บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

มาบตาพุดกับการยืนยัน(ร่าง)กฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม



รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ 2550 ประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 อาจถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้ความสำคัญกับ “สิทธิชุมชน” และ “สิทธิสิ่งแวดล้อม” ไว้เด่นชัดเป็นรูปธรรมที่สุด โดยเฉพาะในบทบัญญัติมาตรา 66 และ 67 ที่เจตนารมณ์ของกฎหมายในมาตราดังกล่าวสามารถบังคับใช้ได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญ ประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา
สิทธิดังกล่าวแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะใน รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 ก็ได้เคยบัญญัติไว้บางส่วนแล้วในมาตรา 46 และมาตรา 56 แต่ทว่าในฉบับปี 2540 มิได้สามารถนำมาบังคับใช้ได้ทันที ต้องรอให้มีการออกกฎหมายลูกขึ้นมารองรับเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวเสียก่อน เพราะในตอนท้ายของกฎหมายกลับเขียนไว้ว่า “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” เพราะในภาษากฎหมายเป็นที่รู้กันว่า ถ้ายังไม่มีกฎหมายลูกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวก็ไม่สามารถนำมา บังคับใช้ได้
เรื่องดังกล่าวจึงเข้าล็อคของเหล่านักการ เมือง ผู้ประกอบการนายทุนและข้าราชการบางส่วนที่ไม่ต้องการให้รัฐธรรมนูญมาตราดัง กล่าวมีผลบังคับใช้ ดังนั้นเราจึงเห็นเป็นรูปธรรมเด่นชัดว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 9 ปี ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ประกาศใช้ 11 ตุลาคม 2540 จนถึงวันที่รัฐธรรมนูญถูกยกเลิก 19 กันยายน 2549 การผลักดันให้มีกฎหมายลูกเพื่ออนุวัตรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 46 และ 56 จึงไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้
แต่หลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ขึ้นมาและประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ความพยายามที่จะขัดขวาง หรือต่อต้าน หรือไม่เห็นชอบให้มีการอนุวัตรกฎหมายลูกให้ออกมาบังคับใช้ ยังคงถูกต่อต้านตลอดเวลาจากพวกนักการเมือง ผู้ประกอบการนายทุน และข้าราชการบางส่วนที่เกี่ยวข้อง แม้จะได้มีการเสนอ กระตุ้น ร้องเรียน ต่าง ๆ นานาจากภาคประชาสังคมมากมายเพียงใดก็ตาม จนในที่สุดระยะเวลาผ่านไปเกือบ 2 ปีความกระตือรือร้นที่จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้นำเข้าสภาให้เห็นชอบแล้วนำ ออกมาประกาศบังคับใช้ก็ไม่เป็นผล ในที่สุดสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านมาบตาพุด เริ่มจับเล่ห์ฉลของเหล่านักการเมือง นายทุน และข้าราชการที่เกี่ยวข้องได้ จึงได้ใช้มาตรการทางกฎหมาย ขึ้นมาใช้ทันทีโดยฟ้องหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง 8 หน่วยงานต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2552 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง
ต่อมาไม่นานวันที่ 29 กันยายน 2552 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้การคุ้มครองชั่วคราวสิทธิชุมชนของชาวบ้านใน พื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉาง ตามคำฟ้องโดยสั่งให้หน่วยงานรัฐผู้ถูกฟ้อง 8 หน่วยงานได้สั่งให้ผู้ประกอบการนายทุนเจ้าของโครงการหรือกิจกรรมประเภท รุนแรงจำนวน 76 โครงการระงับการดำเนินโครงการไว้เป็นการชั่วคราวก่อน
คำสั่งของศาลปกครองกลางดังกล่าว เปรียบเสมือนฟ้าผ่าลงมากลางหัวใจของรัฐบาลและนักธุรกิจทุนอุตสาหกรรมทั้ง หลาย เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า พลังของสิทธิชุมชนจากชาวบ้านตัวเล็ก ๆ จะสามารถทำให้เหล่าพวกยักษ์อุตสาหกรรมและหน่วยงานรัฐร้องโอดโอยไปได้ เพราะคงไม่มีใครคาดคิดอีกเช่นกันว่าผู้กุมอำนาจรัฐทั้งหลาย จะพ่ายแพ้มรรควิธีตามกระบวนการของกฎหมายโดยภาคประชาสังคม
นักการเมือง นายทุน และข้าราชการที่เกี่ยวข้องต่างออกมาเสนอหน้าเพื่อขอความเห็นใจและเร่งรีบ ผลักดันให้มีกฎหรือระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง แทบจะโดยทันที ไม่ว่าภาคประชาสังคม ประชาชนจะเสนอแนะอะไรเป็นตอบรับเห็นดีเห็นงามไปหมด จนในที่สุดเราก็ได้ระเบียบหรือแนวทางเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือ EHIA ได้ประเภทกิจการรุนแรง และเราก็ได้ร่างกฎหมายองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียแล้วจากทุก ภูมิภาคทั่วประเทศ
แต่เนื่องจากเกรงว่าภาคธุรกิจผู้ประกอบการจะ เสียหายไปมากกว่านี้จึงได้ช่วยกันผ่อนปรนหรือยอมอ่อนข้อให้มีการจัดตั้ง องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพขึ้นมาเป็นการชั่วคราวก่อน ในรูปแบบของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และคาดหวังว่าเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ผ่านกฤษฎีกา ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ผ่านวุฒิสภาแล้วจะมี “องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” ที่ถาวรอยู่ในรูปพระราชบัญญัติโดยเร็วต่อไปทันที แต่เผอิญมีการยุบสภาไปเสียก่อน ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงต้องค้างพิจารณาไว้ที่รัฐสภา จนกว่าจะมีสภาผู้แทนชุดใหม่ และมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำงานแล้ว
เพราะตามหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 เมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังจากการเลือกตั้ง หากมีกฎหมายใดที่ค้างการพิจารณาอยู่ในรัฐสภาจะต้องตกไป เว้นแต่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะได้ร้องขอกลับไปยังรัฐสภาภายใน 60 วันหลังจากมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก (1 สิงหา 54) กฎหมายต่าง ๆ ที่ค้างรัฐสภาอยู่ก็จะสามารถเดินหน้าการพิจารณาต่อไปได้
เรื่องนี้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และผองเพื่อนได้ยื่นจดหมายถึงท่านายกรัฐมนตรีและท่านรัฐมนตรีกระทรวง ทรัพยากรฯแล้ว 2 ครั้ง เพื่อขอให้ท่านได้ยืนยันร่างกฎหมายดังกล่าวให้สภาฯได้พิจารณาดำเนินการต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 54 ที่ระบุไว้ในนโยบาย ข้อที่ 5.3 เกี่ยวกับนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและเร่งรัดการควบคุมมลพิษ โดยการปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ปรับปรุงกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เอื้อต่อการเข้าถึงขององค์กรภาคประชาชน และผลักดันกฎหมายว่าด้วยองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันเท่าที่ทราบข่าวมาว่าฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มสายอดีตรัฐมนตรียิงตู้เย็นพรุน ไม่ต้องการให้มีกฎหมายฉบับดังกล่าวเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันฝ่ายราชการประจำในกระทรวงที่เกี่ยวข้องก็เห็นพ้องด้วย เพราะหากปล่อยให้มีองค์การอิสระฯถาวรขึ้นมา อาจจะเป็นการสร้างองค์กรใหม่มาบดบังรัศมีหน่วยงานของตนนั่นเอง เรื่องนี้ต้องติดตามดูกันต่อไป ถ้ารัฐบาลปฏิเสธไม่ยอมยืนยันกฎหมายดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป ก็จะเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สมาคมฯจักต้องนำเสนอต่อศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่สมาคมฟ้องร้องเกี่ยวพันอยู่กับประเด็นดังกล่าวใน หลาย ๆ คดีต่อไป ซึ่งจะชี้ให้ศาลเห็นว่ารัฐบาลหลอกลวงประชาชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะคดีมาบตาพุดที่ยังรอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในชั้นศาล ปกครองสูงสุดอยู่ รวมทั้งการก้าวย่างสู่ศาลรัฐธรรมนูญ และจะพิสูจน์เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 66 และ 67 ในอีกหลายคดี ซึ่งหากรัฐบาลเบี้ยวไม่ยืนยันร่างกฎหมายดังกล่าว สมาคมฯจำต้องร่วมมือกับชาวบ้านทั่วประเทศ จะช่วยกันฟ้องร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบไม่ไว้หน้ากัน หรือไม่ต้องเกรงใจกันอีกต่อไป อาทิ
คดีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมบ้านค่ายใน จังหวัดระยอง คดีการไม่ยอมประกาศผังเมืองรวมในพื้นที่มาบตาพุด และจังหวัดระยอง คดีเรียกค่าเสียหายจากผลกระทบจากการแพร่กระจายมลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตา พุดและใกล้เคียง คดีล้มโรงไฟฟ้า IPP-SPP ทั่วประเทศ คดีล้มโครงการย้ายโรงงานยาสูบไปที่อยุธยา คดีล้มโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายใน กทม. คดีล้มมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ คดีล้มแลนด์บริดจ์ท่าเรือปากบารา คดีล้มกองทุนน้ำมัน คดีล้มโครงการใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วย และอีกหลาย ๆ คดี
เรื่องนี้ไม่ใช่ขู่แต่เอาจริง ตราบใดที่รัฐบาลปฏิเสธไม่ยืนยันร่าง พรบ.องค์การอิสระฯเข้าสภาภายใน 29 ก.ย.นี้...ไม่เชื่อลองดูกัน...
โดย..นายศรีสุวรรณ  จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
www.thaisgwa.co

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง