วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติ (UN) มีมติเห็นชอบ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.๒๐๐๓ (United Nations Convention against Corruption-UNCAC, 2003) อย่างเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ จากนั้นประเทศภาคีสมาชิก UN ๑๙๑ ประเทศรวมทั้งประเทศไทย ได้เข้าร่วมลงนามในอนุสัญญาฯ ระหว่างวันที่ ๙-๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๖ ณ เมืองเมอริด้า ประเทศเม็กซิโก ดังนั้น UN จึงประกาศให้วันที่ ๙ ธันวาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day)
ทั้งนี้ ทุกประเทศที่ลงนามแล้วจะต้องดำเนินการให้สัตยาบันเป็นรัฐภาคีนับแต่อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ โดย เบื้องต้นมีรัฐภาคีให้สัตยาบันแล้ว ๑๐๔ ประเทศ (ธันวาคม ๒๕๕๐) สำหรับประเทศไทยอยู่ในส่วนที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน เนื่องจากมีปัญหาในทางปฏิบัติ กล่าวคือ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ (๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๐) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ แต่มีเงื่อนไขคือจะต้องมีการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่และแก้ไขกฎหมายเดิมที่ เกี่ยวข้องรวม 3 ฉบับ ดังนี้
๑. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ในบทคำนิยามและมาตราที่เกี่ยวเนื่อง)
๒. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา พ.ศ.๒๕๓๕ (เพิ่มเติมการเรียกคืนทรัพย์สินจากการทุจริต)
๓. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด พ.ศ….(สาระสำคัญคือมาตรการติดตามสินทรัพย์คืน)
สำหรับ การปรับปรุงกลไกทางกฎหมายตามเงื่อนไขดังกล่าว เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารและและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ในส่วนการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยก่อนการเข้าเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาฯ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาฯ เพื่อกำกับดูแล "ศูนย์ปฏิบัติการตามพันธกรณีของ UNCAC" นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการศึกษาวิจัยพันธกรณีและความพร้อมของประเทศไทยในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ
หลาย ฝ่ายเชื่อว่าการเข้าเป็นรัฐภาคีจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากหัวใจสำคัญของ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.๒๐๐๓ ได้กำหนดประเด็นความร่วมมือที่สำคัญของรัฐภาคี ๓ ประการ ดังนี้
๑. ด้านมาตรการเชิงป้องกัน : ทุกประเทศต้องมุ่งป้องกันปัญหาคอร์รัปชันเป็นอันดับแรก
๒. ด้านการบัญญัติความผิดทางอาญา : ทุกประเทศต้องถือว่าการคอร์รัปชันทุกรูปแบบคืออาชญากรรม
๓. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ : ทุกประเทศต้องให้ความร่วมมือในการทำให้อนุสัญญามีผลในทางปฏิบัติได้จริง
ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อประเทศไทยจะได้เป็น “รัฐภาคี UNCAC” โดยไม่ชักช้า เนื่องจากทุกฝ่ายต่างทราบดีว่า ต้นตอวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ก็คือ “วิกฤตคอร์รัปชัน” อันเนื่องมาจากความไม่รู้จักพอของอดีตผู้นำหนีโทษในคดี “ใช้อำนาจโดยทุจริต”
*แถลงการณ์ ป.ป.ช.ภาคประชาชน เนื่องในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล, ๙ ธันวาคม ๒๕๕๒.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น