วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
“นิวไทยแลนด์” ขับเคลื่อนไอเดีย “ทักษิณ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร “นิ่ง” ไป 4 เดือน ในโลกออนไลน์ แต่เมื่อ รัฐมนตรี-สายตรง ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เปิดไพ่ไอเดีย “นิวไทยแลนด์” ด้วยโครงการเกือบ 1 ล้านล้านบาท ทวิตเตอร์ชื่อ ThaksinLive ของ Thaksin Shinawatra ก็กลับมาโลดแล่น
24 ชั่วโมงหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กางสำรับโครงการลงทุน ระยะสั้น-กลาง-ยาว หลังน้ำท่วม 8 แสนล้านบาท
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ปรากฏข้อความของ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ที่ก้าวหน้า-ก้าวข้าม แผนการในเมืองไทยไปหลายช็อต 12 ข้อความต่อเนื่อง มีนัยทาง การเมือง และส่งผลต่อแผนการ”นิวไทยแลนด์” นโยบายของ “พ.ต.ท.ทักษิณ” ที่ส่งผ่านทวิตเตอร์ แจ่มชัด สามารถนำไปแปลงเป็นแผนงาน-โครงการ ลงสู่ระดับปฏิบัติการท่ามกลางความงุนงงของ รัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจ
“พ.ต.ท.ทักษิณ” กล่าวว่า “สวัสดีครับ หายไปนาน ไม่ได้ทวีตมาเลย วันนี้ขออนุญาตส่งความห่วงใยมายังทุก ท่านที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งทางตรงและทางอ้อม ความจริงผมแอบทำงานอยู่ห่าง ๆ”
“ช่วงนี้ผมยังคงเดินทางเช่นเดิม แต่ก็ตรวจสอบข่าวคราวเหตุการณ์บ้านเมืองตลอด มีอะไรช่วยทำช่วยแนะนำก็ทำ ไป แต่ก็ต้องยอมรับว่า เป็นอุทกภัยที่หนักที่สุด”
“การฟื้นฟูครั้งนี้เป็นความท้าทายของคนไทยทั้งประเทศ เพราะปัญหาใหญ่กว่า กินวงกว้างกว่า และยาวนานกว่า สึนามิที่ภาคใต้ เราจึงต้องร่วมมือร่วมใจกันครับ”
“ผมได้ให้กำลังใจทุกคนไปว่า ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส วิกฤตคราวนี้ก็เป็นโอกาสที่จะทำให้คนไทยได้หันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและฟื้นฟูประเทศ”
“และจะเป็นโอกาสให้เราได้แก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งถาวรเสียที เพราะเราเสียงบประมาณจำนวนมากแก้ปัญหาและเยียวยาแบบเฉพาะหน้า เฉพาะกิจ ครั้งแล้วครั้งเล่า”
“ถ้าท่านจำกันได้ ตอนปี 2548 ผมเคยมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่เชิญต่างประเทศมาลงทุนให้ก่อน แล้วผ่อนเป็นสินค้าเกษตร ซึ่งมีเรื่องน้ำรวมอยู่ด้วย แต่…”
“ผมถูกปฏิวัติเสียก่อน เหตุการณ์ครั้งนี้เราเสียหายร่วมกัน ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐเฉพาะทางตรงน่าจะร่วม ๆ สองแสนล้านบาท แต่ก็อยากให้สบายใจ”
“ว่าหาเงินมาแก้ปัญหาได้ ผมได้ คุยกับท่านนายกฯและผู้รู้หลายท่านรวมทั้งรัฐบาลหลายประเทศถึงแนว ทางการฟื้นฟูครั้งนี้ว่า ควรจะทำกันอย่างไรจะช่วยกัน”
“ทำอย่างไรจะทำให้เขามั่นใจที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศจะไม่หนีจากเรา เชื่อว่าท่านนายกฯคงจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ก่อนไปประชุมเอเปก”
“เพราะต้องถูกถามและต้องไปบรรยายให้นักธุรกิจฟัง น้ำท่วมครั้งนี้ถ้าเราไม่ช่วยกันกอบกู้ความน่าเชื่อถือประเทศกลับคืนมาอนาคตจะลำบากมาก เราต้องเร่งแก้”
“สิ่งที่ทำความเสียหายแก่ประเทศกลับคืนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความ ขัดแย้งทางการเมือง การขาดหลักนิติธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย การแทรกแซงประชาธิปไตย”
“แน่นอนครับ เราต้องเร่งฟื้นฟูและเยียวยาทุกครอบครัวที่ได้รับผลกระทบทั้งภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่ผ่านมา”
จากนั้นห้องประชุมคณะรัฐมนตรีที่เมืองไทยก็ “รับลูก”
น.ส.ยิ่งลักษณ์นั่งหัวโต๊ะ ในวาระการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผน แก้น้ำท่วมทั้งระบบ และแผนการฟื้นฟูแก้ไขปัญหาประเทศระยะยาวภายหลังน้ำลดภายใต้แนวคิด “นิวไทยแลนด์” โดยมีนายพิชัย รมว.พลังงาน นั่งเป็น “มือขวา”
น.ส.ยิ่งลักษณ์อธิบายเพิ่มเติมว่า “ความจริงคือโครงการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างถาวร โดยจะมีการศึกษาใน รายละเอียดและประกาศตัวเลขงบประมาณที่ต้องใช้อย่างชัดเจน แต่เบื้อง ต้นงบประมาณที่จะใช้ในการเยียวยาอย่างเร่งด่วนคือ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมงบฯบูรณาการโครงการ 25 ลุ่มน้ำ หรือโครงการระยะถาวร”
ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลังของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รับแผนไปปฏิบัติเป็น “แผนก่อหนี้” ในร่างกฎหมายกู้เงินทันที
โดย นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุลผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แจกแจงว่า สบน. เตรียมร่างกฎหมายกู้เงินเตรียมพร้อมไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินในรูปแบบใด เพื่อรองรับแผนกู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูระบบน้ำภายหลังน้ำท่วม
ความเป็นไปได้มีทั้งรูปแบบการออกพระราชกำหนด เพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายใน 45 วัน หรือจะเป็นรูปแบบการใ ช้เงินลงทุนระยะ 3-5 ปี โดยออกเป็นพระราชบัญญัติ รอเพียงให้หัวหน้ารัฐบาล-รมว.คลัง ตกลงตัวเลขและกรอกจำนวนเงินเท่านั้น
แหล่งเงินกู้ที่เข้าแถวรอประเทศไทย ในฐานะลูกค้าชั้นดี มีทั้งไจก้า-เอดีบี และแหล่งเงินกู้สถาบันการเงินในประเทศ โดยอาศัยความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184-185 ที่กำหนดว่า รัฐบาลสามารถออก พ.ร.ก.กู้เงินได้เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ และมีความจำเป็นฉุกเฉินที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้
สำนักบริหารหนี้คำนวณว่า หากกู้อีก 8 แสนล้านบาทใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม จะทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 50% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้
ขณะที่ “ผู้นำสาร” จาก “พ.ต.ท.ทักษิณ” มาเผยแพร่ อย่าง “พิชัย” ให้รายละเอียดเพิ่มเติม หมายมั่นปั้นมือ จะทำโครงการ “นิวไทยแลนด์” ว่า แนวทางการฟื้นฟูหลังน้ำลด จะนำโมเดลประเทศต่าง ๆ ที่เคยประสบอุทกภัยมาศึกษา เช่น มณฑลเสฉวนของจีน, สหรัฐอเมริกา, เนเธอร์แลนด์, พม่า และอาเจะห์ นำมาปรับใช้กับไทย
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 1.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ถูกเก็บอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทยถูกอ้างถึง ว่าอาจจะนำมาใช้ใน “นิวไทยแลนด์” บางส่วน
นายพิชัยยืนยันว่า “รูปแบบการฟื้นฟูนั้นจะนำมาดูในทุกด้าน เช่น ท่อส่งน้ำมัน และแลนด์บริดจ์ ระบบป้องกันน้ำท่วมของนิคมอุตสาหกรรม และในอนาคตหากจำเป็นต้องแก้กฎหมายใดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำโครงการนิวไทยแลนด์ก็ต้องแก้ไข และใช้วิธีคิดนอกกรอบ เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนให้ได้ โดยต้องว่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาช่วยเสนอแนวคิดและโมเดลต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับการพัฒนาไทยด้วย”
ไอเดียถูกขยายเป็นการตั้งคณะกรรมการถึง 3 ชุด คือชุดที่ 1 ต่อสู้น้ำ ชุดที่ 2 ฟื้นฟูประเทศระยะสั้น 1 ปี และชุดที่ 3 ปรับปรุงประเทศระยะยาว โดยให้ปรับวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส ซึ่งหากพบว่าไปติดขัดกฎระเบียบหรือข้อกฎหมายใด ๆ ก็จะดำเนินการ
วาระวงเงินที่จะนำมาใช้ในระยะสั้นมีเงิน 130,000 ล้านบาท โดย 50,000 ล้านบาท มาจากการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2555 เพิ่มเติม และอีก 80,000 ล้านบาท มาจากที่แต่ละกระทรวงตัดงบประมาณลง 10%
แนวคิดการบริหาร “เงิน” ของแบงก์ชาติถูกแปรรูป เปลี่ยนแนวคิด เพื่อหาเงิน 600,000-800,000 ล้านบาท โดยอาจใช้วิธีการออกพันธบัตรและให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็น ผู้ซื้อด้วยการแก้ไขข้อกฎหมายให้ ธปท. จะซื้อพันธบัตรในประเทศได้
ทุกองคาพยพในรัฐบาลเพื่อไทยขับเคลื่อน-ควบคู่ ใน-นอกประเทศ เพื่อไป สู่แผน “นิวไทยแลนด์”
ด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ มี นาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ประกาศกับคณะทูตานุทูตกว่า 80 ประเทศว่า จะมีการเสนอ ครม.ออก พ.ร.บ.เงินกู้ 6 แสนล้านบาท เพื่อนำมาปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
เงินลงทุน 8 แสนล้าน กับการลงทุนแก้กฎเหล็กของธนาคารชาติกำลังจะเริ่มขึ้น ด้วยการอ้างถึงภาวะ “วิกฤตน้ำท่วม
Talkstory
อ่านบทวิเคราะห์นิวไทยแลนด์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น