บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

คอป.ชงแก้112ให้เลขาฯราชวังฟ้องแทน เชื่อนิติเรดคิดไกลกว่านั้น


“คณิต” ชงแนวทางแก้ไข ม.112 ฉบับ คอป.ให้ นายกฯ นกแก้วพิจารณา เปิดเนื้อหาให้เลขาธิการพระราชวังฟ้องแทนกษัตริย์ ลดโทษคุกไม่เกิน 7 ปี ถามนิติเรดใช้หลักวิชาการไหนห้ามมีพระราชดำรัส ติงใช้ความรู้สึกมากกว่าหลักกฎหมาย อดีต ส.ส.ร.เฉ่ง “ปิยบุตร” เด็กเมื่อวานซืน ไม่รู้จักสังคมไทย แกนนำกลุ่มสยามสามัคคีเชื่อกลุ่มนี้คิดไกลกว่าการแก้แค่ ม.112
ประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังคงเป็นที่สนใจในวงกว้าง ล่าสุด คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้ส่งข้อเสนอแนะของ คอป.เกี่ยวกับความผิดที่ต้องให้อำนาจ ซึ่งมีบทสรุปการแก้ไขตามแนวทางของ คอป. ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำไปพิจารณา
นายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. เผยว่า คอป.ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 30 ธ.ค.54 เรื่องข้อเสนอแนะของ คอป.เกี่ยวกับความผิดที่ต้องให้อำนาจหรือการดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งสังคมมีความสับสนมาก ฝ่ายหนึ่งได้ใช้ความผิดฐานดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมืองของตน อ้างว่าเพื่อเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา ม.112 อย่างเคร่งครัด ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากกระทำเป็นความผิดอาญาย่อมขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็น จึงเสนอให้ยกเลิก ม.112
เนื้อหาหนังสือระบุว่า เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังเป็นที่โต้เถียงและขัดแย้งกันมา คอป.เห็นว่าการจะยกเลิก ม.112 เสียเลยน่าจะยังไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย แต่การที่จะคงสภาพเป็นความผิดอาญาในลักษณะปัจจุบันโดยไม่มีทางออกใดๆ ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะยังมีการใช้ความผิดฐานนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
จากการศึกษาของ คอป.พบว่า ความผิดฐานนี้มีช่องทางในทางกฎหมายที่จะสร้างความสมดุลได้ เช่นในเยอรมนีมีการบัญญัติความผิดอาญาบางฐานที่ไม่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความผิดที่ผู้เสียหายเป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า เป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจกล่าวคือแม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นความผิดอาญา แต่การดำเนินคดีขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เสียหายเป็นสำคัญ เช่น การดูหมิ่นประธานาธิบดี การสอบสวนจะเริ่มได้ต่อเมื่อประธานาธิบดีให้อำนาจดำเนินการเท่านั้น
การสร้างความปรองดอง คอป.เห็นว่านอกจากฝ่ายกระบวนการยุติธรรมแล้ว ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติควรพิจารณาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย คอป.ขอยื่นข้อเสนอว่า ควรตรากฎหมายกำหนดให้ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ โดยถือว่าการตรากฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญและเร่งด่วน
ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นความผิดที่คุ้มครองความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นคุณธรรมทางกฎหมายที่เป็นส่วนรวม เป็นเรื่องของสถาบัน หาใช่เรื่องส่วนพระองค์ไม่ ดังนั้นการจะให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้มอบอำนาจให้ดำเนินคดีย่อมเป็นการไม่เหมาะสม และขัดต่อจารีตประเพณีของบ้านเมืองที่ต้องเทิดทูนสถาบัน เลขาธิการพระราชวังเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย จึงอาจกำหนดให้เลขาธิการพระราชวังเป็นผู้ให้อำนาจดำเนินคดี
ในส่วนของระวางโทษตาม ม.112 ควรมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าในปัจจุบัน หรือโทษควรเบาลง อย่างน้อยควรกลับไปนำโทษที่เคยกำหนดไว้เดิมมาใช้
คอป.เสนอให้แก้กฎหมายอาญา ม.112 เสนอต่อรัฐสภา ดังนี้ ใครหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดตามวรรค 1 เป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ การสอบสวนดำเนินคดีจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง
ความผิดตาม ม.112 และ ม.133 เป็นเรื่องที่ยึดโยงกัน เมื่อแก้ ม.112 ก็ต้องแก้ ม.133 ในคราวเดียวกัน โดยให้บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ นายคณิตให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในกลุ่มคณะนิติราษฎร์ แสดงความคิดเห็นว่าพระมหากษัตริย์ไม่ควรมีพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะว่า ตนไม่ทราบว่ากลุ่มนิติราษฎร์เอาเหตุผลและหลักวิชาการมาจากไหน เป็นความรู้สึกหรือไม่ เพราะปัจจุบันนี้นักกฎหมายในประเทศไทยหลายคนก็ไม่ค่อยใช้หลักกฎหมายกัน ใช้แต่ความรู้สึก แต่หากเป็นข้อเสนอที่ คอป.เสนอ ล้วนแล้วแต่ใช้หลักวิชาการมาเสนอแนะทั้งสิ้น ไม่ได้เสนอเลื่อนลอย มีที่มาที่ไป ซึ่งตนคิดว่าการที่เราจะเสนอแนะอะไรเราต้องมีหลักทางวิชาการในการแก้ไขปัญหา เราไม่ใช้ความรู้สึกว่าดีหรือไม่ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายปิยบุตรระบุว่าหากมีการแก้ไข ม.112 ต่อไปกษัตริย์ก็ไม่ควรใช้อำนาจใดๆ ผ่านรัฐ ประธาน คอป.ตอบว่าตามความรู้ของตน เรื่องกษัตริย์ใช้อำนาจผ่านรัฐนั้นไม่มี ไม่รู้ว่าเขาไปเอาหลักวิชาการมาจากไหน
นายคมสัน โพธิ์คง อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวว่า กลุ่มนิติราษฎร์ออกมาไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะแก้มาตรา 112 เพียงอย่างเดียว แต่เป้าหมายหลักของคนกลุ่มนี้คือ เพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือลิดรอนอำนาจมากกว่า ตนอยากบอกว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกก็จริง แต่จากการแถลงการณ์ของกลุ่มนิติราษฎร์ จะพูดถึงแต่คำว่าทำเพื่อระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่เคยเอ่ยคำว่าระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นก็คือการแสดงออกชัดเจนอย่างหนึ่งว่า ทุกวันนี้ต้องการล้มล้างกษัตริย์ แต่ไม่กล้าเปิดตัวพูดออกมาตรงๆ
“นายปิยบุตรพูดแบบนี้เหมือนเด็กเมื่อวานซืนที่ไม่รู้จักสังคมไทยหรือเปล่า เพราะแม้ประเทศไทยจะมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่พระองค์ท่านก็ไม่เคยประพฤติอะไรที่นายปิยบุตรกล่าวมา แล้วที่ชี้นำในหัวข้อว่าไม่ควรอนุญาตให้กษัตริย์มีพระราชดำรัสต่อสาธารณะนั้น ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของกษัตริย์ให้ยิ่งกว่านักโทษซะอีก เรียกว่านิติราษฎร์เผด็จการแล้ว ถ้ามีคนออกมาบอกให้นิติราษฎร์หุบปากมั่งล่ะ นายปิยบุตรพูดอย่างนี้พูดจาล่องลอยไม่มีกฎหมายรับรอง กล่าวเท็จ”
นายคมสันกล่าวว่า เรื่อง ม.112 ประเด็นปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย เพราะเป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ถ้าไม่ไปละเมิดก็ไม่ผิด ซึ่งประมุขของรัฐสมควรที่จะมีกฎหมายไว้สำหรับคุ้มครอง ถ้าพูดว่ามีคนเป็นเหยื่อในมาตรานี้เยอะ ตนขอบอกว่าคนเป็นเหยื่อคดีอาญาทั่วไปเยอะกว่ามาก จะมีพวกที่ทำผิดในมาตรา 112 สักกี่คน ถ้าแก้ก็ควรแก้ทุกมาตรา ให้มีความเป็นธรรม มาตรา 112 นั้นไม่เกี่ยวเลย
ถามว่า หากไม่ใช่คณะนิติราษฎร์เป็นผู้เสนอการแก้ไข ม.112 แต่เป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือทางสังคมจะสามารถลดแรงเสียดทานได้หรือไม่ อดีต ส.ส.ร.50 กล่าวว่า หากเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ ภาพลักษณ์ที่ดี อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี มาเสนอก็เห็นควรว่าแก้ได้ แต่ควรแก้ในกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริง ไม่ควรเกี่ยวกับบทลดโทษหรือเพิ่มโทษ แต่ถ้าแก้ก็ควรเพิ่มโทษซะด้วยซ้ำ
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม แกนนำกลุ่มสยามสามัคคี กล่าวว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้มีความคิดไปไกล และเกินกว่าขอบเขตที่มีความพยายามจะแก้มาตรา 112 แล้ว เนื่องจากในเนื้อหามีการกล่าวอ้างว่าสถาบันกษัตริย์เพิ่งจะถูกยกระดับให้มีอำนาจเท่าที่เป็นในปัจจุบัน ช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คล้ายจะเป็นการดิสเครดิตของสถาบัน แต่เชื่อว่ากลุ่มนี้มีความคิดไปไกลกว่านั้น
“ที่จริงแล้วระบบสถาบันมีความผูกพันกับรากฐานความเป็นประเทศไทยมาอย่างช้านาน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านได้สะสมความดีและสร้างอะไรให้กับประเทศไทยมาเกินกว่าจะอธิบาย แล้วสำหรับนายปิยบุตรคนนี้เขาคือใคร เคยทำอะไรให้ประเทศชาติหรือไม่” แกนนำกลุ่มสยามสามัคคีกล่าว
พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์ว่า ม.112 เป็นเรื่องของจิตใจคนไทย อย่าเพิ่งไปยุ่ง ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ขอให้ยึดมั่นก็มีแต่ประโยชน์
นายบวร ยสินทร แกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน แสดงความเห็นว่า อยากจะให้ทางกองทัพหันกลับมาดูสถานการณ์ในสังคม และอย่าปล่อยให้กลุ่มมวลชนมาเผชิญหน้ากันเอง แต่กองทัพควรตัดไฟตั้งแต่ต้นลม โดยใช้อำนาจตามหลักกฎหมายเข้าไปต่อสู้ เช่น การจัดการกับกลุ่มหมู่บ้านเสื้อแดง ที่มีการให้ข้อมูลที่ผิดๆ หรือกลุ่มอาจารย์ที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่ใช่รอเวลาให้เรื่องสุกงอม ก่อนใช้กำลังเข้าไปทำปฏิวัติ นอกจากนี้ อยากเรียกร้องให้ทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าไปตรวจสอบกลุ่มคณาจารย์ที่มีความคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงมาตรา 112 เหล่านี้อีกครั้ง เนื่องจากมีความคิดที่ไปไกลเกินกว่าที่จะรับได้.

ขอขอบคุณ ไทยโพสต์



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง