วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่า ไปให้ไว ไปให้ถึง ไปให้เร็ว”
ดิสธร วัชโรทัย
“ประเทศไทยโชคดีมาก เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านไม่เคยเอาเปรียบประชาชน พระองค์ท่านมีแต่เป็นผู้ให้ ให้ความอนุเคราะห์ ให้ความช่วยเหลือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนรู้สึกท้อแท้ ก็ให้นึกถึงพระองค์ท่าน”
นี่ก็คือ หน้าที่ของพวกเรา หน้าที่ของบุรุษไปรษณีย์ที่มีเจ้านายพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู้หัว”
“มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็เปรียบเสมือนไปรษณีย์ เรามีหน้าที่นำพาความห่วงใยและความปรารถนาดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปสู่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน”
ดิสธร วัชโรทัย หรือคุณใหม่ รองเลขาธิการพระราชวัง และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกเล่าเรื่องราว “ไปรษณีย์” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านบุรุษไปรษณีย์ ผู้นำความปรารถนาดีของพระองค์สู่ประชาราษฎร์
“ผมภูมิใจที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ในการมอบหมายให้ไปปฎิบัติภารกิจหลายๆอย่าง ให้ความช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อน ผมว่าเป็นความภูมิใจที่สุดนะ ถ้าเราได้ไปช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนที่สุดในชีวิต ให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
จึงมิใช่เรื่องแปลกหากจะปรากฎภาพบุรุษไปรษณีย์ วัย 48 ปี กับอาสาสมัครมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในชุดซาฟารีสีฟ้า ด้านซ้ายหน้าอกปักอักษรคำว่า “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” ลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน ในยามเกิดภัยธรรมชาติ พร้อมถุงยังชีพพระราชทานจากเหนือจรดใต้ ตลอดระยะเวลา 22 ปี
ปฎิบัติการรวดเร็วยิ่งกว่าไปรษณีย์โทรเลข
ผมยึดมั่นในพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเรื่องการให้ความช่วยเหลืออย่างฉับไว คำว่า “ฉับไว” หมายความว่าองค์กรซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเจ้าของหรือเป็นองค์อุปถัมภ์ ดังเช่น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะดำเนินการอย่างไรที่จะให้ความช่วยเหลือราษฎรให้ได้เร็วที่สุด
คำว่า “ฉับไว รวดเร็ว” เปรียบเสมือนคนกำลังจะจมน้ำ เขาก็ต้องไขว่คว้าหาอะไรยึดเหนี่ยว อะไรที่เกาะได้ เพื่อเอาชีวิตรอด เราก็เปรียบเสมือนพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ยื่นเข้าไปช่วยราษฎรได้คว้าพระหัตถ์ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นอันดับแรก
“พระหัตถ์ของพระเจ้าแผ่นดิน” ในที่นี้ คือมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ดึงคนขึ้นจากน้ำ ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์และพระหัตถ์เดียวกันนี้ก็จะส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเยียวยา เพราะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ไม่สามารถทำงานทุกอย่างเพียงลำพังได้ ความหมายคือรัฐบาลต้องเป็นเสาหลักในการที่จะเข้ามาช่วยเหลือ
คุณใหม่ หมายความว่า
คือมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เพียงแต่ดึงเขาขึ้นมา แล้วหน้าที่ต่อไปคือ ต้องไปตามหมอ ไปตามผู้ที่เกี่ยวข้องมาช่วยเหลือเขา เพราะเราคงไม่สามารถทำทุกอย่างเพียงลำพัง เราไปถึงที่เกิดเหตุก่อนเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เขา คำว่า “เบื้องต้น” คือ น้ำท่วม ไม่มีอาหารกินก็ส่งเครื่องบริโภคไปให้เขา ไฟใหม้บ้านพัง ก็ส่งเครื่องอุปโภคไปให้เขา เราทำหน้าที่อุ้มชูเขาขึ้นมาแล้วส่งต่อผ่านให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนให้การช่วยเหลือต่อไป
เพราะมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ มิได้มีเพียง “พระราชา” แต่โดยความหมายคือ พระราชา และประชาชน อนุเคราะห์ ซึ่งกันและกัน อันเป็นการแสดงนำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า เวลาทำงานควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย
คุณใหม่ ประเมินภาวะน้ำท่วมในปีนี้อย่างไร
ผมว่า พอๆปี พ.ศ. 2548- 2549 แต่ยังตอบไม่ได้ว่าหนักที่สุดหรือเปล่า เพราะมันยังเพิ่งเริ่มต้นฤดูกาล แต่มันเริ่มต้นเร็ว เกิดพายุนำร่องมรสุมพัดผ่านประเทศไทย จำนวนมากตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 จนถึงปัจจุบัน 9 เดือนกว่าๆ มูลนิธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทั้งหมด 29 จังหวัด เหนือจรดใต้ คำว่า “เหนือจรดใต้” หมายความว่า ตั้งแต่เหนือสุด จนถึงใต้สุด ต้องบอกว่าปีนี้ค่อนข้างหนักมากคือฝนตกมาตั้งแต่พายุนกเต็น ปัจจุบันน้ำอิ่มตัว พอน้ำอิ่มตัวข้างบนพอลงมาก็จะมาร่วมกันที่นครสวรรค์ จากนครสวรรค์ก็จะไล่ลงมาเรื่อย ๆ จนถึงชัยนาท
วันนี้เราบีบแม่น้ำเจ้าพระยาให้เล็กลง โดยเรากั้นเขื่อน สมัยโบราณเลยน้ำไหลหลากลงมาตามทางน้ำของมัน ทางน้ำของมันก็หมายความว่า ผ่านทุ่ง ผ่านนา ผ่านอะไรต่างๆ แต่วันนี้บ้านเราถมดิน ทำถนนขวางทางน้ำหมด นอกจากขวางทางน้ำแล้ว เรายังไปทำเขื่อนข้างๆแม่น้ำอีก ที่สำคัญ วิถีชีวิตชาวบ้านก็เปลี่ยนไปจากเดิม ภาคกลางปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง คือ ปลูกนาปี นาปรัง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นปีละ 4 ครั้ง น้ำไม่พอก็มีปัญหา น้ำมากก็มีปัญหาเพราะฉะนั้น วันนี้ผมถึงบอกว่าเราควรปรับวิถีชีวิตใหม่กลับไปใช้ชีวิตแบบโบราณเพราะสภาพบ้านเราเป็นอย่างนั้น
คุณใหม่ มีหลักในการบริหารงานอย่างไร
แนวความคิดของผมคือ พบกันเมื่อเกิดภัย เวลาที่ดอกไม้งามทัศนียภาพสวยอากาศเย็นสบาย ผมไม่เคยไปเที่ยวเลย ถ้าภาคเหนืออากาศเย็นผมก็ไปเหมือนกัน แต่ไปเจอกับภัยหนาว เราก็ไปแจกผ้าห่ม ภัยแห้งก้ไปทำฝนหลวง น้ำท่วมก็มาแจก อุทกภัยหมดแล้วปีหนึ่งอันนี้คือในส่วนของตัวเอง แต่ในส่วนของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ จะเข้าไปถึงก่อนแจกเครื่องอุปโภค จากนั้นหน่วยงานราชการก็จะตามเข้ามาบูรณาการต่อไป
จากนั้นเราจะกลับเข้าไปอีกรอบ ไปดูแลสงเคราะห์ว่ากินอยู่เป็นอย่างไร ลูกหลานตายเป็นอย่างไร เราไปให้ทุนการศึกษาไปสร้างโรงเรียนหรือสถานที่สาธารณประโยชน์ที่ทำให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ปัจจุบันมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ มีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ในความดูแล 44 แห่งทั่วประเทศ เป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. (สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ)
นี่คือ ภารกิจของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ถามบอกว่าราษฎรเขาดีใจไหม ผมบอกได้เลยว่า ไม่มีประชาชนประเทศไหนที่จะโชคดีเท่ากับประเทศไทย ไม่ว่าเกิดภัยธรรมชาติ ไม่ว่าเกิดสาธารณภัยอะไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือพระเจ้าแผ่นดินของเรา ไม่เคยทอดทิ้ง พวกเราเลยแม้แต่ครั้งเดียว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงราษฎรตลอดเวลา
ถ้าผมบอกว่า วันที่ประเทศชาติมีความสุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีความสุข แต่ไม่เคยมีใครคิดถึงพระองค์ท่านบ้างเลย อาจจะมีความรู้สึกว่าฉันทำดีถวายพระเจ้าอยู่หัว ฉันมีความจงรักภักดี แต่ทำนองเดียวกัน ผมถามว่ามีใครนึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบ้างในวันที่พวกคุณมีความสุข แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณมีทุกข์ พระเจ้าแผ่นดินของเราไม่เคยทรงอยู่นิ่งเฉยเลย เราจะเห็นพระบรมวงศานุวงศ์ จะเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานความช่วยเหลือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงให้สภากาชาดที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ดูแลเครื่องอุปโภค บริโภค ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม เราะจะแบ่งกันชัดเจนเลย นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิเพื่อนพึ่งพา (ภา) ยามยา มูลนิธิสายใยรัก เป็นต้น
เพราะฉะนั้น เวลาที่ผมไปพบราษฎรผมจะบอกตลอดเวลาว่า 1. พบกันเมื่อเกิดภัย 2. ผมไม่ใช่ผู้แทนพระองค์ แต่ผมเป็นบุรุษไปรษณีย์ คือเรานำความห่วงใยและความปรารถนาดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปพระราชทานให้กับเขา
ถุงพระราชทาน คือน้ำพระราชหฤทัย
ถามว่ามูลค่าของที่เขาได้มันเพียงแค่ประทังชีวิต แต่สิ่งที่ได้รับนั่นคือ ความปรารถนาดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความเอื้ออาทร และพระราชทานกำลังใจ ลองนึกภาพเขากำลังโดนน้ำท่วมอยู่ วันดี คืนดี เหมือนฟ้ามีตา เอาของอะไรมามอบให้เราสักชิ้นหนึ่ง มันก็ทำให้เรามีกำลังใจขึ้น อย่างน้อยเวลาคนมันหมดหนทาง พอเขาได้อะไรมาค้ำชู หรือมีความรู้สึกว่าเป็นน้ำพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน มีพระรูปพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นกำลังใจ เราก็จะมีแรงที่มาต่อสู้ ผมไม่ได้บอกว่าเจ้านายผมหรือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้า
แต่ผมกำลังบอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นมากกว่าพระเจ้าอีก
เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์เป็นสิ่งที่ทุกคนยึดเหนี่ยวรวบรวมจิตใจ ผมจะบอกราษฎรว่ามูลค่าสิ่งของมันน้อยนิด แต่น้ำพระราชหฤทัยมันเปี่ยมล้นไปด้วยพระเมตตาที่พระราชทานให้กับพวกเรา ผมลงพื้นที่วันเว้นวัน ถุงพระราชทานหนี่งชุดเท่ากับหนึ่งพันบาท และทุกๆหนึ่งพันชุดคือ หนึ่งล้านบาท
ทราบว่าคุณใหม่ มีวิธีแจกของไม่เหมือนใคร
ผมได้กราบบังคมทูลถึงขั้นตอนการแจกสิ่งของพระราชทานอย่างชัดเจนว่า ทำไมผมถึงไม่เอาสิ่งของใส่ถุงไปตั้งแต่แรกเพราะอะไร จะเห็นได้ว่าเวลาที่ผมไปแจก สิ่งของผมจะกองไว้ข้างนอก ไม่ใส่อยู่ในถุง มีหลายๆสาเหตุ และคนที่จะทำอย่างผมได้ก็ต้องไม่โกงกิน เราแสดงความโปร่งใสชัดเจนว่า สิ่งของที่เอามามีทั้งหมดกี่อย่าง แต่ละอย่างผมจะพูดแก่ราษฎรว่า แต่ละอย่างที่ใส่ให้คุณนั้น มีจำนวนเท่าไร เช่น เราจะใส่ปลากระป๋องปุ้มปุ้ย คัดพิเศษ 6 กระป๋อง น้ำมันพืช 1 ขวดลิตร น้ำปลา 700 ซีซี 1 ขวด ประชาชนจะเห็นได้ว่าของทั้งหมดใน 10 รายการที่เราแจก โดยทุกคนถือถุงพระราชทานเดินผ่านเหมือนการตักบาตร เราจะแบ่งเป็น 10 สถานี คนก็จะถือถุงพระราชทานเข้ามารับแต่ละสถานี
ฉะนั้น คนที่เดินเข้ามารับสิ่งของไปหนึ่งพันชุด ก้จะได้เหมือนกันหมด ทุกคนได้สิ่งของที่มีคุณภาพเท่าๆกัน ในเวลาเดียวกัน เป็นการลดการใช้กำลังในการจัดสิ่งของใส่ถุง และป้องกันการเสียหายด้วย
กำหนดพื้นที่ในการช่วยเหลืออย่างไร
ต้องเรียนว่าผมไปเยี่ยมได้ แต่เราเยี่ยมเฉพาะครอบครัวที่เดือดร้อนแสนสาหัส ใครละครับแสนสาหัสกว่ากัน ความเดือดร้อนนี้วัดไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งที่เราทำก็คือ เราใช้กลไกของทางรัฐบาล ให้นายอำเภอมอบกำนัน- ผู้ใหญ่บ้าน เป็นคนคัดเลือกราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน เราไปเยี่ยมคนเขาต้องใช้เรือ 4-5 ลำ ผมบอกเอา 4-5 ลำ ไปรับคนมาลำละ 10 คนก็ได้ 50 คนแล้ว รับมาหาผมแล้วเขาก็เอาสิ้งของกลับไปใช้ เขามารับ ให้รู้ว่าเขาเดือดร้อน เราต้องเชื่อกลไกของบ้านเมือง เราต้องเชื่อกลไกในสิ่งที่เรามอบหมายให้เขา
ฉะนั้น ผมจะรู้เลยว่าเขตอำเภอนี้ เสียหายเท่าไร เขาเสียหายทั้งหมดแสนครัวเรือน ผมไม่ได้แจกทั้งแสน เพราะมีองค์กรการกุศลอื่นเขาเข้ามาแจกด้วย มีช่อง 3 ช่อง 5 มีรัฐบาลแจก ผมจะเข้าไปแจกในส่วนที่เดือดร้อนที่สุดและใครจะเป็นคนคัดให้ผม ใครเดือดร้อนที่สุด ผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานร่วมกับฝ่ายปกครองท้องถิ่นรายงานและประเมินผลสู่ส่วนกลาง เวลาผมลงพื้นที่ก็จะมี อบต. อบจ. อะไรต่างๆ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนประสานไม่ใช้ต่างคนต่างไปถึง เอาของให้ มันไม่ใช่แค่ตรงนั้น
นี่คือเหตุผลที่ทำให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ เข้าถึงพื้นที่เร็วที่สุด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั้งว่า “ไปให้ไว ไปให้ถึง ไปให้เร็ว”
อุทกภัยครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงเรื่องอะไรเป็นพิเศษ
ตอนนี้ทรงห่วงเรื่องการจัดการระบายน้ำ พระองค์ท่านทรงมอบพระบรมราโชบายให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระ วงสมุทร เข้าเฝ้าฯ เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ผมก็อยู่ด้วย และทรงได้พระราชทานแนวพระราชดำริคือ ทำอย่างไรที่จะระบายน้ำให้เร็วที่สุด ไม่งั้นกรุงเทพฯ น้ำท่วมแล้วถ้าไม่มีคลองลัดโพธิ์วิธีเร่งน้ำที่ทหารเรือเอามาใช้ พระองค์ท่านทรงใช้ตั่งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดยเอาเรือมาดันน้ำ ทำให้ทุกวันนี้กรุงเทพฯน้ำไม่ท่วม มีสองกลไกที่สำคัญ คือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีแควน้อยบำรุงแดน ที่จะเป็นตัวล็อกน้ำจากแม่น้ำยม และก็แม่น้ำน่าน ซึ่งเราไปชะลอการไหลของน้ำ
ตอนนี้รัฐมนตรี ธีระ บอกผมว่า กำลังพิจารณาแม่น้ำยมหนึ่ง ยมสอง อยู่เหนือแก่งเสือเต้น แม่น้ำยมเหนือ กับยมใต้ เป็นอ่างเล็กๆ ซึ่งไม่มีผลกระทบกับเขื่อนป่าสักฯ อันนี้เราต้องไปมองว่าเงื่อนไขระยะยาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ท่านก็ไม่ได้นิ่งนอนพระทัย ในส่วนของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ก็แบ่งการให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการบูรณาการและการเข้าไปขับเคลื่อน เราเคยทำเรื่องของการป้องกันที่ชุมพร เราเคยไปช่วยที่อยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2542 อันนั้นช่วยนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องกราบเรียนว่า เป็นพระอัจฉริยะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงดูแลประชาชนของพระองค์
ข้อมูลเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับทราบตลอด
ผมต้องกราบบังคมทูลถวายรายงานพระองค์ท่านทุกวัน การออกไปแจกสิ่งของพระราชทาน ผมก็กราบบังคมทูล ทุกบาททุกสตางค์ เป็นน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่เงินของเรา
ความภาคภูมิใจในหน้าที่
ผมภูมิใจที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ในการมอบหมายให้ไปปฎิบัติภารกิจหลายๆอย่าง ให้ความช่วยเหลืออราษฎรที่เดือดร้อน ผมว่าเป็นความภาคภูมิใจที่สุดนะ ถ้าเราได้ไปช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนที่สุดในชีวิต ให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
สิ่งที่คนไทยควรภูมิใจในความเป็นไทย
สิ่งที่เราควรภูมิใจ คือเรามี Sunny คือ แสงแดด เราเป็น City ที่มีรอยยิ้มมากที่สุด เราเป็นเมืองที่มี Family ที่อยู่เป็นครอบครัวอบอุ่น เราเป็นประเทศที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เราเป็นเมืองการศึกษา และเราเป็น Country ที่มีความปรองดองกัน
ที่สำคัญที่สุดคือเรามี King of Kings พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น The Greatest of the King.
สำนักข่าวเจ้าพระยา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น