ดร.นิพนธ์ฯ วิพากษ์จากจำนำข้าวถึงค่าแรง
ช่วงแรกของการเสวนาดร.นิพนธ์ได้เปิดฉากวิพากษ์นโยบายของรัฐบาลในปัจจุบัน ว่ามีจุดประสงค์ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือเพื่ออะไรกันแน่ โดย ดร.นิพนธ์ได้ให้ความเห็นว่านโยบายในปัจจุบันเน้นไปที่การส่งผลกระทบทาง เศรษฐกิจ เช่นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อรถ ซื้อบ้าน ซึ่งเป็นประชานิยมของชนชั้นกลางนโยบายแรกที่ ดร.นิพนธ์นำมาวิพากษ์คือการจำนำข้าวเปลือก ซึ่งได้มีการย้ำว่าเป็นการใช้คำที่ผิด และควรใช้คำว่าการประกันราคาข้าวเปลือกแทนเพราะรัฐรับซื้อข้าวเปลือกในราคา ที่สูงกว่าตลาด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับรายได้ให้กับชาวนา เพิ่มราคาข้าว และเพิ่มมูลค่าการส่งออกไปยังต่างประเทศ
แต่ อ.นิพนธ์ได้โต้แย้งวัตถุประสงค์ดังกล่าวของรัฐบาล โดยยกข้อมูลเชิงสถิติที่ว่า ในประเทศไทยมีชาวนาเพียง 21% หรือราว 1 ล้านครัวเรือน ที่มีผลผลิตเหลือขาย ซึ่งชาวนาในส่วนนี้เป็นชาวนาที่มีฐานะดีและอยู่ในเขตชลประทาน ส่วนชาวนาที่ยังยากจนและไม่มีข้าวเหลือขาย ย่อมไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายจำนำราคาข้าว อีกทั้งผลสำรวจทางสถิติจากนโยบายจำนำราคาข้าวครั้งก่อนได้แสดงให้เห็นว่า มีผลประโยชน์เพียง 38% ที่ตกอยู่กับชาวนา และชาวนาที่เข้าโครงการก็มีเพียง 6.24 แสนครัวเรือน จากทั้งหมด 4 ล้านครัวเรือน ส่วนผลประโยชน์ที่เหลือก็จะตกอยู่กับโรงสีและผู้ส่งออก ซึ่งมีผู้ส่งออกสองรายใหญ่ได้รับผลประโยชน์จากการจำนำข้าวสูงถึง 18% จากทั้งหมด
นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังทำให้ราคาข้าวเปลือกแพงขึ้นจนรัฐต้องทำการอุดหนุนข้ามมวล ชนเพื่อขายในราคาที่ถูกลง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดคิวซื้อข้าว หากสังเกตดีๆจะพบว่า นโยบายจำนำข้าวเปลือกนี้ ไม่ต่างจากการนำเงินภาษีไปเพิ่มระดับราคาข้าวให้สูงขึ้นในตอนแรก และใช้เงินภาษีเพื่อลดราคาให้ต่ำลงเพื่อขายให้คนยากจน
ส่วนในด้านการส่งออกข้าว หากรัฐบาลไทยยัง Stock ข้าวก็จะทำให้คู่แข่งฉวยโอกาสที่ข้าวไทยไม่ออกสู่ตลาด เทขายข้าวในราคาที่สูง ส่วนเรื่องความเชื่อที่ว่ารัฐบาลจะเดินสายขายข้าวในราคา Cost Plus นั้นเป็นเพียงความคิดที่เคยพยายามและไม่เคยประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้การ Stock ราคาข้าวยังทำให้เกิดภาระขาดทุนที่แฝงอยู่ในบัญชีหนี้สินของรัฐบาล
อีกนโยบายหนึ่งที่ ดร.นิพนธ์เลือกมาวิจารณ์คือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งในส่วนนี้ ดร.นิพนธ์เห็นด้วยในการขึ้นค่าแรง แต่ไม่ใช่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั้งประเทศ เนื่องจากประเทศไทยใช้กลยุทธ์ต้นทุนการผลิตต่ำเพื่อตีตลาดส่งออกตลอดมา และหากย้อนกลับไปมองในอดีตจะพบว่า Real GDP ของไทยมีการเติบโตอย่างมาก แต่ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันกลับลดลงหากเทียบกับในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่
ดร.นิพนธ์ยังเสริมอีกว่า กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ จะบังคับใช้ในตลาดแรงงานใหม่หรือแรงงานไร้ฝีมือที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน หากมีการบังคับใช้กฎหมายนี้จริงนายจ้างย่อมเปลี่ยนกลยุทธ์ในการบริหารเป็น การจ้างงานในตลาดแรงงานมีฝีมือและใช้เครื่องจักรทดแทน หรือไม่ก็เลือกใช้ตลาดแรงงานนอกประเทศ ส่งผลให้แรงงานไร้ฝีมือเหล่านั้นตกงานและต้องหางานจาก Informal Sector ซึ่งจะยิ่งทำให้ถูกกดค่าแรงลงไปอีก สุดท้ายแล้วก็ไม่ต่างจากการถ่างกว้างช่องว่างความเหลื่อมล้ำของสังคมในทาง อ้อม อย่างไรก็ตาม ดร.นิพนธ์เสนอทางออกว่ารัฐควรมีการยกระดับฝีมือแรงงานโดยร่วมมือกับภาคเอกชน มากกว่าการแก้ปัญหาโดยเบียดขับแรงงานไร้ฝีมือออกจากภาคธุรกิจ
หลังจากการบรรยายของ ดร.นิพนธ์ ทางด้านคุณพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางที่ว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับกิจการ SME ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญของประเทศไทย รวมทั้งควรมีการส่งเสริมนโยบายทางการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา น้ำมันปาล์ม และอาหารทะเล สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเน้นย้ำถึงความสำคัญในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 11
ดร.พิภพฯ เสนอหาจุดเด่นของประเทศไทย
ทาง รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้แสดงความห่วงใยต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เพราะนโยบายของรัฐบาลนั้นเน้นหนักไปทางประชานิยม ที่ ดร.พิภพได้ให้นิยามง่ายๆว่า เกทับ บลั๊ฟแหลก แยกส่วน มองไม่ทะลุ ต้องมุบูรณาการ โดยยกนโยบายของรัฐบาลเรื่องการแจก Tablet ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาดร.พิภพกล่าวว่า การเรียนรู้ผ่าน IT เป็นทิศทางของโลกที่เราปฏิเสธไม่ได้ แต่รัฐบาลยังคิดไม่ทะลุ โดยมุ่งไปที่การดำเนินการแจกเครื่อง โดยลืมมองไปว่าใน Tablet นั้นขาดเนื้อหาที่จะใช้ในการพัฒนาความรู้ โดย ดร.พิภพได้นำเสนอแนวทางที่เด็กจะได้ประโยชน์จาก Tablet จริงๆ โดยการใส่ Application สอนภาษาต่างๆ หรือการให้ความรู้พื้นฐานของ ASEAN ที่ปัจจุบันเราแทบจะไม่รู้จักประเทศเพื่อนบ้านของเราเลย
ดร.พิภพ ยังกล่าวอีกว่า นโยบายรัฐบาลนี้เปรียบเสมือนห่วงผูกคอ 3 ชั้น ซึ่งชั้นแรกคือสิ่งที่รัฐบาลแถลงการณ์ออกมา เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลชุดนี้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ นั่นหมายความว่าประชาชน สื่อมวลชน และพรรคฝ่ายค้านย่อมสามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งการทำงานของรัฐบาลยังมีลักษณะทำไป แก้ไป แต่บางครั้งอาจไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการแก้ตัวและทิ้งปัญหาตกค้างไว้ที่ประชาชน จนเกิดเป็นห่วงผูกคอชั้นที่ 2
การทิ้งปัญหาไว้ที่ประชาชนโดยไม่ทำการแก้ไขนั้น ถือเป็นการฆ่าตัวตายทางอ้อมของรัฐบาล เพราะจะทำให้ในที่สุดแล้ว ประชาชนจะขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล จนเหตุการณ์ดังกล่าวเติบโตเป็นห่วงผูกคอชั้นที่ 3 ยกตัวอย่างที่เห็นชัดๆคือโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย หรือไม่ก็มีปัญหาเรียกร้องจากผู้ที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาค้างคาที่หากไม่ได้รับการแก้ไข ย่อมส่งผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าของพรรครัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ดร.พิภพได้เสนอแนวทางออกไว้คร่าวๆ คือนอกจากนี้ ดร.พิภพยังมีข้อเสนอแนะที่ว่า รัฐบาลไม่ควรอยากเป็นทุกสิ่ง ทำทุกอย่าง Serve ทุกตลาด แต่ควรค้นหาจุดเด่นของประเทศไทยบนพื้นฐานทรัพยาการที่มีอยู่ และมุ่งมั่นในการทำสิ่งนั้นเป็นจุดขายให้กับประเทศ หรือการทำ Thailand Global Positioning โดยตั้งคำถามว่า ต้องการให้ประเทศไทยนั้นยืนอยู่ในฐานะใดบนเวทีโลก โดย ดร.พิภพเห็นว่า ความเป็นไปได้ที่สุดในขณะนี้คือการมุ่งไปที่นโยบายเรื่องอาหาร ตั้งสินค้าเกษตรมีแบรนด์และผลผลิตทางการเกษตรแปรรูป พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม Home Stay ร่วมกันออกแบบของฝากหรือสิ่งทอและหัตถกรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องช่วยกันทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ โดยไม่ควรแยกปัญหาออกจากกัน
- รัฐบาลควรหาผู้ช่วยดีๆ หรือคณะที่ปรึกษามาเพื่อลดแรงเสียดทานในการดำเนินการตามนโยบาย
- ควรหักห้ามใจ ไม่ให้นักการเมืองฉวยผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ
- สร้างความร่วมมือกับข้าราชการประจำ
- หาข้อสรุปร่วมกับประชาชนในพื้นที่และ NGO
- หาทางป้องกันการตรวจสอบจากฝ่ายค้าน และแรงวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการ
ที่สำคัญคือการยกเลิกนโยบาย TQF (กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา) ที่จะทำให้การศึกษาภายในประเทศเป็นแบบเหมาโหล โดย ดร.พิภพเห็นว่าการศึกษาในแต่ละรั้วมหาวิทยาลัย ควรมีความแตกต่างกันออกไปตามหลักสูตร ซึ่งถือเป็นความสวยงามของการศึกษา แต่วิธีคิดที่จะทำให้ทุกอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่ต่างจากการทำลายระบบการศึกษาทางอ้อม
siu_thailand
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น