บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

น้ำท่วมเคยเป็นมิตร

พื้นเพบรรพบุรุษผมเป็นคนกรุงเก่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาคุ้นเคยกับน้ำหลากน้ำท่วมเป็นอย่างดี
       
        ประวัติศาสตร์ไทยบอกให้เรารู้ว่าน้ำหลากน้ำท่วมไม่เพียงแต่เป็นมิตร หากแต่ยังช่วยรักษาเอกราชด้วยการเป็นกองกำลังธรรมชาติขับไล่ศัตรูผู้รุกรานออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า ฤดูน้ำหลากน้ำท่วมก็ไม่ใช่ฤดูเพาะปลูกหรือฤดูเก็บเกี่ยว ธรรมชาติออกแบบแผ่นดินสุวรรณภูมิไว้ให้น้ำพัดพาแร่ธาตุและความอุดมสมบูรณ์มาทับถมเป็นปุ๋ยธรรมชาติสำหรับฤดูเพาะปลูกปีต่อไป
       
        เสียทีที่ผมเกิดกรุงเทพฯ จึงไม่ได้ซึมซับกับวิถีของคนชนบทแม้แต่น้อย เวลาพูดจาถึงชนบทและคนยากคนจนจึงออกจะไม่ได้มาจากส่วนลึกภายในของหัวใจเพราะถึงจะได้สัมผัสได้รับรู้ ก็ต้องสารภาพว่าเป็นไปอย่างผิวเผินอย่างฉาบฉวยเต็มที จึงไม่ค่อยได้พูดได้เขียนถึงมากนัก ทางในการพูดการเขียนและความสนใจค่อนข้างจะไปในประเด็นทางการเมืองและทางตัวบทกฎหมายเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่วันนี้ไม่เขียนไม่พูดถึงเห็นจะไม่ได้ แม้จะยังไม่ตกผลึกเต็มร้อยก็จะขอกลั่นจากความรู้สึกกึ่งดิบกึ่งสุกมาแลกเปลี่ยนกัน
       
        ความทรงจำเกี่ยวกับอยุธยาเวลาไปเยี่ยมบ้านญาติทุก ๆ ปีก็คือรูปทรงของบ้านครับ !
       
        แม้จะไม่สวยงาม แต่ก็มีลักษณะของบ้านทรงไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นตรงใต้ถุนสูง ประมาณ 3 เมตรจากระดับพื้นดิน หลังคาหน้าจั่วมุมไม่กว้างนัก ใต้ถุนจะมีเรือผูกอยู่กับเสาเรือน
       
        น้ำหลากน้ำท่วมเป็นชีวิตปกติของคนอยุธยาและคนสุวรรณภูมิ !
       
        ตั้งแต่คุณพ่อถึงวัยชราและเสียชีวิตในที่สุด ญาติ ๆ ทยอยตามไป ผมไม่ได้ไปอยุธยาเป็นประจำเหมือนวัยเด็ก แต่สิ่งที่ได้รับรู้ก็คือเครือญาติรุ่นผมไม่ได้สืบทอดวิชาชีพทำนาต่อจากพ่อแม่ ถึงจะยังมีนาอยู่ก็จ้างเขาทำ แล้วหันมาประกอบวิชาชีพอื่นตามอัตภาพและตามที่จะมีโอกาสร่ำเรียน รับราชการเป็นครูบ้าง เป็นตำรวจชั้นประทวนบ้าง ถือเป็นความก้าวหน้าของชีวิตในมุมมองของทั้งลูกและของพ่อแม่ เพราะการทำนานั้นลำบากและรายได้น้อย
       
        สิ่งที่เกิดขึ้นเห็น ๆ มาเป็นสิบ ๆ ปีคือที่นาเริ่มแปรสภาพไปเป็นแหล่งรองรับความเจริญของเมืองหลวง
       
        แทนที่จะทำนา เจ้าของที่นาส่วนหนึ่งขายหน้าดินให้พ่อค้า ในแม่น้ำก็มีธุรกิจดูดทราย เพื่อนำมาบำรุงธุรกิจก่อสร้างในเมืองหลวงที่ใช้ดินใช้ทรายถมที่สร้างบ้านสร้างโรงงาน ที่นาในบางอำเภอบางตำบลแปรสภาพเป็นโรงงานอุตสาหกรรม
       
        บ้านในกรุงเทพฯแทบไม่มีทรงไทยให้เห็น มีแต่ทรงสเปน ทรงโรมัน ทรงทิวดอร์ ทรงเมดิเตอเรเนียน ฯลฯ หรือถ้าจะมีทรงไทยอยู่บ้างก็เป็นทรงไทยประยุกต์เอามาแต่หน้าจั่ว ไอ้เรื่องใต้ถุนสูงไม่มีให้เห็นอีกต่อไป เพราะไม่จำเป็นต้องรับน้ำหลากน้ำท่วม ทำไมจะต้องทำใต้ถุนสูงให้เสียพื้นที่ใช้สอย เมื่อเกิดน้ำท่วมก็รณรงค์ต่อสู้กันอย่างหนัก คิดค้นหาวิธีการไม่ให้น้ำเข้ามา เพราะถือว่าเป็นการทำลายเศรษฐกิจ
       
        บ้านยุคใหม่ ๆ ในอยุธยาและจังหวัดอื่นก็จำลองแบบจากกรุงเทพฯไปเป็นส่วนใหญ่
       
        บ้านทรงไทยโบราณถ้าจะมีให้เห็นบ้างก็เป็นบ้านรุ่นเก่า จำนวนหนึ่งที่สภาพเยี่ยมก็ขายยกหลังให้ผู้มีอันจะกินและมีรสนิยมนำไปปลูกประยุกต์ประดับบารมี
       
        ไม่เพียงแต่บ้านที่เปลี่ยน วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วย
       
        วิถีชีวิตแบบเกษตรแม้จะยังคงอยู่ในจังหวัดภาคกลางและภาคอื่น แต่ก็เป็นเกษตรเพื่อการพาณิชย์ ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเริ่มมาแทนที่ปุ๋ยธรรมชาติที่มากับน้ำหลากน้ำท่วม การเพาะปลูกเริ่มไม่มีฤดูกาล จากปีละครั้งหรือ 2 ครั้ง เป็นปีละหลายครั้ง ไม่ต้องพูดถึงกรุงเทพฯที่วิถีชีวิตแทบจะแยกจากเกษตรเกือบจะสิ้นเชิง
       
        ธรรมชาติออกแบบวิถีชีวิตของคนแถบนี้ไว้ง่าย ๆ ให้เป็นเมืองน้ำ
       
        เราตั้งถิ่นฐานเกาะอยู่กับแม่น้ำ การเลือกทำเลเมืองหลวงก็ยึดถือแม่น้ำเป็นสำคัญ การคมนาคมการขนส่งใช้แม่น้ำลำคลองเป็นสำคัญ ระบบขนส่งมวลชนทางด้านสินค้าที่สำคัญที่สุดก็คือเรือโยงในแม่น้ำ ต่อเมื่อมีทางรถไฟจึงเกิดเป็น 2 ระบบควบคู่กันไป
       
        กรุงเทพฯที่เคยได้สมญาว่าเวนิสตะวันออกก็บอกเล่าแล้วว่าเราเป็นมิตรกับน้ำแค่ไหน
       
        แต่แล้วเราก็ค่อย ๆ ลืมรากเหง้าของเราเอง
       
        จากเมืองน้ำ จากเมืองคน เราเลือกที่จะแปรเปลี่ยนบ้านเมืองของเราให้เป็นเมืองรถ เมืองถนน ทุกสรรพสิ่งรวมทั้งนโยบายและแผนพัฒนาประเทศเราเลือกที่จะสนับสนุนคนใช้รถใช้ถนน สนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่เป็นนโยบายเป็นแผนของประเทศอย่างเราที่ไม่มีน้ำมันเป็นของตัวเองเป็นเรื่องเป็นราว
       
        เมื่อ 7 ปีก่อนตอนผมย้ายบ้านมาอยู่ละแวกถนนพุทธมณฑลสาย 2 ใหม่ ๆ ยังชื่นชมเลยว่าถนนสายนี้สวยงามมาก มีลำคลอง 2 ฟากฝั่ง มีต้นไม้ใหญ่เป็นแนว 2 ข้างถนน เสียแต่ที่ถนนแคบไปหน่อย เผลอแผล็บเดียวมีการขยายถนนออกเป็นหลายเลน ขยายก็ขยายไป แต่ที่น่าเจ็บปวดก็คือมีการถมคลองทั้ง 2 ข้าง และโค่นต้นไม้ใหญ่ 2 ฟากฝั่งไปด้วย ผมว่าการขยายถนนหลาย ๆ แห่งในกรุงเทพฯและในประเทศนี้จะเป็นไปในลักษณะนี้ คุ้มกันหรือไม่กับการได้พื้นผิวจราจรเพิ่มขึ้นแลกกับลำคลองที่หายไปกลายเป็นเพียงท่อระบายน้ำ ที่ตลกก็คือถนนพุทธมณฑลสาย 2 ยุคใหม่ก็กว้างขวางและสวยอยู่หรอก โดยเฉพาะการมีเกาะกลางถนนที่นำต้นไม้ใหญ่มาปลูก ไม่รู้ว่าถ้าจะทำอย่างนี้แล้วสู้รักษาต้นไม้และลำคลองเก่าไว้ไม่ดีกว่าหรือ
       
        ไม่ขอว่าใครในวันนี้ เพราะเราเองก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเหมือนกัน ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
       
        มันเหมือนกับว่าเราหลงระเริงกันมามาก
       
       มันเหมือนกับว่าเราลืมอดีตลืมรากเหง้าของเราเองกันมานาน
       
        น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เราคิดอะไรได้บ้าง ?
       
        เท่าที่ผมคิดได้ ก่อนจะคิดอะไรไปไกล เราน่าจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ครั้งใหญ่ให้ได้เสียก่อน
       
        จะทำอย่างไรให้น้ำท่วมกลับไปเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติปรกติที่เป็นมิตรกับเรา !
       
        และเราต้องอยู่ร่วมกับมิตรของเราให้ได้ !!
       
        อาจจะมีโครงการมากหลาย แต่เป้าหมายของโครงการคืออะไรเป็นประเด็นสำคัญ เพื่อขจัดน้ำท่วม เพื่อป้องกันน้ำท่วม หรือเพื่อให้น้ำหลาน้ำไหลไปตามธรรมชาติโดยการทำทางน้ำให้กว้างขวางโยงใยต่อเชื่อมเหมือนในอดีต เพื่อให้น้ำไหลมาแล้วก็ไหลไปลงทะเลโดยเร็ว ไม่รุนแรง
       
        แต่จะถกประเด็นนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย
       
        เพราะจะต้องหันกลับมาถกถึงวิถีชีวิตที่ควรจะเป็นของมนุษย์กันเสียก่อน จะเดินหน้าไปตามแนวคิดของลัทธิทุนนิยมสุด ๆ เพิ่มการบริโภค เพิ่มการใช้จ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจในทุกทางทุกวิถี เร่งใช้ทรัพยากรธรรม ชาติกันโดยไม่คำนึงถึงอนาคต และ ฯลฯ
       
        เหตุการณ์ในบ้านเราวันนี้ หากมองให้เชื่อมประสานกับเหตุการณ์ในโลก ทั้งด้านภัยพิบัติ ทั้งด้านวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในศูนย์กลางทุนนิยมโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป การเคลื่อนไหวมวลชนในนิวยอร์ค ณ วอลสตรีท
       
       อย่าว่าแต่เราที่เป็นหางแถวทุนนิยมเลย หัวแถวทุนนิยมยังเอาตัวแทบไม่รอด
       
        ถึงเวลาที่เราจะคิดใหม่ทำใหม่กันได้หรือยัง ?



ผู้จัดการออนไลน์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง