เฟซบุ๊กศปภ.อัดสื่อเจอรุมด่ากลับจนต้องลบหนี
เฟซบุ๊ก ศปภ.โพสต์ข้อความกล่าวหาสื่อเครือเนชั่น เอาความเดือดร้อนประชาชนช่วยนักการเมือง หวังฉวยโอกาสทางธุรกิจ เพียงครึ่งชั่วโมงถูกชาวเน็ตโพสต์ข้อความด่ายับต้องลบข้อความหนี
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 ตุลาคม เฟซบุ๊กซึ่งอ้างว่าเป็นของ ศปภ. ได้โพสต์ข้อความระบุว่า NationGroup เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสื่อ ที่เอาความเดือดร้อนประชาชนช่วยนักการเมือง หวังฉวยโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งภายหลังจากข้อความนี้ถูกโพสต์ได้ไม่นาน บรรดาชาวเน็ตได้เข้ามาโพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น ไม่พอใจกับการกระทำของผู้ดูแลเฟซบุ๊กดังกล่าวจำนวนมากอาทิ Gib Panatda โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นว่า “พูดความจริงซะที ตอนนี้สื่อมวลชนกับองค์กรอิสระน่าเชื่อถือกว่า ศปภ.อีก แถลงทีไร ต้องเปลี่ยนช่องทุกที”
Charlotte Tk โพสต์ว่า “มาเตือนสติ เอาเวลาที่มานั่งด่าคนอื่น มาทำให้คนอื่นด่า ศปภ.ให้ น้อยลงดีกว่ามั้ยคะ น้ำท่วมเยอะแยะไม่ไปแก้ไขและป้องกันล่ะค่ะ มัวนั่งแหกปากอยู่ได้ เนี่ยเหรอ หน่วยงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาช่วยเหลือประชาชน สถุลว่ะ” ส่วน Kungging Laddawan โพสต์ว่า “วุฒิภาวะของคนทำงานให้ ศปภ.มีแค่นี้เองเหรอ” ขณะที่ Sophon Montreevichikul โพสต์ในทำนองเช่นกันว่า “admin ที่ดูแลระบบ ขาดวุฒิภาวะมาก แย่”
Sirasupa Rattanaprakarn โพสต์ว่า “ประเมินสมองประชาชนต่ำไปป่ะคะ ปชช.เค้ารู้ดีว่าต้องเชื่อและไม่เชื่อสื่อไหน ไม่ต้องมาบอกให้ตัวเองดูแย่หรอกค่ะ ปชช.หมดศรัทธา”
Kwan Gift โพสต์ว่า “คนดูแลเพจนี้ควรพิจารณาตัวเองนะคะ มาช่วยหรือแฝงตัวมาเสี้ยม สังคมแย่เพราะมีคนแบบนี้ รายงานข่าวตามปกติไม่เป็นต้องใส่ความเห็นยัดเยียด อย่ามาทำดีกว่าถ้าใจคุณอคติ” ส่วน Plus Pat โพสต์ว่า “ศปภ.เอาเวลาไปช่วยเหลือน้ำท่วมไม่ดีกว่า อย่าลืมว่า ศปภ.แปลว่าอะไร ไม่ได้มีไว้วิจารณ์คนอื่น ชาวบ้านเดือดร้อนและล้มตายไปเยอะแล้ว”
Watcharin Ketkorn โพสต์ว่า “ศปภ.อย่าลืมว่าคุณทำหน้าที่อะไรอยู่ อย่าว่าคนอื่น หน้าที่คุณคือ นำเสนอข่าวสารที่เป็นจริง เตือนช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่ตั้งมาเพื่อวิจารณ์คนโน้นคนนั้น ทำหน้าที่ตนเองให้ดีก่อนครับ”
Aor Wiriya โพสต์ว่า “พวกคุณทำหน้าที่ที่พวกคุณรับผิดชอบมาได้ดีหรือยัง...ทุกวันนี้พวกคุณยัง สับสนกันเองอยู่เลย...สื่อเค้าต้องการเสนอความจริงแต่พวกคุณกลับบิดเบือนแบบ นี้มันหมายความว่ายังไง...อย่ามาเหมารวมคนที่เค้าอยู่คนละข้างกับคุณให้เป็น เหมือนพวกคุณสิ...เพราะประเทศไทยมีคนอย่างพวกคุณบริหารนั่นแหละมันถึงไม่ เจริญซักที...คุณธรรม จริยธรรมหายไปไหน...นี่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ...คณะรัฐมนตรี...คนดีๆ คุณไม่เลือกเค้ามาบริหาร...มันไม่ผิดจากที่คุณหนูดีทวิตไว้จริงๆ”
Tukmor Coffeeman โพสต์ว่า “สื่อมีอิสระในการนำเสนอนะครับ แล้วประชาชนก็มีอิสระในการรับชมข่าว แล้วใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร ในความคิดของผมนะคับ ศปภ.มี หน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือ แล้วแจ้งเตือนข่าวสารเกี่ยวกับเหตุภัยพิบัติ ที่ชัดเจนถูกต้องให้กับประชาชนนะคับ แล้วประชาชนจะตัดสินใจเองคับว่า จะเชื่อไคร ไงก็ทำหน้าที่ของ ศปภ.ให้เต็มที่นะคับ มาวิพากษ์วิจารณ์สื่อแบบนี้ ยิ่งจะทำให้ภาพลักษณ์ดูแย่ลงนะคับ สู้ๆ คับ”
Amy Jaa โพสต์ว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไม ศปภ.ถึง ไม่ได้รับความเชื่อถือ ทำไมถึงมีการถอนตัว จะมาดูสถานการณ์น้ำท่วม เครียดจะตายอยู่แล้วกับเรื่องน้ำ เข้ามาเจอเรื่องแบบนี้ ลาขาดแล้วค่ะ”
ทันทีที่มีบุคคลเข้าไปโพสต์แสดงความคิดเห็นในทำนองไม่พอใจการกระทำของผู้ดู แลเฟซบุ๊กดังกล่าวจำนวนมาก ปรากฏว่าเมื่อเวลา 11.00 น. วันเดียวกัน ผู้ดูแลเฟซบุ๊ก ศปภ.ได้ลบข้อความไปอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวจะดำเนินการโดย ศปภ.จริงหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการว่า ศปภ.ได้ ใช้เว็บไซต์เฟซบุ๊กเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับประชาชน อีกทั้งข้อความที่นำมาโพสต์ไว้ส่วนใหญ่มักจะเป็นการนำข่าวจากสื่อต่างๆ หรือบอกเล่าความต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลโดยตรงของ ศปภ. รวมทั้งการนำคำพูดจากทวิตเตอร์ของบุคคลใกล้ชิดกับรัฐบาลที่ตอบโต้กับบุคคลอื่นมาเผยแพร่ด้วย
คมชัดลึก
ของแถม
ทำไม ศปภ. กลายเป็นตัวตลก? (สารส้ม) |
ในยามวิกฤติเช่นนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงอย่าง ศปภ. ควรจะแสดงบทบาทเป็น "ผู้นำ" ทำให้ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจ มีความเชื่อมั่น เชื่อถือศรัทธาในการทำงานของ ศปภ. แต่ทำไมสิ่งเหล่านี้ ไม่เกิดขึ้น? ตรงกันข้าม... อย่าให้พูดเลยว่าประชาชนเขาเอาไปล้อเลียนอย่างไรบ้างในโลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะประโยคที่รัฐบาลชอบพูดถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า "เอาอยู่" เพราะรัฐบาลบอกว่า "เอาอยู่" เมื่อไหร่ หลังจากนั้นไม่นาน น้ำก็แตกท่วมทะลักทุกที ทั้งหมด เป็นเพราะความไร้ประสิทธิภาพการทำงานของ ศปภ.เอง ใช่หรือไม่? จะให้ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธาได้อย่างไร ในเมื่อคนใน ศปภ.เอง ก็ยังออกมาส่งเสียงกันคนละคีย์ พูดกันคนละทาง แถมบ่อยครั้ง ยังดูเหมือนจะเหน็บแนม วิพากษ์การทำงานของ ศปภ.เองอยู่ในทีด้วยซ้ำ 1) ล่าสุด... นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งใน ศปภ. ยังออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนด้วยตนเองว่า... สิ่งที่รัฐบาลควรทำในวันนี้และตนคิดว่ายังไม่สายเกินไป คือ 1.ให้ความจริงกับประชาชน 100 % ไม่ต้องกลัวว่า เขาจะหวาดกลัว 2. เตือนก่อนล่วงหน้าให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ 3. มีจุดยืนและให้หาที่ปลอดภัยให้กับประชาชน 4.สถานที่ปลอดภัยดังกล่าวที่ให้ประชาชนอยู่ต้องให้ใกล้เคียงกับชีวิตปกติของ เขาให้มากที่สุด เมื่อ คนใน ศปภ.ออกมาพูดอย่างนี้ ก็เลยถูกนักข่าวตอกหน้ากลับไปว่า "การที่บอกว่าต้องบอกความจริงต่อประชาชน 100% แสดงว่าที่ผ่านมารัฐบาลยังบอกไม่หมด 100% ?" 2) ก่อนหน้านี้ มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ในภาคประชาชนได้ประกาศถอนตัวออกจากการร่วมงานกับ ศปภ. ด้วยเหตุผลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือกลุ่มไทยฟลัด ThaiFlood.com นำโดยคุณปรเมศวร์ มินศิริ กลุ่มนี้ มีบทบาทมากในการใช้สื่อออนไลน์สมัยใหม่เป็นเครื่องมือแจ้งเตือน เฝ้าระวัง และสื่อข้อมูลที่ถูกต้องจากรัฐสู่ประชาชน จากประชาชนสู่รัฐ และจากประชาชนสู่ประชาชนด้วยกันเอง ข้อความที่คุณปรเมศวร์ได้ทวีตผ่าน twitter ก่อนจะตัดสินใจถอนตัวออกจาก ศปภ. สะท้อนสภาพปัญหาในการทำงานของ ศปภ.อย่างแทบจะหมดเปลือก ค่อยๆ อ่านระหว่างบรรทัด ทีละข้อ จะเห็นปัญหาฟอนเฟะ บางข้อความ เช่น "โครงสร้างการทำงานแบบราชการ ไม่เหมาะสมกับการรับมือภัยพิบัติ เพราะติดเวลาราชการและขั้นตอนมากมาย ยังไม่รวมถึงเรื่องคน" "ควรทบทวนเรื่องการจัดตั้งกระทรวงภัยพิบัติ มิฉะนั้น จะกลายเป็นเพียงชื่อหน่วยงานที่สวยหรูดูดีเพิ่มมาอีกชื่อหนึ่งเท่านั้น" "คำว่า "ผู้บัญชาการสถานการณ์" หรือ Incident Commander เน้นความมีเอกภาพ มีคนสั่งการน้อย มีคนช่วยงานมาก" "ประเทศไทยมีแต่คนอยากชี้นิ้วสั่งการ แต่ไม่ลงไปช่วยทำงาน มีแต่คนขอข้อมูล แต่ไม่ลงไปทำข้อมูล" "ผู้บัญชาการสถานการณ์ที่ไม่มีความรู้ แต่อวดรู้และสั่งการบนความไม่รู้ ก็เหมือนคนขับรถที่บ้าระห่ำ และพาคนอื่นลงเหวตามไปด้วย" "เคยดูหนังเรื่องนึง รัฐบาลจะปิดข้อมูลสำคัญ แล้วรีบเอาตัวเองกับพรรคพวกรอด แทนที่จะแชร์ข้อมูลให้ผู้เชียวชาญช่วยกันแก้ไข" "ข้าราชการบางคนตกอยู่ใต้อิทธิพลการเมือง น้ำท่วมปาก อยากช่วยคนแต่ก็กลัวถูกเด้ง ผมเห็นใจครับ" "ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนไทย กลายเป็นของเล่นของนักการเมืองเห็นแก่ตัวไม่กี่คนที่กำลังเพลินกับการใช้งบประมาณฉุกเฉิน" "รัฐบาลไหนที่ชอบหาเสียงแล้วให้ความสำคัญกับคำว่า "ประชาชน" บ่อยๆตอนหาเสียง ช่วยทำตามที่พูดด้วยนะครับ" "เราต้องการให้เกิดการทำงานร่วมกับระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน ไม่ใช่แค่เอาประชาชนมาทำงานให้รัฐได้หน้าว่าช่วยเหลือประชาชน" "เหตุผลที่ต้องการเข้าร่วมประชุมไม่ใช่แค่ขอรับฟังข้อมูลมาบอกกับประชาชน แต่เพื่อนำเสียงจากประชาชนเข้าไปแนะนำรัฐบาลที่ผมเน้นไป" "รัฐบาลชุดก่อนมีกรรมการจากตัวแทนประชาชนหลายคน ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว รัฐบาลนี้ปกปิดอะไร จึงไม่แต่งตั้งตัวแทนประชาชนเข้าร่วมทำงาน" "การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะต้องก้าวข้ามความเห็นต่าง หลายหมู่บ้านบ่นกันเยอะว่ารถส่งของบริจาคไม่ยอมจอด ถ้าไม่ยอมติดธงแดง" "ของบริจาคเข้าสำนักนายกจำนวนมาก ถูกขนไปร่วมคาราวานเสื้อแดงที่อิมพีเรียลลาดพร้าว จริงหรือไม่" "สรุปประเด็นนะครับ ผมตั้งใจจะช่วยแก้ไขปัญหาแบบก้าวข้ามสี แต่รัฐบาลคิดแบบนี้หรือเปล่า ผมไม่ทราบ" "มีคนคิดฉวยโอกาส สร้างความเข้มแข็งให้กับ "ตำบลเสื้อแดง" ในช่วงที่มีผู้ประสบภัยมากขนาดนี้ ผ่านกลไกของรัฐ โปรดจับตาให้ดี" "ผู้ใหญ่จาก ศปภ.โทรมาว่า "ทำไมไม่ยอมพบกันครึ่งทางเลย" ผมตอบไปว่า ถ้าบ้านคุณน้ำท่วม มีเรือไปรับคุณแล้วส่งแค่ครึ่งทาง คุณเอาไหม" เพียงเท่านี้ อ่านระหว่างบรรทัดฐาน แล้วคิดตาม... ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม ศปภ. ถึงกลายเป็นตัวตลกในสายตาประชาชนที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ เตือนครั้งสุดท้าย... จงหยุดเอาชีวิตของประชาชน ไปเป็นของเล่นของนักการเมือง! |
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น