้าน ชาวบ้านที่คิดไปถึงผลกระทบต่อลูกหลาน ตัวแทนรัฐเข้ามาคลุกคลีและกำลังจะใช้มายาของความเห็นอกเห็นใจที่ยังไงชาวบ้าน ชุมชนที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบในท้ายที่สุด
สรุป..ข้าพเจ้าก็ไม่ใช่ NGOs ก็ไม่ใช่ชาวบ้าน และแน่นอนที่สุดไม่ใช่นักการเมือง แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลเหมือนคิดอะไรไม่ออก นอกจากอะไรๆ ก็สร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า ท่อก๊าซ นิวเคลียร์…จะว่าเพื่อแก้ปัญหาก็มีการศึกษาการแก้ปัญหาเชิงเทคนิค เช่น สร้างเขื่อนเพื่อแก้ไขน้ำท่วมหรือไม่?, การสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อสนองความต้องการที่มากขึ้นจริงหรือเปล่า? ฯลฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับผลเสียที่เกิดขึ้นก็ย่อมมีคำตอบเพียงพอต่อการตัดสินใจดำเนินการหรือไม่ดำเนินการโครงการนั้นๆ แต่การที่รัฐยืนยันจะดำเนินการอย่างแน่วแน่นั้นก็มีข้อสมมติฐานที่หาคำตอบได้(โดยไม่ต้องใช้ EIA) ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ฝายเล็กๆเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมมันคงทำเป็นโครงการแสนล้านขอเงินกู้ไม่ได้เท่าสร้างเขื่อน ส่วนโรงพลังงานอะไรๆ ต่างๆ นั้น ชาวบ้านก็บอกไม่อยากได้ๆ แต่ก็รัฐก็ยังจะดันทุรังจัดให้..นั่นก็ลองคิดกันเอาเองนะคะ ว่าทำไม?
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น