โดย isranews หมวด ข่าว
เครือข่าย ปชช.ด้านสาธารณสุข จับตา “ยิ่งลักษณ์” มุมมิบคุย บ.ยาข้ามชาติ หวั่นแอบแผงผูกขาด ตัดสิทิ์คนไทยเข้าไม่ถึงยาจำเป็นราคาแพง เรียกร้องรอบคอบ-ฟังความเห็นรอบด้านก่อนทำข้อตกลง
วันที่ 13 มี.ค.55 นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณีที่วานนี้ (12 มี.ค.55) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับบริษัทยาข้ามชาติและนักธุรกิจอเมริกันที่เข้ามาลงทุนในประเทศ เรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตรและระบบกำหนด-ควบคุมราคายา โดยรับปากตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับบริษัทยาข้ามชาติ ติดตามการผลิตเวชภัณฑ์ไทยและให้กำหนดราคาอย่างเหมาะสม
โดยนายนิมิตร์ กล่าวว่า ดูจากพฤติกรรมของบริษัทยาข้ามชาติที่ผ่านมา การเสนอแนวทางดังกล่าวเป็นความพยายามห้ามไม่ให้มีการต่อรองราคายา ซึ่งผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีโอกาสที่จะต่อรองทำให้สามารถลดงบประมาณจัดซื้อยาได้จำนวนมาก “หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์รับปาก จะส่งผลให้กลไกต่อรองราคาเป็นอัมพาต บริษัทเสนอเท่าไหร่คือเหมาะสม และอาจส่งผลต่อการประกาศใช้ซีแอล หรือลามไปถึงการออกกฏระเบียบหรือแก้ไขอะไรที่ต้องได้รับอนุญาตจากบริษัทยาก่อน”
นายนิมิตร กล่าวอีกว่า ในการแถลงต่อสาธารณชนของรัฐบาล ไม่ได้ให้รายละเอียดต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องนี้มาต่อเนื่องตั้งข้อสังเกตว่าการควบคุมราคายาเป็นแนวคิดที่ดี แต่ก่อนหน้าที่จะมีการแก้ไข พรบ.สิทธิบัตรปี 2542 ได้มีการยกเลิกคณะกรรมการสิทธิบัตรยาซึ่งทำหน้าที่ควบคุมราคายา โดยเป็นผลมาจากการกดดันของสหรัฐฯ โดยใช้มาตรการพิเศษ 301 เรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะตัดสิทธิพิเศษสินค้าส่งออกไทย ส่งผลให้ไทยไม่มีกลไกควบคุมราคายา จนเกิดการผูกขาดราคาโดยบริษัทยาอย่างอิสระ
"ทำให้ที่ผ่านมาไทยไม่มีกลไกใดๆควบคุมราคายา โดยเฉพาะในกลุ่มยาใหม่ที่มีผู้จำหน่ายรายเดียว ส่งผลให้ผูกขาดโดยบริษัทยาอย่างอิสระ เห็นได้จากค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7-8 ต่อปี สูงกว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นเพียงร้อยละ 5-6 ต่อปี”
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่าผลพวงต่อเนื่องของการไม่มีระบบควบคุมราคายา ส่งผลให้คนไทยไม่สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นซึ่งมีราคาแพงได้ ทั้งนี้การที่บริษัทยาหรือตัวแทนนักธุรกิจอุตสาหกรรมยาเสนอให้นายกฯ มีแนวทางกำหนดราคายานั้น ต้องระดมสมองต่อข้อเสนอดังกล่าวอย่างรอบด้านโดยมีกระบวนการรับฟังและสร้างการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
“ที่สำคัญต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน บริษัทยาไม่มีสิทธิเข้ามาร่วมการตัดสินใจในทุกเรื่อง เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน”
ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวอีกว่า วันที่ 12 มี.ค. ที่ประเทศอินเดียเพิ่งประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) ให้บริษัทยาชื่อสามัญของเขาผลิตยารักษามะเร็งตับที่ติดสิทธิบัตรบริษัทไบเออร์ เยอรมันนีได้ ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงมากกว่า 30 เท่า และเพิ่มการเข้าถึงยาให้กับผู้ป่วยมะเร็งอย่างมาก อยากขอให้รัฐบาลไทยพิจารณานโยบายต่างๆโดยเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มทุน
ทั้งนี้ภาคประชาชน โดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เครือข่ายผู้บริโภค และนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องไม่รีบตัดสินใจ จนกว่าจะมีการศึกษาหรือรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยเครือข่ายภาคประชาชนจะเฝ้าจับตามองและติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิด .
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
รีโมท
ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น