จะด้วยถูกบังคับหรือสมัครใจ จะด้วยความจริงใจหรือสร้างภาพ ก็ยากที่จะชี้ชัด แต่ภาพหนึ่งที่ได้เห็นกัน ในช่วงที่สถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ รุกคืบเข้าสร้างความเสียหายให้กับประชาชน และภาคธุรกิจ ในช่วงที่ผ่านมานั้น
คือการหยิบยื่นน้ำใจไมตรี จากบรรดาธนาคารพาณิชย์ ที่แข่งกันออกหน้าออกตา ประเคนแพ็กเกจช่วยเหลือลูกค้าทุกหมู่เหล่าทั้งรายใหญ่ รายย่อย และเอสเอ็มอี ที่ประสบภัยจากน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นการลดหนี้ พักหนี้ ยืดเวลาชำระหนี้ และอีกสารพัดวิธี ที่คิดทำกันได้
ความช่วยเหลือที่ประกาศออกมาเหล่านี้ ทำเอาบรรดาลูกหนี้ ที่ตัวชื้นจากการแช่น้ำมาหลายเดือน รู้สึกใจชื้นตามมา เพราะด้วยคิดว่า อย่างน้อยจะได้มีเวลาในการฟื้นตัว ให้กลับมาลืมตาอ้าปากได้บ้าง
ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และน่าจะหยวน ๆ ยอม ๆ กันได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว กลับมีปัญหาให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อนอยู่ ต้องขุ่นข้องหมองใจ และตั้งคำถามต่อความจริงใจในการให้ความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน ทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยก่อนหน้านี้ ก็มีลูกค้าของธนาคารออมสินร้องเรียนผ่านมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคว่า ธนาคารออมสินออกโฆษณาประกาศพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยช่วยลูกค้าน้ำท่วม
แต่เมื่อลูกค้าโดดเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ไปได้สักพัก กลับถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยและเบี้ยปรับย้อนหลัง ในช่วงเวลาพักชำระหนี้ ทั้งที่ผู้บริหารธนาคารอย่าง “เลอศักดิ์ จุลเทศ” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ประกาศโครม ๆ ว่าธนาคารออมสินจะพักชำระหนี้ และลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าที่ถูกน้ำท่วม แบบไม่มีอะไรสอดไส้แน่นอน…
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะลูกหนี้มองโลกในแง่ดีเกินไป หรือบรรดาธนาคารพาณิชย์เกิดอาการใจร้ายเกินเหตุ เพราะจากการพิเคราะห์ข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ จะพบว่า การออกแพ็กเกจการยืดหนี้นั้น กลายเป็นว่า เป็นเพียงการยืดระยะเวลาชำระเงินต้นเท่านั้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังวิ่งฉิวปกติเหมือนไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น
ตัวอย่าง กรณีสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ “ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย” ที่พักชำระหนี้ให้สูงสุด 90 วัน และ ขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ให้สูงสุด 12 เดือน ซึ่งดูผิวเผินแล้วเห็นว่าแบงก์ช่วยลูกหนี้ที่กำลังเดือดร้อนให้พอมีเวลาตั้ง หลักกลับมาฟื้นตัวได้
แต่การกระทำกลับดูเหมือนว่า เป็นการซ้ำเติมลูกหนี้ และดึงลูกหนี้ ลงสู่ปากเหวเร็วกว่าเวลาอันควรมากกว่า เนื่องจากแพ็กเกจที่ออกมาให้ลูกหนี้ไม่ต้องผ่อนชำระเงินต้นช่วงเวลา 3 เดือน แต่เมื่อเข้าเดือนที่ 4 ปรากฏว่าบรรดาลูกหนี้กลับต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินต้นบวกกับดอกเบี้ยที่คั่ง ค้างให้แบงก์รวดเดียวหมดเกลี้ยง แล้วอย่างนี้จะมาป่าวประกาศว่าช่วยลูกหนี้ได้อย่างไร?
ถ้าถามว่า สิ่งที่ธนาคารสัญชาติมาเลเซียรายนี้ ทำผิดหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า ไม่ผิด เพราะที่ผ่านมา ธปท. ก็ได้แต่ขอความร่วมมือให้ช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ไม่ได้ขีดเส้นกำหนดชัดเจนว่า จะต้องช่วยอย่างไร แบบไหน
ดังนั้น การที่ทางแบงก์จะเลือกที่จะหยิบยื่นน้ำใจให้ด้วยเงื่อนไขแบบนี้ ก็ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ก็ควรจะชัดเจนในการชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจ ถึงรายละเอียดต่าง ๆ อย่างชัดเจนและอย่าสร้างภาพความมีน้ำใจให้ไกลเกินจริง
ดูธนาคารแห่งอื่น ๆ ก็จะพบแนวทางความช่วยเหลือที่แตกต่างกันไปเช่นกัน มากบ้างน้อยบ้างตามความใจป้ำของแต่ละแห่ง โดยในกลุ่มพี่ใหญ่ของวงการ อย่าง “ธนาคารกรุงเทพ” ผ่อนผันสินเชื่อบ้านให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยนานสูงสุด 12 เดือน หรือปรับลดยอดการผ่อนชำระรายดือนลงสูงสุด 40% เป็นเวลา 1 ปี
สอดคล้องกับแนวทางของ “ธนาคารกสิกรไทย” ที่มีเงื่อนไขว่า ลูกค้ารายย่อยที่ใช้บริการสินเชื่อบ้าน ได้ปรับลดยอดผ่อนชำระรายเดือนสูงสุด 40% เป็นเวลา 1 ปี หรือผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ให้ลูกค้าขอพักชำระหนี้สูงสุด 6 เดือน และลดดอกเบี้ยสูงสุด 50% เป็นเวลา 3 เดือน ฝั่งธนาคารทหารไทยออกมาตรการช่วยลูกค้าที่ค้างชำระค่างวดบ้านตั้งแต่ 1-30 วัน สามารถขอชำระเฉพาะดอกเบี้ยอย่างเดียว โดยไม่ต้องชำระเงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน และสามารถขยายเวลาผ่อนชำระออกไปอีก 6 เดือนหากลูกค้ายังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมต่อเนื่อง
แต่ที่ถือว่าป๋าสุด ๆ เห็นจะเป็นแบงก์ลูกครึ่งอย่าง “กรุงศรีอยุธยา” ที่พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือนให้กับลูกค้าสินเชื่อบ้าน และเพิ่มมาตรการผ่อนชำระดอกเบี้ยอย่างเดียว นานสูงสุด 6 เดือน หรือลดค่างวดให้เป็นนานสูงสุดถึง 9 เดือน ถ้าลูกค้ารายนั้นได้รับผลกระทบที่รุนแรง
นอกเหนือจากความช่วยเหลือในเรื่องสินเชื่อ ที่เป็นปัญหากันแล้ว การทวงถามหนี้บัตรเครดิต ก็เป็นอีกประเด็นที่ลูกหนี้ผู้ประสบภัย บ่นกันอื้ออึงเช่นกัน เพราะแม้ว่าที่ผ่านมาหลายแบงก์จะมีมาตรการช่วยลูกค้า เช่น
ไทยพาณิชย์พักชำระหนี้และลดดอกเบี้ยสูงสุด 50% เป็นเวลา 3 เดือน ขณะที่ผู้ถือบัตรเครดิตกสิกรไทยและผู้ใช้สินเชื่อเงินสด ได้รับการผ่อนผันชำระดอกเบี้ย 50% และปรับลดยอดผ่อนชำระขั้นต่ำให้เป็น 0-10% และลูกค้าบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ ได้รับการช่วยเหลือด้วยการลดยอดขั้นต่ำชำระเหลือ 0-10% และผ่อนผันการชำระดอกเบี้ยลงจากอัตราปกติ 50%
ทว่า เหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นคู่ขนานไปกับความช่วยเหลือ ก็คือ เสียงการโทรฯ จิก โทรฯ ตาม โทรฯ ทวงหนี้ ที่ฝ่ากระแสน้ำมาหาลูกหนี้ แบบไม่รู้จะตอบโต้กลับไปด้วยภาษาอะไรดี ซึ่งถ้าเป็นลูกหนี้ที่ประวัติการชำระแย่จริง ๆ หรือไม่ได้ประสบภัย และมีศักยภาพที่จะจ่ายหนี้ได้ การโทรฯตามโทรฯทวง ก็เป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ตามปกติ แต่ในรายที่เป็นผู้ประสบภัย เข้าข่ายเป็นผู้อพยพนั้น ก็สมควรที่จะได้รับความผ่อนผันและเห็นใจเช่นกัน
จึงเป็นเรื่องที่ธนาคารทั้งหลาย ต้องไปกำชับฝ่ายเร่งรัดหนี้สิน ให้รู้จักใช้วิจารณญาณมากขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ ไม่ใช่เอะอะก็อ้างว่า “ไม่ทราบ” เพราะจ้างให้บริษัทภายนอกเป็นคนติดตามทวงหนี้ให้
ปัญหาที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวไปข้างต้น ก็ใช่ว่าจะไม่หลุดไปเข้าหูของผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ เสียเลย ในทางกลับกัน นายแบงก์ทั้งหลายต่างก็ทราบดี และเหมือนรู้ดีอยู่แล้ว ว่าต้องมีเรื่องร้องเรียนประมาณนี้เกิดขึ้น เห็นได้จากที่ผ่านมา ผู้บริหารของธนาคารหลายแห่ง ได้ออกโรงชี้แจงเคลียร์ทางไว้ล่วงหน้าว่า
การช่วยเหลือของแบงก์แต่ละแห่ง ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของแบงก์เป็นหลัก และรายได้ของแบงก์ส่วนใหญ่เกิดจากดอกเบี้ย หากหายไปอาจกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารได้ จึงช่วยลูกค้าได้ตามกำลังที่มีอยู่เท่านั้น
นอกจากการช่วยเหลือลูกหนี้แล้ว แบงก์ต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ ด้วยเช่นกัน แต่ละแห่งจึงต้องกำหนดเงื่อนไขที่อยู่บนความสมดุลของทุกฝ่าย และที่ผ่านมา ภาวะน้ำท่วมไม่ใช่กระทบแต่ลูกหนี้ฝ่ายเดียว เพราะสาขาของธนาคารแต่ละแห่ง ได้รับความเสียหายจนต้องปิดให้บริการเช่นกัน
ไม่ได้หมายความว่าแบงก์ทุกแห่งจะเกิดอาการ “เขี้ยวลากดิน” กันไปเสียหมด แต่ก็มีหลายแบงก์ที่ลูกหนี้แทบไม่ต้องไปติดต่อใด ๆ แต่แบงก์จะเป็นฝ่ายติดต่อมาให้ความช่วยเหลือเอง แบบว่าเห็นใจกันอย่างแท้จริง ที่สำคัญยังสามารถตกลงปลงใจกันได้แบบไม่มีปัญหาอีกต่างหาก
เหตุผลที่ออกมา คงต้องบอกว่า การจะไปชี้ว่าใครถูกใครผิด คงต้องถามว่า มองจากมุมไหนและใครเป็นคนมอง แต่จากการกระทำและคำอธิบายที่ออกมาจากคนการเงินทั้งหลาย สรุปได้ว่า
มาตรการช่วยเหลือของแบงก์ที่คลอดกันออกมา คงไปคาดหวังไม่ได้ ที่จะมองถึงประโยชน์ของลูกค้าเต็ม 100% เพราะถึงอย่างไรธุรกิจก็ยังคงเป็นธุรกิจ โดยมีกำไร และความอยู่รอดของธนาคารเป็นเป้าหมายหลัก.
ข่าวโดย : เดลินิวส์ออนไลน์
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น