บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

รุมถล่มรัฐมึนตั้ง"ศบ.กช."ดับไฟใต้ จี้ลุยนโยบาย "เจรจาสันติภาพ"

ราช ดำเนินเสวนาถกนโยบายดับไฟใต้ "ถาวร เสนเนียม" ถล่มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้ง "ศบ.กช." ซ้ำซ้อน ตอบโจทย์ไม่ได้ ชูโครงสร้าง ศอ.บต.บูรณาการทุกหน่วยงานอยู่แล้ว ศักยภาพยิ่งกว่า "เขตปกครองพิเศษ" ขณะที่ "วิรุฬ ฟื้นแสน" แจงเหตุต้องปรับองค์กรใหม่เพราะ กอ.รมน.ไม่ยืดหยุ่น ไร้เอกภาพในการประสานหน่วยในพื้นที่ ด้านเอ็นจีโอหนุนรัฐบาลเพื่อไทยลุย "เจรจาสันติภาพ-กระจายอำนาจ" อดีตบิ๊กหน่วยข่าวเตือนโอไอซีจ่อเปลี่ยนนโยบายหยิบปมไฟใต้เข้าที่ประชุมใหญ่
          เวทีราชดำเนินเสวนาเรื่อง “นโยบายดับไฟใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับแนวโน้มการพูดคุยสันติภาพ (Peace Talk)” ที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ก.ย.2554 ประเด็นที่ผู้ร่วมเสวนาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางคือการจัดตั้ง "ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ ศบ.กช.ของรัฐบาล โดยอ้างเหตุผลเรื่องความเป็นเอกภาพและเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งเรียกร้องให้เร่งดำเนินการเรื่อง "เจรจาสันติภาพ" ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
          นายถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า การจัดตั้ง ศบ.กช.ไม่มีความจำเป็น เพราะโครงสร้างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วออกกฎหมายมารองรับ ก็บูรณาการการทำงานของข้าราชการจากทุกภาคส่วนอยู่แล้ว
          "โครงสร้าง ศอ.บต.ที่เราทำเป็นการระดมข้าราชการจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วม กันแบบบูรณาการ และดึงภาคประชาชนมาร่วมด้วย โดยให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็น ผอ.รมน. (ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ก็นั่งเป็น ผอ.ศอ.บต. และเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีรัฐมนตรี 19 คนเป็นกรรมการด้วย"
          นายถาวร กล่าวต่อว่า โครงสร้างของ ศอ.บต.เรียกได้ว่าเป็น "เขตปกครองพิเศษ" ด้วยซ้ำ เพราะใช้วิธีการบริหารราชการไม่เหมือนกับอีก 70 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ มีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จังหวัดละ 1 คน และยังมีสภาที่ปรึกษาและการพัฒนาฯอีก 49 คนที่คัดเลือกจากประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ และเลขาธิการยังมีอำนาจเสนอย้ายข้าราชการที่ไม่ดีออกจากพื้นที่ได้ ฉะนั้น ศอ.บต.จึงเปรียบเสมือน "ร้านน้ำชา" ซึ่งเป็นที่นิยมใน พื้นที่ คือมีปัญหาอะไรประชาชนก็พูดคุยกันได้ ขณะเดียวกันรัฐก็ดูแลประชาชนทุกด้าน ทั้งเรื่องการทำมาหากินและให้ความเป็นธรรม
          "ทั้งหมดคือความเป็นเอกภาพ ผิดกับรัฐบาลชุดนี้ที่นายกรัฐมนตรีมอบงานด้านความมั่นคงให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯดูแล แต่ก็มอบงานตำรวจให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯอีกคนหนึ่งดูแล ส่วนงาน ศอ.บต.ก็มอบให้ คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ดูแล ซึ่งคุณยงยุทธยังมอบการประสานงานระหว่าง ศอ.บต.กับกระทรวงมหาดไทยไปให้ผู้รับผิดชอบอีกต่อหนึ่งด้วย จึงชัดเจนว่าไม่เป็นเอกภาพ แล้วยิ่งไปหาทางออกด้วยการตั้ง ศบ.กช. จนกลายเป็นความซ้ำซ้อน ตอบโจทย์ไม่ได้ ข้าราชการไม่รู้ว่าจะฟังใคร อิหลักอิเหลื่อกันไปหมด"
          นายถาวร ยังเรียกร้องให้รัฐบาลแต่งตั้งรัฐมนตรีรับผิดชอบพื้นที่ชายแดนใต้เป็นการ เฉพาะเหมือนในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพื่อความคล่องตัวในการบริหารและสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชน รวมทั้งตำรวจ ทหาร
          "สถานการณ์กำลังรุนแรงมากขึ้น แต่กลับไม่มีฝ่ายการเมืองลงไป ขอเตือนว่าการฟังบรีฟจากภาคราชการฝ่ายเดียวถือว่าอันตรายมาก ผมจึงขอเรียกร้องให้ตั้งรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบโดยตรง อย่าไปฟังข้ออ้างของรัฐมนตรีบางคนที่ไม่ยอมลงพื้นที่โดยให้เหตุผลว่าไม่อยาก ไปสร้างปัญหาให้เจ้าหน้าที่ต้องมารักษาความปลอดภัย เพราะการจะส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลจำนวนเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมือง ที่สำคัญการลงพื้นที่จะทำให้ประชาชนและข้าราชการมีกำลังใจมากกว่าเดิม" อดีต รมช.มหาดไทย ระบุ และว่า สำหรับเรื่องการเจรจานั้นในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำ แต่นโยบายบางเรื่องควรเปิดเผยเมื่อถึงเวลา
          พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะผู้ร่วมจัดทำนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ศอ.บต.เป็นโครงสร้างที่ดีก็จริง แต่เนื่องจากขณะนี้มี กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งออกกฎหมายรองรับในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทำให้โครงสร้าง กอ.รมน.แข็งเกินไป ไม่มีความยืดหยุ่นอ่อนตัวเหมือนสมัยใช้แก้ไขปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
          "โครงสร้างมันแข็งตัว กำหนดให้นายกฯเป็น ผอ.รมน. ให้ ผบ.ทบ.เป็นรอง ผอ.รมน. และให้เสธ.ทบ.เป็นเลขาธิการ กอ.รมน.เท่านั้น ทั้งๆ ที่จะให้ดีต้องยึดระบบ พตท. คือพลเรือน ตำรวจ ทหาร โครงสร้าง กอ.รมน.มีปัญหาจนรัฐบาลชุดที่แล้วต้องแยก ศอ.บต.ออกมา ที่สำคัญในระดับพื้นที่ แม้แม่ทัพภาคที่ 4 จะเป็นผู้คุมนโยบายตัวจริง แต่ความเป็นเอกภาพกลับไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับเลขาธิการ ศอ.บต. นี่คือสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลต้องตั้ง ศบ.กช."
          พล.ต.อ.วิรุฬ กล่าวด้วยว่า ทิศทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ที่ถูกต้อง จะต้องให้บทบาทกระทรวงมหาดไทยในฐานะ "เจ้าบ้าน" คน เดิม แต่ระยะหลังกลับมีบทบาทน้อย ส่วนที่พูดกันว่าตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้นนั้น จริงๆ แล้วเป็นสถานการณ์ต่อเนื่อง อย่าลืมว่าเลขาธิการ ศอ.บต.ยังเป็นคนเดิม และแม่ทัพภาคที่ 4 ก็ยังเป็นคนเดิม
          สำหรับข้อเสนอเรื่องเจรจาสันติภาพนั้น พล.ต.อ.วิรุฬ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นทางเปิดหรือทางปิดก็ต้องทำ
          น.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยจากอินเตอร์เนชันแนล ไครซิสกรุ๊ป องค์กรเอกชนที่ทำงานในพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก กล่าวว่า มองความเคลื่อนไหวของรัฐบาลในเรื่องการตั้ง ศบ.กช.ด้วยความเป็นห่วง เพราะผ่านมาเกือบ 8 ปีแล้วรัฐยังจัดทัพไม่เสร็จ ความเป็นเอกภาพยังเป็นปัญหาอยู่อีก
          ส่วนประเด็นการเจรจานั้น แม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความพยายามเจรจามาทุกยุคทุกสมัย เช่น สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็มีการจัดตั้ง Task Force 960 รับผิดชอบการประสานงานร่วมกับมาเลเซีย และมีการพบปะตัวแทนขบวนการที่เชื่อว่ามีอิทธิพลในพื้นที่ที่ประเทศบาห์เรน ด้วย แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้วางระบบอะไรรองรับ ประกอบกับรัฐบาลมีอายุเพียง 1 ปีเศษ สิ่งที่ทำไว้จึงยุติไป
