เหลือเวลาอีก 20 วัน
ก็จะถึงวันที่ประชาชนหย่อนบัตรเลือกตั้ง ตัดสินกันว่าจะเลือกใคร พรรคไหน เข้าไปเป็นตัวแทนทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร
เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ
ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง ใกล้ถึงกำหนดชี้เป็นชี้ตาย การหาเสียงก็ยิ่งมีความเข้มข้น
เพราะ ทุกพรรคการเมืองต่างก็รู้ดีว่า หาเสียงอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องทำเสียงให้เป็นคะแนนด้วย ถ้าเสียงดีอยู่แล้วก็ต้องประคองสถานการณ์เอาไว้ ไม่ให้พร่องลงไป
สถานการณ์การหาเสียงผ่านมาถึงครึ่งทาง ทุกพรรคการเมืองต่างก็ตะลุยเดินสายปราศรัยหาเสียงกันเต็มที่
โดยเฉพาะบรรดาหัวหน้าพรรค แกนนำพรรคต่างก็ลงพื้นที่เดินสายหาเสียงช่วยลูกพรรค ออกเดินตลาดพบปะประชาชน
เคาะประตูบ้านกันตั้งแต่เช้ายันค่ำ ออดอ้อนขอเสียง ขอคะแนนกันอย่างคึกคัก
แถม ยังออกแอ็กช่ันโชว์ชาวบ้านสร้างความเป็นกันเอง ทั้งดำนา ลวกก๋วยเตี๋ยว ชงกาแฟ ชงโอเลี้ยง แคะขนมครก ทอดไข่เจียว ฉีกทุเรียน ปั่นจักรยาน ขี่สามล้อ ไปยันขี่ควาย
สร้างสีสันบรรยากาศ กระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามแนวทางระบอบประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ในการหาเสียงเมื่อมาถึง
ครึ่งทาง ต้องยอมรับว่า พรรคการเมือง 2 ขั้วใหญ่ ต่างได้รับความสนใจและเป็นที่จับตาของสังคมเป็นพิเศษ
เบอร์ 1 ชูนิ้วชี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับหนึ่ง พรรคเพื่อไทย ที่ถูกวางตัวจากพรรคให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหญิง
เบอร์ 10 สิบนิ้วพนมไหว้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับหนึ่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ ประกาศขอเป็นนายกฯเพื่อสานงานต่ออีกสมัย
ต่างฝ่ายต่างเปิดเกมสู้ ขับเคี่ยวแข่งขัน ช่วงชิงความนิยมกันอย่างเต็มที่ ไม่มีใครยอมใคร
แม้ผลสำรวจจากโพลสำนักต่างๆทั้งโพลแท้ โพลเทียม ที่ออกมาชี้ว่า ใครได้รับความนิยมด้านนั้นด้านนี้มากน้อยกว่ากันแค่ไหน ก็ไม่สน
เพราะโพลไม่ใช่คะแนน ที่จะตัดสินผลการเลือกตั้ง
แต่ละคน แต่ละพรรค ยังคงเดินหน้าหาเสียงแบบไม่หยุดหย่อน เพราะยังไม่หมดเวลา ยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง ทุกนาทีมีค่าต่อการหาคะแนน
ที่ สำคัญ ต้องยอมรับว่า เมื่อสถานการณ์การหาเสียงเดินมาถึงครึ่งทาง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย ได้รับเสียงเชียร์จากบรรดาพ่อยกแม่ยกกลุ่มเสื้อแดงอย่างหนาแน่น
ถึงขนาดที่แกนนำพรรคบางคนออกมาระบุว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.เข้ามาถึง 270 เสียง สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้
แต่ก็ไม่วายห้อยติ่งไว้ พร้อมจะดึงพรรคอื่นเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ก็ประกาศชัดจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคภูมิใจไทยที่ถือเป็นฝ่ายตรงข้ามในการช่วงชิง ส.ส.ในพื้นที่ภาคอีสาน
อย่างไรก็ตาม ในห้วงที่พรรคเพื่อไทยพยายามปั่นกระแสตัวเลข ส.ส.270 เสียง ชู น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทย
ปรากฏ ว่าเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอรัปชันทักษิณ (คนท.) นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี และนายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
ได้ออกมาเคลื่อนไหวรวบรวมรายชื่อประชาชน เพื่อยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการสอบสวน น.ส.ยิ่งลักษณ์
กรณี ให้การเท็จต่อศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีพฤติการณ์ซุกหุ้นในคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ
โดย นพ.ตุลย์และนายแก้วสรรอ้างว่าต้องดำเนินการเรื่องนี้ เพราะไม่ต้องการให้มีการนิรโทษกรรมคดีคอรัปชันของ พ.ต.ท.ทักษิณ
แต่ ทางพรรคเพื่อไทยมองว่าเป็นการสกัดทางการเมือง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยได้รับความเสียหายในช่วงที่กำลังมีการหาเสียง เลือกตั้ง
ฟ้องร้องดำเนินคดีกันนัวเนียไปหมด
ทางฟากของนาย อภิสิทธิ์ที่พยายามเดินหน้าหาเสียงลุยไปทุกพื้นที่ ก็ต้องเจอกับคนเสื้อแดงที่มาตะโกนด่า ต่อว่าต่อขานเรื่องการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 91 ศพ
เขาก็พยายามเดินเข้าหาเพื่ออธิบายชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ขณะที่บางรายก็รับฟัง แต่บางรายก็ไม่สนใจ
นอกจากนี้ “อภิสิทธิ์” ก็ยังใช้โซเชียลมีเดีย เขียนบันทึกข้อความลงในเฟซบุ๊กชี้แจงในสิ่งที่สังคมสงสัย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่
เพื่อให้รับทราบข้อเท็จจริงทางการเมืองในห้วงที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการพลิกขั้วการเมือง การจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาล
แก้ข้อกล่าวหาพายเรือให้โจรนั่ง นั่งเรือที่โจรพาย
ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆทั้งพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก แม้จะไม่ค่อยอยู่ในโฟกัสของบรรดาสื่อและสังคมมากนัก
แต่ทุกพรรคก็ยังเดินหน้าหาเสียงกันอย่างขะมักเขม้น โดยเน้นชูนโยบายเรื่องความปรองดองสมานฉันท์มาเป็นจุดขาย
เดินยุทธศาสตร์เจาะพื้นที่สู้กับพรรคการเมือง 2 ขั้วใหญ่
จาก สถานการณ์ในช่วงผ่านครึ่งแรกของการหาเสียงเลือกตั้ง ชัดเจนว่า การต่อสู้เพื่อชิงคะแนนนิยมของแต่ละพรรคการเมืองในแต่ละพื้นที่มีความเข้ม ข้นมากขึ้น
มีการงัดกลยุทธ์ทุกรูปแบบออกมาใช้ เพื่อกรุยทางไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง
ทั้ง นี้ นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย ได้ออกมาเปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้มีประชาชนแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตเข้ามายังฝ่ายสืบสวน สอบสวนและวินิจฉัยของ กกต.แล้ว 138 เรื่อง อาทิ เรื่องการวางตัวไม่เป็นกลางของเจ้าหน้าที่ การแจกเงินซื้อเสียง
นอก จาก นี้มีเรื่องร้องคัดค้านเข้ามา 21 เรื่อง เกี่ยวกับการใส่ร้ายป้ายสี และแจกเงิน โดยเฉพาะพื้นที่อีสานที่มีหลักฐานการทำผิดของผู้สมัครค่อนข้างชัดเจน
ใน ขณะที่ทางฝ่ายตำรวจก็ออกมายอมรับว่า มีหลายพื้นที่ที่ผู้สมัครมีการแข่งขันกันสูง และมีการร้องขอให้ตำรวจไปดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้สมัคร
ปรากฏการณ์ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาเท่าไหร่ การแข่งขันก็ยิ่งเข้มข้น เพราะเป็นช่วงที่ต้องเปลี่ยน “เสียง” เป็น “คะแนน” สารพัดวิชามารจะถูกงัดออกมาใช้ เพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง
ฉะนั้น กกต.ในฐานะที่เป็นผู้คุมกฎในการเลือกตั้ง ต้องรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมวิชามารของนักการเมือง
ที่ สำคัญ กกต.ต้องมีความกล้าหาญ เด็ดขาด และตรงไปตรงมา ในการทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความ สุจริตและเที่ยงธรรม
หากพบการกระทำผิดกฎหมาย ต้องจัดการแบบไม่ไว้หน้า โดยไม่ต้องสนใจว่าเป็นใคร พรรคไหน ถ้ามีความผิดถึงขั้นจะต้องให้ใบเหลืองใบแดงก็ต้องให้ เพื่อทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นที่ยอมรับของสังคม
ถ้าผู้คนยอมรับการเลือกตั้งว่าเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ชนวนที่จะทำให้เกิดวิกฤติก็จะไม่มี
แต่ถ้าผู้คนรู้สึกเคลือบแคลงว่า กกต.ทำงาน 2 มาตรฐาน ก็อาจจะนำไปสู่วิกฤติที่ยืดเยื้อต่อไปอีก
ขณะ เดียวกัน เมื่อย้อนกลับมาที่การต่อสู้ของพรรคการเมืองในการช่วงชิงคะแนนเสียงเลือก ตั้งครั้งนี้ แม้ทุกพรรคต่างก็ประกาศชูหลักการว่าจะต่อสู้แข่งขันกันภายใต้กติกาในระบอบ ประชาธิปไตย
แต่จากสภาพความเป็นจริง ในขณะที่พรรคการเมืองมีการแข่งขันหาเสียงกันในสนามเลือกตั้งอย่างเข้มข้นดุ เดือด งัดทุกกลยุทธ์มาใช้ เพื่อเอาชนะคู่แข่ง
อีกทางหนึ่ง ในทางลับก็มีการแตะมือกันเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของพรรคการเมืองขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก
เพราะบรรดาเซียนเลือกตั้งพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็ก ประเมินสถานการณ์แล้วมองว่า
ใน การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าพรรคการเมือง 2 ขั้วใหญ่ ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ที่พยายามช่วงชิงเสียง เพื่อจะเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่สามารถได้ ส.ส.พรรคเดียวเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเกินครึ่งสภาฯ
ก็จำเป็นที่จะต้องพึ่ง บริการพรรคขาดกลางและพรรคขนาดเล็ก เพื่อรวบรวมเสียงให้ได้เกินครึ่งสภาฯ และได้เสียงมากพอที่จะอยู่ในโซนที่ปลอดภัย ไม่ปริ่มน้ำ
พรรคขนาดกลาง และขนาดเล็ก จึงต้องเดินเกมอย่างเต็มที่ในการหาเสียงหาคะแนน เพื่อสร้างแต้มต่อทางการเมือง นำไปใช้ในการต่อรองกับพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 ขั้ว
อย่างที่เห็นๆ พรรคภูมิใจไทยที่ต้องชนกับพรรคเพื่อไทยในภาคอีสาน ต้องสู้กันเต็มที่ เพราะถ้าพรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกพรรคก็ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน
ทางพรรคภูมิใจไทยจึงอยู่ในสถานะเป็นพรรคที่จะคอยตัดแต้มพรรคเพื่อไทย ทั้งในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือตอนล่าง
ในขณะที่พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ก็จะตัดแต้มพรรคเพื่อไทยในภาคอีสาน และตัดแต้มพรรคประชาธิปัตย์ในภาคกลาง
พรรค ชาติไทยพัฒนาที่มีฐานอยู่ในภาคกลาง ก็จะตัดแต้มของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคกลาง ขณะที่พรรคเล็กอย่างพรรคพลังชล ก็จะตัดแต้มพรรคประชาธิปัตย์ในภาคตะวันออก
พรรค มาตุภูมิ ตัดแต้มพรรคประชาธิปัตย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพรรครักษ์สันติ พรรครักประเทศไทย ก็มีส่วนในการตัดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาธิปัตย์ใน กทม.
ในการ ต่อสู้ที่ดูเหมือนว่าไม่มีใครยอมใคร แต่สุดท้ายการเมืองก็คือการเมือง เมื่อยังไม่ชัดว่า 2 ขั้วใหญ่ พรรคไหนจะเป็นแกนหลักในการจัดตั้งรัฐบาล
ก็ เป็นธรรมดาที่พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กต้องมีการเจรจา แตะมือกันไว้หลวมๆกับทั้ง 2 ขั้ว เพื่อความชัวร์ในการได้เข้าร่วมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
ด้วยเหตุ ระหว่างการต่อสู้ทำศึก หลังฉากจึงมีการเจรจา ขอกัน ฮั้วกัน เขตไหนชนกันหนักๆก็มีการเจรจาถอยให้กัน หรือมีการขอแบ่งแต้มระหว่าง ส.ส.ระบบเขต กับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไมตรีในวันข้างหน้า ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเป็นระบบนิเวศน์ของการเมืองไทย
ทั้งนี้ไม่ว่าขั้วไหนจะฮั้วกับพรรคใด หวังสมประโยชน์กันอย่างไรในวันข้างหน้า
แต่สุดท้ายคนที่ต้องตัดสินจริงๆ ก็คือประชาชนที่ลงคะแนนในวันเลือกตั้ง 3 ก.ค.
“ทีมการเมือง”
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น