บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ถอดรหัส..ก้าวเดินพธม. เงื่อนไขแรงอยู่ที่รัฐบาล เสียงเพรียกเตือนถึง...ปู ระวัง'ไม่มีแผ่นดินจะอยู่'


  พิมพ์อีเมล

โฆษกพธม.
หายเงียบไปนาน...กับการเคลื่อนไหวของ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” (พธม.) แต่กลายเป็นว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็จู่ๆ ปรากฏข่าว “ผลผลิตของพธม.” โบกมือลาอีกคน
กับกรณี “อัญชลีพร กุสุมภ์” ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรคนสำคัญของ “เอเอสทีวี” ที่เป็นกระบอกเสียงหลักในการเคลื่อนไหวขับไล่ “ทักษิณ ชินวัตร” พร้อมๆกับข่าวความไม่พอใจต่อกรณีที่ “สนธิ ลิ้มทองกุล” ไปรับเงินจาก “ทักษิณ ชินวัตร”
หลายคนสงสัยและอยากรู้ว่า...เกิดอะไรขึ้นกันแน่ และทิศทางก้าวเดินต่อจากนี้ของ “พธม.” จะเป็นอย่างไรต่อไป ในสถานการณ์การเมืองที่มี “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำรัฐบาล มีนายกรัฐมนตรีหญิงที่ชื่อ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ผู้ซึ่งเป็น “โคลนนิ่ง” ของคนที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”
“ไทยอินไซเดอร์” ขอนำไปสนทนากับ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กับทุกคำถามคาใจ ที่เป็นข้อสงสัย พร้อมๆ กับ “ก้าวเดินข้างหน้า” ของ “พธม.” จะเป็นอย่างไร
“อะไร” ทำให้ “เขา” กล้าเตือนถึง “ยิ่งลักษณ์” ว่า...ระวังจะไม่มีแผ่นดินจะอยู่...(เหมือนพี่ชาย)...โปรดติดตาม
Q : เห็นด้วยกับที่หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ว่า ข้อเสนอปรองดอง 6 ข้อ ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะยิ่งเพิ่มความแตกแยกในสังคม
A : มันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะภาคประชาชนจำนวนไม่น้อย ไม่เห็นด้วยกับการทำลายหลักนิติรัฐ-หลักนิติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการที่ศาลตัดสินไปแล้ว ศาลกระทำในพระปรมาภิไธย ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในทางการเมือง ได้พิพากษาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ดินรัชดาฯ หรือกรณีการยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน สิ่งเหล่านี้แม้เป็นกระบวนการที่ฝ่ายคุณทักษิณจะอ้างว่า กระบวนการชั้นการตรวจสอบ คือคตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) นั้น...ไม่ชอบ แต่ถ้าย้อนกลับไปก่อนมีคตส. กระบวนการในการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ต่างตกอยู่ภายในอาณัติของนักการเมืองทั้งสิ้น ไม่สามารถตรวจสอบนักการเมืองได้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อกระบวนการทั้งหลายผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ เข้าสู่ศาลแล้ว คุณทักษิณก็มีสิทธิ์สู้ในกระบวนการศาลได้ แต่ว่าในช่วงที่คุณทักษิณกลับมาประเทศไทย คือในปี 2551 คุณทักษิณให้สัมภาษณ์เองและออกเป็นแถลงการณ์ ว่าจะยอมรับในกระบวนการยุติธรรม เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เพราะว่าบรรยากาศทางการเมืองที่อยู่ใต้บรรยากาศรัฐประหารจึงกลับเข้ามาในประเทศและสู้ขบวนการดังกล่าว แต่ว่าเมื่อถึงเวลาจริง คุณทักษิณไม่ทำอย่างนั้น เพียงเพราะว่าตัวเองไม่พอใจผลคำพิพากษาเท่านั้น
“แสดงว่ามันไม่ใช่เรื่องระบบแล้ว ถ้าเห็นว่าระบบไม่ถูกต้อง กระบวนการตรวจสอบไม่ถูกต้อง ไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับศาล ศาลที่ไม่ถูกต้องอย่างที่เขากล่าวหา หรือเป็นศาลชั้นเดียว ไม่ชอบธรรม ไม่เป็นที่ยอมรับสากล เขาต้องพูดก่อน ก่อนที่จะมีคำพิพากษา แต่ประเด็นเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นตอนที่เขาเป็นผู้ที่จะพิสูจน์ตัวเองใน กระบวนการยุติธรรมเลย ซ้ำร้ายกว่านั้นยังมีขบวนการเอาเงินไปให้สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นจำนวน 2 ล้านบาทผ่านทนายความ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าคุณทักษิณไม่ได้เชื่อกระบวนการยุติธรรมอย่างที่พึงจะเป็น หนำซ้ำยังมีความคิดที่จะทำให้ทนายเข้าไปแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรมอย่างไม่ถูกต้องด้วย ดังนั้นถ้าจะมาล้างผลคดีในอดีต เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ-นิติธรรม”
Q : การหยิบยกคดีของเสื้อเหลืองขึ้นมาเป็นหนึ่งในข้อเสนอ เป็นการนำมาใช้เพื่อต่อรองทางการเมืองเพื่อเป็นประโยชน์ต่อข้อเสนออื่นที่เอื้อให้กับคุณทักษิณใช่หรือไม่
A : ต้องเข้าใจว่า การจะเอาพันธมิตรฯเข้ามาเพียงเพราะว่า ต้องการให้ช่วยคุณทักษิณ ต้องการให้ช่วยนปช.(แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ซึ่งเขารู้ตัวว่าเขากระทำผิดมาก-น้อยแค่ไหน  เขาย่อมรู้ดีอยู่แล้ว ส่วนพันธมิตรฯไม่เคยต้องการเลยที่จะเรียกร้อง แล้วจะมายัดเยียดการนิรโทษกรรมให้กับพันธมิตรฯได้ยังไง พันธมิตรฯเราไม่เคยเห็นด้วยกับกระบวนการในการนิรโทษกรรม โดยเฉพาะการกระทำความผิดใดก็ตามให้ปล่อยเป็นไปตามหลักนิติรัฐ-นิติธรรม ยอมรับเข้าสู่กระบวนการหลักนิติธรรมในการพิพากษา ผู้ที่มิได้กระทำความผิดก็จะได้รับการปล่อยตัวตามกระบวนการยุติธรรม และเป็นผู้บริสุทธิ์ ในขณะที่ผู้กระทำความผิดจำเป็นต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งพันธมิตรฯ นปช. หรือคุณทักษิณก็ตาม
“ไม่อย่างนั้นประเทศไทยก็จะเป็นระบบใหม่ คือระบบที่ใครมีอำนาจต่อรองสูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเมือง หรืออำนาจทางการชุมนุม จะทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะทุจริตคอรัปชั่น หรือเผาบ้านเผาเมือง ก็ไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย ก็แปลว่าไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯหรือใครก็ตามกลายเป็นอภิสิทธิ์ชน ระบบก็จะไปไม่ได้ในอนาคต ประเทศไทยก็จะมีต้นแบบใหม่คือ ใครพยายามสร้างอำนาจต่อรอง ไม่คำนึงถึงกฎหมาย ก็ไม่ต้องถูกลงโทษทางกฎหมาย ถือเป็นชนชั้นพิเศษ กว่าประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งถือเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ และจะสร้างบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตว่า อีกหน่อยใครชุมนุมก็พร้อมเผาบ้านเผาเมืองได้ ใช้ระเบิดใช้อาวุธสงครามอะไรก็ได้ จะทุจริตก็ไม่ต้องกลัว เพราะว่าตัวเองมีเสียงข้างมาก ถือว่ามีอำนาจต่อรองสูงกว่าประชาชนทั่วไป ก็แปลว่าระบบนี้ เป็นระบบเหมือนชนเผ่า ใครมีอาวุธมากกว่า ใครมีพวกมากกว่าคนนั้น ก็ชนะไป ไม่ใช่หลักประชาธิปไตยที่ยึดหลักนิติรัฐ”
Q : วิเคราะห์หรือไม่ว่า เหตุใดข้อเสนอเหล่านี้จึงออกมาช่วงนี้ ทั้งที่ก่อนหน้าเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษเพิ่งถูกกระแสสังคมต่อต้านมาไม่นาน
A : ก็ความคิดคุณทักษิณต้องการกลับประเทศไทยโดยที่ไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องสำนึกผิด แล้วก็ไม่ต้องขออภัยโทษด้วยตัวเอง เพราะเขาหวังทุกอย่าง ทั้งด้านการเมือง หน้าตาตัวเอง ศักดิ์ศรีตัวเอง แล้วก็ไม่ยอมรับสำนึกผิดอะไรทั้งสิ้น ดังนั้นกระบวนการของเขาคือความพยายามที่จะต้องไม่รับผิดอะไรเลย จะสังเกตว่าเขาไม่เคยขอพระราชทานอภัยโทษด้วยตัวเอง และคนในครอบครัวเลย ในทำนองเดียวเมื่อไม่ทำแบบนี้ก็ต้องผ่านขั้นตอนถัดไป คือความพยายามตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ให้เป็นการทั่วไป โดยพยายามครอบคลุมกรณีคุณทักษิณโดยไม่คิดจะมารับโทษแต่วันเดียวด้วย เมื่อถูกจับได้...รัฐบาลก็ถอย จึงเหลือกรณีเดียวคือการออกตราเป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ซึ่งตอนนี้เข้าใจว่ามีความพยายามเปลี่ยนเป็นพระราชบัญญัติปรองดอง ซึ่งเนื้อหาคงไม่แตกต่างกัน ก็คือช่วยคุณทักษิณ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาประสบกับอุปสรรคเยอะเลยเปลี่ยนแผนไปเรื่อย เวลาตอนนี้ก็เช่นเดียวกันเกิดนิรโทษกรรมเมื่อไหร่ ก็ถือว่าเข้าเงื่อนไขที่พันธมิตรฯประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ว่าเราจะออกมาชุมนุมทันที
Q : เป็นการโยนหินถามทางหรือเป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้
A : คงพยายามทดลองหลายๆ ทาง ทำไปอันไหนไม่ได้...ก็ถอย อันไหนมีความเสี่ยง...ก็ถอย เพราะว่าความเสี่ยงนี้มันมีความเสี่ยงถึงขั้นนายกรัฐมนตรี คุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) อาจจะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ก็ได้ ถ้าเกิดมีการเผชิญหน้าระหว่างมวลชนด้วยกัน ความเสี่ยงถึงขั้นนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อคุณทักษิณใช้น้องสาวเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องมีความเสี่ยงหรือเดิมพันสูงมากเช่นเดียวกัน ทำให้การพิจารณาต้องรัดกุม รอบคอบและต้องทบทวนให้ดีหลายครั้ง ถึงเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในเวลานี้
Q : ความเสี่ยงระดับนี้ตัวนายกรับมนตรีเองต้องรับรู้ โดยเฉพาะการที่พันธมิตรฯอาจออกมาเหมือนกรณีอภัยโทษ
A : ใช่ครับ อยู่ที่ประชาชนด้วย ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยเยอะๆ มันไม่เกี่ยวกับ 15 ล้านเสียงเลยนะครับ 15 ล้านเสียงไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของคนในประเทศ แต่เป็นเสียงจำนวนมาก...แน่นอน แต่ 15 ล้านเสียงก็ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยกับทุกเรื่องที่ทำต่อไปในอนาคต เขาอาจเห็นด้วยกับเงินเดือนปริญญาตรีเพิ่มขึ้น 1.5 หมื่นบาท อาจจะเห็นด้วยกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มันไม่ได้แปลว่าเขาเห็นทุกเรื่อง เห็นด้วยกับทุกเรื่องที่คุณทักษิณจะกลับประเทศไทยโดยที่ไม่ต้องรับผิด ซ้ำร้ายกว่านั้นถ้านับ 15 ล้านเสียงแล้ว ต้องเข้าใจว่าประเทศไทยไม่ได้คนแค่ 30 ล้านคนนะ ประเทศไทยมี 65 ล้านคน มีผู้มีสิทธิ์ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 45 ล้านคน 15 ล้านคนที่ยืนข้างคุณทักษิณ ฝั่งเดียวไม่ใช่เสียงข้างมาก เป็นเพียงเสียงส่วนน้อย ส่วนหนึ่งที่มีจำนวนมาก แล้วก็มีคนที่ไม่เอากับคุณทักษิณเลย ไม่ว่าเขาจะเลือกพรรคการเมืองอื่น หรือที่เผชิญหน้าอยู่มากกว่าเสียด้วยซ้ำไป
“แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีมวลชนน้อยกว่าหรือมากกว่า คงไม่สำคัญ ตราบใดที่มวลชนที่ต่อต้านมีปริมาณที่มาก อาจจะใกล้เคียงหรืออาจจะน้อยกว่าก็ได้ แต่มีปริมาณที่มากเทียบกับนปช. หากมีการเผชิญหน้ากันเมื่อไหร่ความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะฝ่ายนปช.เน้นความรุนแรงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็อาจจะเกิดสถานการณ์ปะทะกัน จนทำให้เกิดสถานการณ์ควบคุมไม่ได้ เมื่อถึงเหตุการณ์นั้น คุณยิ่งลักษณ์ต่อให้มีมวลชนมาก 15 ล้านเสียง ก็ไม่ได้แปลว่า จะอยู่ในแผ่นดินไทยได้นะครับ”
Q : ประเด็นการหมิ่นสถาบันที่กลับมาพูดถึงทางสังคมในขณะนี้ จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้พันธมิตรฯออกมาแสดงพลังหรือไม่
A : ผมคิดว่าตอนนี้มันอยู่ที่การดำเนินการของฝ่ายรัฐบาล กรณีการจาบจ้วง หมิ่นสถาบันหรือล้มล้างสถาบัน เราประกาศไว้แล้วว่า เราจะต้องออกมาชุมนุม แต่กรณีที่เกิดขึ้นเสมือนเป็นกระบวนการแวดล้อมที่เกิดขึ้น เช่นเครือข่ายนปช.บางส่วน เครือข่ายรัฐบาลบางกลุ่ม แต่เข้าใจว่ารัฐบาลพยายามแสดงท่าทีในการเอาจริงเอาจังในการที่จะปราบปราม เรื่องนี้ ทำให้เกิดความขัดแย้งกันเอง เช่นกลุ่มอ.ใจ อึ้งภากรณ์ กับฝ่ายรัฐบาล ผมเข้าใจว่าตอนนี้...มันต้องรอ เฝ้าดู เฝ้าระวังสถานการณ์ในการปฏิบัติว่าทำได้จริงหรือไม่ในส่วนของรัฐบาล เมื่อถึงเวลาที่เราเห็นว่ารัฐบาลสมรู้ร่วมคิด รู้เห็นเป็นใจ และไม่ดำเนินการกับกระบวนการดังกล่าว เราก็พร้อมจะออกมาชุมนุมได้ทันทีเหมือนกัน
Q : การที่พันธมิตรฯเงียบเสียง ไม่ได้แปลว่าหายไป หรือมีคนน้อยเลยไม่กล้าออกมาชุมนุมหรือไม่
A : ไม่เกี่ยวเลยครับ น้อยหรือมาก...เราก็เคยชุมนุมโดยที่ไม่มีประชาธิปัตย์มาร่วมเลยมาแล้ว 158 วัน เราก็ทำได้ ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องจำนวน มันเป็นเรื่องของความถูกและความผิดและพันธะสัญญาที่มีไว้กับประชาชน ว่าเราจะทำเรื่องอะไร ไม่ทำเรื่องอะไร เรากำหนดไว้ 2 เรื่องหลังการชุมนุม คือ 1.เรื่องการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.เรื่องนิรโทษกรรมให้คุณทักษิณและพวก เข้า 2 เงื่อนไขนี้เมื่อไหร่ เราก็ชุมนุม ไม่เข้า 2 เกณฑ์นี้ เราก็ใช้กระบวนการอื่นที่สามารถดำเนินการได้ ถ้าเรื่องทุจริตคอรัปชั่นเราก็ไปป.ป.ช. กระทำผิดกฎหมายเราก็ดำเนินการฟ้องศาลปกครอง ดำเนินการผิดรัฐธรรมนูญเราก็ไปยื่นที่ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา อย่างนี้เป็นต้น
Q : วิเคราะห์สถานการณ์ปีหน้าแล้วเชื่อว่าจะเกิดความรุนแรงทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองอย่างที่มีหลายฝ่ายออกมาพูดถึงหรือไม่
A : อยู่ที่รัฐบาล ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น อยู่ที่คุณทักษิณและอยู่ที่คนเสื้อแดงด้วย ไม่ได้อยู่ที่ใครคนอื่นหรอกครับ เงื่อนไขทุกอย่างจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ฝ่ายรัฐบาลย่อมรู้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ในการทำอะไร ไม่ทำอะไร อะไรจะเกิดแล้วอะไรจะไม่เกิดถ้าไม่ทำอะไร เพราะฉะนั้นอยู่ที่ฝ่ายรัฐบาล ไม่ได้อยู่ที่ใครเลยว่าจะสร้างเงื่อนไขหรือไม่
Q : ประเมินรัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน
A : อยู่ที่รัฐบาลจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ถ้าเขาไม่ทำอะไรที่ทำลายหลักนิติรัฐ-นิติธรรม หรือไม่ดำเนินการนิรโทษกรรมให้คุณทักษิณ ไม่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ทุจริตคอรัปชั่น มันก็ไม่เกิดเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการชุมนุม การถอดถอน หรือกระบวนการทางกฎหมายที่ทำให้เกิดความเสี่ยง แต่ถ้าลุแก่อำนาจ กระทำทุกอย่างทั้งจาบจ้วง มีขบวนการล้มล้าง ปล่อยให้มีอำนาจเพิ่มเติมมากขึ้น ไม่มีการดำเนินการอะไร ปล่อยทุจริตคอรัปชั่นหนักๆ ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน และนิรโทษกรรมให้คุณทักษิณมันก็เกิดความขัดแย้งไปโดยปริยาย
Q : รัฐบาลจะไปเพราะม็อบหรือปฏิวัติ หรือทั้ง 2 อย่าง
A : ไม่มีใครทราบ ผมคิดว่าไม่น่าจะมีเงื่อนไขในการปฏิวัติเวลาตอนนี้ คือเรายังไม่เห็นเงื่อนไข เพราะว่าสถานการณ์ตอนนี้ไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นอย่างนั้น ผมไม่คิดว่าทหารจะมีความพร้อมในการที่จะทำรัฐประหารจากนโยบายของผบ.เหล่าทัพ ในเวลาตอนนี้
Q : กรณีกระแสข่าวการติดต่อระหว่างคุณสนธิ ลิ้มทองกุล กับคุณทักษิณ ถึงขนาดว่ามีการรับเงินรับทองกัน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
A : ไม่มี...เป็นข่าวโคมลอย ไม่มีเนื้อหาไม่มีสาระ และไม่มีหลักฐานด้วย เป็นการกล่าวลอยๆ เป็นกระบวนการ ด้านหนึ่งเป็นความพยายามคล้ายๆใช้พันธมิตรฯออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมมากขึ้น โดยหาเหตุว่าถ้าไม่เคลื่อนไหวแปลว่ารับเงินทักษิณ ทั้งๆที่ไม่มีเหตุเลย ไม่มีข้อมูล ไม่มีหลักฐาน อีกด้านหนึ่งมีกระบวนการเห็นว่าพันธมิตรฯไม่ได้ทำเพื่อประชาธิปัตย์ แล้วก็อยากจะทำให้เกิดกระบวนการในลักษณะมีมวลชนของตัวเองที่ทำเพื่อประชาธิปัตย์เป็นการเฉพาะ ก็วิธีง่ายที่สุดคือทำลายความน่าเชื่อถือ อันนี้ก็เกิดขึ้นอยู่แล้วทั่วไปตั้งแต่การชุมนุม 158 วัน ในทำนองเดียวกันก็มีกระบวนการหนึ่ง หวังว่าไม่ต้องการให้ภาคประชาชนสามารถรวมตัวกันได้ ก็ปล่อยข่าวอย่างนี้ ทำให้เกิดความหวาดระแวง
Q : พันธมิตรฯเองเกิดความหวาดระแวงกันเองหรือไม่
A : ไม่มีครับ เพราะเรารู้ สถานภาพเรายังขาดสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินการของเอเอสทีวี พนักงานของเอเอสทีวีเกือบทั้งหมด รับรู้เงื่อนไขนี้ดี เรามีเงินเดือนไม่ตรงเวลา หลายคนก็ไม่ได้รับเงินเดือนมา...โดยเฉพาะผู้บริหาร ไม่ได้รับเงินเดือนมาหลายเดือน เงื่อนไขเหล่านี้เป็นสิ่งที่รับทราบ ได้รับเงินเดือนช้า เงินเดือนน้อยเป็นส่วนๆ จนถึงขั้นเอเอสทีวีจอดับ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าดาวเทียม สิ่งเหล่านี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าเราขาดสภาพคล่อง เพราะว่าถูกใส่ร้าย ไม่มีเงินเข้ามาจริงหรอกครับ ทุกคนยังอยู่ในสถานภาพที่เข้าใจ สู้ด้วยอุดมการณ์ และยืนหยัดอยู่ได้ แม้มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และลำบากกว่าองค์กรอื่นด้วยซ้ำไป
“เรารู้สถานภาพทางการเงินเราเป็นยังไง รู้ว่าการตัดสินใจทั้งหมดในช่วงหลังนี่ ไม่ได้อยู่ที่คุณสนธิเลย ไม่ว่าการเคลื่อนไหว ‘โหวตโน’ การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งคุณสนธิแทบจะตัดสินใจน้อยด้วยซ้ำไป เพราะว่าเป็นการประชุมระหว่างแกนนำหลายคน คุณสนธิมารับรู้และตัดสินใจในตอนท้ายเท่านั้นเอง อย่าลืมว่าเราเคลื่อนไม่ใช่เพราะคุณสนธิเป็นหัวหน้ากลุ่ม เรามีมติแกนนำ เรามีการประชุมกันทุกครั้ง และหลายครั้งระยะหลังๆ คุณสนธิรับทราบข้อมูลหลังจากเราตัดสินใจก็แล้ว แล้วใครจะไปรับทั้งๆที่องค์กรมีคนร่วมหลายสิบคน หลายร้อยหลายพันคน โดยเฉพาะคนระดับนำ มีทั้งคณะกรรมการหลายชุด หรือมีแกนนำทั้ง 4 คน ทั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หรือพนักงานเอเอสทีวีคนเหล่านี้ถูกซื้อได้ยังไงในเมื่อเขายังขาดเงินด้วยซ้ำไป”
Q : ความคิดที่บอกว่าการทำลายคุณสนธิคือการทำลายพันธมิตรฯ ยังใช้ได้อยู่หรือไม่
A : ยังมีความพยายามทำอย่างนั้นอยู่ เพราะเขาเชื่อว่าคุณสนธิมีภาพลักษณ์เป็นผู้นำ และเป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญ การกระทำดังกล่าวก็ทำให้เหมือนกับทำลายกระบวนการไปด้วย มีคนได้ประโยชน์ในการทำลายกระบวนการพันธมิตรฯ เพราะเราไม่ได้เลือกข้างนักการเมืองฝ่ายไหนเลย ทั้งฝั่งคุณทักษิณ ทั้งฝั่งปชป. ทุกวันนี้ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและรุนแรงทั้ง 2 ฝั่ง เพราะฉะนั้นเราก็ถือเป็นอุปสรรคต่อนักการเมืองทุกฝ่ายในเวลานี้ เพราะฉะนั้นการทำลายก็เป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด น่าจะเกิดประโยชน์ที่สุดต่อทุกฝ่ายการเมือง
Q : ถ้าไม่มีพันธมิตรฯ เพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์จะได้ประโยชน์มากกว่ากัน
A : ได้ประโยชน์ทั้งคู่ เพราะเราก็วิจารณ์ทั้งคู่ในการต่อสู้ และก็ชุมนุมขับไล่มาแล้วทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทย  ผมไม่เห็นว่าจะได้ประโยชน์ฝั่งไหนมากกว่าฝั่งไหน
Q : “เพื่อไทย” คือศัตรูที่แท้จริงของพันธมิตรฯหรือไม่
A : “เพื่อไทย” ไม่ใช่ศัตรูที่แท้จริงของพันธมิตรฯ การกระทำที่ทำลายหลักนิติรัฐ ทุจริตคอรัปชั่น และดำเนินการลุอำนาจเข้ามาสู่ตัวเอง ไม่ว่าประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย เหมือนกัน เราจึงไม่ได้มองว่าประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย เป็นศัตรูที่แท้จริง แต่การกระทำของนักการเมืองเหล่านั้นต่างหาก ที่เป็นปัญหาของประเทศ
……………………….

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง