วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554
จับตาสหรัฐอเมริกาประกาศหันกลับสู่เอเชีย
สหรัฐอเมริกาประกาศหันกลับสู่เอเชีย หลังจมอยู่กับสงครามตะวันออกกลางนานกว่า 10 ปี หวังลดอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นักวิชาการชี้ไทยไม่ควรผลีผลาม กระโดดผูกมัดตัวเองร่วมข้อตกลงเศรษฐกิจ แนะรอดูยาวๆ และจัดความสัมพันธ์กับทั้งสองมหาอำนาจให้ดี
โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
หลังจากสหรัฐอเมริกาทุ่มกำลังทางทหาร และงบประมาณจำนวนมหาศาล ลงไปในสงครามตะวันออกกลาง มานานกว่า10 ปี กระทั่งอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาที่เคยมีต่อประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก อ่อนแรงลงเป็นเวลาเดียวกับที่มังกรจีนรุกคืบเข้ามาสู่เอเชียในเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การค้า การคมนาคม ฯลฯ ทำให้ เมื่อสหรัฐฯ ถอนทหารออกจากตะวันออกกลาง สหรัฐฯจึงหันกลับมาให้ความสำคัญกับเอเชียอีกครั้ง ด้วยการประกาศนโยบายกลับคืนสู่เอเชียของอเมริกา หรือ America is back in Asia
และคำพูดของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กล่าวว่า
“สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจในแปซิฟิก และเราจะยังคงอยู่ที่นี่ต่อไป”
ทำไมอเมริกาต้องกลับคืนเอเชีย
ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า คิดว่าสหรัฐฯ ประเมินแล้วว่าที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงก่อนหน้า เป็นการเน้นหนักไปในสิ่งที่เรียกว่า Hard Power ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จหลายเรื่องและนำไปสู่ความเกลียดชัง เช่น กรณีอาฟกานิสถาน วันนี้อาฟกานิสถานบอกว่าจะเชิญตาลีบันกลับมาแล้ว กรณีอิหร่านการเน้นการคว่ำบาตรก็ไม่สามารถกดดันให้เปลี่ยนแปลงอะไรได้และระหว่างที่สหรัฐยุ่งกับเรื่องเหล่านี้อยู่ หลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็ตักตวงและขยายอำนาจอย่างสนุกสนาน เหล่านี้ทำให้อเมริกาต้องมาพิจารณาใหม่ ถ้าสหรัฐฯ ละเลยเอเชียก็มีแนวโน้มค่อนข้างสูงว่า สหรัฐจะไม่สามารถเข้ามาในภูมิภาคนี้เพื่อมีอิทธิพลได้อีกเลย นี่คือสิ่งที่ผมตีความจากกระทำที่ผ่านมาและนโยบายของสหรัฐ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความมุ่งหมายหนึ่งของสหรัฐฯ ที่กลับมาเอเชียอีกครั้งก็เพื่อเข้ามาจัดดุลอำนาจใหม่ หลังจากปล่อยให้จีนมีบทบาทมานาน โดยอาศัยจังหวะที่ฟิลิปปินส์และเวียดนามกำลังมีปัญหาพิพาทกับจีนประเด็นหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ สหรัฐฯ วางตัวเป็นพี่ใหญ่ เพื่อช่วยทั้งสองประเทศเคลียร์ปัญหากับจีน ขณะที่การปฏิรูปการเมืองในพม่าก็มีการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง และพม่าเองก็มีทีท่าที่จะจัดความสัมพันธ์กับจีนใหม่เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าอยู่ใต้อาณัติของจีนจนเกินไป
ทีพีพี ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน
หากมองด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯหอบหิ้วเอาแผนความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือทีพีพี (Trans-Pacific Partnership)มาด้วย เป็นข้อตกลงที่มุ่งลดกำแพงภาษี ลดความยุ่งยากในระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ระเบียบของรัฐวิสาหกิจ และการปกป้องสิทธิบัตรทางปัญญา ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 9 ประเทศ ได้แก่ ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สหรัฐ เวียดนาม มาเลเซีย เปรู แน่นอนว่า ในทางหนึ่งสหรัฐฯ หวังให้ข้อตกลงนี้จะช่วยลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจในประเทศของตน
ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานและแผนงานประเทศไทย โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจมากนัก เพราะการกลับมาของสหรัฐฯ มุ่งเน้นไปที่เรื่องการเมืองและการจัดดุลอำนาจในภูมิภาค ส่วนเศรษฐกิจจะเป็นผลพลอยได้ตามมาแม้ว่าสหรัฐฯ จะหยิบยกทีพีพีขึ้นมาเจรจาด้วยก็ตาม ทว่า ประเด็นที่จักรชัยกังวลก็คือ มุมมองของผู้วางนโยบายของประเทศไทยว่ามีความเข้าใจสถานการณ์มากน้อยเพียงใด
“ทีพีพีก็ที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สหรัฐใช้เป็นจุดขายและพยายามขายในบ้านตัวเองด้วย เพราะเขาพยายามชี้ว่าจะมาถ่วงดุลกับจีน ผมก็ยังมองเป็นเรื่องการเมืองอีก เพราะข้อตกลงในเอฟทีเอต่างๆ ก็เหมือนกัน อเมริกาก็เรียกร้องสิ่งนี้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ถามว่าถ้าอเมริกาต้องการเข้ามาลงทุนหรือค้าขายในไทยมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีเอฟทีเอหรอกครับ บีโอไอก็เปิดให้อยู่แล้ว
“ทีนี้ ถ้าผู้กำหนดนโยบายเห็นว่าอเมริกากลับมาทำเขตการค้าเสรีผ่านทีพีพี แล้วมองว่าถ้าไทยไม่กระโดดร่วมขบวนจะทำให้เสียโอกาส วิธีการแบบนี้ผมว่าต้องมองให้ดี เราเองกำลังจะเปิดเขตการค้าเสรีกับอาเซียนซึ่งค่อนข้างเข้มข้นมากขึ้น การที่จะไปแตะกับประเทศใหญ่อย่างอเมริกาและยุโรปในช่วงเวลาแบบนี้ อาจทำให้เราไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องพิจารณาอย่างถ้วนถี่”
นายจักรชัย โฉมทองดี ยกตัวอย่างการเยือนพม่าของนางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศ สหรัฐฯ ในรอบ 50 ปี อาจทำให้ประเทศตะวันตกมองว่า โอกาสทางเศรษฐกิจในภูมิภาคกำลังเปิดกว้างมากขึ้น แล้วไทยมองว่าพม่าเป็นคู่แข่ง จนรู้สึกกดดันตนเองว่าจะต้องเปิดให้อเมริกาเข้ามาลงทุนได้ง่ายขึ้น แทนที่จะไปพม่า นายจักรชัยมองว่าวิธีคิดแบบนี้ค่อนข้างสุ่มเสี่ยง
ไทยอยู่ขั้วใคร‘สหรัฐฯ-จีน’
น่าสนใจที่ว่า ประเทศไทยจะวางตัวอย่างไร ต่อการกลับคืนสู่เอเชียของสหรัฐ ผศ.สุรัตน์ กล่าวว่า ก่อนที่ไปถึงจุดนั้น จำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ชัดก่อนว่า อเมริกากลับมาครั้งนี้จะยั่งยืนแค่ไหน โดยจากสิ่งที่สหรัฐฯ จะทำต่อไป เนื่องจากในเชิงภูมิศาสตร์ห่างไกลจากเอเชียมากเมื่อเทียบกับจีน
“ยุทธศาสตร์ของไทยควรเป็นแบบไหน อย่างที่ผมให้สัมภาษณ์มาโดยตลอด ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศใหญ่ที่จะต้องมีนโยบายใดที่ชัดเจนต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง เราจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควร ดังนั้น ถ้าสหรัฐอยากเข้ามามีความสัมพันธ์ เขาก็ต้องใช้ Soft Powerซึ่งมีเยอะแยะ สังคมไทยต้องการสิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยี การส่งออก ที่เชื่อมโยงกับอาเซียน ย่อมมีประโยชน์ที่เราจะตักตวงได้เพิ่มเติมแน่นอน จุดนี้ถ้าเราวางตัวให้ดี แล้วเราบอกว่าคุณก็พี่ใหญ่ จีนก็พี่ใหญ่ เราต้องมองจากโลกแห่งความเป็นจริง ตรงไหนดี เราก็ดำเนินต่อไป แต่ถ้าตรงไหนที่ทั้งสองประเทศล้ำเส้นเข้ามาเรื่อยๆ เราก็อาจต้องบอกไป”
ด้านการจัดดุลความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ-จีน นายจักรชัยเห็นว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจุดแข็งที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวมายาวนานคือการสร้างสมดุลอำนาจระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เขาจึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
อีกทั้งนายจักรชัยไม่คิดว่า ประเทศไทยจะเป็นจุดโฟกัสของสหรัฐฯ เพราะหากมองความเคลื่อนไหวในภูมิภาค อำนาจทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียและฐานะประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก, ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่ฟิลิปปินส์และเวียนนามมีอยู่กับจีน และการปฏิรูปการเมืองในพม่า ดูจะเป็นที่สนใจของสหรัฐฯ มากกว่าไทย
อย่างไรก็ตาม ผศ.สุรัตน์ เห็นว่ายังไม่ควรด่วนสรุปต่อประเด็นความสำคัญของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะถ้าเอ่ยถึงกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ถือว่ามีความก้าวหน้าที่สุด ซึ่งอย่างน้อยก็สอดคล้องกับแนวคิดการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ
อีกประการหนึ่ง ประเทศไทยเป็นสมาชิกอาเซียนที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะไม่มีขนาดตลาดใหญ่เท่าอินโดนีเซียหรือสร้างผลิตภาพได้มากเท่าสิงคโปร์หรือมาเลเซีย แต่ต้องไม่ลืมว่าการตัดสินใจของอาเซียนอยู่บนพื้นฐานของฉันทานุมัติ เพราะฉะนั้นในภาพใหญ่แล้วจะมองแยกประเทศไม่ได้ ยิ่งในปี 2558 ที่จะมีการเปิดเขตเสรีการค้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (ASEAN Economic Community) การตัดสินใจต่างๆ ของอาเซียนย่อมส่งผลถึงกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทุกๆ การเคลื่อนไหวของประเทศมหาอำนาจที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญระดับโลกที่ทุกฝ่ายต่างต้องการมีอิทธิพล แน่นอนว่าประเทศเล็กๆ อย่างไทยย่อมเลี่ยงผลกระทบได้ยาก ดังนั้น การที่เราจะสามารถตักตวงผลประโยชน์ได้แค่ไหนก็คงขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลเป็นสำคัญ
ภาพจาก www.matichon.co.th
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น