บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

ศาลรัฐธรรมนูญ----ความเป็นองค์กรสูงสุดที่ต้องรักษาไว้


ผม ติดตามข่าวการครบวาระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยความไม่สบายใจนัก เพราะตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในข่าวได้ความว่า สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งมายังวุฒิสภาว่า ในต้นเดือนตุลาคม จะมีศาลรัฐธรรมนูญครบวาระตามมาตรา ๓๒๒ ของรัฐธรรมนูญ จำนวน ๔ ท่าน จึงขอให้วุฒิสภาดำเนินการสรรหาและคัดเลือกเพื่อจักได้มี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งต่อไป

เมื่อเรื่องมาถึงวุฒิสภา เกิดมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงครบวาระเพียง ๔ ท่าน ทำไมไม่ครบวาระ ๙ ท่าน ตามที่ควรจะเป็นตามมาตรา ๓๒๒ และตามข่าวได้ปรากฏต่อไปอีกว่า วุฒิสภามีทีท่าว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครบวาระกี่ท่านกันแน่

เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องตามสมควร จึงจำเป็นต้องท้าวความถึงที่มาที่ไปให้เป็นพื้นฐานไว้ก่อน

เมื่อรัฐธรรมนูญออกใช้บังคับเมื่อ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ นั้น ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา ๓๒๐ ว่าให้ดำเนินการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน ๔๕ วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ตามมาตรา ๒๕๕ ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน ๑๕ ท่าน โดยมีที่มาดังนี้

๑. ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน ๕ ท่าน

๒. ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด จำนวน ๒ ท่าน

๓. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งวุฒิสภาในขณะนั้น (ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) เป็นผู้เลือก จำนวน ๕ ท่าน

๔. ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งวุฒิสภาในขณะนั้นเลือก ๓ ท่าน

แต่โดยที่ในขณะนั้นยังไม่มีศาลปกครอง บทเฉพาะกาลจึงกำหนดไว้ว่าให้ศาลศาลรัฐธรรมนูญมีเพียง ๑๓ ท่าน ไปก่อนจนกว่าจะมีศาลปกครอง ซึ่งต่อมาหลังจากมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาปัจจุบันแล้ว จึงมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น และตุลาการศาลปกครองจึงมีครบจำนวน ๑๕ ท่านนับแต่นั้นมา

คงจะเป็นด้วยผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าวุฒิสภาในขณะนั้นมิได้มาจากการ เลือกตั้ง การคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้ จึงกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลมาตรา ๓๒๒ ว่า

“ในวาระเริ่มแรก ฯ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฯ ที่วุฒิสภาฯ (ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) มีมติเลือก ให้มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียงกึ่งหนึ่งของวาระที่กำหนดไว้สำหรับตำแหน่งดัง กล่าว ฯลฯ”

วาระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ มี ๙ ปี กึ่งหนึ่ง จึงเหลือ ๔ ปี ๖ เดือน ซึ่งระยะเวลา ๔ ปี ๖ เดือนดังกล่าวจะครบในวันที่ ๑๐ ตุลาคม นี้

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออกและต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพราะมีอายุครบ ๗๐ ปี จำนวน ๓ ท่าน ใน ๓ ท่านนั้น ได้มีการเลือกซ่อมโดยวุฒิสภาชุดเก่า ๒ ท่าน ส่วนอีกหนึ่งท่านเลือกโดยวุฒิสภาชุดปัจจุบัน

ดังนั้น ณ ปัจจุบัน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภาชุดก่อนนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง จึงเหลืออยู่ เพียง ๙ ท่าน

ใน ๙ ท่านนี้ เป็นผู้ซึ่งวุฒิสภาชุดเก่าเลือก ๔ ท่าน และอีก ๕ ท่าน ศาลฎีกาเป็นผู้เลือก

ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าทั้ง ๙ ท่านนั้น ควรจะพ้นจากตำแหน่งพร้อมกันในวันที่ ๑๐ ตุลาคม นี้ อันเป็นเวลาครบ ๔ ปี ๖ เดือน หรือว่าเฉพาะแต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภาชุดเดิมเลือกซึ่งเหลืออยู่ ๔ ท่านเท่านั้นจึงจะพ้นจากตำแหน่ง ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ศาลฎีกาเลือก ๕ ท่าน ยังไม่พ้นจากตำแหน่ง เพราะจะต้องอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบ ๙ ปี เนื่องจากวุฒิสภามิได้เป็นผู้เลือก

ในปัญหาเรื่องนี้สำนักเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งทำหน้าที่ธุรการให้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังวุฒิสภาว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญจะมีอายุครบ ๗๐ ปี ในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ ซึ่งจะต้องพ้นจากตำแหน่งไป ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภาชุดที่แล้วเป็นผู้เลือกอีก ๓ ท่านจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๕ อันเป็นวันที่ครบ ๔ ปี ๖ เดือน จึงมีตำแหน่งว่างที่วุฒิสภาปัจจุบันจะต้องดำเนินการสรรหาและเลือก เพียง ๔ ตำแหน่ง

เมื่อเรื่องถูกส่งไปยังวุฒิสภา วุฒิสภาเกิดข้อสงสัยว่า เฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ๔ ท่านนั้นเท่านั้นที่พ้นจากตำแหน่ง หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง ๙ ท่าน จะต้องพ้นจากตำแหน่งพร้อมกัน

เมื่อเกิดข้อสงสัยขึ้นดังกล่าว วุฒิสภาจึงดำเนินการปรึกษาหารือกันในหมู่ที่ปรึกษากฎหมายบ้าง โดยกรรมาธิการคณะพิเศษบ้าง แต่ก็ยังหาข้อลงรอยเป็นแนวเดียวกันไม่ได้ ในขณะเดียวกันก็มีข่าวออกมาว่า จะมีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติ ว่าจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่พ้นจากตำแหน่งมีจำนวนเท่าไรกันแน่

โดยที่ประชุมวุฒิสภาจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่

สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้ออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงถึงเหตุผลที่มีความเห็นว่าตุลาการศาลรัฐ ธรรมนูญจำนวน ๔ ท่านเท่านั้นที่พ้นจากตำแหน่ง ส่วนอีก ๕ ท่านยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพ้นจากตำแหน่งจำนวนเท่าใด ไม่ใช่ประเด็นที่ผมเป็นห่วงใย และไม่คิดจะแสดงความเห็น

ข่าวเรื่องที่จะส่งปัญหาไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนี่ต่างหากที่ทำ ให้ผมทุกข์ใจ เพราะหากมีการส่งเรื่องไปจริง จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเสียหายอย่างร้ายแรง และกระทบกระเทือนต่อเกียรติภูมิของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไม่มีทางแก้ไข

ที่ผ่านมาบางครั้งบางคราวแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และได้แสดงความไม่เห็นด้วยนั้นไว้ให้ปรากฏ

แต่ผมจะทำก็แต่เฉพาะเมื่อเห็นว่า ปัญหาเรื่องนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องของความเห็นทางกฎหมายในเชิงวิชาการ หรือเป็นการติติงเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของศาลรัฐธรรมนูญไว้เท่านั้น

การที่ผมหวั่นเกรงไปว่าการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะเสียหายต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

๑. เรื่องนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กรของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การให้ศาลรัฐธรรมนูญกลับมาเป็นผู้วินิจฉัยเสียเอง ศาลรัฐธรรมนูญจึงอยู่ในฐานะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะจะไม่รับไว้พิจารณา ก็ไม่รู้จะอ้างอะไร ครั้นจะรับไว้พิจารณา ก็จะเกิดการประดักประเดิดขึ้นเพราะเป็นเรื่องขององค์กรเอง

๒. เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับไว้แล้ว ก็จะต้องพิจารณาต่อไป ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับเลือกจากที่ ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่พ้นจากตำแหน่ง โดยยังอยู่ต่อไปได้จนครบ ๙ ปี ผู้คนก็จะกล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญว่าเห็นแก่พวกพ้องของตนเอง แม้ว่าคำวินิจฉัยนั้นจะเป็นไปโดยสุจริตใจอย่างแท้จริงก็ตาม

การพิจารณาใด ๆ ที่ผู้พิจารณาตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับส่วนได้เสียของ สมาชิกในองค์กรถึงหนึ่งในสาม ย่อมขาดอิสระอย่างแท้จริงที่จะพิจารณาได้ ความเกรงกลัวว่าจะถูกกล่าวหาดังกล่าวอาจทำให้วินิจฉัยไม่ตรงต่อความนึกคิด หรือความเห็นที่แท้จริงของแต่ละท่านได้

๓. ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตุลาการอีก ๕ ท่าน ต้องพ้นไปเมื่อครบกำหนด ๔ ปี ๖ เดือน ความร้าวฉานก็อาจเกิดขึ้นในการทำงานต่อไปของศาลรัฐธรรมนูญได้

ปัจจุบันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอยู่จำนวน ๑๕ ท่าน เมื่อประธานพ้นไปเพราะอายุครบ ๗๐ ปี การพ้นนั้นจะต้องพ้นไปในทันที ดังนั้นหลังจากวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงจะเหลือเพียง ๑๔ ท่าน

ใน ๑๔ ท่าน นั้น ๓ ท่านจะต้องพ้นไปเมื่อถึงวันที่ ๑๐ ตุลาคม แต่จะยังอยู่ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ส่วนอีก ๕ ท่านที่มาจากศาลฎีกา จะยังเป็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัย แต่เมื่อถึงคราววินิจฉัยเรื่องนี้ท่านเหล่านั้นก็คงไม่อาจนั่งร่วมพิจารณา ด้วยได้

จึงเหลือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะทำหน้าที่ในเรื่องนี้เพียง ๙ ท่าน ซึ่งจะเป็นจำนวนพอดีที่จะทำหน้าที่ใด ๆ ได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะในการนั่งพิจารณาและในการทำคำวินิจฉัย มาตรา ๒๖๗ กำหนดว่าต้องมีตุลาการไม่น้อยกว่า ๙ ท่าน

ถ้าเกิดล้มหายตายจากไป สักคนเดียว ก็จะทำงานกันต่อไปไม่ได้

สมมุติว่าใน ๙ ท่านนั้น (ซึ่งใน ๙ ท่านนั้น มี ๖ ท่านยังอยู่ต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหา อีก ๓ ท่าน จะต้องออกไปแน่นอน )มีมติวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก ว่าตุลาการอีก ๕ ท่านพ้นจากตำแหน่ง ตุลาการที่จะเหลืออยู่ในตำแหน่งจริง ๆ จะมีเพียง ๖ ท่าน ซึ่งจะไม่เพียงพอที่จะทำงานใด ๆ ต่อไปได้ จนกว่าตุลาการใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องรอนานอีกเท่าไร

จริงอยู่ตามรัฐธรรมนูญ ตุลาการทั้ง ๙ ท่านที่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระ จะยังคงสามารถทำหน้าที่อยู่ต่อไปได้จนกว่าตุลาการใหม่จะเข้ารับหน้าที่

แต่ใครจะคิดบ้างไหมว่า ระหว่างตุลาการฝ่ายข้างมากที่ลงมติวินิจฉัยให้ตุลาการอีก ๕ ท่านพ้นจากตำแหน่ง จะทำงานร่วมกันกับตุลาการที่ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งต่อไปได้อย่างไร

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นมนุษย์ แม้จะน่าเชื่อว่าท่านเหล่านั้นมีคุณธรรมสูงพอที่จะไม่นำเรื่องส่วนตัวมาปะปน กับการทำงาน แต่ใครจะรับรองได้ว่าความนึกคิดในประเด็นต่าง ๆ จะไม่กลายเป็นการแบ่งเป็น ๒ ขั้ว หรืออย่างน้อยก็จะถูกจับตามองจากสังคมไปในแนวทางนั้น

จะทำงานร่วมกันได้ต่อไปอย่างไรก็นึกไม่ออก

มีมติอะไรออกมา ก็อาจถูกตั้งข้อสงสัยอยู่ร่ำไป

แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะเหลืออะไร

ในเมื่อเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งให้ทราบพร้อมทั้งแถลงถึงเหตุผลแล้ว ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครบวาระเพียง ๔ ท่าน

การที่สำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือแจ้งหรือออกแถลงการณ์ ออกมานั้น คิดหรือว่าเป็นการทำโดยลำพัง โดยไม่ปรึกษาหารือกับใครบ้าง

เราจะยุติแต่เพียงนี้กันได้หรือไม่

เพื่อรักษาศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นองค์กรสูงสุดและทำประโยชน์อย่างน่าเชื่อถือให้แก่บ้านเมืองได้ต่อไป

จริงอยู่ดำริของวุฒิสภาที่จะส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ไม่ใช่ความผิดของวุฒิสภา เพราะวุฒิสภาคงประสงค์จะทำหน้าที่ของตนให้เรียบร้อย มีข้อสงสัยใดก็อยากให้เป็นที่ยุติเสียก่อน ซึ่งเป็นความรอบคอบที่น่าสรรเสริญ

แต่ประโยชน์ที่จะได้รับจากการหาข้อยุติ กับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับศาลรัฐธรรมนูญอันเป็นองค์กรสูงสุด

บางทีเราอาจจะต้องนึกถึงหลักรัฐศาสตร์ไว้บ้างเหมือนกัน

เพราะถ้าเราไม่ช่วยกันรักษาศาลรัฐธรรมนูญไว้ ต่อไปการพัฒนาการเมืองโดยอาศัยศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวจักรสำคัญ ก็จะเป็นไปได้ยาก

ลองช่วยกันคิดดูเถอะครับ!!



  มีชัย ฤชุพันธุ์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง