นักวิชาการวิศวกรรมทรัพยากรน้ำเสนอจัดตั้งกองทุนอุทกภัยโดยเก็บเงินจากผู้
ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และเสนอให้ยกเลิกทำนาปี
แต่เปลี่ยนเป็นทำนาปรังปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ใช้น้ำจากเขื่อน
และเสนอให้รัฐจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรที่ยอมให้ที่นาของตนรับน้ำล้นจากเขื่อน
กว่า 3 เดือนแล้วที่พื้นที่เกือบ 30 จังหวัดของประเทศ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางต้องจมอยู่ใต้น้ำ โดยวิกฤตการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ได้สร้างความเดือนร้อนแก่ผู้ที่ได้รับความเสีย หายเป็นอย่างมาก แม้ว่ารัฐบาลจะดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนแล้วก็ตาม นั่นเป็นเพียงแค่มาตรการเผชิญหน้าหรือมาตรการชั่วคราวเท่านั้น
รศ.ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์แก่ศูนย์ข่าว TCIJ โดยประเมินสภาพปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ว่า เกิดจากปริมาณน้ำสะสมจากพายุ 4 ลูกที่ผ่านเข้ามา ซึ่งคือพายุนกเตน ไหหม่า เนสาด และนาลแก และการขยายตัวของเมืองจากการพัฒนาทำให้เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำอยู่ในขณะ นี้ ดังนั้นรศ.ชัยวัฒน์ จึงแนะแนวทางแก้ไขการจัดการทรัพยากรน้ำด้วยมาตรการ 3 ระยะ ดังนี้
มาตรการระยะสั้น
รศ.ชัยวัฒน์กล่าวว่าจะต้องมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้แหล่งน้ำ หรือ หนองน้ำพร้อมกับการปักปันเขตแม่น้ำ ห้วย และคลองเพื่อเป็นทางระบายน้ำ ต้องกำหนดพื้นที่ควบคุมการก่อสร้างริมแม่น้ำ หรือ ที่ลุ่มเพื่อการระบายน้ำอีกทางหนึ่งเพราะการถมที่ดินจะทำให้น้ำล้นตลิ่งและ เส้นทางเดินของน้ำเปลี่ยนไป หรือการสร้างบ้านอาจสร้างแบบใต้ถุนสูง ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจัง
ทั้งนี้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนอุทกภัย โดยให้ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั่วทุกภาคของประเทศเป็นผู้จ่ายเงิน สนับสนุนกองทุนนี้ และกรุงเทพมหานครเป็นส่วนกลางในการบริหารจัดการ โดยจะต้องมีการจัดเก็บเงินเข้าสู่กองทุนทุกปีกรณีที่น้ำไม่ท่วมอาจนำเงินจาก กองทุนไปดำเนินการด้านอื่นๆที่เป็นประโยชน์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อ อุทกภัย เช่น การปรับระบบจัดการบริหารน้ำใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ รศ.ชัยวัฒน์ ยังเสนอต่อว่าให้กำหนดพื้นที่เกษตรรับน้ำนอง โดยทำได้เป็นสองประการคือ ไม่ให้มีการปลูกข้าวนาปีแต่ให้มีการปลูกข้าวนาปรังปีละ 2 ครั้ง โดยใช้น้ำจากเขื่อน อดีตจะปลูกข้าวนาปีและข้าวนาปรังอย่างละครั้งทำให้ชาวนาเป็นห่วงข้าวนาปี เนื่องจากขณะนั้นมีต้นข้าวอยู่ในนาหากทุ่งข้าวต้องรับน้ำเพิ่มก็จะทำให้ต้น ข้าวเสียหาย แต่หากในขณะนั้นเกิดภาวะน้ำล้นเขื่อนก็จะไม่สามารถระบายน้ำออกจากเขื่อน ดังนั้นจึงเสนอให้ทำนาเป็นสองช่วงคือ ช่วงเดือน ธ.ค.-มี.ค.และเดือน เม.ย.-ส.ค.แทน เพราะสองช่วงนี้มีฝนตกน้อยทำให้ต้องใช้น้ำจากเขื่อน
หลังจากเดือนสิงหาคม ฝนก็จะตกลงมาและให้ทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวไปแล้วนั้นรองรับน้ำไว้เพื่อการทำนา ในช่วงถัดไปคือช่วงเดือนธันวาคม ปัจจุบันไม่สามารถกักเก็บน้ำเข้ามาใน พื้นที่ได้เนื่องจากข้าวนาปียังไม่เก็บเกี่ยวในช่วงเดือน มิ.ย.-พ.ย.
นักวิชาการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำกล่าวว่าประการที่สองคือ ให้รัฐบาลเช่าพื้นที่เกษตรรับน้ำนองในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. เพราะเป็นช่วงที่ชาวนาไม่ได้ทำนา ซึ่งน้ำนองนี้อาจเป็นน้ำที่ปล่อยลงมาจากเขื่อนที่มีน้ำล้น โดยรัฐจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรเหล่านั้นพร้อมกับทำความเข้าใจและประกาศ ให้ชาวนาทราบก่อนล่วงหน้า
มาตรการระยะกลาง
รศ.ชัยวัฒน์ กล่าวถึงมาตรการระยะกลางว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งให้ก่อสร้างระบบผันน้ำ ขนาดใหญ่ข้ามลุ่มน้ำ แบ่งเป็นระบบผันน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ผ่านทาง อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท สู่เขื่อนพระรามหก ผ่านทางแม่น้ำนครนายก แล้วลงสู่แม่น้ำบางประกง ส่วนระบบผันน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ผ่านทาง อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท เข้าสู่อ.ดอนเจดีย์ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และลงสู่แม่น้ำท่าจีน
ข้อเสนอตามมาตรการระยะกลางในการสร้างระบบผันน้ำขนาดใหญ่ข้ามลุ่มน้ำ
มาตรการระยะยาว
รศ.ชัยวัฒน์กล่าวว่า จะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำในอ่าวไทยเพื่อรับน้ำ โดยก่อสร้างเขื่อนหินทิ้งและประตูเรือสัญจรเชื่อมปากอ่าวไทยระหว่างฝั่ง ตะวันตกที่บ้านแหลมผักเบี้ย จ.เพชรบุรีกับฝั่งตะวันออกที่บ้านแหลมฉบัง จ.ชลบุรี รวมความยาวประมาณ 90กม. ถือเป็นการควบคุมอิทธิพลน้ำขึ้น-น้ำลงที่จะย้อนกลับเข้าไปในปากอ่าวไทย ดังนั้น เมื่อน้ำขึ้นจะปิดประตูเขื่อน และเปิดประตูเขื่อนในช่วงน้ำลงเพื่อระบายน้ำ แนวคิดนี้ เปรียบเสมือน “แก้มลิงยักษ์” เพื่อป้องกันน้ำทะเลหนุน
ข้อเสนอตามมาตรการระยะยาวในการสร้างเขื่อนเชื่อมปากอ่าวไทย
ข้อดีของการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเชื่อมปากอ่าวไทยนี้ คือทำให้มีเครื่องมือบริหารอุทกภัยที่มีประสิทธิภาพ เป็นทางลัดของรถขนาดเล็กจากภาคตะวันออกไปภาคใต้ลดความเสี่ยงจากระดับน้ำ ทะเลขึ้นสูงและจากแผ่นดินทรุดตัวทั้งยังลดการกัดเซาะชายฝั่งอีกด้วยส่วนข้อ เสีย คือระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป และจะทำให้เรือบรรทุกที่เข้าท่าเรือคลองเตยล่าช้าช่วงการบริหารอ่างเก็บน้ำ กว่า 2เดือนซึ่งเป็นช่วงที่น้ำหลาก
ทั้งนี้รศ.ชัยวัฒน์ย้ำว่า แม้มาตรการต่างๆอาจก่อให้เกิดผลดี แต่ก็ยังมีผลเสียที่บุคคลบางกลุ่มอาจจะต้องรับภาระ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องคำนึงถึงการจ่ายค่าเสียโอกาสให้แก่กลุ่มคนเหล่านั้นด้วย เพราะการเสียสละของบุคคลบางกลุ่มก็คือความรับผิดชอบของคนทั้งประเทศ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น