บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เพื่อชาติภูมิ: สยามประเทศ


บทความโดย ศรีศักร วัลลิโภดม
ผ่าน Bhadinphat Genie Yipmanon


อนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๓ บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
                สำหรับมนุษยชาติในปัจจุบัน โลกนี้มีภพภูมิทางวัฒนธรรม ๓ ภูมิด้วยกัน คือ โลกภูมิ ชาติภูมิ และมาตุภูมิ

                สำหรับ “โลกภูมิ” นั้น  ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ แบ่งเป็นโลกซีกตะวันออกและตะวันตก ซึ่งผู้คนมีวิถีทัศน์ในการมองโลกต่างกันในเรื่องจักรวาล ทางตะวันตกเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล คือสิ่งที่มนุษย์ควบคุมได้ด้วยพลังความคิด สติปัญญา และความสามารถ ในขณะที่ทางตะวันออกเห็นว่าจักรวาลมีความกว้างใหญ่ ลึกล้ำสุดความสามารถที่มนุษย์จะควบคุมได้ เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และสยบกับสิ่งลี้ลับที่ไม่สามารถควบคุมได้ นั่นก็คือ มิติทางสิ่งเหนือธรรมชาติ

                โดยธรรมชาติ มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่พึ่งตนเองไม่ได้ทั้งกายและจิตใจ นับเป็นสัตว์ที่อ่อนแอกว่าสัตว์ใหญ่ๆ หลายประเภท เช่น พวกเสือ สิงห์ กระทิง แรด ที่พอคลอดออกมาจากท้องแม่ได้ไม่นานก็หากินและช่วยตัวเองได้

                เพื่อความอยู่รอด ธรรมชาติสร้างให้มนุษย์ต้องมีความสัมพันธ์กับสิ่งนอกกายใน ๓ มิติ คือ  มิติแรก ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ที่ต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่ที่เรียกว่า สังคม ที่แลเห็นจากความสัมพันธ์ตั้งแต่ครอบครัว เครือญาติ เผ่าพันธุ์ และชุมชนบ้านและเมือง โดยการต้องอยู่เป็นกลุ่มนี้ มนุษย์จึงเป็นสัตว์โลกที่เรียกว่าสัตว์สังคมซึ่งแตกต่างไปจากสัตว์เดี่ยว เช่น เสือ สิงห์ กระทิง แรด

                มิติที่สองคือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ อันเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในด้านที่อยู่อาศัย การทำมาหากิน และการอยู่ร่วมกันทางสังคม

                มิติที่สามคือ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ  มิติที่สามนี้ สัตว์โลกอื่นๆ ไม่มี เพราะเป็นมิติในเรื่อง ความเชื่อ เหตุที่สัตว์อื่นไม่มีเพราะธรรมชาติไม่สร้างสรรค์ให้มีศักยภาพในการเรียนรู้ และมีความจำความสามารถในการเรียนรู้นั้น ทำให้มนุษย์คิดเป็น ทำเป็น สร้างความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผลและพิสูจน์ได้ ควบคุมได้ เช่น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการสื่อสารกันด้วยภาษาทั้งคำพูดและตัวอักษร อันเป็นระบบทางสัญลักษณ์ได้ แต่ก็มีหลายอย่างอีกมากมายในจักรวาลที่มนุษย์ยังเรียนรู้ไม่ถึง และไม่สามารถอธิบายได้ในเชิงวิทยาศาสตร์และควบคุมได้โดยเทคโนโลยี อันนับเป็นความไม่รู้ที่ไม่สามารถอธิบายได้ ความไม่รู้ที่ไม่สามารถอธิบายได้และควบคุมได้นี้ ทำให้เกิดความกลัวที่นำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคง ขาดสิ่งยึดเหนี่ยว จึงต้องหันมาอธิบายด้วยความเชื่อในอำนาจเหนือธรรมชาติ ความเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาตินี้คือที่มาของมิติที่สามที่กล่าวมา แล้ว เป็นความเชื่อที่มีทั้งมนุษย์สยบกับอำนาจเหนือธรรมชาติ อันเป็นที่มาของความเชื่อทางศาสนา กับความเชื่อที่มนุษย์พยายามใช้อำนาจเหนือธรรมชาติด้วยพิธีกรรมทางไสย ศาสตร์  ความเชื่อทางศาสนาเปรียบเหมือนองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ในขณะที่ความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์เปรียบเหมือนเทคโนโลยีฉะนั้น

                คนตะวันตกมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่ไม่ใคร่สมบูรณ์พูนสุข ทั้งดินฟ้าอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพเช่นคนตะวันออก จึงต้องต่อสู้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อดำรงชีวิตรอดตลอดเวลา มักจะมองโลก [World View] ในลักษณะที่ต้องควบคุมจักรวาลด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คนเหล่านี้จึงให้ความสำคัญกับสิ่งเหนือธรรมชาติหรืออำนาจเหนือธรรมชาติน้อย และเน้นพัฒนาการเรียนรู้และประดิษฐ์ในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าว หน้า ต่างกับคนตะวันออกที่อยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีความหลากหลายทาง ชีวภาพดีกว่า จึงไม่สนใจในเรื่องความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และให้ความสำคัญการสยบกับจักรวาลแทน เพราะมีความเชื่อว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างในจักรวาลที่มนุษย์มีความรู้ไม่ถึงและไม่สามารถควบคุม ได้ หากเป็นเรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติที่ต้องสยบด้วยความเชื่อทางศาสนาและควบ คุมด้วยพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ อันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่แสดงออกในลักษณะที่เป็นสัญลักษณ์มากกว่าความ เป็นจริงทางรูปธรรม

                ด้วยการมองโลกที่แตกต่างกันของคนทั้งสองกลุ่มดังกล่าวนี้ ทำให้แลเห็นพัฒนาการทางอารยธรรมที่ต่างกัน โดยคนตะวันตกจะมีพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวไกลกว่า และลดความสำคัญของอดีตเข้าสู่ผลสำเร็จทางวัตถุในปัจจุบันและอนาคต อันเป็นผลให้โลกธรรมชาติ โลกทางจิตวิญญาณเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนยุคใหม่ของโลกในทางเศรษฐกิจและการ เมือง [Globalization] ในขณะที่คนตะวันออกยังเห็นความสำคัญของอดีตและความรุ่งเรืองในอารยธรรมทาง ศาสนา ประเพณี พิธีกรรม และศิลปวัฒนธรรม อันเป็นรากเหง้าในความเป็นมนุษย์ในแต่ละถิ่นฐานบ้านเมือง ที่มีความแตกต่างกันออกไปทางประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์

                การปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ อันนับเป็นความสำเร็จของคนตะวันตกนั้น มีผลเป็นอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของคนทางซีกตะวันออกของโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในเรื่องเครื่องจักรกลนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการใช้เครื่องยนต์แทนแรงงานคนในด้านการผลิต หากยังครอบคลุมไปถึงการพัฒนาเรือกลไฟที่เป็นทั้งเรือสินค้าและเรือรบในการ เดินสมุทร และบรรดาอาวุธสงครามที่มีอานุภาพในการทำลายล้าง ทำให้คนตะวันตกมีอำนาจทางทะเลและการคมนาคม เดินเรือเข้ามาสำรวจแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของคนตะวันออก นำทั้งลัทธิศาสนาและการปกครองเข้ามารุกรานเอาบ้านเมืองทางตะวันออกเป็น อาณานิคม

                ยุคของการล่าอาณานิคมดังกล่าวนี้ นับเนื่องเป็นการทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้อารยธรรมทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีของคนตะวันตก รวมถึงการให้การศึกษาและปลูกฝังความเป็นคนตะวันตกให้กับคนตะวันออกอย่างต่อ เนื่องหลายชั่วอายุคน อันเป็นผลให้เกิดการมองโลกและค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ให้ เปลี่ยนไปเป็นแบบตะวันตก ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตะวันตกเป็นเรื่องศิวิไลซ์และทันสมัย ดูมีหน้ามีตา แต่สิ่งที่เป็นตะวันออกดูล้าหลัง ไม่ทันโลกและแสนเชย

                การครอบงำของวัฒนธรรมตะวันตกที่มีต่อคนตะวันออกนั้นตรึงแน่นและตกผลึก แม้ว่ายุคอาณานิคมจะผ่านพ้นไป เพราะสู้กระแสชาตินิยม [Nationalism] ในบรรดาคนตะวันออกรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นอิสระในทางเศรษฐกิจและการเมืองไม่ ได้ก็ตาม แต่การให้คุณค่าและเกียรติภูมิของอารยธรรมตะวันตกก็ยังคงซึมทราบและซึมซับ อยู่ในบรรดาคนรุ่นใหม่เพื่อความทันสมัยอยู่ดี โดยเฉพาะคนในสังคมไทยที่อ้างตนเองว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นและเป็นอาณานิคมทาง การเมืองของคนตะวันตกนั้น แท้จริงแล้วเป็นอาณานิคมทางปัญญาของคนตะวันตกตลอดมา ทั้งระบบการปกครอง การยุติธรรม และการศึกษา ดังเห็นได้จากใครที่มีหน้ามีตาเป็นคนใหญ่คนโตได้นั้น มักต้องไปเรียนเมืองนอกแทบทั้งสิ้น

                ยิ่งในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อันเป็นยุคสงครามเย็นด้วยแล้ว คนไทยซึ่งเป็นคนตะวันออกได้กลายเป็นทาสทางปัญญาของคนอเมริกันอย่างถอนตัวไม่ ขึ้น ทั้งในรูปแบบและเนื้อหาสาระ นับแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่นำประเทศเข้าสู่ยุคพัฒนา อันเป็นการเปลี่ยนสังคมเกษตรกรรมที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น จนคนทั้งระดับบนและระดับล่างแต่รุ่นปู่ย่าตายายมาจนถึงรุ่นพ่อแม่และลูกหลาน นับได้สามชั่วคน ในทุกวันนี้ล้วนเอาแบบอย่างจากอเมริกันเกือบหมดสิ้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมแบบแทบไม่เหลือรากเหลือโคนของอารยธรรมตะวันออกอยู่เลย

                ในสมัยรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ อันนับเป็นยุคคนสยามใหม่นั้น แม้จะได้รับอิทธิพลอารยธรรมตะวันตกอย่างมากมายก็ตาม แต่ก็อยู่ในกระแสของชาตินิยมที่มีการปรับเปลี่ยนสังคมวัฒนธรรมเข้าสู่ยุค ใหม่ ในลักษณะที่ยังมีของเก่าผสมผสานอย่างมีดุลยภาพ [Blending] ที่ยังแลเห็นอัตลักษณ์ของคนสยามได้ชัด หรือเมื่อถึงสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ยุครัฐบาลเชื้อชาตินิยมของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เปลี่ยนชื่อประเทศสยามมาเป็นประเทศไทย ความเป็นคนไทยก็หาได้แตกต่างไปจากคนสยามก่อนหน้านี้ไม่ เพราะพื้นฐานสังคมของประเทศยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรม ที่ยังแลเห็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ

                แต่การเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมที่มีมาแต่สยามใหม่ครั้งรัชกาลที่ ๕ เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมในยุคพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมานั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคสยามอย่างแท้จริง อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ของมนุษย์กับจักรวาลในมิติคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ได้ค่อยเปลี่ยนและถูกทำลายลงเป็นลำดับ และดูหมดสิ้นในยุคปัจจุบันอันเป็นยุคของการปฏิวัติข่าวสารข้อมูล [Information Revolution] ที่ทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างไร้มิติของเวลาและพื้นที่ นับเป็นกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่ดำรงอยู่ในทุกวันนี้ แต่ว่าแตกต่างจากครั้งที่แล้วที่มาจากประเทศใหญ่ๆ ที่เป็นมหาอำนาจทางตะวันตก แต่ครั้งนี้มาจากอำนาจเหนือรัฐและเหนือทุนของบรรษัทข้ามชาติ ที่มีทั้งทางตะวันตกและตะวันออก กำลังครอบงำพลโลกทั้งตะวันตกและตะวันออกเป็นระยะเสมอมา ในรูปของการเปลี่ยนระเบียบโลกใหม่ [New World Order] ทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบจากหลายๆ ประเทศที่ยังคงมีรากเหง้าของอารยธรรมเก่าเหลืออยู่ โดยเฉพาะบรรดาประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามที่ไม่ยอมให้โลกาภิวัตน์มาทำลาย ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ  ได้เกิดการตอบโต้กันอย่างรุนแรง ในรูปของสงครามที่มองไม่เห็นฝ่ายปรปักษ์ ระหว่างผู้ที่ใช้พลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทางทำลายล้างศัตรูกับผู้ ที่มีพลังทางเทคโนโลยีน้อยกว่า แต่มีพลังทางจิตใจในด้านศาสนาและจิตวิญญาณสูงกว่า

                การระเบิดตึกเวิรด์เทรดกลางกรุงนิวยอร์กของอเมริกา อันเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญสูงสุดทางวัตถุทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง คือการประกาศสงครามของสองขั้วใหญ่ในโลกในรูปแบบของสงครามที่มองไม่เห็น ที่กำลังลุกลามและแพร่หลายในขณะนี้

                แต่ก็มีอีกหลายๆ ประเทศที่ได้รับผลจากการครอบงำจากอารยธรรมตะวันตกจนเสียบ้านเสียเมืองมาแล้ว ไม่ยอมให้กระแสโลกาภิวัตน์ในสมัยใหม่นี้เข้ามาครอบงำ และไม่แสดงการต่อต้านอย่างรุนแรง หากให้ความสำคัญไปกับการต่อรองแทน ในรูปแบบของการจัดการเมือง การปกครอง และการบริหาร ให้การปกครองท้องถิ่นมีพลังและมีสติปัญญาที่จะทบทวนและเรียนรู้ว่า ชีวิตวัฒนธรรมในสังคมท้องถิ่นอันเป็นแผ่นดินเกิดของตน อันมีคนหลายเผ่าพันธุ์และภาษามาอยู่รวมกันนั้น เคยอยู่ร่วมกันมาอย่างราบรื่นอย่างไร และอะไรที่เป็นเหตุและกลไกทางสังคมและวัฒนธรรมที่ยังมีความหมายและความสำคัญ อยู่ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการรับสิ่งใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ที่มาจากโลกาภิวัตน์มาปรับให้เข้ากับของเดิมที่จะไม่ทำให้การ อยู่ร่วมกันในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของคนในถิ่นกำเนิดเกิดความเดือดร้อนและขัดแย้งกัน

                กระแสการต่อรองการครอบงำของโลกาภิวัตน์ที่ว่านี้ทั่วโลกเรียกว่า ท้องถิ่นวัฒนา หรือท้องถิ่นวิวัฒน์ [Localization] ประเทศที่เป็นตัวอย่างเป็นเลิศในหมู่คนตะวันออกในทุกวันนี้ก็คือ ประเทศเวียดนาม เป็นประเทศที่มีทั้งการต่อสู้และต่อรองกับการครอบงำของโลกตะวันตกมาอย่าง โชกโชน ถึงขนาดบ้านเมืองถูกทำลายราบเป็นหน้ากลองก็ว่าได้ คนเวียดนามหลายชาติพันธุ์ที่เกิดในประเทศเวียดนามอันเป็นแผ่นดินเกิดหรือ ชาติภูมิ รวมกำลังกันต่อสู้ทั้งกายและจิตใจเพื่อขับไล่อเมริกันผู้เป็นมหาอำนาจอย่าง ไม่ท้อถอย แม้ว่าจะถูกฆ่าตายไปเป็นจำนวนหลายล้านคน จนในที่สุดมหาอำนาจยอมจำนน ประเทศเวียดนามอันเป็นชาติภูมิที่ถูกอเมริกันแบ่งแยกออกเป็นเวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ก็กลับมารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ผู้นำที่เสียสละคือ โฮจิมินห์

                เมื่อชาติภูมิกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว มาตุภูมิอันเป็นแผ่นดินเกิดในระดับท้องถิ่นก็ฟื้นตามมา

                ความเป็นมนุษย์อันเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติก็กลับมาสร้างภาวะสมดุลในการดำรงอยู่ร่วมกันของ มนุษย์ดังเดิม โดยเฉพาะในระดับมาตุภูมิหรือท้องถิ่นนั้น คือพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดสำนึกชาติภูมิอย่างแท้จริง เพราะท่ามกลางความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่น ต่างตระหนักถึงการที่จะอยู่ร่วมกันในประเทศชาติเดียวกัน ในการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองของคนเวียดนามนั้น เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในลักษณะและรูปแบบที่เป็นธรรมชาติจากข้างล่างขึ้น บนคือ ท้องถิ่นวัฒนา มากกว่าการพัฒนาจากข้างบนลงล่างในกระแสของโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้เกิดความแตกสลายของชาติภูมิและมาตุภูมิดังเช่นในประเทศไทยทุกวันนี้

                เวียดนามฟื้นตัวจากระดับครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกข้าวและพืชพันธุ์เพื่อบริโภคในพื้นที่แปลงเล็กๆ ของครอบครัวก่อน เป็นพืชผสมผสาน บริโภคก่อน เหลือจึงขายเข้าสู่ตลาดสดของชุมชน ในขณะที่พืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว พืชผัก ถั่ว จะปลูกในแปลงใหญ่ที่ร่วมกันทำในกลุ่มของเครือญาติและผู้ที่อยู่ในชุมชนเดียว กัน ในการจัดการน้ำอันเป็นสมบัติร่วมกันของชุมชนในท้องถิ่นก็เน้นชลประทานราษฎร์ กับลำน้ำธรรมชาติที่ชุมชนเคยใช้ร่วมกันมาแต่อดีต โดยไม่ทำลายต้นน้ำ อีกทั้งรักษาป่าเขาและท้องทุ่งที่เป็นพื้นที่สาธารณะของท้องถิ่น โดยไม่ให้สัมปทานแก่นายทุนโดยไม่ได้รับการเห็นชอบและยินยอมจากฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น ส่วนการขยายตัวทางอุตสาหกรรมก็ค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่สร้างโครงสร้างขั้นพื้น ฐาน ไม่ว่าเขื่อนชลประทาน เขื่อนพลังงานไฟฟ้า และการสร้างถนนหนทางแบบเร่งรัดพัฒนาแบบไทยแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา

                การเติบโตของบ้านเมืองอย่างรวดเร็วที่จะทำให้คนทั่วไปในท้องถิ่นเดือดร้อนก็ คือ การสร้างถนนหนทางที่อาจกีดขวางทางน้ำและการกระจายน้ำ จนทำให้การเกษตรของท้องถิ่นเดือดร้อนและเกิดอุทกภัย รวมไปถึงการขยายตัวของบ้านเมืองที่อาจนำคนต่างถิ่นเคลื่อนย้ายเข้ามาแย่งที่ ทำกินและที่อยู่อาศัย จนคนท้องถิ่นไม่อาจปรับตัวเองได้ การชะลอคนจากภายนอกเข้ามาผสมผสานดังกล่าวนี้ ทำให้แต่ละท้องถิ่นมีโอกาสในการบูรณาการทางวัฒนธรรมและสังคม ที่ทำให้คนนอกกลายเป็นคนในที่มีสำนึกท้องถิ่นอันเป็นสำนึกมาตุภูมิได้

                แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการฟื้นตัวและฟื้นสังคมประเทศชาติได้นั้นก็คือ แม้ เวียดนามจะเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ก็ตาม แต่ไม่เคยลืมอดีตของชาติภูมิ คือประเทศชาติและเผ่าพันธุ์ในด้านประวัติศาสตร์การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ที่ คนเวียดนามหันมาฟื้นฟูเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมนุษย์ในมิติของคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ทุกวันนี้ในแทบทุกท้องถิ่นของเวียดนามตั้งแต่ใต้จรดเหนือ ความเป็นชุมชนมนุษย์กลับคืนมาอย่างมีดุลยภาพ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของสังคมในด้านความเชื่อและพิธีกรรม ทั้งวัดพุทธมหายานและโบสถ์คริสต์ โรงเรียนท้องถิ่นมีขนาดใหญ่โต มีอุปกรณ์การเรียนพร้อมมูลให้กับเด็กของท้องถิ่นทั้งยากดีมีจนได้เรียนร่วม กันอย่างเสมอภาค และมีอนุสาวรีย์วีรชนและหลุมศพของคนหลายชาติพันธุ์ในท้องถิ่นที่ตายร่วมกัน ในการต่อสู้กับพวกอเมริกันเพื่อรักษามาตุภูมิ เป็นสิ่งเตือนใจและสร้างสำนึกร่วม

                ตรงข้ามกับประเทศไทย สังคมไทยตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันเป็นยุคพัฒนาประเทศจากสังคมเกษตรกรรมเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมแบบตะวันนั้น ภายใต้ความเป็นทาสปัญญาของอเมริกัน ไทยกลายเป็นฐานทัพให้อเมริกันทำลายล้างเวียดนาม โดยถูกมอมเมาว่าเวียดนามเป็นคอมมิวนิสต์ที่กำลังจะยึดครองประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็ทำการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองเพื่อให้เกิดความทันสมัยแบบ อเมริกันอย่างถอนรากถอนโคน ความเป็นคนตะวันออกที่มีมาแต่เดิมที่คนไทยเคยอยู่ร่วมกันอย่างมีดุลยภาพ ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ และผลจากการพัฒนาบ้านเมืองในวิถีตะวันตกที่มีมาเกือบกึ่งศตวรรษในทุกวันนี้ ก็คือความล่มสลายของผู้คน ชุมชนและท้องถิ่น เกิดความแตกแยกไม่สามัคคี และฆ่าฟันเผาบ้านเผาเมืองดังเช่นที่เห็นกันในทุกวันนี้

                ในทุกวันนี้ การที่บ้านเมืองเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์อย่างเต็มที่นั้น แทบจะหาคนยุคใหม่ในรุ่นพ่อแม่และลูกหลานที่มีความรู้และเข้าใจรากเหง้าของ บ้านเมืองในอดีตไม่ได้เลย และมุ่งที่จะพัฒนาอะไรต่ออะไรทางวัตถุเพื่อปัจจุบันและอดีตแต่อย่างเดียว คง มีแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและคนรุ่นปู่ย่าตายายบางกลุ่มในบางท้องถิ่น เท่านั้น ที่ระลึกอดีตและเห็นความร่มเย็นเป็นสุขอย่างมีดุลยภาพของอดีต โดยเหตุนี้จึงเกิดพระราชดำรัสเพื่อเตือนสติคนทั้งชาติในเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหมายถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมท้องถิ่นอย่างมีดุลยภาพอย่างที่เคยมีมา กับเรื่องการเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาแก่ผู้ที่รับผิดชอบในด้านการบริหารและการปกครอง ความหมายของการเข้าถึงก็คือ การเข้าถึงคนใน เพื่อให้คนในเข้าใจและวิวัฒน์ตนเองในลักษณะที่เป็นการพัฒนาจากข้างล่างขึ้น บนโดยภาคประชาสังคม เพื่อต่อรองและสร้างดุลยภาพกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมือง จากข้างบนลงล่างของทางรัฐบาลนั่นเอง

                โลกาภิวัตน์ในทุกวันนี้กำลังทำให้คนทั่วโลกอยู่ในภาวะโลกาวิบัติอัน เนื่องมาจากการที่คนยอมรับและรับรู้วิถีทางตะวันตกที่มาจากระบบการเมืองแบบ ประชาธิปไตย ที่ทำให้มีการซื้อเสียงขายเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นระบบการปกครองที่ทำให้คนชั่วร้ายสามารถใช้เงินซื้อตำแหน่งเข้ามามี อำนาจในรัฐสภาและรัฐบาล และความเลื่อมใสในเรื่องเศรษฐกิจเสรีทุนนิยมที่ทำให้คนเน้นความเป็นปัจเจก เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวก เป็นระบบเศรษฐกิจที่ทำให้คนที่เป็นสัตว์สังคมกลายเป็นเดรัจฉาน แย่งชิง แข่งขัน และทำลายล้างซึ่งกันและกันอย่างไม่มีสำนึกของคนที่อยู่ในชาติภูมิเดียวกัน

                เดรัจฉานเหล่านี้มักเป็นพวกข้ามชาติและขายชาติ และเป็นที่มาของนายทุนกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพเหนือรัฐและเหนือตลาดของโลกใน ขณะนี้ แต่การที่คนมีสติปัญญาในชาติจะหลุดพ้นจากการครอบงำของโลกาภิวัตน์นั้น จำต้องฟื้นวิถีตะวันออกและเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาต่อรอง เพราะวิถีตะวันออกนั้นคือวิถีทางของมนุษย์ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับ คน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นมหาจักรีทรงเตือนบรรดาเจ้านายและขุนนางผู้รับผิดชอบในการบริหาร บ้านเมืองสมัยนั้นว่า

                ความรู้ ความก้าวหน้า และความเจริญทางตะวันตกนั้น จำต้องเรียนรู้และควรเรียนรู้ แต่อย่าให้ถึงขนาดเลื่อมใส

ก็เพราะไม่เชื่อถ้อยคำที่ทรงตักเตือนผู้นำสยาม จึงบ้าฝรั่งมาจนทุกวันนี้...

                ในขณะที่พระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันก็คือ การ หันมาใช้ระบบเศรษฐกิจอันเคยเป็นวิถีของคนตะวันออกที่รักษาดุลยภาพในเรื่องคน กับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ อันเป็นมิติทางจิตวิญญาณและที่มาของความเชื่อทางศาสนาที่จรรโลงศีลธรรมและ จริยธรรมของผู้คนในสังคม

                เศรษฐกิจพอเพียงคือ เศรษฐกิจของคนที่อยู่กันเป็นกลุ่มบนผืนแผ่นดินเกิด เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ เพราะผลิตเพื่อการกินอยู่ร่วมกัน ก่อนที่จะนำส่วนเกินไปเป็นสินค้า ทั้งวิถีตะวันออกและเศรษฐกิจพอเพียงก็คือสิ่งที่จะสร้างพลังต่อรองกับกระแส และการครอบงำของเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ที่เน้นการส่งออกตามนโยบายของรัฐบาลรวมศูนย์ที่เป็นทรราชมาแทบทุกยุคทุกสมัย นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง