บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อ.ทักษิณได้รับพระราชทานอภัยโทษนั้นผิดกฎหมาย


พลันที่มีข่าวว่าคณะรัฐมนตรีได้ลงมติในการประชุมลับเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 ให้ออกพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ



ซึ่งมีเนื้อหาที่แตกต่างจากพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 ในส่วนสำคัญ ที่สมควรกล่าวถึงในที่นี้ คือ ได้ตัดข้อความที่ว่า “ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีตัวอยู่ในความ ควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนด” เพราะจะมีผลทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งหลบหนีการลงโทษ และไม่มีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนด ได้รับพระราชทานอภัยโทษไปด้วย ได้มีผู้ออกความคิดความเห็นคัดค้านการออกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอย่างกว้าง ขวาง ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น เป็นการใช้อำนาจบริหารไปก้าวก่ายถึงขั้นล้มล้างอำนาจตุลาการ ทำให้ระบบการถ่วงดุลอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยเสียไป ซึ่งเป็นความเห็นที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ผู้เขียนยังไม่เห็นผู้ใดยกขึ้นมากล่าว และผู้เขียนใคร่นำมาให้เห็น ก็คือ การออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้รับพระราชทานอภัยโทษนั้นทำไม่ได้ เพราะเป็นการผิดกฎหมาย ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

1. ผิดหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยลำดับชั้นของกฎหมาย และ

2. ขัดต่อประมวลวิธีพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ซึ่งจะอธิบายดังต่อไปนี้

1. ผิดหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยลำดับชั้นของกฎหมาย

การออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ที่ให้มีผลเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการยกเว้นโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาล โดยไม่มีเหตุให้ยกเว้นโทษตามกฎหมาย การยกเว้นโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงผิดกฎหมาย

ตามประมวลกฎหมายอาญา เหตุยกเว้นโทษตามกฎหมายนั้นมี 4 ข้อ ดังนี้ 

(1) บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญาหากได้กระทำความผิดด้วยความจำเป็น

(2) บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา ถ้าได้กระทำตามคำสั่งที่มิชอบของเจ้าพนักงาน ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม

(3) บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญาหากเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบสี่ปี

(4) สามีภริยาซึ่งกระทำความผิดต่อกันในความผิดบางประเภทซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์ กฎหมายยกเว้นโทษให้

นอกจากเหตุ 4 ประการนี้แล้ว ไม่มีเหตุยกเว้นโทษที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะอ้างได้ เช่น มีใครแสดงให้เห็นได้หรือไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทำผิดด้วยความจำเป็น หรือได้กระทำตามคำสั่งที่มิชอบของเจ้าพนักงาน ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม หรือเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบสี่ปี หรือทำความผิดในฐานะสามีต่อภริยา ซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์ ที่กฎหมายยกเว้นโทษให้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อได้กระทำความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องรับโทษตามกฎหมาย

ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายเลขคดีที่ อม. 1/2550 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ 1 คุณหญิงพจมาน  ชินวัตร ที่ 2 จำเลย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551 ศาลได้ลงโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามมาตรา 100 (1) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2522 ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการดังต่อไปนี้ (1) เป็นคู่สัญญา หรือมีส่วนได้เสียในสัญญา ที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี” ประกอบกับมาตรา 100 วรรคสอง และมาตรา 100 วรรคสาม

มาตรา 122 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100 มาตรา 101 หรือ มาตรา 103 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ไม่มีบทบัญญัติใดๆ ของกฎหมายบัญญัติว่า การกระทำความผิดตามมาตรา 100 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2522 นั้น ไม่ต้องรับโทษ การที่จะทำให้การกระทำผิดตามมาตรา 100 ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 122 ดังกล่าวนี้ จะต้องออกกฎหมายมายกเลิกมาตรา 122 ดังกล่าวนี้เสียก่อน

การออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้มีผลเป็นการให้อภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้มีผลเป็นการแก้ไขบทบัญญัติของมาตรา 122 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2522 นั้นทำไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยหลักลำดับชั้นของกฎหมาย

ก่อนจะเข้าใจว่าการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2522 นั้นจะทำอย่างไร ต้องเข้าใจลำดับชั้นของกฎหมาย ซึ่งอาจจะอธิบายพอสังเขปได้ว่า กฎหมายไทยมีลำดับชั้นตามลำดับจากสูงไปต่ำดังต่อไปนี้

(1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนรับรองและส่งเสริมสิทธิต่างๆ ของประชาชนทั้งประเทศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายอื่นทุกฉบับ กฎหมายอื่นจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้

(2) กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งในประเทศไทยอยู่ในรูปของพระราชบัญญัติ และอยู่ในลำดับชั้นเดียวกันกับพระราชบัญญัติ

(3) พระราชบัญญัติ และประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ

(4) พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการตราให้แก่ฝ่ายบริหาร คือคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ใช้ในกรณีรีบด่วนหรือฉุกเฉิน พระราชกำหนดนั้นเมื่อมีการประกาศใช้แล้วคณะรัฐมนตรีต้องนำเสนอต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ถ้ามิได้รับความเห็นชอบก็เป็นอันสิ้นสุดลง แต่ผลของการสิ้นสุดลงนี้จะไม่กระทบกระเทือนบรรดาการต่างๆ ที่ได้กระทำลงระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น

(5) พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียด ซึ่งเป็นหลักการย่อยๆ ของพระราชบัญญัติหรือของพระราชกำหนด ทำนองเดียวกันกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ทำหน้าที่อธิบายขยายความรัฐธรรมนูญ

(6) กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร คือกระทรวงต่างๆ และไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา

(7) ข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตราขึ้น และใช้บังคับภายในเขตอำนาจของตน ได้แก่ ข้อบังคับตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา

การจัดลำดับชั้นของกฎหมายมีผลในทางปฏิบัติ คือ กฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นที่ต่ำกว่าจะขัด หรือแย้ง แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกกฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นที่สูงกว่าไม่ได้ เช่น พระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารฝ่ายเดียว จะไปยกเลิกหรือแก้ไขพระราชบัญญัติไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติต้องผ่านการพิจารณาของทั้งฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี และฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทำความผิดตามาตรา 100 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2522 และมาตรา 122 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 100 ต้องรับโทษ การจะยกเว้นโทษให้แก่ผู้กระทำผิด จะต้องออกกฎหมายในลำดับเดียวกันมาแก้ไขกฎหมายดังกล่าว กฎหมายที่ออกมาแก้ไขพระราชบัญญัติอย่างน้อยต้องเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการออกกฎหมายตามปรกติ ที่สำคัญได้แก่ การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ก่อนการนำทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 การดึงดันที่จะออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นที่ต่ำกว่าเพื่อไปยกเว้นโทษตามพระราช บัญญัติจึงทำไม่ได้ เพราะเป็นการใช้อำนาจที่ตนไม่มี ถ้ารัฐบาลขืนทำไป จะเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนการออกกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และด้วยเหตุนั้น ผู้กระทำอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา เช่น มาตรา 189 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดช่วยผู้อื่นซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด อันมิใช่ความผิดลหุโทษ เพื่อไม่ให้ต้องโทษ โดยให้ที่พำนักแก่ผู้นั้น โดยซ่อนเร้น หรือโดยช่วยผู้นั้นด้วยประการใด เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ...” มาตรา 116 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย ...” และมาตรา 157 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ...” เป็นต้น และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยชัดแจ้ง ดังจะกล่าวต่อไป

2. ขัดต่อประมวลวิธีพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

การออกพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 เป็นการออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 187 และ 191 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และมาตรา 261 ทวิของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 191 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” และมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อ กฎหมาย” ส่วนมาตรา 261 ทวิ ของประมวลวิธีพิจารณาความอาญานั้น วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้ พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้” และวรรคสองบัญญัติว่า “การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา” ตามบทบัญญัติของกฎหมายนี้มีข้อที่น่าพิจารณา 2 ประการ กล่าวคือ

(1) การออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ เพื่อพระราชทานอภัยโทษแก่ “ผู้ต้องโทษ” ซึ่งหมายถึงผู้ที่กำลังรับโทษตามกฎหมายอยู่ หากตัดข้อความนี้ออกไปเท่ากับทำผิดบทบัญญัติของประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 261 ทวิ แม้การพระราชทานอภัยโทษจะเป็นพระราชอำนาจก็จริง แต่เป็นพระราชอำนาจที่ทรงใช้ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี การทำผิดกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบ

(2) ตามมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติว่าการตราพระราชกฤษฎีกานั้นต้องไม่ ขัดต่อกฎหมาย หากต้องการให้พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษมีผลเป็นการให้อภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมิใช่ “ผู้ต้องโทษ” จึงเป็นการผิดกฎหมาย

การออกพระราชกฤษฎีกาโดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้รับพระราชทานอภัยโทษ จึงทำไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การถอยของรัฐบาลตามที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือการไม่นำการนิรโทษกรรมมาปะปนกับการอภัยโทษ โดยการใช้อำนาจบริหารไปล้มคำสั่งของศาล หากกระทำตามที่พูด ก็จะเป็นการกระทำที่ชอบแล้ว และอย่าได้คิดทำการใดที่ผิดกฎหมายเช่นนี้อีก

กรุงเทพธุรกิจ



ถอดถอน ครม. ออก พ.ร.ฎ. เอื้อทักษิณ


 นี่คือคำกล่าวโทษที่กลุ่มสยามสามัคคีและพันธมิตรฯ ได้เตรียมไว้เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชน 2 หมื่นคน ยื่นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อถอดถอนรัฐบาลทั้งคณะ คำกล่าวโทษนี้ยังเชื่อได้ว่าเป็นความจริงและสำเร็จเป็นความผิดแล้ว แต่เมื่อพรรคชินวัตรได้ให้รัฐมนตรียุติธรรมยืนยันว่าร่างกฤษฎีกาที่จะกราบ ทูลนั้น จะเหมือนกับร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ทางกลุ่มผู้ริเริ่มจึงเห็นควรให้พักความเคลื่อนไหวถอดถอนนี้ไว้ก่อน และก็ขอเผยแพร่ให้ประชาชนได้ศึกษาเพื่อเตรียมเข้าร่วมรณรงค์ต่อไป ในกรณีที่พรรคชินวัตรไม่ยอมหยุดยั้งความพยายามที่จะให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้อภัยโทษโดยมิชอบต่อไปอีก ดังความต่อไปนี้
.....................
 คำกล่าวโทษรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลฐานจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ในการอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นโทษตามคำพิพากษา
    ด้วยในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลรวม 33 คน มีรายชื่อดังบัญชีแนบท้าย ได้สมคบกับนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 โดยมีบทบัญญัติส่วนหนึ่งที่ร่างขึ้นมาเพื่อมุ่งหมายให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  จำเลยผู้หนีคดีไม่ยอมรับโทษจำคุก 2 ปี ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ได้พ้นโทษโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้
    การกระทำดังกล่าวเป็นทั้งความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และเป็นทั้งการจงใจฝ่าฝืน บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ควรที่จะต้องถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังพฤติการณ์และเหตุผลโดยลำดับดังนี้
    ข้อ 1. พรรคเพื่อไทยได้ประกาศชัดแจ้งมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่า จะต้องชนะเลือกตั้งเพื่อทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นคดีทั้งปวงแล้วกลับมาประเทศไทยให้เร็วที่สุด จนต่อมาเมื่อชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลแล้ว ก็ได้ลงมือตั้งคณะกรรมการเร่งรัดสะสางปัญหาการดำเนินการตามฎีกาขอพระราช ทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นการเฉพาะรายที่ค้างคาอยู่ ขณะเดียวกันก็ส่งข้าราชการในอาณัติเข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในทันที
    ต่อมาจึงได้มีร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 เสนอเป็นวาระจรและลับ เข้าสู่การพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี อันประกอบด้วยรัฐมนตรีผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 33 คน โดยตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั้นได้รู้เห็นด้วย แต่ก็วางแผนหลีกเลี่ยงไม่เข้าร่วมประชุม เมื่อเสร็จประชุมแล้วจึงได้มีข่าวแพร่หลายในสื่อมวลชนทั่วไปว่า  ร่างกฤษฎีกานี้มีบทบัญญัติต่างจากกฤษฎีกาฉบับก่อนๆ และมีบทบัญญัติส่วนที่มุ่งเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้พ้นโทษจำคุก 2 ปี ตามคำพิพากษาโดยตรงรวมอยู่ด้วย ครั้นเมื่อมีการซักถามตอบกระทู้สดในสภา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็พยายามหลีกเลี่ยงเลี้ยวลดไม่ยอมตอบสภาให้กระจ่าง ยืนยันซ้ำซากว่าเป็นความลับอยู่อย่างนั้น
    อย่างไรก็ตาม เมื่อได้พิเคราะห์ข้อมูลประกอบคำให้สัมภาษณ์ของผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายแล้ว ก็เป็นที่ชัดเจนว่าร่างพระราชกฤษฎีกานี้ต้องมีบทบัญญัติมุ่งเอื้อประโยชน์ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นโทษโดยมิชอบอย่างแน่นอน ดังนี้
    ข้อ 2. ตามกรอบเกณฑ์ที่ผ่านมาในกฤษฎีกาฉบับก่อนๆนั้น มีเกณฑ์ปล่อยตัวนักโทษด้วยเหตุชราภาพว่า ถ้านักโทษอายุเกิน 60 ปี มีโทษเหลือไม่เกิน 3 ปี ก็ปล่อยตัวได้หากเป็นความผิดเล็กน้อย ซึ่งกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาจะต้องพยายามใช้ประโยชน์จากเกณฑ์นี้อย่างแน่นอน เพราะเกณฑ์นี้สามารถนำไปปรับใช้อภัยโทษปล่อยตัว พ.ต.ท.ทักษิณได้พอดี เนื่องจากมีอายุเกิน 60 ปี และต้องโทษไม่เกิน 3 ปีเช่นกัน ดังที่ ร.ต.อ.เฉลิมเองก็ได้เผลอกล่าวแก้กระทู้ไว้ในที่ประชุมสภาแล้วว่า เกณฑ์นี้เป็นเกณฑ์ที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้ตั้งไว้เอง รัฐบาลมิได้คิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด
    อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ดังกล่าวนี้ตามกรอบเดิมก็จำกัดให้ใช้แต่เฉพาะความผิดเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นหากกลุ่มผู้ถูกกล่าวหาต้องการจะนำเกณฑ์ปล่อยตัวเพราะชราภาพมาใช้กับ พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว พวกเขาก็จะต้องถอดความผิดนี้ออกจากบัญชีความผิดสำคัญแนบท้ายกฤษฎีกาให้ได้ ซึ่งพวกเขาก็ได้ทำไปแล้วอย่างแน่นอน ดังที่ ร.ต.อ.เฉลิมเองก็ได้เผลอกล่าวแก้กระทู้ไว้ในสภาอีกเช่นกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณมิได้ทำผิดกฎหมายฐานคอรัปชั่นแต่อย่างใด เพราะเพียงแต่ฝ่าฝืนข้อกำหนดในกฎหมายเท่านั้น
    ด้วยข้อมูลและเหตุผลเช่นที่กล่าวมา จึงเชื่อได้ว่าในร่างกฤษฎีกาฉบับนี้จะต้องมีการถอด “ความผิดตามกฎหมายป้องกันปราบปรามคอรัปชั่น” ออกจากบัญชีแนบท้ายด้วย
    ข้อ 3. อย่างไรก็ตาม แม้จะร่างกฤษฎีกาไว้แล้วอย่างนี้ ก็ยังไม่อาจเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณพ้นโทษได้อยู่ดี เนื่องจากยังมิได้เป็นนักโทษ เพราะได้หนีคดีไปต่างประเทศเสียก่อน ผู้ถูกกล่าวหาจึงต้องวางแผนแก้ไขต่อไปอีกในทางใดทางหนึ่ง คือ
    3.1) หนทางแรกคือ เลิกกรอบเดิมๆ ที่เคยระบุจำกัดไว้ในกฤษฎีกาว่า การอภัยโทษให้ใช้เฉพาะผู้ถูกควบคุมตัวในที่คุมขังเทานั้น แล้วเพิ่มเติมลงไปตรงๆ ในร่างกฤษฎีกาต่อไปเลยว่าเหตุปล่อยตัวเพราะชราภาพนั้น ให้นำไปใช้กับ “ผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” ด้วย หากทำได้ดังนี้ก็จะเป็นการร่างกฎหมายที่เปิดทางตรงให้กับผู้หนีคดีได้เลยที เดียว
    3.2) อีกหนทางหนึ่งที่อาจกระทำได้ก็คือ วางแผนให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศมาถูกขังตามหมายศาลให้เป็นนักโทษก่อน จากนั้นพอกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับจึงค่อยออกกฎหมายปล่อยตัวอีกชั้นหนึ่ง วิธีนี้แม้จะดูดีกว่าวิธีเขียนกฎหมายเอื้อประโยชน์โดยตรงตาม 3.1) ก็ตาม แต่ก็มีความเสี่ยง ไม่แน่ชัดว่าร่างกฤษฎีกาที่แก้ไขถอดคดีกฎหมายคอรัปชั่นออกจากบัญชีคดีสำคัญ นั้นจะผ่านพระมหากรุณาธิคุณหรือไม่ กรณี จึงเป็นไปได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณอาจจะรอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกาตามร่างนี้จนชัดเจนเสียก่อน เมื่อชัดเจนแล้วก็ให้รัฐบาลประวิงการประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาในราช กิจจานุเบกษาไว้สักระยะหนึ่ง เพื่อเปิดเป็นโอกาสให้ตนรีบกลับประเทศมาเป็นนักโทษก่อนก็เป็นได้ 
อย่าง ไรก็ดี ไม่ว่ากลุ่มผู้ถูกกล่าวหา และ พ.ต.ท.ทักษิณจะเลือกใช้วิธีใดตาม 3.1) หรือ 3.2) ก็ตาม แต่ในที่สุดแล้วทั้งสองวิธีก็ล้วนกระทำไปเพื่อมุ่งหมายโดยเฉพาะเจาะจงให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้พ้นโทษทั้งสิ้น เพราะผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาในฐานความผิดตามกฎหมายป้องกันปราบปรามทุจริต แห่งชาติ ที่มีอายุเกิน 60 ปี และมีโทษไม่ถึง 3 ปีนั้น ในประเทศไทยขณะนี้มีอยู่คนเดียว คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยเหตุนี้ลำพังการร่างกฤษฎีกาถอดความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ออกจากบัญชีแนบท้าย จึงเป็นการชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าทำไปเพื่อเอื้อประโยชน์ พ.ต.ท.ทักษิณโดยตรง   
    ความชัดเจนเช่นนี้นี่เองที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่อยู่ใน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาอื่นๆ ด้วย เหตุเพราะมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในข้อราชการที่วินิจฉัย คือเป็นพี่น้องกับผู้ได้ประโยชน์จากมติ ครม.ด้วยนั่นเอง
    ข้อ 4. แผนการอันยอกย้อนปิดลับโอหังบังอาจของนายกรัฐมนตรีและกลุ่มรัฐมนตรีผู้ ถูกกล่าวหาเช่นที่ได้ลำดับมานี้ มีความชั่วร้ายอยู่ตรงที่ความไม่สุจริตไม่ซื่อตรงสามประการประกอบกันคือ
    4.1) จงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมาย กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 187 กำหนดไว้ชัดเจนว่าพระราชกฤษฎีกาจะขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายไม่ได้ ซึ่งตัวรัฐธรรมนูญไทยก็มีที่ยืนให้แก่การปกครองด้วยหลักนิติรัฐมาตลอด ทั้งบทบัญญัติที่กำหนดให้รัฐต้องตรากฎหมายใช้บังคับเป็นการทั่วไปและต้องใช้ บังคับโดยเสมอภาค ทั้งบทบัญญัติรับรองความเป็นอิสระและถึงที่สุดของอำนาจตุลาการ แต่ทั้งหมดนี้ก็ได้ถูกละเมิดไปสิ้นโดยกระบวนการร่างกฤษฎีกาครั้งนี้ ยิ่งไปกว่านั้นร่างกฤษฎีกานี้ก็ยังขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 261 ทวิ ที่กำหนดให้อภัยโทษเป็นการทั่วไปได้เฉพาะ “ผู้ต้องโทษ” เท่านั้นอีกด้วย 
    อนึ่งการที่มีผู้อ้างอิงว่ามีบทกฎหมายที่เปิดให้อภัยโทษผู้ต้องคำพิพากษาที่ ยังไม่ต้องโทษได้นั้น ก็เป็นการบิดเบือนกฎหมายของผู้รู้กฎหมายคนหนึ่งที่ซุ่มหากินรับจ้างบิด เบือนกระบวนการยุติธรรมมาตลอด เพราะแท้ที่จริงบทบัญญัติเหล่านั้นคือการให้อภัยโทษตามคำขอเป็นการเฉพาะราย ที่ได้อภัยโทษโดยดูจากเหตุพิเศษเฉพาะคดีเฉพาะบุคคลเป็นสำคัญ  จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์กรณีอภัยโทษโดยทั่วไปไม่ได้ ดังที่กฎหมายได้แยกบัญญัติกรอบเกณฑ์ไว้ให้แตกต่างกันชัดเจนแล้ว ยิ่งในกรณีที่อ้างตัวอย่างว่าเคยมีการอภัยโทษผู้ต้องคำพิพากษาที่ยังไม่ต้อง โทษด้วยนั้น ก็เป็นการให้อภัยโทษเฉพาะรายที่หาได้ให้แก่ผู้หนีคดีแต่อย่างใดไม่ เพราะเป็นเพียงผู้ที่ศาลพิพากษาลงโทษแต่ให้รอการลงโทษไว้ก่อนเท่านั้นเอง
    ตามพฤติการณ์ในคดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้สมรู้ทั้งหมดล้วนร่วมมือกันโดยหมายมุ่งจะทำลายผลบังคับ ตามคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของศาลไทย ร่วมกันแอบแฝงจะใช้พระราชอำนาจอภัยโทษตรากฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนคนเดียว กล้าที่จะแก้ไขให้ความผิดตามกฎหมายปราบคอรัปชั่นเป็นความผิดเล็กน้อยที่ไม่ ต่างจากความผิดฐานการออกเช็คเด้ง ทั้งๆ ที่หน้าที่ป้องกันปราบปรามคอรัปชั่นนี้ เป็นหน้าที่สำคัญที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในแนวนโยบายแห่งรัฐ และตัวความผิดฐานถือประโยชน์ทับซ้อนนั้นก็สำคัญถึงขนาดบัญญัติบังคับไว้ใน รัฐธรรมนูญเลยทีเดียว 
    ด้วยความสำคัญของมาตรการป้องกันปราบปรามคอรัปชั่นเช่นนี้ แม้ในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นรัฐบาลเองก็ยังถวายร่างกฤษฎีกาอภัยโทษโดยถือคดีฝ่าฝืน กฎหมายปราบคอรัปชั่นเป็นความผิดสำคัญแนบท้ายกฤษฎีกามาตลอด มาเปลี่ยนไปในครั้งนี้เมื่อตนเองต้องโทษเสียเองเท่านั้น
    4.2) ไม่ซื่อตรงต่อประชาชน ขณะที่ประชาชนอื่นยอมติดคุกและรอพระมหากรุณาธิคุณอยู่ในวันนี้นั้น พ.ต.ท.ทักษิณกลับหนีคดีแล้วใช้น้องสาวกับบริวารร่วมกันใช้อำนาจรัฐบาลบิด เบือนพระมหากรุณาธิคุณให้ตนพ้นโทษ ยิ่งไปกว่านั้นแทนที่จะร่างกฎหมายให้ชัดเจน เปิดเผย โปร่งใส ก็กลับปกปิดเป็นความลับ ปกปิดเพราะได้ผูกบทบัญญัติเพื่อประโยชน์ส่วนตนปนไปกับร่างอภัยโทษที่แท้จริง ของนักโทษทั้งประเทศกว่า 26,000 คน จนนักโทษเหล่านี้ต้องถูกยึดเป็นตัวประกันผูกพันอนาคตร่วมกับตัว พ.ต.ท.ทักษิณไปด้วย การใช้อำนาจของรัฐบาลอันเป็นอำนาจสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตนเช่นนี้ จึงเป็นความไม่ซื่อตรงต่อประชาชนอย่างชัดแจ้ง
    4.3) ไม่บังควร พ.ต.ท.ทักษิณปฏิเสธและดูถูกศาลไทยมาโดยตลอดว่าเป็นศาลมิคกี้เมาส์ ร่างกฤษฎีกานี้ก็ร่างขึ้นในขณะที่เขายังหนีคดีไปอยู่ที่ต่างประเทศ มุ่งเปิดช่องให้เขาสามารถแอบอิงโดยสาร รับพระมหากรุณาธิคุณร่วมกับนักโทษอื่นๆ ด้วย   หากเปรียบการอภัยโทษ เป็นการปล่อยนกจากกรงเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณก็คือ “นกนอกกรง” ที่น้องสาวคอยแอบปล่อยให้บินผสมโรงจากประตูกรงร่วมกับนกอื่นในกรงๆ ด้วยนั่นเอง   
    นกผสมโรงเช่นนี้จึงมิได้ถูกปล่อยจนเป็นพระราชกุศลสมตามที่ประชาชนได้ถวาย เป็นพระราชอำนาจไว้แต่อย่างใดเลย   การถวายร่างกฤษฎีกาอภัยโทษโดยน้องสาวของนกตัวนี้ กลับมีแต่จะตอกลิ่มทำให้ประชาชนต้องแตกแยกขัดแย้งแล้วลามปามมาเป็นปัญหาต่อ สถาบันอีกชั้นหนึ่งโดยมิบังควรยิ่ง
    พฤติการณ์ทั้งปวงที่กล่าวมาจะต้องปรากฏพยานเอกสารนานามารองรับในไม่ช้านี้ แต่ในปัจจุบันนี้ก็มีพยานแวดล้อมแน่ชัดเพียงพอให้กล่าวโทษได้แล้วว่า กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาได้ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่อนุมัติร่างกฤษฎีกาโดยทุจริต มุ่งเอื้อประโยชน์โดยมิชอบให้ พ.ต.ท.ทักษิณ อีกทั้งยังส่อให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญทำลายความเด็ดขาด เป็นที่สุดของอำนาจตุลาการ บิดเบือนการอภัยโทษตามพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญให้เป็นการแขวนหรือระงับโทษจำ คุกตามคำพิพากษา   ซึ่งมีแต่อำนาจตุลาการเท่านั้นที่จะรอการลงโทษเหล่านี้ได้
กรณีจึงสมควร ที่ประชาชนจะเข้าชื่อกันยื่นข้อกล่าวหานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 33 คนต่อท่านประธานวุฒิสภา ตามมาตรา 164 แห่งรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เพื่อดำเนินการตามกระบวนการถอดถอนโดยวุฒิสภาตามมาตรา 274 และให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินคดีอาญาเอาโทษ บุคคลเหล่านี้ มิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป.


ไทยโพสต์

ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
       
       จากการที่มีข่าวปรากฏในสื่อสาธารณะถึงการประชุมลับอันเป็นวาระจรของคณะรัฐมนตรีโดยที่นายกรัฐมนตรีไม่เข้าร่วมประชุม และคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในการออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษในวาระพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นประเพณีที่ฝ่ายบริหารจะต้องดำเนินการให้มีการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อเป็นการถวายพระราชกุศล และเพื่อให้โอกาสแก่บุคคลผู้ต้องราชทัณฑ์เหล่านั้น กลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี ซึ่งก็ปรากฏเป็นข่าวถึงการต่อต้านการออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ไม่มีผู้ใดทราบเนื้อหาใน พ.ร.ฎ.อภัยโทษนั้นว่ามีข้อความเป็นอย่างไร แต่ประชาชนมีความสงสัยว่าจะเป็นการอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมิใช่เป็นผู้ต้องราชทัณฑ์ด้วยหรือไม่ สื่อมวลชนได้พยายามทำหน้าที่ในการเสนอข่าวต่อสาธารณชนเพื่อให้เห็นการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของรัฐบาล ตามที่ได้แถลงนโยบายไว้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ที่จะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ สื่อมวลชน และสื่อสาธารณะทุกประเภทได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรม ( ตามนโยบายรัฐบาลข้อ 8 – 8.3 ) แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ แม้พรรคฝ่ายค้านจะได้ตั้งกระทู้สอบถามในสภาฯถึงสาระสำคัญของ พ.ร.ฏ.อภัยโทษ ก็ได้รับการปฏิเสธที่จะให้ประชาชนได้รับรู้ความลับของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษดังกล่าว การกระทำของรัฐบาลโดยการปกปิดข้อเท็จจริงของ พ.ร.ฎ.อภัยโทษลับนั้น จึงเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งไม่เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา ซึ่งผลของการกระทำดังกล่าวจะเป็นอย่างไรผู้เขียนจะไม่กล่าวถึง
       
        ผู้เขียนไม่ได้ทราบถึงข้อความใน พ.ร.ฎ.อภัยโทษลับ แต่จากการคาดเดาจากข้อเท็จจริงที่ได้เกิดขึ้นในอดีตที่อาจนำมาเป็นผลในปัจจุบันคือ การออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษจะต้องครอบคลุมถึง พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้ต้องราชทัณฑ์จะได้รับประโยชน์ด้วย รัฐบาลจึงต้องรักษาความลับในเนื้อหาสาระของพ.ร.ฎ.อภัยโทษดังกล่าวไว้ จนกว่าจะมีการลงพระปรมาภิไธยเสียก่อน ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่อการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างยิ่ง และอาจเป็นการกระทำเข้าขั้นเป็นการล้มล้างการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ เปลี่ยนประเทศไทยเป็นรัฐไทยใหม่ได้ โดยการใช้พระปรมาภิไธยที่ได้ลงในพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษนั้นเป็นช่องทางไปดำเนินการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างแยบยล
       
        รัฐธรรมนูญมาตรา 8 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ทางใดๆมิได้ “ รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์สามารถทำผิดกฎหมายได้ เพียงแต่บัญญัติไม่ให้ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้เท่านั้น พระมหากษัตริย์จึงอยู่ในฐานะที่จะทำผิดกฎหมายไม่ได้ หากพระมหากษัตริย์ได้กระทำการใดๆอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจะด้วยวิธีการใดๆก็ตาม ย่อมทำให้เป็นที่เสื่อมเสียซึ่งพระเกียรติยศ เกียรติศักดิ์แห่งองค์พระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์รวมทั้งประเทศชาติได้ ซึ่งการกระทำผิดกฎหมายของพระมหากษัตริย์แม้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ก็ตาม แต่ไม่ได้ห้ามมิให้สังคมทั้งภายในและต่างประเทศดูหมิ่น เหยียดหยาม ประณาม จนถึงขั้นอาฆาตมาดร้ายกดดันเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นได้ แต่อย่างใดไม่
       
        การนำเรื่องกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษจะต้องเป็นการอภัยโทษให้แก่ผู้กระทำความผิด เฉพาะผู้กระทำความผิดที่ศาลได้พิพากษาลงโทษไปแล้ว และไม่อาจจะใช้การอภัยโทษให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดทางอาญาขึ้นใหม่ได้เลย ไม่ว่าการกระทำความผิดอาญาที่กระทำขึ้นใหม่นั้นจะเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายในประเทศ ( ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ) หรือเป็นการกระทำความผิดทางอาญาตามมาตรฐานความผิดอาญาในสากลก็ตาม [ Crime Of Violence , Criminal Syndicalism ฯลฯ ] เพราะการลงพระปรมาภิไธยอภัยโทษที่ครอบคลุมไปถึงบุคคลที่ได้กระทำผิดอาญาดังกล่าวแล้ว ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ทำให้พระมหากษัตริย์กระทำผิดกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับในประเทศได้ และสุ่มเสี่ยงต่อการอภัยโทษให้แก่ผู้กระทำทางอาญาตามมาตรฐานความผิดอาญาในสากลได้
       
       ประชาคมโลกได้เห็นและทราบข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไปทั่วโลก ประชาคมโลกได้เห็นการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ มีการอ้างการแบ่งแยกทางชนชั้นเป็นข้ออ้างในเรื่องไพร่กับอำมาตย์ มีการเผาบ้านเมือง ร้านค้า สถานที่ราชการ ประชาคมโลกได้ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังของเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นเพราะมีการกระทำหลายอย่างเกิดขึ้นเป็นสาธารณะ ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายในสากลย่อมทราบเป็นอย่างดีถึงผู้ที่อยู่ในขอบข่ายของการเป็นผู้กระทำผิดอาญาทั้งในมาตรฐานสากลและความผิดอาญาในประเทศ และรู้ว่าการกระทำความผิดทางอาญาดังกล่าวไม่อาจถูกล้มล้างได้ เพราะผลของการชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาล การที่คณะรัฐมนตรีดำเนินการเพื่ออภัยโทษแก่นักโทษที่ต้องราชทัณฑ์ 26,000 คนซึ่งหากรวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยนั้น กรณีจึงเป็นเรื่องที่คนไทยทั้งชาติและประชาคมโลกให้ความสนใจและเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด การลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฉบับลับของรัฐบาลในครั้งนี้ จึงถูกจ้องมองโดยคนไทยและประชาคมโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การดำเนินการของคณะรัฐมนตรีในการเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษฉบับลับ จึงเป็นการกระทำของรัฐบาลที่ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงประทับบนคมดาบที่มีความคมกริบอย่างน่าสะพึงกลัว
       
        ตามหลักสากล หลักปฏิบัติตามจารีตประเพณี ตามหลักกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร หรือกฎหมายธรรมชาติ ( Natural Law ) การอภัยโทษนั้นจะกระทำต่อผู้กระทำผิดและต้องเป็นผู้ที่ต้องรับโทษทัณฑ์ การอภัยโทษไม่อาจกระทำได้กับผู้ที่ไม่ได้รับโทษทัณฑ์ตามความผิดที่ได้กระทำลง และไม่อาจใช้หลักการอภัยโทษกับบุคคลที่ไม่ยอมรับโทษทัณฑ์ซึ่งในระหว่างการไม่ยอมรับโทษทัณฑ์นั้นก็ได้กระทำความผิดอาญาอื่นขึ้นมาใหม่ได้แต่อย่างใดทั้งสิ้น การหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศเพราะไม่ต้องการจะถูกลงทัณฑ์ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาลงโทษนั้น จึงเป็นกรณีที่ผู้คุมขังได้หลบหนีไปในระหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจศาล เพราะการที่ได้การประกันตัว หรือการปล่อยตัวชั่วคราวไปจากศาล( Release on Bail ) เป็นการที่ศาลได้ให้อิสระจากการคุมขังตามอำนาจศาล (Competent Jurisdiction ) การที่ได้รับการประกันตัวไปจากศาล จึงเป็นกรณีที่ผู้ได้รับการประกันตัวไปนั้นยังคงเป็นผู้ที่ถูกคุมขังตามอำนาจศาล เมื่อมีการหลบหนีไปในระหว่างการได้รับการประกันตัว การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายของการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรมอันเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “ ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ดังนั้นในระหว่างที่พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีไปนั้น กรณีจึงเข้าข่ายของการกระทำความผิดอาญามาตรา 190 วรรคแรก และเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกันมาจนปัจจุบัน สิทธิที่ได้รับการอภัยโทษจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย เพราะมีการกระทำความผิดอาญา (หลบหนีคดีอาญา) ในขณะที่รัฐบาลออกกฎหมาย( พระราชกฤษฎีกา) ขอพระราชทานอภัยโทษ
       
        การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีไปในระหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล อันเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ตามมาตรา 190 วรรคแรก การออก พ.ร.ฎ.อภัยโทษเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการอภัยโทษ โดยไม่ต้องรับโทษ หลุดพ้นจากการคุมขัง หรือ เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม การออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษดังกล่าวของคณะรัฐมนตรี ย่อมเป็นการกระทำความผิดอาญา เกี่ยวกับการยุติธรรม ตามาตรา 191 วรรคแรกและ มาตรา 192 และการออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษ ที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องถูกจำคุก และพ้นจากการจำคุกนั้น ยังเข้าข่ายของการกระทำความผิดอาญาในฐานะเป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามมาตรา 203 อีกด้วย เพราะการออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษดังกล่าว เป็นการป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เมื่อการออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีเข้าข่ายของการกระทำความผิดอาญา มาตรา 191 วรรคแรก มาตรา 192 และมาตรา 203 ดังนั้น พ.ร.ฏ.อภัยโทษที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพื่อถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยอภัยโทษนั้น จึงเป็นเครื่องมือใช้เป็นเกราะกำบังในการกระทำความผิดอาญาของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 191, มาตรา 192 และมาตรา 203 ดังกล่าว
       
        [ มาตรา 191 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดให้ผู้ที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาลของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวนหรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หลุดพ้นจากการคุมขังไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
        มาตรา 192 ผู้ใดให้พำนัก ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ให้ผู้ที่หลบหนีจากการคุมขังตามอำนาจศาล ของพนักงานสอบสวนหรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา เพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
        มาตรา 203 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ]
       
        การออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 84 พรรษา อันนับได้ว่าเป็นประเพณีที่ปฏิบัติในวาระสำคัญของการครบรอบพระชนมพรรษา ซึ่งมีการอภัยโทษให้กับพลเมืองจำนวนหนึ่ง ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ไม่ต้องถูกคุมขังอีกต่อไป หรือได้รับการคุมขังให้น้อยลง (ลดโทษให้) ซึ่งปรากฏตามข่าวว่า จะมีผู้ถูกคุมขัง จำนวน 26,000 คน ที่จะได้รับการอภัยโทษเป็นอิสระในครั้งนี้ การออกพ.ร.ฏ.อภัยโทษที่มีข้อความในพ.ร.ฎ.อภัยโทษที่แตกต่างไปจากเดิม มีการตัดข้อความหรือเพิ่มข้อความ เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของการอภัยโทษโดยปกติธรรมโดยทั่วไป โดยมุ่งหวังที่จะให้บุคคลที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับประโยชน์ไปด้วย โดยใช้พลเมืองซึ่งเป็นผู้ต้องขังจำนวน 26,000 คน มาเป็นเป้าหมายซึ่งการขอพระราชทานอภัยโทษโดยพระมหากษัตริย์ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานอภัยโทษดังกล่าวนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการใช้อิสรภาพของพลเมือง 26,000 คน ที่จะพ้นจากการคุมขังมาเป็นอำนาจต่อรองในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระมหากษัตริย์ การกระทำดังกล่าวของคณะรัฐมนตรีเป็นการกระทำที่ใช้ระบบ( การออกกฎหมาย ) อันมีผลกระทบต่อพลเมืองจำนวนหนึ่ง ( Committed systematic attack directed against any civilian population ) ที่จะพ้นจาการคุมขังหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการลงพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ การกระทำของคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเข้าข่ายของการกระทำความผิดทางอาญาตามมาตรฐานสากล ( Crimes against humanity ) ซึ่งบัญญัติไว้ Rome Statute of the International Criminal Court ( Article 7) จึงเป็นการนำเอาพฤติการณ์การกระทำผิดอาญาสากลของคณะรัฐมนตรี มาดำเนินการถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งในกรณีเช่นนี้ไม่ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยใน พ.ร.ฏ.อภัยโทษหรือไม่ก็ตาม ก็จะถูกนำมากล่าวอ้างให้เป็นที่เสื่อมเสียซึ่งพระเกียรติยศแห่งองค์พระมหากษัตริย์ในสังคมและประชาคมโลกได้ อันเป็นการดึงเอาพระมหากษัตริย์มาอยู่ในเกมการเมืองที่สามารถนำไปขยายผลเพื่อทำลายล้างระบบสถาบันพระมหากษัตริย์ และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบอื่นได้โดยไม่ยาก
       
        การเสนอ พ.ร.ฏ.อภัยโทษ ซึ่งเป็นความลับของคณะรัฐมนตรี จึงเป็นที่กังขาของสังคมทั้งในและนอกประเทศ สื่อต่างประเทศได้สอบถามนายกรัฐมนตรีในเวทีอาเซียน แต่ไม่มีการนำข้อเท็จจริงออกมาเปิดเผยถึงเนื้อหาสาระของ พ.ร.ฏ.อภัยโทษดังกล่าว เมื่อรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรีจึงเป็นบุคคลที่สวมหมวกสองใบ โดยเป็นทั้งสมาชิกพรรคการเมือง และเป็นทั้งฝ่ายบริหารในคณะรัฐบาล คณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง จึงมีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบ สืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงว่าการดำเนินงานของพรรคการเมืองที่ทำหน้าที่บริหารในคณะรัฐบาลนั้นได้ดำเนินการไปตามเจตนารมณ์พรรคการเมือง นโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมืองหรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ในการดำเนินการทางการเมือง นโยบายพรรคการเมือง และข้อบังคับพรรคการเมืองทุกพรรค จะต้องดำเนินการตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นหลักพื้นฐานแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น ในกรณีนี้เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งทำการสืบสวนสอบสวนแล้ว หากปรากฏว่ามีการกระทำอันเป็นการสั่นคลอนต่อพระมหากษัตริย์ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้กระทำโดยหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง อันเป็นกรณีที่ขัดต่อเจตนารมณ์ในการดำเนินการทางการเมือง ที่พรรคการเมืองจะต้องดำเนินการทางการเมืองบริหารงานแผ่นดินโดยขัดต่อเจตนารมณ์ของพรรคการเมือง ขัดต่อนโยบาย ข้อบังคับและขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะสถานภาพของพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นประมุข เป็นหลักพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยตามรัฐธรรมนูญ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องมีหนังสือเตือนหัวหน้าพรรคการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ให้ระงับหรือจัดการแก้ไขการกระทำนั้นในเวลาที่กำหนด หากพรรคการเมืองไม่ดำเนินการ นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ต้องดำเนินการยุบพรรคการเมืองตามอำนาจหน้าที่ในทันที ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65 วรรคหนึ่ง วรรคสอง , มาตรา 235 วรรคสอง มาตรา 236(5) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 6 , มาตรา 7 วรรค สอง , มาตรา 9 วรรคแรก , มาตรา 10 , มาตรา 17 วรรคแรก , มาตรา 18 วรรคแรก , มาตรา 31 มาตรา 94 , พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา 21
       
ASTV


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง