แถลงการณ์กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน
เรื่อง คัดค้านแถลงการณ์สภาทนายความฉบับที่ 2/2554
อ้างถึง แถลงการณ์สภาทนายความฉบับที่ 2/2554 ลว. 27 กันยายน 2554
ตามที่สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2554 ขอแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ ความละเอียดปรากฏตามที่อ้างถึงนั้น
กลุ่มทนายความและนักกฎหมายดังปรากฏรายนามท้ายแถลงการณ์นี้ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาทนายความ ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2548 และนักกฎหมายที่ทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมีความวิตก กังวลต่อสาระสำคัญของแถลงการณ์ดังกล่าว ที่อาจนำความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของทนายความโดยรวม โดยเหตุที่สภาทนายความมี 2 สถานภาพทางสังคมกล่าวคือ สภาทนายความเป็นสถาบันวิชาชีพที่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ที่จะเป็นทนายความ ซึ่งทนายความถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินการเพื่อส่ง เสริมหลักนิติธรรม (Rule of Law) ร่วมค้นหาความจริงกับอัยการและผู้พิพากษาต่อการกระทำของผู้ต้องหาหรือจำเลย ในคดีอาญาเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย และยังมีหน้าที่ “ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และปฏิบัติตน ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติทนายความ” อีกสถานภาพหนึ่ง สภาทนายความพึงเป็นสถาบันของสังคมในการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สภาทนายความเป็นแถวหน้าของผู้เรียกร้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านอำนาจนิยมและผลักดันให้มีกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สภาทนายความจึงเป็นสถาบันของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความและเสาหลักหนึ่งใน สังคมประชาธิปไตย สภาทนายความจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เหมาะสมแก่เกียรติภูมิของสมาชิกและ ประชาชนในสังคมประชาธิปไตย สภาทนายความต้องยึดมั่นในหลักการสำคัญของหลักนิติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และร่วมกันจรรโลงไว้ซึ่งหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันนานาอารยประเทศยึดถือด้วย แต่จากแถลงการณ์ของสภาทนายความ ตามที่อ้างถึง กลุ่มทนายความฯ ขอแสดงความคิดเห็น ดังนี้
ข้อ 1 แถลงการณ์ของสภาทนายความ ข้อ 1 กล่าวว่า “สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่ล้มล้างรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหาร โดยชอบธรรม ....สำหรับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ...สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจบริหารในขณะนั้นได้ใช้อำนาจ เงินครอบงำพรรคการเมืองอื่น จนสามารถรวบรวมเป็นพรรคการเมืองที่มีอำนาจเด็ดขาดในรัฐสภา ใช้อำนาจบริหาร และอำนาจเงินครอบงำสื่อสารมวลชน และองค์กรอิสระ จนทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ เพื่อหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง จนกระทั่งเป็นเหตุให้มีการรัฐประหาร”
กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่า “การรัฐประหารทุกครั้งถือเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและทำลายกลไกของระบอบ ประชาธิปไตย” ที่ทุกฝ่ายในสังคมต้องออกมาประณามการกระทำที่ไร้เกียรติ ไร้สติ และมิอาจอ้างมูลอันชอบด้วยหลักการใดๆในสังคมรัฐเสรีประชาธิปไตยได้ และต้องถือว่า “การรัฐประหาร” ถือเป็นอาชญากรรมต่อประชาธิปไตยและความมั่นคงของรัฐ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ทั้ง ผู้ก่อการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ต้องรับผิดร่วมกันหรือแทนกันตามความหนักเบาแห่งการกระทำ โดยไม่มีข้อยกเว้น แต่ตามแถลงการณ์ดังกล่าวการที่สภาทนายความยอมรับการรัฐประหาร เมื่อ 19 กันยายน 2549 โดยอ้างว่า หากรัฐบาลฉ้อฉล ใช้อำนาจโดยมิชอบ ก็สามารถให้อำนาจนอกระบบล้มล้างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ ประชาชนได้ ซึ่งเท่ากับสภาทนายความสนับสนุนอาชญากรรมต่อความมั่นคงของรัฐและระบอบ ประชาธิปไตย
ข้อเสนอของสภาทนายความ ในข้อนี้ กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเห็นว่า เป็นการทำลายหลักนิติธรรม และระบอบประชาธิปไตย อันนำความเสื่อมเสียมาสู่เกียรติภูมิของสภาทนายความ
ข้อ 2 แถลงการณ์สภาทนายความที่เห็นว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ได้ดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ คือ เมื่อ คตส. สอบสวนเสร็จแล้ว ต้องส่งแก่อัยการสูงสุด และนำไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในที่สุด นั้น
กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ที่มาของ คตส. มาจากการการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในขณะนั้น คมช. ถือเป็นองค์กรของอาชญากร ที่ยึดอำนาจโดยมิชอบมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คมช.จึงไม่มีอำนาจในการปกครองประเทศมาตั้งแต่ยึดอำนาจแล้ว ดังนั้น การแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลให้ดำเนินการใด ตามอำนาจที่ได้มาโดยมิชอบ ย่อมไม่มีผลทางกฎหมาย เทียบเคียงได้กับภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผลของต้นไม้พิษ (Fruit of the poisonous tree) ย่อมมีพิษ” การดำเนินการของ คตส. โดยมาจากต้นไม้ที่ไม่ชอบ คตส.ย่อมเป็นผลไม้ของต้นไม้ที่ไม่ชอบ จึงไม่มีอำนาจดำเนินการใดๆ ดังนั้น จึงไม่ต้องพิจารณาต่อไปว่า คตส. ได้ดำเนินกระบวนการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ หรือไม่ เพราะมีที่มาโดยมิชอบ
ประการต่อมา นายกสภาทนายความ (นายสัก กอแสงเรือง) มิอาจอ้างเหตุผลข้อนี้มาอ้างความชอบธรรมในแถลงการณ์ของสภาทนายความได้ เพราะนายกสภาทนายความมีผลประโยชน์ทับซ้อน จากการได้รับการแต่งตั้งจากคมช. ให้เป็นหนึ่งในกรรมการ คตส. การปกป้องตนเองที่ทำหน้าที่ โดยมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยมิชอบ อาจทำความเสื่อมเสียแก่เกียรติภูมิของทนายความโดยรวม และไม่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนทนายความรุ่นหลัง
ข้อ 3 สภาทนายความไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไข มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นั้น
กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า สภาทนายความจำเป็นต้องแสดงจุดยืนในการเคารพต่อหลักนิติธรรม เนื่องจากมีการใช้กฎหมายข้อหานี้ ทำลายผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากตน และเป็นการให้อำนาจแก่ใครก็ได้ในการแจ้งความดำเนินคดีบุคคลอื่น โดยอาศัยกฎหมายข้อหานี้ การแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมายอาญา มาตรา 112 ย่อมไม่เป็นการกระทบกระเทือนต่อประเพณีของชาติ หรือขัดแย้งต่อประวัติศาสตร์หรือขนบธรรมเนียมของประเทศ หรือเป็นการลดเกียรติยศของพระมหากษัตริย์แต่ประการใด ตรงกันข้าม การใช้กฎหมายมาตรา 112 ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นการทำลายพระเกียรติ และทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมถอยลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในสังคม ขณะเดียวกัน การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างประชาชนในสังคมไทย ซึ่งควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง
กลุ่มทนายความและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอแสดงความคิดเห็นดังกล่าว เพื่อแสดงจุดยืนว่า สังคมใดจะเป็นสังคมที่เจริญและสงบสุขได้นั้น สถาบันต่างๆในสังคมต้องยึดมั่นต่อ หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และเคารพต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยต้องร่วมกันแสดงความคิดเห็นคัดค้านอำนาจที่มิชอบ เช่น การรัฐประหาร ดังเหตุผลข้างต้น และขอเรียกร้องให้สภาทนายความ ในฐานะสถาบันหลักสถาบันหนึ่งของสังคม จงเป็นที่พึ่งแก่คนยากไร้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกฎหมาย และเป็นสถาบันที่ธำรงไว้ซึ่ง หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และหลักประชาธิปไตย ตลอดไป
ณ วันที่ 28 กันยายน 2554
ลงชื่อ
นางสาวเยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายความ
นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ
นายศราวุฒิ ประทุมราช นักกฎหมาย
นางสาวพูนสุข พูนุสขเจริญ ทนายความ
นายพนม บุตะเขียว ทนายความ
นางสาวภาวิณี ชุมศรี ทนายความ
นายอานนท์ นำภา ทนายความ
นางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ
นายสนธยา โคตปัญญา นักกฎหมาย
นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ นักกฎหมาย
นายจุลศักดิ์ แก้วกาญจน์ นักกฎหมาย
นางสาวเกศรินทร์ เตียวสกุล นักกฎหมาย
[1] พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 12 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสภาทนายความ
(4) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและปฏิบัติตนตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น