บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

เปิดผลศึกษากรรมาธิการปรองดอง



หมายเหตุ - สาระสำคัญของร่างรายงานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากสถาบันพระปกเกล้านำเสนอรายงานการวิจัยแนวทางการสร้างความปรองดองมายังกมธ.ก่อนหน้านี้

-------------

1.ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ

1.1 คณะกรรมาธิการเห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมือง เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการเมือง การปกครอง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย

ซึ่งทุกด้านมีความอ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพและไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม จนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549

ทำให้เกิดข้อวิจารณ์เกี่ยวกับความสอดคล้องกับหลักนิติธรรมของกลไกต่างๆของรัฐกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายหลังการยึดอำนาจดังกล่าว

เป็นเหตุให้ปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่แล้วมีความซับซ้อนและเพิ่มปัญหามากขึ้น

1.2เห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)ว่าเหตุการณ์แห่งความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรงเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 มิได้เกิดจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ

แต่เป็นผลของการกระทำและเหตุการณ์หลายๆครั้งต่อเนื่องกันที่เป็นปัญหาความขัดแย้งจนนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553

1.3เห็นว่าเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้แตกต่างจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต ครั้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับประชาชนที่แสดงออกโดยการแบ่งออกเป็นกลุ่มเป็นสี

จึงต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหาควบคู่ไปกับการสร้างกระบวนการปรองดองสมานฉันท์เพื่อขจัดความทุกข์ความไม่สบายใจของคนในชาติโดยร่วมกันแสวงหาทางออกให้กับประเทศ
กรรมาธิการยังพบว่าการสร้างกระบวนการปรองดองในประเทศไทยแตกต่างกับต่างประเทศที่เหตุการณ์ความรุนแรงได้ยุติลงแล้วจึงเกิดกระบวนการปรองดอง

แต่ในกรณีของประเทศไทยเป็นการสร้างความปรองดองในขณะที่คู่กรณีและสาเหตุแห่งความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ซึ่งอาจเกิดการเผชิญหน้าที่นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงได้อีกตลอดเวลา

การสร้างความปรองดองของสังคมไทยจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายนำพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งในครั้งนี้ไปให้ได้

1.4พบว่าประเด็นที่อ่อนไหวอันอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าของผู้คนในสังคมและนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงได้ในที่สุดขณะนี้ประกอบด้วย

(1)ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวข้องกับการแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา (2) ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ (3) ประเด็นการปรองดองโดยเฉพาะการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง

จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องระมัดระวังในการนำเสนอประเด็นดังกล่าวป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้อีก
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับก
ารไต่สวนหาสาเหตุการเสียชีวิตและการเยียวยาประชาชนในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553และการเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากรัฐบาลยังไม่สามารถทำความเข้าใจหรือสร้างกระบวนการให้เป็นที่ยอมรับจากสังคมได้ จะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งใหม่ของสังคมในที่สุด

1.5 ผลความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยขณะนี้ สร้างความเสียหายเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความมั่นคง ในระดับอันตรายสูงสุด ทำให้ประเทศขาดความมั่นคงและสูญเสียอำนาจการแข่งขัน ประกอบกับที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง

ปัจจัยสำคัญดังกล่าวถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศไทยต้องมีการความปรองดองหันหน้าเข้าหากันแปลงวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสเพื่อฟื้นความสงบสุขและความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศกลับมา

ประการสำคัญความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้มาจากความแตกต่างทางความคิดซึ่งล้วนแต่มีเจตนาดีต่อชาติบ้านเมืองด้วยกันทั้งสิ้นจึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติโดยเร็วที่สุด

1.6เห็นด้วยกับผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าสังคมไทยจำเป็นต้องดำเนินมาตรการสร้างความปรองดองระยะสั้นเพื่อให้การใช้ความรุนแรงยุติลง ทำให้ความขัดแย้งบาดหมางและบาดแผลที่เกิดขึ้นกับสังคมและปัจเจกบุคคลกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

ด้วยการให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่ายเจ้าหน้าของรัฐ และผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย

2.ข้อเสนอแนะ

2.1 ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าตระหนักว่า ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยขณะนี้ถูกสั่งสมจนทำให้เกิดความแตกแยกที่ร้าวลึกเกินกว่าหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะแก้ไขโดยลำพังได้ขณะที่รากเหง้าอันเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไข

สภาพความขัดแย้งและคู่กรณีแห่งความขัดแย้งรวมถึงเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าของผู้คนในสังคมยังคงมีอยู่ตลอดเวลาทุกฝ่ายในสังคมต่างต้องการให้ประเทศชาติก้าวข้ามความขัดแย้งครั้งนี้ไปสู่การปรองดองด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งทุกฝ่ายไม่ว่ารัฐบาลพรรคการเมือง กลุ่มบุคคลและองค์กรต่างๆ ต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง สภาพสังคมไทยขณะนี้เปราะบางเป็นพิเศษ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันบริหารความขัดแย้งให้อยู่ในกรอบสันติวิธี

การนำเอาหลักความยุติธรรมทางอาญา(CriminalJustice)ที่มีมาตรการในเชิงลงโทษเพียงอย่างเดียวมาใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในทางการเมือง ไม่สอดคล้องต่อปรัชญาการลงโทษ ไม่ก่อให้เกิดความยุติธรรม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้

การให้ความยุติธรรม(Justice) ในทางกฎหมายกับทุกฝ่ายอย่างเหมาะสม นำเอาหลักวิชาการเกี่ยวกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน(Transitional Justice) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์(Restorative Justice) มาศึกษาและปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย

โดยใช้หลักเมตตาธรรมด้วยการให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายตามวิถีทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.2รัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐจะต้องใช้อำนาจบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด

กรรมาธิการยังเห็นว่าการชดเชยเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองแม้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างความปรองดองก็ตาม

แต่รัฐบาลต้องกระทำไปด้วยความรอบคอบเพื่อให้สังคมเกิดการยอมรับว่าได้ดำเนินการไปด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติเพื่อให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริง

ขณะนี้สังคมเริ่มมีความคลางแคลงในมาตรการเยียวยาของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่10 ม.ค.2555 รัฐบาลต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับสังคมให้เกิดการยอมรับ

พึงระลึกว่าต้องไม่เป็นผู้สร้างความขัดแย้งเสียเองและตระหนักว่ายังมีประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องการการชดเชยอย่างเหมาะสม

2.3 แม้ผลศึกษาของคณะกรรมาธิการจะพบว่า เหตุการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรงจนเกิดความสูญเสียอย่างประมาณค่ามิได้ มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองและเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง

แต่ขณะที่สังคมไทยมีความเปราะบางตั้งอยู่บนความหวาดระแวงกรรมาธิการจึงเห็นว่าฝ่ายที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญควรกำหนดประเด็นที่จะแก้ไขและนำเสนอต่อสังคม เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าเป็นการกระทำเพื่อประเทศชาติ

มิได้กระทำไปโดยเจตนาอื่นแอบแฝงหรือกระทำไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดหากแต่เป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์สาธารณะ

การเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการขอแก้ไขมาตรา291โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ไปดำเนินการแก้ไข แต่ประเด็นใดที่ควรแก้ไข แม้จะถือเป็นดุลพินิจของสภาร่างรัฐธรรมนูญ

แต่ทุกพรรคการเมืองที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถนำเสนอประเด็นต่อสังคมได้ว่าต้องการให้แก้ไขประเด็นใดบ้างมีสาระสำคัญอย่างไร

ดังนั้น หากการแก้ไขของสภาร่างรัฐธรรมนูญมิได้เป็นไปตามกรอบ หรือขัดแย้งกับหลักการที่พรรคการเมืองได้นำเสนอต่อสังคมไว้แล้ว ก็ชอบที่พรรคการเมืองนั้นจะไม่ลงมติรับเป็นกฎหมาย

ด้วยวิธีดังกล่าวนี้จะทำให้สังคมมีความไว้วางใจและจะนำไปสู่การถกเถียงในทางวิชาการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและสามารถยุติความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวได้ในที่สุด

2.4เห็นว่าสังคมไทยจำเป็นต้องสร้างกระบวนการปรองดองควบคู่ไปกับการยุติเหตุการณ์ความขัดแย้งทั้งหลายที่อาจเป็นต้นเหตุนำไปสู่การเผชิญหน้าของผู้คนในสังคมและนำไปสู่ความรุนแรงได้ในที่สุด

การยุติความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองของคนในชาติจึงถือเป็นปัญหาความมั่นคงและเป็นที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนเนื่องจากเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการบริหารราชการแผ่นดิน การแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ การรักษาความมั่นคงของรัฐและการพัฒนาประเทศไม่อาจดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางความขัดแย้งและความแตกแยกเช่นนี้

จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักว่าหน้าที่ในการสร้างความปรองดองไม่ได้เป็นเพียงหน้าที่ของฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติเท่านั้นหากแต่เป็นของทุกฝ่ายในสังคม

ประการสำคัญกระบวนการปรองดองจะต้องดำเนินการโดยผู้ที่ไม่ใช่คู่กรณีแห่งความขัดแย้งและมีความเป็นกลางเพียงพอคณะกรรมาธิการจึงเห็นด้วยกับแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติที่เสนอโดยสถาบันพระปกเกล้า

2.5แม้การยุติความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติจะถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดแต่โดยที่คณะกรรมาธิการมีอำนาจหน้าที่เพียงนำเสนอรายงานผลการศึกษาต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นทางออกหนึ่งให้กับสังคมไทยเท่านั้น

กรรมาธิการจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่อาจนำเอาความคิดเห็นของคณะกรรมาธิการและสถาบันพระปกเกล้าในประเด็นที่จะทำให้การใช้ความรุนแรงยุติลงด้วยการให้อภัยโดยการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง

และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ด้วยการคืนความถูกต้องและความชอบธรรมบนพื้นฐานของหลักนิติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

เนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งและเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้ารวมถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของผู้คนในสังคมยังดำรงอยู่จึงจำเป็นต้องยุติเงื่อนไขดังกล่าวโดยเร่งด่วน

ประการสำคัญการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องมีส่วนร่วมในการแสวงหาทางออกให้กับประเทศชาติด้วยกันทั้งสิ้น

เขียนโดย Kunginter inter

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง