ใน ที่สุดก็ประกาศอย่างเป็นทางการ สำหรับการยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้แถลงไปเมื่อค่ำวานนี้ (9 พ.ค.) เวลา 2 ทุ่มทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง เป็นเวลากว่า 15 นาที น่าจะถือเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่เลือกช่วงเวลานี้ เพราะเห็นว่าเป็นช่วงเวลาไพร์มไทม์ที่มีผู้ชมอยู่หน้าจอมากที่สุด (มีเพื่อนผมกล่าวติดตลกว่า ถ้ารัฐบาลประกาศยุบสภาวันที่ดอกส้มสีทองฉาย ปชป.อาจแพ้เลือกตั้งก็เป็นได้)
การประกาศยุบสภาครั้งนี้ถือว่าได้มี การเตรียมการมาเป็นอย่างดี มีการถ่ายทำเอาไว้ก่อน ไม่ได้เป็นการประกาศอย่างฉุกละหุก ในส่วนของเนื้อหาก็มีลักษณะที่ผ่านการร่างและคิดพิจารณาเป็นอย่างดี ที่น่าตลกก็คือเนื้อหาในคำประกาศยุบสภาตลอด 15 นาทีนั้น เป็นส่วนที่เกี่ยวกับยุบสภาจริงๆ น้อยมาก ขณะที่ส่วนที่เหลือกลับเป็นการเรื่องการพูดถึงผลงานการบริหาร (ในด้านดี) ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล ซึ่งบรรยายไว้เป็นดิบดี จนเกิดความสงสัยว่าถ้าบริหารดีขนาดนี้จะยุบสภาไปทำไป
ปกติ แล้วตามหลักวิชาการ การยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น มักจะใช้ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารคือรัฐบาล กับฝ่ายนิติบัญญัติคือสภาผู้แทนราษฎร โดยถือว่าการยุบสภาเป็นเครื่องมือหนึ่งการถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติของฝ่าย บริหาร แต่สำหรับประเทศไทยอาจไม่ค่อยเข้าตำรานัก เพราะที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติก็คือพวกเดียวกันตลอด การยุบสภาครั้งนี้ก็เช่นกัน ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสภากับรัฐบาล แต่เป็นลักษณะของการทำสัญญาตอนรับตำแหน่งของอภิสิทธิ์ที่บอกว่าจะไม่อยู่ครบ เทอมมากกว่า (การประท้วงเรียกร้องให้ยุบสภาของเสื้อแดง ไม่น่าจะส่งผลอะไรต่อการยุบสภามากนัก เพราะถ้ามีผลจริง คงยุบไปนานแล้ว)
พูด ง่ายๆ คือการจะยุบหรือไม่ยุบครั้งนี้ เป็นเรื่องของรัฐบาลล้วนๆ ปัจจัยภายนอกแทบไม่มีผล และเพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล การตัดสินใจว่าจะยุบ จึงผ่านการเตรียมการมาเป็นอย่างดี เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างความได้เปรียบให้รัฐบาล (ปชป.) กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ไม่เว้นแม้แต่ในเนื้อหาคำประกาศยุบสภาเมื่อค่ำวานนี้ ก็แอบแฝงด้วยการหาเสียงของรัฐบาล หรือพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ ประชาธิปัตย์
สิ่งหนึ่งที่อภิสิทธิ์เน้นอยู่ตลอดการแถลงก็คือ ปัญหาต่างๆ ในไทยตอนนี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์ แต่ที่ผ่านมาเราก็ได้ "เริ่มต้น" แก้ไปแล้ว ซึ่งก็ได้ผลไปในทิศทางทีดี สิ่งที่รัฐบาลได้ทำลงไปตลอด 2 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมา จะเป็นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป
การใช้คำว่า "เราได้เริ่มต้นไปแล้ว" นั้น ถือเป็นการสร้างเครดิตให้รัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มแก้ปัญหาต่างๆ ในไทยอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็เป็นการลดเครดิตแนวทางการบริหารของรัฐบาลชุดก่อนหน้าให้เป็น แนวทางที่ไม่ถูกต้องด้วย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มในรัฐบาลในสมัยนี้ ไม่ใช่ก่อนหน้านั้น
การใช้คำว่าเริ่ม ยังหมายถึงว่างานของรัฐบาลยังไม่จบ รัฐบาลชุดต่อไปต้องมาสานต่อ และรัฐบาลที่จะมาสานต่องานเหล่านั้นได้ก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากรัฐบาลชุด นี้นี่เอง เพราะหากเป็นฝั่งตรงข้าม ก็อาจเสี่ยงที่ฝั่งนั้นอาจมาเริ่มอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เป็นไปในแนวทางที่รัฐบาลชุดที่แล้ววางฐานไว้
ในช่วงท้ายของคำ ประกาศ ที่อภิสิทธิ์ฝากถึงผู้ที่จะมาเป็นรัฐบาลชุดต่อไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตร หรือเรื่องการศึกษานั้น จริงๆ แล้วก็เป็นการกล่าวถึงประชาธิปัตย์ทั้งนั้น โดยเฉพาะการเน้นความสำคัญของการศึกษา ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของประชาธิปัตย์เลยก็ว่าได้ การพูดของอภิสิทธิ์เช่นนี้ จึงไม่ใช่อะไรมากไปกว่าบอกอ้อมๆ ว่า ถ้าอยากให้สิ่งที่อภิสิทธิ์ฝากเป็นจริง ก็เลือกอภิสิทธิ์เข้ามาอีกรอบเถอะ
มีจุดน่าสังเกตอีกอย่างคือ การที่อภิสิทธิ์บอกว่า ความศรัทธาในรัฐบาลนั้นจะต้องเกิดจากความโปร่งใส เมื่อเทียบกับผลโพลล่าสุดที่ออกมาว่าสิ่งเดียวที่ประชาธิปัตย์เหนือกว่า เพื่อไทยก็คือเรื่อง ความโปร่งใส การเน้นเรื่องความโปร่งใสในประกาศนี้ ก็เป็นเหมือนการหาเสียงให้ประชาธิปัตย์อีกทางหนึ่ง พรรคนี้เท่านั้นที่เป็นพรรคที่ควรแก่การศรัทธาและเป็นรัฐบาล ไม่ใช่อีกพรรคที่มีเรื่องอื้อฉาวเรื่องโกงกินเยอะ เชื่อว่าประชาธิปัตย์จะชูเรื่องโปร่งใสเป็นแกนหลักในการรณรงค์การเลือกตั้ง ครั้งนี้แน่นอน (แต่ทั้งหมดในคำประกาศนี้ อภิสิทธิ์ไม่พูดเรื่องการคอรัปชั่นในสมัยที่เขาเป็นนายกเลย)
ในส่วนของที่ผาของรัฐบาล ที่หลายฝ่ายบอกว่าไม่ชอบธรรม แต่อภิสิทธิ์ก็ยืนยันว่่าที่มาของเขานั้นชอบธรรมแล้ว เพราะได้กล่าวว่า การเข้ามาของเขานั้นเกิดจากประชาชนที่มอบความไว้วางใจผ่านสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล ของอภิสิทธิ์จึงเป็นรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แย่งมาอย่างบางฝ่ายกล่าวหา ที่น่าสนใจคือการเน้นเรื่องสภาผู้แทนราษฎรเช่นนี้ เท่ากับว่าประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับผู้แทนในสภามากกว่าประชาชน นั่นอาจหมายความว่า แม้หลังเลือกตั้งต่อให้ประชาธิปัตย์ไม่ได้เสียงเป็นอันดับ 1 แต่สามารถรวมเสียง สส.ได้มากกว่า ก็มีสิทธิเป็นรัฐบาลเช่นกัน และเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมด้วย เพราะได้รับเลือกจากผู้แทนก็เหมือนได้รับเลือกจากประชาชนนั่นแหละ
จาก เนื้อหาคำประกาศทั้งหมด แทบจะไม่พบข้อเสียของรัฐบาลนี้เอง ความขัดแย้งกับสภาก็ไม่มี แถมยังมีขอบคุณสภาในคำประกาศด้วย การตัดสินใจยุบสภานั้น ก็เป็นการด้วยเจตนาคืนอำนาจให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกเท่านั้น แต่ ในเมื่อบรรยายรัฐบาลไว้เสียดิบดีขนาดนี้ อย่าว่าอย่างนั้นอย่างนี้เลย เลือกประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลอีกครั้งเถอะ ...และนั่นคือใจความสำคัญของคำประกาศยุบสภานี้
ส่วนพวกเราก็ยังได้แต่สงสัยต่อไปว่า ก็ในเมื่อที่ผ่านมาทำงานดีเยี่ยมขนาดนี้ ปัญหากับสภาก็ไม่มี แล้วจะยุบสภาไปทำ-่าอะไร (ประชด)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น