บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

โอกาสและความท้าทายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ




โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ
ในช่วงหลายเดือนมานี้ตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์กระแสหลักมีรายงานข่าว เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2554 มีข่าวกรณีแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าคนหนึ่งทำงานอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร และผ่านการพิสูจน์สัญชาติเมื่อเดือนมกราคม 2554 เรียบร้อยแล้ว ได้ประสบอุบัติเหตุล้มศีรษะกระแทกพื้นจนอาการสาหัส แต่เมื่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้ตรวจสอบประวัติกลับพบว่า แรงงานยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ตามพรบ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ทำให้ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเองเป็นเงินร่วมแสนกว่าบาท แต่เนื่องจากแรงงานไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ทำให้ต้องออกมารักษาตามมีตามเกิดและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
สถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การตั้งคำถามทั้งต่อนายจ้าง สำนักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน ถึงช่องว่างการดูแลและคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิแรงงานข้ามชาติที่ยังมีการ ละเลยและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอยู่ รวมถึงขาดการตรวจสอบและติดตามจากนายจ้าง จนนำมาสู่ความสูญเสีย ความหวั่นวิตกของแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เรียบร้อยแล้ว และต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามที่กฎหมายระบุไว้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เฉพาะที่ จ.สมุทรสาครเพียงจังหวัดเดียว มีแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วกว่า 70,000 คน แต่กลับมีแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียง 10,000 กว่าคนเท่านั้น นี้คือช่องว่างที่น่าหวาดหวั่นต่อคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใช้แรงงานคนหนึ่งยิ่งนัก !
นี้ไม่นับว่าโดยทั่วไปแล้วแรงงานข้ามชาติจำนวนมากต่างก็ยังเข้าไม่ถึง สิทธิขั้นพื้นฐานและบริการสาธารณะที่รัฐจัดให้ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา สิทธิสวัสดิการอื่นๆ รวมถึงการต้องเผชิญกับความยากจนอันเนื่องมาจากภาวะของการถูกจำกัดสิทธิ์ใน การเดินทางเพื่อการประกอบอาชีพ และความรู้สึกด้อยคุณค่า ไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่าเทียมคนอื่น น้อยเนื้อต่ำใจในชะตากรรมที่เผชิญ
กรณีดังกล่าวทำให้นึกถึงตัวอย่างรูปธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่งที่เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในท้องถิ่นโดยตรงและสามารถเข้ามาเป็นส่วน หนึ่งของการอุดช่องว่างดังกล่าวนี้ได้ ท้องถิ่นหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการการอยู่ร่วมกันของคนต่าง ชาติพันธุ์ อีกท้องถิ่นหนึ่งเป็นเรื่องของการจัดการปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน
เทศบาลเชิงดอย ต.เชิงดอย  อ.ดอยสะเก็ด  จ.เชียงใหม่ ต้องเผชิญกับปัญหาที่เป็นผลมาจากการอยู่ร่วมกันกับประชากรต่างชาติพันธุ์ กลุ่มลาหู่ที่ไม่มีสัญชาติไทยที่อพยพลงมาจากบนดอย จ.เชียงราย เข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างในตัวเมืองเชียงใหม่ ได้มาอาศัยอยู่ร่วมกับคนเมืองในหมู่บ้านแม่ดอกแดง และนำมาซึ่งปัญหาการอยู่ร่วมกันในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไม่ถึงการพัฒนาสถานะบุคคล การไม่สามารถควบคุมเรื่องการย้ายเข้าย้ายออกของคนลาหู่ การไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติในชุมชน การต้องมาใช้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานร่วมกัน ความไม่สมดุลในการจัดการวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็กลาหู่  ปัญหาดังกล่าวได้สร้างความอึดอัดคับข้องใจและการแบ่งฝักฝ่ายคนในหมู่บ้าน จนในที่สุดเทศบาลตำบลเชิงดอย จึงได้ร่วมกับสำนักงานประสานงานวิจัยเชิงบูรณาการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักงานคริสตจักรภาคที่ 6 ลาหู่ และหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ชักชวนคนเมืองและคนลาหู่มาแสวงหาคำตอบในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ จนในที่สุดเทศบาลเชิงดอยจึงได้ออกเป็นเทศบัญญัติกำหนดแนวทางการจัดการในการ อยู่ร่วมกันในชุมชนบ้านแม่ดอกแดงขึ้นมา
เทศบาล เมืองเมืองแกนพัฒนา อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้จับมือกับโรงพยาบาลแม่แตง และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่แตง ผลักดันโครงการหน่วยปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ พัฒนาให้เกิดคลินิกชุมชนเมืองแกนซึ่งเป็นศูนย์แพทย์ชุมชนขึ้นมา ปรัชญาของศูนย์แห่งนี้ ก็คือ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยยามใด ชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นใคร เชื้อชาติใดก็ตาม จะต้องนึกถึงเป็นอันดับแรก ปัจจุบันศูนย์แพทย์ชุมชนแห่งนี้ดูแลประชากร 16 หมู่บ้าน รวมประมาณ 13,000 คน โดยมีแพทย์และพยาบาลมาทำการตรวจรักษาทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ มีอุปกรณ์ทางการแพทย์และรถพยาบาลบริการรับส่งผู้ป่วยจากบ้านถึงศูนย์แพทย์ ชุมชนตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เทศบาลเมืองเมืองแกนสนับสนุนงบประมาณด้านการบริหารจัดการ ส่วนบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ได้รับงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อประชาชนในพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ผู้ป่วยลดลงโดยเฉพาะวัณโรคซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยในชุมชนเป็นจำนวน มาก    
แน่นอนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมากย่อมมองว่าการอพยพเข้ามาของแรง งานข้ามชาติเป็นการเบียดเบียนทรัพยากร สวัสดิการ และโอกาสการมีงานทำซึ่งจำกัดอยู่แล้ว แต่ในข้อเท็จจริงก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านโครงสร้างประชากร เนื่องจากมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อัตราการเกิดต่ำลงเรื่อยๆ รวมทั้งยังประสบภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานในบางภาคการผลิต เช่น ประมง ประมงทะเลต่อเนื่อง คนรับใช้ในบ้าน แต่เมื่อแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำงานแล้ว ต่างต้องอยู่ในชุมชนที่แออัด สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เข้าไม่ถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ โอกาสที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และสุขภาพอนามัยที่เลวร้ายของแรงงานข้ามชาติและคนไทยโดยรวมในท้องถิ่นก็เป็น เรื่องกระทบที่จะติดตามมาอย่างแน่นอน
หลายท้องถิ่นอาจจะกล่าวว่า พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ พ.ศ.2542  และแผนการถ่ายโอนฯ พ.ศ.2545 ที่เป็นการกระจายอำนาจภารกิจของรัฐไปสู่ท้องถิ่น ก็ไม่ได้ระบุภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ มีเพียงระบุในเรื่องของ “ส่งเสริมสุขภาพวัยทำงาน” เท่านั้น อย่างไรก็ตามคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “แรงงานข้ามชาติ” ก็ถือเป็น “แรงงาน” คนหนึ่งเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันบริบทต่างๆได้เอื้อต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆใน การทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้าม ชาติ เช่น การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กระบวนการสมัชชาสุขภาพเชิงประเด็น/เชิงพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ , การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ภายใต้ พรบ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2550 รวมถึงบทบาทของสหภาพแรงงานไทยในระดับพื้นที่ เช่น สหภาพในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กระทั่งบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านต่างๆ เหล่านี้ต่างมีส่วนสำคัญยิ่ง
จากตัวอย่างจะเห็นยุทธวิธีน่าสนใจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 2 แห่งนำมาใช้ คือ การพัฒนาให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของฝ่ายต่างๆในชุมชนที่เป็นแกนสำคัญในการ เข้ามาดำเนินงานร่วมกัน มุ่งไปที่ผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ ดังนั้นถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเริ่มต้นทำงานเพื่อการคุ้มครองและเข้า ถึงสิทธิแรงงานข้ามชาติ การเริ่มต้นด้วยการเน้นกระบวนการสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เชิงวิธีคิดเรื่องทัศนคติเชิงชาติพันธุ์จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ผ่านกิจกรรมต่างๆที่ออกแบบร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาจุดร่วมของปัญหา, ค้นหาความรู้ที่จะนำมาใช้ในการจัดการปัญหา ,ออกแบบแนวทางการพัฒนากลไกการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทความเป็น ประชากรกลุ่มเฉพาะของแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนการพัฒนารูปแบบในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อจะนำไปสู่การปรับวิธีคิดให้เกิดการยอมรับและเคารพต่ออัตลักษณ์และ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ การส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดี การเคารพความแตกต่างทางชาติพันธุ์ การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในท้องถิ่น และในที่สุดการเคารพสิทธิในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องก็จะติดตามมา
เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการอยู่ร่วมกันใน ชุมชน ที่สาเหตุสำคัญเกิดจากความไม่เข้าใจกัน มาจากอคติหรือการรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน ทำให้เกิดการกีดกันและผลักไสคนอีกกลุ่มหนึ่งไปอยู่ชายของของสังคม และเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆที่พึงมีพึงได้
วันนี้ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นคงไม่สามารถปฏิเสธการมีอยู่ของแรงงานข้าม ชาติจากประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว ดังนั้นการจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบที่ดีผ่านกลไกความร่วมมือของ ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆในท้องถิ่น โดยเฉพาะการนำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นปรากฏการณ์ในเชิงบวกซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ แรงงานอพยพข้ามชาติจะได้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ท้องถิ่นก็จะได้กำลังแรงงานในสาขาที่ขาดแคลนจริง ซึ่งการจัดการลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องที่ท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งจะจัดการได้ ด้วยตนเองเพียงลำพัง แต่จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆที่พร้อมเอื้ออำนวยและเป็น พันธมิตรอยู่แล้ว


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง