เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ว่า “ประชานิยม” หรือ “populist policy” ซึ่งเป็นคำน่ากลัวและอันตรายในหลายๆ แห่งของโลก
เป็น “ความเพี้ยน” ของประเทศไทย ที่ต้องคอยดูว่าหนังเรื่องนี้ “พระเอกจะตายตอนจบ” อย่างไร
อีกทั้งพรรคใหญ่สองพรรคต่างก็แข่งกันใช้ความเป็น “ประชานิยม” (แม้จะเรียกต่างกัน) จนไม่มีใครที่ทำงานการเมืองเรื่องเลือกตั้งกล้าหาเสียงด้วยการบอกกล่าวความจริงกับประชาชนว่า “ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ฟรี”
และเราจะไม่มีทางเห็นนักเลือกตั้งกล้าบอกกับชาวบ้านว่าการยื่นอะไรต่อมิอะไรให้ ดูเหมือนฟรีและง่ายๆ นั้น ความจริงคือการสร้าง “การเสพติด” ที่จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่
และจะเป็นการสร้าง “วัฒนธรรมแห่งการพึ่งพา” ที่ประชาชนจะต้องคอยแบมือขอนักการเมือง
การที่นักการเมืองแย่งกันเสนอ “ของฟรี” ให้แก่ชาวบ้าน และหลีกเลี่ยงการที่จะเสนอทางออกให้ประชาชนต้องสร้างความแข็งแกร่งบนพื้นฐาน ของการเรียนรู้การบริหารจัดการด้วยตนเองนั้น คือ การทำลายความเข้มแข็งระดับรากหญ้าอย่างเห็นได้ชัด
คุณเห็นพรรคการเมืองไหนหาเสียงด้วยนโยบาย “เศรษฐกิจพอเพียง” หรือไม่?
คุณเห็นนักเลือกตั้งคนไหนกล้าบอกให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเอง และสร้างอำนาจต่อรองของตนมากขึ้น แทนที่จะหวังได้รับของแจกของแถมจากนักการเมืองหรือไม่?
คำตอบคือไม่มี และตราบเท่าที่นักการเมืองของไทยคือนักเลือกตั้ง นี่จะเป็นแนวโน้มต่อไป
และคำว่า “ประชานิยม” ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนแสวงหา แทนที่จะเป็นนโยบายที่ควรจะต้องถูกวิเคราะห์ วิพากษ์และตรวจสอบอย่างที่หลายๆ ประเทศในโลกเจอผลร้ายของมันมาแล้ว
วันก่อน คุณเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า นโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองขณะนี้ที่เป็น “ประชานิยม” จะส่งผลให้ประชาชนคาดหวังและส่งผลต่อเงินเฟ้อในอนาคต และการใช้จ่ายของรัฐบาลได้
ขณะเดียวกัน เขาก็คาดว่าการเลือกตั้งของคนไทยเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะในช่วงที่ผ่านมา การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในอัตราที่สูงอยู่แล้ว
ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่ารายได้เกษตรกรที่ขยายตัวสูงมาก โดยในเดือนนี้ขยายมากถึง 62.9% และรายได้จากการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างที่ดีขึ้น รวมถึงชั่วโมงการทำงานของแรงงานเพิ่มมากขึ้นด้วย
คุณเมธี บอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย กังวลถึงอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะว่าในขณะนี้การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้ายังไม่สิ้นสุด ทำให้โอกาสที่สินค้าจะแพงขึ้นอีกหลายรายการ
ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่าคนที่อาสามาบริหารประเทศ มิอาจแยกออกระหว่างการสร้างความแข็งแกร่งของชุมชนกับสิ่งที่เรียกว่า “สวัสดิการ” สำหรับผู้ด้อยโอกาส
เมื่อเขาเห็นว่าชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของการเลือกตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” วิธีการทำงานของพวกเขา ก็คือ การสร้างความนิยมด้วยการยื่นข้าวของให้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องอ่าน
ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่ยอมทำอะไรจริงจังเกี่ยวกับการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนเมืองกับคนชนบท อย่างเป็นกิจจะลักษณะ
เพราะไม่ว่านักการเมืองที่ได้อำนาจทางการเมืองมา จะเสนออะไรให้แก่คนชนบท ก็ไม่มีวันที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมได้ ตราบที่ยังขาดความกล้าหาญที่จะทำให้คนร่ำรวยต้องเสียสละมากกว่านี้
และสร้างอำนาจต่อรองของคนด้อยโอกาส ด้วยการกระจายอำนาจการตัดสินใจอย่างแท้จริง มิใช่ทำสิ่งที่มักง่าย แต่ไม่ยอมให้โอกาสสร้างกลไกสังคมที่จะยกระดับของตนให้ เพื่อลดช่องว่างของสังคมอย่างจริงจัง
- กาแฟดำ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น