          ต่อมาในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช มีความเคลื่อนไหวจากกลุ่มพูโลที่เสนอเรื่องหยุดยิง แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง กระทั่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวของขบวนการปลดปล่อยมลายูปัตตานี หรือพีเอ็มแอลเอ็ม ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.เจาะไอร้อง ยี่งอ และระแงะ เป็นเวลา 1 เดือน (10 มิ.ย.ถึง10 ก.ค.2553) เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขามีศักยภาพเพียงพอในการควบคุมสถานการณ์ได้ แต่สุดท้ายทางฝ่ายรัฐบาลก็บอกว่าสรุปไม่ได้ว่ามีความสามารถในการหยุดยิงจริง หรือไม่ ขณะที่กองทัพก็ปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่มีการเจรจา ทั้งยังบอกว่าเรื่องการหยุดยิงฝ่ายเดียวไม่เป็นความจริง
          "นอกจากนั้นโอไอซี (องค์การการประชุมอิสลาม) ก็มีบทบาทจัดเวทีพูดคุยกับตัวแทนขบวนการอีก 2 ครั้ง เพื่อช่วยเหลือให้ฝ่ายขบวนการมีข้อเสนอทางการเมืองต่อรัฐไทยอย่างเป็นระบบ มากขึ้น ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ส่งแรงกระเพื่อมถึงรัฐบาลไทยเหมือนกันว่า พยายามทำเรื่องพูดคุยสันติภาพ (peace talk) อยู่ และต่อมา คุณถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ก็ออกมาพูดว่ามีนโยบายให้พุดคุยกับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนในระดับนโยบายที่สำคัญว่ารัฐไทยพร้อมพูดคุยกับผู้ ที่เห็นต่างแล้วจริงๆ"
          น.ส.รุ่งรวี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีโอกาสผลักดันประเด็นใหญ่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ได้ เพราะชนะเลือกตั้งได้เสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้นจึงน่าจะทำเรื่องพูดคุยสันติภาพอย่างจริงจัง และเดินหน้ากระจายอำนาจที่เรียกกันว่า "ปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ" โดยศึกษารูปแบบให้ชัดเจนภายใต้ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร ไม่ใช่แค่ใช้การทหารหยุดเลือดเอาไว้เหมือนที่ผ่านมา
          พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ (ภาคใต้) ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กล่าวว่า หลายฝ่ายรวมทั้งภาครัฐยังเข้าใจปัญหาภาคใต้ผิดพลาด โดยเฉพาะที่เชื่อว่าขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต และพูโลอยู่เบื้องหลังสถานการณ์ในพื้นที่นั้น เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก ฉะนั้นหากเสนอให้เจรจากับกลุ่มเหล่านี้ ก็เท่ากับเจรจาผิดคน
          พล.ท.นันทเดช มองว่า ปัญหาในพื้นที่ที่ขยายวงอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายที่ผิดของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะการประกาศสงครามกับยาเสพติด ตามด้วยการยุบ ศอ.บต. โดยในช่วงปราบยาเสพติด รัฐบาลมุ่งจัดการหัวคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ มีการอุ้มบุคคลหลายคน ทำให้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นต้องว่าจ้างและติดอาวุธให้กลุ่มวัยรุ่นเพื่อ เป็นกองกำลังป้องกันตนเอง ต่อมาเมื่อมีการยุบ ศอ.บต.ตามมาอีก และยังมีเหตุการณ์กรือเซะกับตากใบ จึงกลายเป็นตัวเร่งให้กลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์พากันฝึกอาวุธและต่อต้านรัฐ
          "ฉะนั้นเรื่องขบวนการบีอาร์เอ็น พูโล จึงเป็นเรื่องเก่าที่ฝ่ายความมั่นคงสร้างภาพขึ้นมาเพื่อให้สถานการณ์ดูน่า กลัว ด้วยเหตุนี้หากจะเจรจาจริงๆ ก็ต้องไปเจรจากับสมาชิก อบต. (สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล) บางคนที่เป็นหัวหน้ากองกำลังติดอาวุธทั้งหลายให้ยอมยุติเหตุการณ์ ส่วนสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ (ซึ่ง พล.ท.นันทเดช ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี) เราได้เจรจากับ นายสะแปอิง บาซอ (ผู้ที่ถูกออกหมายจับเป็นหัวหน้ากลุ่มก่อความไม่สงบ) ให้กลับประเทศ แต่ยังไม่ทันสำเร็จรัฐบาลก็หมดอายุเสียก่อน"
          พล.ท.นันทเดช ยังให้ข้อมูลด้วยว่า การเมืองในโอไอซีกำลังเปลี่ยนแปลงไป หลังจากหลายประเทศที่เคยสนับสนุนไทยประสบปัญหาการเมืองภายใน อาทิ เยเมน ตูนีเซีย เป็นต้น เมื่อการเมืองภายในเปลี่ยนแปลง ก็อาจเปลี่ยนผู้แทนที่ไปทำหน้าที่ในโอไอซีด้วย ฉะนั้นโอกาสที่โอไอซีจะนำปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเข้าสู่ที่ ประชุมอย่างเป็นทางการน่าจะเกิดขึ้น เพราะขณะนี้ก็กำลังเร่งรับรองปาเลสไตน์เป็นสมาชิกโอไอซีอยู่ ประกอบกับรัฐบาลมาเลเซียก็อ่อนกำลังลงมาก ฝ่ายค้านกำลังมีบทบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่น กัน


เหตุ ระเบิดที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา แม้จะสร้างความเสียหายอย่างยับเยิน ทั้งชีวิตผู้คน ทรัพย์สิน และภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย แต่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ก็มองเห็นช่องทางของการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วย เหมือนกัน
          เพราะเป็นครั้งแรกที่พบหลักฐานชัดเจนที่สุดว่าเครือข่ายค้ายาเสพติดใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งใหญ่โตติดอันดับต้นๆ ของประเทศ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน อย่างน้อยก็ในระดับปฏิบัติการ
          แม้ที่ผ่านมาฝ่ายตำรวจจะพบความเชื่อมโยงในระดับ “ผู้มีอำนาจสั่งใช้กำลัง” ของ กลุ่มก่อความไม่สงบกับเครือข่ายค้ายาเสพติดว่าน่าจะเป็นคนๆ เดียวกัน และใช้กองกำลังติดอาวุธชุดเดียวกันในการก่อเหตุ (โดยมุ่งเป้าหมายต่างกัน) แต่ก็เป็นเรื่องของการวิเคราะห์โครงสร้างจากคำให้การของบรรดาผู้ก่อเหตุ รุนแรงและบรรดาผู้ค้ายาเสพติดระดับต่างๆ ที่ถูกจับกุมได้เท่านั้น
          ทว่าครั้งนี้มีหลักฐานชัดเจนขึ้น โดยข้อมูลที่กล่าวอ้างโดยหน่วยข่าวความมั่นคงในพื้นที่ สรุปได้ดังนี้
          1.เหตุระเบิดเกิดขึ้นทันควันหลังเจ้าหน้าที่นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านผู้มี อิทธิพลรายใหญ่ใน อ.สุไหงโก-ลก (จากการขยายผล ไม่ถึงกับบังเอิญ แต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายโดยตรง) เพียง 1-2 วัน จึงเชื่อว่าเป็นการก่อเหตุเพื่อตอบโต้รัฐ
          2.พบข้อมูลหมายจับผู้ก่อความไม่สงบในคอมพิวเตอร์ที่บ้านของผู้มีอิทธิพลรายดังกล่าว
          3.พบคลิปวิดีโอโจมตีทหารอย่างโหดเหี้ยม 3 เหตุการณ์ในตัวของผู้ค้ายาเสพติดที่ถูกจับกุมได้ และยอมรับว่าเป็นเครือข่ายของผู้มีอิทธิพลที่ถูกค้นบ้าน (ควรตรวจสอบต่อว่าเป็นคลิปที่แพร่หลายในพื้นที่อยู่แล้วหรือไม่ เพื่อพิจารณาน้ำหนักของสมมติฐาน)
          4.ผู้ต้องสงสัยเกือบ 10 รายซึ่งเป็นทีมวางระเบิดและปรากฏภาพในกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หลายรายเป็นระดับปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยก ดินแดน เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ อ.สุไหงปาดี และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
          5.ผู้ต้องหาที่ทางการออกหมายจับไปแล้ว 1 ราย เพราะปรากฏภาพใบหน้าชัดเจน เป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบระดับปฏิบัติการ ฝ่ายความมั่นคงอ้างข้อมูลว่าเคยถูกจับกุมในประเทศเพื่อนบ้านในข้อหาครอบครอง วัตถุระเบิดเมื่อไม่นานมานี้ แต่กลับเดินทางเข้ามาก่อเหตุในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ได้อย่างง่ายดาย
          ถ้าสมมติฐานของฝ่ายความมั่นคงเป็นความจริง ย่อมเป็นโอกาสที่รัฐบาลไทยสามารถ “รุกทางการเมือง” ในเรื่องใหญ่ๆ ได้หลายเรื่อง อาทิ
          - ขยายผลความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดกับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์ แบ่งแยกดินแดน เพราะยิ่งข้อสันนิษฐานนี้จริงมากเท่าไร รัฐก็สามารถลดทอนความน่าเชื่อถือของกลุ่มขบวนการได้มากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในเวทีโลกที่มีความพยายามของตัวแทนขบวนการไม่ว่าเก่าหรือใหม่ เคลื่อนไหวแสดงบทบาทอย่างต่อเนื่อง ทั้งองค์การการประชุมชาติอิสลาม (โอไอซี) หรือองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพราะหากขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มค้ายาเสพติด คงไม่มีองค์กรใดในโลกนี้ยอมรับได้
          - กดดันประเทศเพื่อนบ้านให้ร่วมรับผิดชอบกับเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งมีพลเมืองของประเทศเพื่อนบ้านเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก อีกทั้งหนึ่งในคนร้ายยังอาจเป็นผู้ต้องหาคดีสำคัญที่ไม่น่าออกมาเพ่นพ่านได้ ฉะนั้นต้องยื่นเงื่อนไขให้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการ "กระชับพื้นที่" กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง (ไม่ว่าจะอ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหรือไม่) ให้มากกว่านี้
          - ขยายผลต่อเนื่องในพื้นที่ด้วยการพลิกประเด็นให้ตั้ง "เขตปกครองพิเศษทางวัฒนธรรม" สร้างโมเดลการปกครองที่ยึดโยงกับหลักศาสนา (ทั้งพุทธ มุสลิม คริสต์) คือสถาปนาพื้นที่ให้เป็นเขตปลอดอบายมุข ซึ่งน่าจะเป็นเมืองชายแดนเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่ทำได้ และจะเป็นการปลดชนวนข้อเรียกร้องเรื่องปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษไปด้วยในตัว หรืออย่างน้อยก็ฉวยโอกาสนี้จัด "โซนนิ่งสถานบริการและแหล่งอบายมุข" ให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ซึ่งจะได้รับแรงสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนที่เคร่งศาสนาจำนวนมาก
          นี่คือตัวอย่างของโอกาสที่รัฐไทยจะ "รุกทางการเมือง" ทั้งในและนอกประเทศได้ แต่เอาเข้าจริงรัฐบาลนำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับทำแค่เพียงเรียกประชุมฝ่ายความมั่นคงเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา (หลังเหตุการณ์บอมบ์โก-ลก 6 วัน) แล้วตั้ง “องค์กรพิเศษ” ที่ชื่อ "ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ ศบ.กช.ขึ้น มาใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาความไร้เอกภาพของหน่วยราชการด้วยกันเอง เรื่องนี้จึงกลายเป็นตลกร้าย เพราะคิดอีกมุมหนึ่งย่อมเป็นเรื่องน่าอับอายว่าทำงานกันมา 7-8 ปีแล้ว ยังต้องมานั่งแก้ปัญหาเรื่องเอกภาพการบังคับบัญชากันอีกหรือ แล้วที่ผ่านมาทำอะไรกันอยู่
          อย่างไรก็ตาม หากชุดข้อมูลของฝ่ายความมั่นคงว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ค้ายาเสพ ติดกับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนไม่เป็นความจริง ก็ยังมีข้อมูลอีกหลายชุดที่รัฐบาลสามารถหยิบมาใช้และเดินหน้าทำไปได้เลย (ซึ่งน่าจะดีกว่าการตั้ง ศบ.กช.) เช่น
          - ชุดข้อมูลที่ว่าด้วยโครงสร้างกลุ่มก่อความไม่สงบซึ่งจัดทำโดย พล.ท.สำเร็จ ศรีหร่าย ผู้ อำนวยการศูนย์สันติสุขและทีมงาน อันเป็นข้อมูลที่ได้จากการซักถาม-พูดคุยกับแนวร่วมขบวนการหลายพันคน สรุปว่าจุดหักเหที่ทำให้เยาวชนในพื้นที่จำนวนมากเข้าร่วมขบวนการที่อ้าง อุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ก็คือการบิดเบือนประวัติศาสตร์และคำสอนทางศาสนา ตีความให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นดินแดน "ดารุลฮัรบี" ที่ทุกคนต้องต่อสู้หรือทำสงครามเพื่ออิสลาม ซึ่งถ้าคิดว่าทฤษฎีนี้มีน้ำหนัก ก็ต้องเร่งแก้ในมุมประวัติศาสตร์และศาสนากันไป
          - ชุดข้อมูลเรื่องความไม่เป็นธรรม ซึ่งทีมงานของกระทรวงยุติธรรมจัดทำอยู่ โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมในแง่กฎหมายที่มีอยู่จริง ได้แก่ คดีครอบครัวและมรดก ซึ่งต้องพิจารณาตามหลักศาสนาอิสลาม ก็มีข้อเสนอเรื่องการเปิด "แผนกชารีอะฮ์" ในศาลยุติธรรม และเสริมศักยภาพของอิหม่ามในพื้นที่ขึ้นมาเป็น "อนุญาโตตุลาการ" เพื่อทำหน้าที่ชี้ขาดข้อพิพาทของมุสลิมโดยมีกฎหมายรองรับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม มีข้อมูลอยู่ไม่น้อย
          - ชุดข้อมูลเรื่องความอยุติธรรมรากหญ้า ทั้งผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ปัญหาการใช้กฎหมายพิเศษ (กฎอัยการศึก / พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม การพิจารณาคดีที่ยืดเยื้อยาวนานโดยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือประกันตัว ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่าที่เลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่ ก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง หรือจะย้อนไปปัดฝุ่นรายงานของ กอส. (คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เมื่อปี 2549) เลยก็ยังได้
          - ชุดข้อมูลเรื่องการเจรจา ซึ่งจะว่าไปก็ทำกันมาหลายรัฐบาล เพียงแต่ไม่ต่อเนื่อง ไม่เป็นระบบ ไร้ทิศทาง และไม่มียุทธศาสตร์ หนำซ้ำยังไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลและกองทัพ หากจะยกเครื่องกันในรัฐบาลชุดนี้ก็สามารถทำได้ และนับหนึ่งได้ทันที
          - ชุดข้อมูลเรื่องการจัดรูปการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมและนักวิชาการบางกลุ่มในพื้นที่เคลื่อนไหวอยู่ โดยมีข้อเสนออย่างเป็นระบบ บางโมเดลถึงกับยกร่างกฎหมายเป็นตุ๊กตาเอาไว้แล้ว รัฐบาลสามารถต่อยอดหรือจะย้อนกลับไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเองก็ย่อมได้ ขณะเดียวกันก็สามารถพลิกไปตั้ง "เขตปกครองพิเศษทางวัฒนธรรม" ได้ด้วยเหมือนกัน
           เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ก.ย. ศูนย์ข่าวอิศราเพิ่งจัดเวทีราชดำเนินเสวนาเรื่อง “นโยบายดับไฟใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับแนวโน้มการพูดคุยสันติภาพ (Peace Talk)” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คุณรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยจากอินเตอร์เนชันแนล ไครซิสกรุ๊ป พูดเอาไว้อย่างน่าฟังว่า รัฐบาลชุดนี้ได้รับฉันทามติจากประชาชนด้วยเสียงข้างมากเกินครึ่งสภา จึงน่าจะผลักดันเรื่องใหญ่ๆ ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเจรจาและการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ แต่รัฐบาลกลับไปตั้ง ศบ.กช.หลังจากทำหน้าที่มาแล้วถึง 1 เดือน สะท้อนความน่าเป็นห่วงว่ารัฐยังจัดทัพกันอยู่อีกหรือ...
          เป็นตลกร้ายที่น่าเศร้าจริงๆ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้ายไปขวา) นายถาวร เสนเนียม พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน น.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช และ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ บนเวทีราชดำเนินเสวนา ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง