กลายเป็น "นารีให้โชค" แบบไม่รู้ตัว เมื่อรถตู้คันที่นายกรัฐมนตรีหญิง ใช้เดินทางไปไหนมาไหนเป็นประจำ ทะเบียนป้ายแดงที่ลงท้าย 62 ดันไปตรงกับหวยเลขท้าย 2 ตัวที่ออกงวดนี้พอดิบพอดี แถมมีคนทักอีกว่า ไปตรงกับเลขอายุปีนี้ของพ.ต.ท.ทักษิณอีก ถึงตอนนี้ "ยิ่งลักษณ์" ดวงกำลังขึ้น ทำอะไรก็เข้าทางไปหมด ติดลมบนได้เป็นนายกรัฐมนตรี แถมโชคยังดีอีกต่างหาก แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจนัก
แม้ศึกภายนอก จะยังทำอะไรไม่ได้ แต่กับศึกภายในที่เริ่มระอุ ตั้งเค้าก่อตัวเป็นพายุ "ระวังจะพังเพราะคนกันเอง" คงจะไม่ถึงกับพูดเกินเลยไป สำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ที่กำลังจะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 24 ส.ค.ที่จะถึงนี้ เสร็จแล้วก็จะเข้ามาทำงาน กุมบังเหียนแก้ปัญหาให้กับประเทศอย่างเป็นทางการ ด้วยการประเดิมงานแรกคือ แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ถึงขนาดมีการปลุกผี โครงการก่อสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ออกมา รวมทั้งต้องเร่งช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างเร่งด่วน
ขณะที่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีใหม่ 15,000 บาท ที่ถูกจัดให้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ก็ต้องผลักดันต่อไป งานของรัฐบาลเพื่อไทยข้างหน้า เห็นชัดว่าหนักหนาสาหัสแน่ เพราะเอาเข้าจริง ยังไม่ทราบว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ เนื่องจากต้องยอมรับว่า จะมีปัญหาหลายอย่างติดตามมา ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จะพุ่งสูงขึ้น หรือภาคเอกชนที่ออกมาคัดค้าน แต่ถึงอย่างไร เรื่องนี้ประชาชนก็ยังให้โอกาสรัฐบาลในการทำงานอีกสักระยะหนึ่ง
แต่ กับกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธ์ุ ส.ส.เพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่จุดพลุเรียกร้องให้รัฐบาลต้องจ่ายชดเชยค่าเสียหายกับประชาชนผู้เสีย ชีวิต 91 รายๆ ละ 10 ล้านบาท รวมไปถึงเยียวยาผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน ในเหตุการณ์เดือนเม.ย.-พ.ค.2553 นั้น กลับกลายเป็นประเด็นร้อนเพียงชั่วข้ามคืนของสังคม เพราะหลายฝ่ายเห็นว่า ไม่เหมาะสมที่รัฐบาลและประเทศชาติจะต้องจ่ายเงินชดเชยถึงขนาดนั้น แม้แต่ตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีเองก็ยังแสดงความไม่เห็นด้วย
ขณะที่นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังออกมาระบุให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอ ป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ได้สอบสวนและสรุปข้อเท็จจริงก่อน โดยรัฐบาลจะขอยึดผลการสอบสวนของคณะกรรมการคอป. จึงจะมีการเยียวยาผู้เสียหายอย่างเป็นธรรม และเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย คือไม่เออออ รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยคนละ 10 ล้าน ตามแกนนำนปช.ระบุ
เริ่ม ต้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 ก็ทำท่าจะขัดแย้งกับกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดง ที่ต้องยอมรับว่าเป็นฐานเสียงสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อไทยประสบชัยชนะในการ เลือกตั้งที่ผ่านมา หรือจะเรียกว่าเป็นคนกันเองทั้งนั้นก็ได้ ซึ่งเชื่อแน่ว่า นายกรัฐมนตรีหญิงก็ทราบว่าไม่เป็นผลดีแน่ หากเกิดความขัดแย้งกับแกนนำนปช. ซึ่งความเป็นจริงอีกสถานะหนึ่งก็คือลูกน้องของน.ส.ยิ่งลักษณ์นั่นเอง เพราะมีตำแหน่งเป็นส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) พท. ทั้งนั้น
น่า คิดว่าการที่นายจตุพรออกมา ทวงสัญญาโดยอ้างว่า พรรคเพื่อไทยเคยให้สัญญากับคนเสื้อแดง สุดท้ายแล้วในความเป็นจริงต้องการอะไรกันแน่ จะเรียกร้องไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ต้องการช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต จากเหตุความวุ่นวายทางการเมืองจริง หรือมีเหตุผลอื่นแฝงอยู่หรือไม่ คงไม่มีใครทราบได้นอกจากเจ้าตัวเท่านั้น
หากให้วิเคราะห์ ก็น่าเห็นใจรัฐบาล เพราะหากตกลงให้มีการจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายแก่ญาติผู้เสียชีวิต ตามที่นายจตุพรระบุถึงรายละ 10 ล้านบาทจริง รัฐบาลก็คงยากจะตอบคำถามกับสังคม และรวมถึงญาติของวีรชนผู้เสียชีวิต ทั้งจากเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 หรือ 6 ต.ค.2519 รวมไปถึง พ.ค.2535 เกี่ยวกับเรื่องความเป็นธรรม เหตุใดรัฐบาลชุดก่อนถึงไม่มีการเยียวยาให้ และอาจเลยเถิดไปถึงเรียกร้องให้มีการทบทวนจ่ายเงินชดเชยก็เป็นได้
นี่ ยังไม่นับรวมกรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จู่ๆ ก็ออกมาทดลองเรียก "แขกม็อบ" ชี้ช่องให้พรรคเพื่อไทยใช้วิธีการเลี่ยงกฎหมายไม่ต้องแก้ไขรธน.มาตรา 291 คือให้คงหมวด 1 และ 2 ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไว้ แล้วเสนอแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา นำรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่เหลือ มาสวมใช้แทน เป็นการเลี่ยงข้อกฎหมาย ซึ่งใช้เวลา 3 เดือนก็จบ
ทำให้ รัฐบาลที่นำโดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอนนี้อยู่ในอาการที่เรียกว่า "กลืนไม่เข้าคายไม่ออก" แน่ ถ้าแกนนำนปช.ยังคงยืนกรานให้รัฐต้องจ่ายเงินมากถึงรายละ 10 ล้าน เพื่อเป็นการเยียวยาผู้เสียชีวิต ไม่ใช่ว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะมีมากหรือน้อย เพราะชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่สูญเสียไป แน่นอนว่าไม่สามารถตีเป็นราคาค่างวดได้ แต่ถึงอย่างไร รัฐบาลก็คงต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมกับประชาชนคนอื่นๆ ถ้าคิดจะช่วยด้วยการจ่ายค่าชดเชยขนาดนั้น
ดังนั้นปัญหานี้จึงน่าจะกลายเป็นเสมือนจุดตายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ดูเหมือนไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยเวลาอันรวดเร็ว ยิ่งหากทิ้งให้นายกรัฐมนตรีหญิงเป็นคนแก้อยู่คนเดียว ในทางกลับกัน ถ้าบริหารจัดการไม่ดี อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อรัฐบาลเพื่อไทยได้
สุด ท้าย บุคคลที่จะแก้ปัญหานี้ นอกจากน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่อยู่หน้าฉากแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นพ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่หลังฉากและออกมายอมรับกับสื่อต่างประเทศว่า เป็นผู้แนะนำตั้งครม.ปู 1 กับมือ อาจนับรวมถึงคุณหญิงพจมาน ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า ซึ่งสังคมเชื่อว่าเป็นผู้ถืออำนาจตัวจริง ทั้งในพรรคเพื่อไทย และในกลุ่มแนวร่วมนปช. จะป็นผู้เข้ามาไกล่เกลี่ยแทน...หรือใครจะเถียงว่าไม่จริง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น