“เหตุการณ์หลังจากนี้ จะเป็น 2 ทางคือ ทางหนึ่ง นักสันติภาพมุ่งปรองดองสมานฉันท์ก็คงจะเร่งมือทำงาน แต่ขณะเดียวกันถ้าพวกนั้นทำงานไม่สำเร็จ ผมเชื่อว่าสงครามกลางเมืองก็จะเกิด”บ่าย “วันที่ 7 ธันวาคม 2554” เกิดเหตุวางระเบิด ขึ้นบริเวณ “ถนนราชดำเนิน” ถนนสายสำคัญทางการเมือง กลางกรุงเทพมหานคร
จากนั้น เช้ามืดวันที่ 16 ธันวาคม 2554 เกิดเหตุวางระเบิดอีกครั้ง ในย่าน “อ่อนนุช” และ “ลาดกระบัง”
แม้จนขณะนี้ยังไม่มีใคร ทราบถึง เบื้องลึก-เบื้องหลัง ที่แท้จริง ของเหตุการณ์วางระเบิดป่วนเมืองครั้งนี้อย่างชัดเจน
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ทำให้อุณหภูมิการเมือง ที่ดูเหมือนจะสงบนิ่งลงไปช่วงก่อนหน้านี้ กลับมาครุกรุ่นขึ้นอีกครั้ง
โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังสาละวนอยู่กับ ข่าวคราวความพยายามช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย
ไม่ว่าจะเป็นประเด็น การคืนหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศ หรือการประกาศจะผลักดันพ.ร.บ.ปรองดองของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
กระทั่งล่าสุด การเตรียมการที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อรื้อบทบัญญัติที่ “คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” บรรจุเอาไว้ ก็ยิ่งกลายเป็นเชื้อปะทุที่สุมเข้าสู่ความขัดแย้งยิ่งระอุ
“วีระกานต์ มุสิกพงศ์” อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แกนนำคนสำคัญของ “มวลชนคนเสื้อแดง” ซึ่งเป็นหัวขบวนในการก่อตั้ง ชี้นำ ขับเคลื่อนและปล่อยมือออกจากมวลชนคนเสื้อแดงไปชั่วระยะหนึ่งที่ความขัดแย้ง รุนแรงอย่างหนัก ได้ประเมินสถานการณ์ให้สำนักข่าวไทยพับลิก้าว่าวิกฤติความขัดแย้งของสังคม ไทย ได้มาถึงจุดสำคัญ ที่คนไทย มี “ทางเลือก” 2 ทาง คือ 1. หนทาง “ปรองดอง” กับ 2.ความรุนแรงจาก “สงครามกลางเมือง” ที่จะเกิดขึ้นในท้ายที่สุด
ในมุมมองของคนเสื้อแดงแบบเขา “2 ทางเลือก” ดังกล่าว ดูเหมือนจะเหลือ “ทางออก” เพียงหนทางเดียว
…ปัญหาการปรองดองเนี่ยเป็นปัญหาปรากฎการณ์ที่ทุกฝ่ายก็มองเห็น แล้วทุกฝ่ายก็ดูเหมือนจะวิตกว่าถ้าประเทศไทยยังไม่มีการปรองดอง สมานฉันท์กันอย่างแท้จริง การพัฒนาด้านอื่นๆจะเกิดขึ้นไม่ได้ แล้วประเทศก็จะค่อยๆล้าหลังไปทีละน้อยๆ สุดท้ายก็จะกลายเป็นประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งหนีไม่พ้น … คนที่ตระหนักในปัญหานี้จึงพยายามเสนอแนวทางให้ปรองดองกันเสียก่อน ซึ่งก็มีการเสนอกันหลายกลุ่ม…หลายกลุ่ม (พูดซ้ำพร้อมพยักหน้า) แต่มาจนถึงบัดนี้ต้องยอมรับว่า ดูแนวทางการปรองดองยังเป็นจริงได้ยาก ทั้งๆที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เป็นองค์กรที่เขาตั้งขึ้นมามอบหน้าที่ให้เสนอแนวทางเรื่องนี้โดยตรง”
ผมเองก็ศรัทธาต่อคณะทำงานใน คอป. เพราะเชื่อว่าเขาเป็นกลาง และเสนอสิ่งที่เป็นกลาง โดยไม่มีการลำเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเขาพยายามจะแก้ไขปัญหา แต่แนวทางที่เขาเสนอมานั้นมันปฏิบัติยาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเขาทำใจยังไม่ค่อยจะได้หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ก็เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง
คนเสื้อแดง จริงๆ ก็ต้องการความปรองดองหรือสมานฉันท์ ไม่ใช่ว่าคนเสื้อแดงจะต้องการความวุ่นวายหรือความแตกแยก แต่ความสมานฉันท์ในความคิดของคนเสื้อแดง จะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของประเทศที่จะต้องเป็นประชาธิปไตย กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์และเสมอภาค ซึ่งถ้าไม่ยืนอยู่ตรงนี้มันก็สมานฉันท์กันไม่ได้
ขณะเดียวกันถ้ามองไปที่พรรคประชาธิปัตย์ หรือกลุ่มคนเสื้อหลากสี ที่รวมเอาพวกเสื้อเหลือง ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเอาไว้ด้วย คนพวกนี้ก็ต่อต้านสิ่งที่คนเสื้อแดงเสนอเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากคิดว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคุณทักษิณ
“ตกลงว่าจุดนัดพบของทั้งสองฝ่าย ถึงวันนี้มันยังไม่มี ทีนี้มันก็จะเกิดปัญหา เหมือนกับที่ อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม (นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์) เคยบอกเอาไว้ว่า ประเทศไทยคงจะเลี่ยงสงครามกลางเมืองไม่พ้น ดูแล้วแนวโน้มที่จะปรองดองสมานฉันท์จะไม่สำเร็จ เพราะติดขัดเรื่องปลีกย่อยกันอยู่ จนกระทั่งในที่สุดก็ไปสู่สงครามกลางเมือง แล้วก็ยังทายไม่ถูกว่าเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาแล้วจะเกิดอะไรตามมา ต่อไป…
…ผมเองก็ไม่ใช่ว่าจะมองไม่เห็นนะ ผมก็มองเห็นว่าเหตุการณ์หลังจากนี้ จะเป็น 2 ทางคือ ทางหนึ่ง นักสันติภาพ มุ่งปรองดองสมานฉันท์ก็คงจะเร่งมือทำงาน แต่ขณะเดียวกันถ้าพวกนั้นทำงานไม่สำเร็จ ผมเชื่อว่าสงครามกลางเมืองก็จะเกิด”
ไทยพับลิก้า : เพราะอะไรถึงมองว่าสถานการณ์มันใกล้ถึงจุดที่จะไปสู่สงครามกลางเมืองแล้ว
เพราะตอนนี้ทั้งสองฝ่ายมันยังแข็งกันอยู่ ผมไม่รู้และไม่พูดว่าใครผิดใครถูกหรอกนะ แต่ทั้งสองฝ่าย ต่างคนก็ต่างยืนหยัดในจุดยืนอยู่เหมือนเดิม คนเสื้อแดงมีความเห็นว่าถ้าได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย นี่แหละคือแนวทางปรองดองสมานฉันท์ แต่คนอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า ไม่ใช่…ต้องเอารัฐธรรมนูญ 2550 ดังนั้นถ้ายังยืนหยัดกันอยู่อย่างนั้น และไม่ยอมรับในวิธีการของรัฐสภา ที่เราจะต้องให้รัฐสภาทำงาน หากเสียงข้างมากว่าอย่างไร เราก็น่าจะไปตามนั้น ถ้าไม่ยอมรับรัฐสภา เราก็ไปที่สงคราม นี่มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น
ไทยพับลิก้า : เมื่อเห็นว่าโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามกลางเมืองมันมีอยู่ เพราะอะไรคนเสื้อแดง จึงไม่ยอมถอยสักก้าว เพื่อลดปัจจัยที่จะนำไปสู่ความรุนแรงนั้น
สงครามเนี่ย…ไม่ได้มีมูลเหตุมาจากคนเสื้อแดงนะ แต่ผมก็ต้องบอกว่า ผมก็ไม่เข้าใจฝั่งตรงกันข้ามที่เขามองปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญ ไปผูกไว้กับคุณทักษิณ ว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ประโยชน์จะได้กับคุณทักษิณคนเดียว ข้อนี้ผมรับเหตุผลไม่ได้ เพราะเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรมต่างๆ เป็นเรื่องของคน 64 ล้าน ไม่ใช่เรื่องของคุณทักษิณ คุณทักษิณเป็นหนึ่งใน 64 ล้าน แต่พวกนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ แล้วทำไมไม่มองผมบ้าง ผมเป็นผู้เสียหายจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมไม่ได้ทำผิด แต่ก็สูญเสียโอกาสทางการเมือง ที่จะได้เป็น ส.ส.แล้วอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร
ไทยพับลิก้า : เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นทั้งหมด แล้วประเมินว่าโอกาสที่จะเดินไปสู่การปรองดอง กับการไปสู่สงครามกลางเมือง มันมีโอกาสไปทางไหนมากกว่ากัน
ยัง 50-50 อยู่ ทางที่จะไม่เกิดสงครามกลางเมือง ก็คือว่าต้องยอมรับรัฐสภา ให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินปัญหา โดยรัฐสภาจะฟังเสียงประชาชนเสียอีกรอบก็ได้ แต่ถ้าแม้นจะไม่ฟังเสียงประชาชนอีกก็ได้ เพราะกว่าจะผ่านการผ่านการเลือกตั้ง เราได้พูดเรื่องนี้กันมาพอแรงแล้ว พูดกันมาตลอดเวลาในการหาเสียงแล้ว ก็สามารถจะทำหน้าที่ได้เลยในฐานะของผู้แทนปวงชน แต่ถ้าจะบอกว่าเพื่อให้แน่ใจจะขอทำประชามติอีกก็ได้ ก็ลองว่ากันมาแล้วก็ลองทำ แต่ถ้าเลือกเดินวิธีนี้ก็จะไม่ไปสู่สงคราม แต่ถ้าไม่เดินในวิธีของรัฐสภา มันก็หนีไม่พ้น
“แม้วันนี้ผมจะไม่ได้อยู่ในฐานะของผู้นำ แต่ก็ยังเดินสายพูดกับมวลชนว่าเราต้องเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วก็ต้องหาฉบับใหม่ และพวกเราก็ยังทำอยู่ แล้วก็จะทำเรื่อยๆ เผลอๆ ปีหน้า (พ.ศ.2555) จะเป็นปีที่เราจะรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญเต็มทั้งปี เพราะนี่มัน 80 ปีหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475) มาถึงเวลาแล้วที่เราต้องรณรงค์ใหญ่ ไปทุกจังหวัด ไปตั้งเวทีพูดจาปราศรัย จริงๆ หน้าที่นี้ควรเป็นหน้าที่รัฐบาล แต่ถ้ารัฐบาลไม่ทำ เราก็ต้องทำ”
วันนี้ก็เหมือนว่ารัฐบาลยังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรแน่ พรรคเพื่อไทยบางคนก็บอกว่าต้องตั้ง ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) บางคนก็บอกว่าจะต้องประชามติ นี่หมายความว่าในพรรคเพื่อไทยเอง ก็ยังหาความชัดเจนไม่ได้ ทั้งๆที่จริงแล้ว พรรคเพื่อไทยเองควรกระฉับกระเฉงมากกว่านี้ เอาใจใส่กับเรื่องเหล่านี้ให้มากกว่าที่กำลังเป็นอยู่ แล้วรีบสรุปเสีย เพราะแนวทางของประชาชนคือถ้ายังไม่มีใครทำ คนเสื้อแดงก็จะเข้าชื่อกันให้เกิน 50,000 คน ส่งรัฐสภา ก็ต้องขอร้องว่าพรรคเพื่อไทยที่อยู่ในรัฐสภาเร็วหน่อย อย่าไปแช่เย็น เพราะถ้าช้าจะขาดไมตรีกับคนเสื้อแดง จะกลายเป็นว่าคุณไม่ใช่พวกผม แล้วผมก็จะไม่ใช่พวกคุณขึ้นมาบ้าง
ไทยพับลิก้า : ความเสี่ยง 50-50 เลยหรือ
รัฐธรรมนูญเป็นของดี ถ้าได้รัฐธรรมนูญที่ดี แล้วก็มีหลักการที่เป็นประชาธิปไตย ก็จะปลดล็อคความรุนแรงในสังคมได้ ทุกฝ่ายจะต้องมาพูดจากันแล้ว ต้องถามกันว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย กับรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเนี่ยจะเอาอย่างไหน รัฐธรรมนูญ 2550 มีหลักการหลายข้อที่ขัดหลักประชาธิปไตย แล้วเราจะเก็บเอาไว้ทำไม เท่าที่ฟังดูเหตุผลของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้นมีเหตุผลเดียวคือถ้ารัฐธรรมนูญ เป็นประชาธิปไตยแล้วคุณทักษิณ จะได้ประโยชน์ ผมว่าพวกนี้มันติดในเรื่องตัวบุคคล อคติกับคนๆ เดียว เขามากล่าวหาพวกแก้รัฐธรรมนูญว่าแก้เพื่อคนๆ เดียว ผมก็อยากตอบเขาว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้นแก้เพื่อคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่อคุณทักษิณ แต่คุณทักษิณ ในฐานะคนไทยคนหนึ่งก็อาจจะได้ประโยชน์ ส่วนพวกเขาที่คัดค้านก็เพราะต้องการกีดกันคนๆ เดียว
ไทยพับลิก้า: ถ้าประเมินจากสถานการณ์การเมืองที่บอกว่ายัง 50-50 แล้วโอกาสการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ จะมีอยู่เท่าไร
อย่างน้อยมันก็ดีกว่าสงครามประชาชน …
คุณอย่าลืมดูประวัติศาสตร์นะ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ คุณไม่ให้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เมื่อประชาชนเรียกร้องก็เกิดสงครามกลางเมือง เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เราก็เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย คุณก็ไม่สนองตอบ ก็สงครามกลางเมือง … 4 ปีมานี้ที่หาความสงบสุขกันไม่ได้ก็เพราะเรื่องนี้อีก ปี 2555 ก็จะเป็นปีที่คนเสื้อแดงจะได้ออกมาเรียกร้องกันทั่วประเทศอีก ซึ่งมันก็มีสัญญาณดีอยู่บ้างที่เรามีรัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถ้ารัฐสภาไม่สนใจมันก็อาจจะไปสู่หนทางที่ไม่มีใครปรารถนา แต่ในที่สุดมันก็จะต้องเกิดขึ้น
ขอให้มีการขับเคลื่อนและลงมือทำเรื่องนี้ จะเสร็จเมื่อไรก็ไม่เป็นไร เพราะมันจะทำให้ความรู้สึกที่จะใช้กำลังเข้าหักหาญกันมันจะลดลงไป
ไทยพับลิก้า : หากสัญญาณดีที่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สัญญาณจากเสียงระเบิด ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ดูเหมือนไม่ค่อยจะดีเท่าไร
ไม่มีปัญหาหรอก… เสียงระเบิดมันเรื่องเล็ก ก่อนหน้านี้เสียงระเบิดก็เกิดมามากมาย ก่ายกองนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว สมัยพล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ) เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีเสียงระเบิดเกิดขึ้นทั้งเมือง ระเบิดกรุงเทพฯ ช่วงนี้ก็มีบ้างประปราย มันยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ถ้าเราไปทำมันให้ ทางที่หนึ่งตัน มันก็ต้องไปทางที่สอง แต่ถ้าทางที่หนึ่งไม่ตัน ทางที่สองมันก็ไม่เกิด
ไทยพับลิก้า : ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ยอมถอย ฝ่ายเสื้อแดงจะยอมถอยบ้างเพื่อไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง
เป็นไปไม่ได้เลย…เป็นไปไม่ได้เลย (พูดซ้ำ) ก็ลองไปถามคน 14 ตุลาฯ ดูสิว่าไม่เอารัฐธรรมนูญได้ไหม กลับบ้านไปเสีย ให้จอมพลถนอม (กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี) บริหารประเทศต่อไป คน 14 ตุลาฯก็ไม่ยอม ไอ้พวกที่มาเดินขบวนตอนพฤษภาทมิฬก็เหมือนกัน ไปเกลี้ยกล่อมว่ากลับบ้านไป…อย่าเอาเลยรัฐธรรมนูญ เขาก็ไม่ยอม ก็เช่นเดียวกับเวลานี้ ไม่มีทางยอม … มันก็ต้องแก้ ถ้าไม่แก้ก็ต้องทำสงคราม และทุกประเทศในโลกก็จะเป็นอย่างนี้
ไทยพับลิก้า : พูดอย่างนี้ จะถูกแปลความว่าข่มขู่
มันก็ช่วยไม่ได้ (ตอบสวนทันที) มันช่วยไม่ได้ เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องขู่หรือไม่ขู่ แต่มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วในสังคม
ไทยพับลิก้า : มวลชนเสื้อแดงที่ดูเหมือนจะอ่อนกำลังลง หลังพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล ยังไม่มีเอกภาพเพียงพอ จะไปผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือ
ที่เขาเคลื่อนไหววันนี้ก็ยังสะเปะสะปะอยู่ แต่หลักใหญ่ที่เราได้เสนอ คืออย่าลืมต้นกำเนิดเสื้อแดง สิ่งนี้ก็ยังรับกันได้ทุกฝ่าย คือภารกิจหลักที่ต้องทำคือเอารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทุกกลุ่มเสื้อแดงนั้นยังเอาด้วย นอกเสียจากแดงปลอม
ไทยพับลิก้า : ถ้าจะนำไปสู่การปรองดองให้สำเร็จนั้นควรจะวางโร๊ดแม็ปกันอย่างไร
จริงๆ คือควรทำตาม คอป. เราก็ศรัทธา คอป. เพราะเชื่อว่าเป็นคนกลางๆ แล้วสิ่งที่เขานำเสนอก็เป็นสิ่งที่รับได้ เพราะฉะนั้นโร๊ดแม็ปของ คอป. นั้นดีที่สุด เพราะตั้งแต่ตั้งขึ้นและยังดำรงอยู่มาถึงขณะนี้ ทุกฝ่ายก็รับได้ แล้วเหตุไฉนจะไม่รับข้อเสนอของเขา
ข้อเสนอของ คอป.ก็ทำได้ทันที และทำได้จริง อย่างขั้นแรกที่เสนอว่าให้ประกันตัวผู้ต้องโทษทางการเมืองเสีย เนี่ย…นำไปสู่การปรองดองได้ แต่จุดสุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญนะ เพราะมันต้องย้อนกลับมาว่ารัฐธรรมนูญนี้มีหลักการที่สอดคล้องกับประชาธิปไตย หรือยัง
ไทยพับลิก้า : ประเมินกำลังฝ่ายต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้อย่างไร
ถ้าไม่ใช้เหตุผลเข้าต่อสู้กันมันก็จะไปสู่ความรุนแรงและนำไปสู่สงคราม แล้วฝ่ายแดง ก็จะเป็นฝ่ายสูญเสียไปเรื่อยๆ เขาจะยอมหรือ … หรือถ้าจะยึดอำนาจ พวกที่ต่อต้านการยึดอำนาจก็จะออกมาต่อต้าน แต่นั่นแหละจะเร่งสงครามกลางเมือง เพราะคนเขาไม่ยอมกันอีกแล้ว ที่สำคัญคืออยากให้พรรคเพื่อไทยกระฉับกระเฉง ให้มันมีประสิทธิภาพ อย่าย๊อกๆ แย๊กๆ หน่อมแน้มๆ มันดูไม่สวย จริงๆ แก้รัฐธรรมนูญมันไม่ยาก ลงมติกันได้ก็เสนอได้เลย ชื่อก็พออยู่แล้ว ที่ผ่านมาไม่ใช่เราไม่เคยแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ สมัยคุณบรรหาร (ศิลปอาชา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา)ก็แก้ไขด้วยวิธีสันติ ก็ได้มาเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 ครั้งนี้ก็อาจจะคล้ายๆ ครั้งนั้นแหละ แต่ถ้าฝ่ายตรงมันจะหักกันเลย ระหว่างนั้นก็ช่วยไม่ได้ คล้ายๆกับว่า คนไทยจะเอาทางเลือกที่สองก็เอาสิ ! คิดว่ารบกันอยู่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ยังไม่พอ จะไปรบกันในขอบเขตทั่วประเทศเลยหรอ
ไทยพับลิก้า : รัฐบาลอาจจะกลัว ฝ่ายต่อต้านหรือเป็นห่วงผลกระทบจากอำนาจบางอย่าง
ไม่รู้สิ ก็แล้วแต่เขา แล้วเขาจะมานั่งอยู่อย่างนี้ จนครบ 4 ปีโดยไม่คิดจะแก้ไขหรือ …เพราะกลัวไอ้คนพวกนั้นแล้วประชาชนพวกไหนเขาจะยอม แล้วถ้าไปคิดแบบรัฐบาลคุณสมัคร สุนทรเวช หรือไปทำตามรัฐบาลคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สุดท้ายก็เรียบร้อยเหมือนเดิม
“รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ไม่ได้ทำอะไรเลย มัวแต่ห่วงหน้าพะวงหลังอยู่อย่างนั้น จะแก้รัฐธรรมนูญก็บอกว่าจะขออยู่ให้ครบ 4 ปีก่อนแล้วค่อยแก้ แต่ตอนไปเลือกตั้งก็ไปบอกประชาชนเขาว่าเข้าไปจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที สุดท้ายเป็นอย่างไร…วันนี้เราเห็นใจรัฐบาลที่ต้องไปฟัดกับน้ำอยู่ 2 เดือน จากนี้ไปต้องตั้งหลักให้ได้ และมีสมาธิกับการแก้ไขปัญหา เมื่อเสร็จภารกิจเรื่องน้ำ แล้วยังไม่ขยับเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็เตรียมซ้ำรอยเดิมเถอะ…วันนี้มีฐานประชาชนแล้วถ้าไม่ใช้ฐานประชาชน ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างประชาธิปไตย เวลาถูกโค่นล้มไปแล้วก็จะมานั่งเสียดายกันทีหลังอีก”
“วีระกานต์” … เรา (เสื้อแดง) จะกลับสู่ “จุดกำเนิด”
“ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเสื้อแดงไม่เป็นเอกภาพ เพราะการต่อสู้ของคนเสื้อแดงนั้นเป้าหมายไม่ตรงกันทั้งหมด กลุ่มหนึ่งอยากได้ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกส่วนก็อยากได้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ส่วนก็อยากได้ประชาธิไปไตย ดังนั้นการกลับไปอธิบายกันให้ชัดเจนว่าร่มใหญ่ของเราคือประชาธิปไตย ถ้าคุณได้ประชาธิปไตยมา อย่างอื่นที่คุณปรารถนามันก็ได้ทั้งนั้น”
สัญญาณความสูญเสีย ในฉากสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง บริเวณสี่แยกราชประสงค์ในเดือน “พฤษภาคม 2553” เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อ“วีระกานต์” หรือ “วีระ มุสิกพงศ์” ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งถือเป็นหัวหน้าขบวนการ “เสื้อแดง” ความคิดเห็นไม่ตรงกับ “แกนนำคนเสื้อแดง” คนอื่นๆ
“วีระ” ในฐานะตัวแทนการเจรจากับฝ่ายรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยืนยันกับแกนนำคนเสื้อแดงว่าควรจะให้มวลชนยอมรับข้อเสนอของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี” ที่จะยุบสภาภายในเดือน “พฤศจิกายน 2553” ด้วยการยุติการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ แล้วแยกย้ายกันกลับบ้านด้วยความปลอดภัย
ขณะที่แกนนำคนเสื้อแดงอีกส่วนหนึ่งกลับเห็นว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ “นายกรัฐมนตรี” ควรจะแสดงความรับผิดชอบทางกฎหมาย ก่อนที่จะมีการยุติการชุมนุม
“วีระ” จึงตัดสินใจ แสดงความรับผิดชอบในฐานะ “ผู้เจรจา” ด้วยการยุติบทบาทตัวเองไปแบบเงียบๆ ผ่าน “จดหมาย” ที่ “ก่อแก้ว พิกุลทอง” แกนนำคนเสื้อแดง อีกคนได้อ่านให้ “แกนนำ” คนอื่นๆ รับรู้พร้อมกัน ใน “ห้องประชุมตู้คอนเทรนเนอร์” หลังเวทีการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ ก่อนเกิดเหตุสลายการชุมนุม “19 พฤษาภาคม 2553” ไม่กี่ชั่วโมง
เนื้อความในจดหมายระบุถึง “ขบวนรถไฟคนเสื้อแดง” ที่มีเป้าหมายที่ “สถานีประชาธิปไตย” ซึ่งเขาอุปมาอุปไมยกับ “สถานีรถไฟหัวลำโพง” อันเป็นปลายทาง
“…ขบวนรถไฟคนเสื้อแดง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ได้เดินทางมาจากสถานีรถไฟต่าง ๆจนขณะนี้มาถึง สถานีบางซื่อแล้ว อีกไม่ไกลนักก็จะถึงจุดหมายปลายทางที่สถานีรถไฟหัวลำโพง….
…แต่การจะแล่นต่อไป ผมเห็นว่าจะเกิดการฆ่ากันและมีการสูญเสียเกิดขึ้นอีกมาก ผมในฐานะที่ทำหน้าที่นำขบวนรถไฟขบวนนี้มาตั้งแต่ต้น จึงเห็นควรที่จะหยุดการตายและความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยหยุดขบวนรถไฟเขาไว้เสียแต่ตรงนี้ก่อน”
“วีระกานต์” เล่าว่า จดหมายฉบับนั้น เขาระบุชัดเจนว่า หากพี่น้องเสื้อแดงคนอื่นๆ ต้องการที่จะขึ้นมาขับแทนเขา เพื่อให้รถไฟได้แล่นต่อไป
เขาก็พร้อมที่จะ “ยกมือขอลงที่สถานีรถไฟบางซื่อ” พร้อมกับอวยพรให้คนที่ต้องการเดินทางต่อให้ปลอดภัย !
สุดท้าย “คำทำนาย” ของเขาในวันนั้น ก็ได้รับการพิสูจน์ จากจำนวนผู้เสียชีวิต “91ศพ” ที่ยังเป็นปัญญามาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อ “วีระ” โบกมือลาจากแกนนำคนเสื้อแดง ในระหว่างการชุมนุม เขาก็ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง “ประธาน นปช.” อย่างเป็นทางการ
ระยะเวลาผ่านมาจากวันนั้น (พฤษภาคม 2553) ถึงวันนี้ (ธันวาคม 2554) “วีระ” มองว่า คนเสื้อแดงยังมีจำนวนมาก ซึ่งมากกว่ากลุ่มการเมืองทุกกลุ่ม แต่นั่นก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่อง “เอกภาพ” และ “พลัง”
“บังเอิญช่วงนั้น (หลังพฤษภาคม 2553) แกนนำคนเสื้อแดงไปติดตารางกันเสียมาก ก็เลยไม่เหลือตัวที่จะมานำ ส่วนหนึ่งก็หนีไปต่างประเทศเสียอีก จึงมีการคิดอ่านกันให้ตั้งแกนนำชั่วคราว ซึ่งก็ได้ อาจารย์ธิดา โตจิราการ มาเป็นประธาน นปช.ชั่วคราว ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่าเหมาะสมดีกับสถานการณ์ เพราะอาจารย์ธิดา เป็นผู้หญิง เข้ามารักษาการประธาน นปช. ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรงช่วงนั้นก็เหมาะสมดี…
…จะมีข้อเสียก็ตรงที่ แกนนำในชุดรักษาการ อาจจะไม่ใช่คนที่มีคุณวุฒิสักเท่าไร ก็ต้องยอมรับว่า องค์กรนำอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในภาวะที่องค์กรนำอ่อนแอลง มวลชนเสื้อแดงที่มีเยอะและกระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ละกลุ่มก็เคลื่อนไหวกันเอง ก็เกิดความสับสน คนละทิศคนละทาง”
นั่นเป็นสถานการณ์ของคนเสื้อแดง ที่ต่อเนื่องมาจนถึงจบศึกเลือกตั้ง “กรกฎาคม 2554”
ที่แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งมาด้วย “พลังของคนเสื้อแดง” แต่ “มวลชนคนเสื้อแดง” ก็ไม่ได้เป็น “เอกภาพ” และ “แข็งแรง” เพียงพอที่จะผลักดันเป้าประสงค์เรื่องการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550”
“ผมเป็นห่วงและพยายามพูดอยู่เสมอ เพื่อสื่อสารไปเท่าที่สามารถติดต่อกันได้ คือ ความหลากหลายเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องกลับมาดูจุดกำเนิดของพวกเราว่าคนเสื้อแดงมีจุดกำเนิดตรงไหน และอยากให้รักษาแนวทางอันนั้นร่วมกันเอาไว้ หลักใหญ่ก็คือเราต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เมื่อย่อยลงมา ก็ต้องบอกว่าถ้าพูดถึงประชาธิปไตย ก็ต้องรัฐธรรมนูญ ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 นี่เป็นรัฐธรรมนูญที่เราต่อต้าน เราต้องเรียกร้องให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่มาสักฉบับ ถ้ารัฐธรรมนูญใหม่เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน ปัญหาอื่นๆ ก็จะได้รับการแก้ไขโดยอัตโนมัติ”
เขามองว่า วันนี้แกนนำคนเสื้อแดงต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นของคนเสื้อแดงอีกครั้ง และสร้างคนเสื้อแดงขึ้นมาใหม่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหลักของมวลชน
“ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเสื้อแดงไม่เป็นเอกภาพ เพราะการต่อสู้ของคนเสื้อแดงนั้นเป้าหมายไม่เหมือนกันทุกกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยากได้ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกส่วนก็อยากได้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ส่วนก็อยากได้ประชาธิไปไตย ดังนั้นการกลับไปอธิบายกันให้ชัดเจนว่าร่มใหญ่ของเราคือประชาธิปไตย ถ้าคุณได้ประชาธิปไตยมา อย่างอื่นที่คุณปรารถนามันก็ได้ทั้งนั้น…
…และหลังจากนี้เราจะปรับเข้าสู่จุดกำเนิดของคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นจุดร่วมที่ทุกคนเห็นตรงกัน เพื่อผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และวันนี้เราก็เริ่มแล้ว” วีระกานต์ ทิ้งท้ายถึงความหวังในก้าวต่อไปของเขา
“ที่มา: ไทยพับลิก้า, www.thaipublica.org”
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น