บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

จับตา ‘หัวเว่ย’ กวาดประมูลแท็บเล็ต ผยสัมพันธ์ยาวนาน ‘ทักษิณ’

จับตา ‘หัวเว่ย’ กวาดประมูลแท็บเล็ต 9 แสนเครื่อง นำร่องแจกป.1 เผยสัมพันธ์ยาวนาน ‘ทักษิณ’ เจ้าไอเดีย

คาด ‘หัวเว่ย’ได้ประมูล ‘แท็บเล็ต’จากจีน นำร่องแจกป.1 ทั่วประเทศกว่า 2 หมื่นคน เผยสัมพันธ์ยาวนาน ‘ทักษิณ’ ตั้งแต่สมัยนั่งนายกฯ ไปเยือนโรงงานที่เสิ่นเจิ้นมาแล้ว แถมยังเป็นแรงบันดาลใจให้ทำโครงการ คอลัมนิสต์จับผิด ทำไร้เดียงสา ไม่รู้จักหัวเว่ย ทั้งที่ผลิตเครื่องส่งให้เอไอเอส บิ๊กศธ.ระบุเปิดประมูลแบบอีออคชั่น ก่อนให้ตปท.ประสานซื้อจากจีน 9 แสนเครื่อง ศธ.ประสานไอซีทีจัด 3 กลุ่มโรงเรียนกว่า 2 หมื่นแห่ง เชื่อมต่อสัญญาณ ปลัดเรียก 14 สำนักพิมพ์ถกเนื้อหาสาระที่จะใช้ลงเครื่อง พร้อมวิธีดาวน์โหลดข้อมูล
โดย เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ

หลังจากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลพยายามดำเนินการหลายนโยบายที่ได้เคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่ง โครงการ One Tablet Pc Per Childเป็น นโยบายหนึ่ง ในนโยบายประชานิยมที่พรรคเพื่อไทยประกาศว่าจะแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนทุก คน ต่อมารัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาว่า จะดำเนินการในเรื่องนี้ทันทีภายใน 1 ปีแรก ด้วยการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต ให้แก่โรงเรียนนำร่อง สำหรับระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2555 ควบคู่กับการพัฒนาเนื้อหาที่เหมาะสมตามหลักสูตรบรรจุลงในคอมพิวเตอร์แท็บ เล็ต รวมทั้งจัดระบบอินเตอร์เน็ตไร้สายในระดับการให้บริการในพื้นที่สาธารณะ และสถานศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตามตลอดเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ใกล้จะปิดภาคเรียนที่ 2มีโรงเรียนจำนวนมาก พยายามขายฝันให้ผู้ปกครอง ด้วยการเปิดหลักสูตรเพิ่มเติมหรือห้องเรียนพิเศษ โดยอ้างว่าจะให้มีคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเข้ามาอยู่ในหลักสูตรด้วย โดยมีการจัดห้องเรียนที่แปลกตากว่าห้องเรียนทั่วไป แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า โรงเรียนกลับไม่พูดถึงหลักสูตร เนื้อหาสาระ หรือซอฟแวร์ที่จะบรรจุลงในแท็บเล็ตเพื่อให้นักเรียนได้เรียนเลย

ศธ.ประเดิมซื้อ 9 แสนเครื่องให้ป.1นำร่อง

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมซื้อแท็บเล็ตว่า ขณะนี้เริ่มจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา หรือแท็บเล็ต จำนวน 900,000 เครื่อง เพื่อแจกเด็กนักเรียนชั้นป.1ให้ครบทั้งหมด 860,000 คน โดยจะให้นักเรียนมีเทคโนโลยีใช้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยต้องการให้บรรจุชุดความรู้ในแท็บเล็ตมากกว่า 5 วิชาหลัก ใน 8 กลุ่มสาระ สำหรับเด็กป.1 โดยจะใส่หลักสูตรให้ครบถึง ป.3 เพื่อให้เด็กที่สนใจเข้าไปเรียนรู้ล่วงหน้า อย่างไรก็ตามอายุการใช้งานของแท็บเล็ตอาจจะใช้ได้เพียง 3 ปีนั้น คิดว่าจะเป็นการแจกฟรีให้กับเด็กไปเลยโดยไม่ต้องยืม เพราะเด็กสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา อยากเรียนรู้ตอนไหนก็เรียนรู้ได้


“สเป็คราคาเครื่องละ 2,400 บาท ถือเป็นวัสดุที่ราคาไม่แพง สมควรแจกให้เด็กไปเลย ราคาเท่านี้ใช้ 3 ปี ก็กลายเป็นแค่พลาสติกแล้ว และถึงแม้การจัดซื้อเครื่องใหม่จะทำให้ต้องเสียเงินอีกกว่า 3 พันล้านบาทก็ถือเป็นเงินแค่เล็กน้อย เมื่อเทียบกันแล้วซื้อเรือรบ 1ลำ ก็ราคากว่า 3,000 ล้านบาทเหมือนกัน” รมว.ศึกษาธิการกล่าว

นายสุชาติกล่าวต่อว่า นโยบายการแจกแท็บเล็ตเป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมายของนโยบายการศึกษา ซึ่งประเด็นการแจกแท็บเล็ต เป็นการพัฒนาศักยภาพ และขีดความสามารถทางการศึกษาของเด็ก เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ก็เห็นชัดแล้วว่า กระดานดำที่มีอยู่เดิมจะค่อยๆลดบทบาทลง และต่อไปในอนาคตกระทรวงศึกษาจะติดอินเตอร์เน็ตให้กับโรงเรียนทั่วประเทศให้ ครอบคลุมทั้งหมดกว่า 20,000 แห่งเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กให้สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำกัดอยู่แค่ความรู้ภายในห้องเรียน

อดีตบิ๊กศธ.ชี้ต้องมีเพื่อให้ทันโลก

ด้านนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงเรื่องเดียวกันว่า แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีที่เรานำไปยก ระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ เพื่อให้เด็กเรียนรู้โลกต่างๆ จะปล่อยให้คนชนบท ในต่างจังหวัดเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารไม่ได้ และระบบเฉพาะของทีวี ข่าวสารในหนังสือพิมพ์ปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการรับรู้ของคนในสังคม จึงมีความจำเป็นต้องให้เครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ส่วนการดำเนินการคงจะต้องมีเครื่องมือเหล่านี้โดยเฉพาะสำหรับคนที่ได้รับ สิทธิเรียนฟรี

ปลัดศธ.เรียก 14 สำนักพิมพ์ถกเนื้อหาบรรจุแท็บเล็ต

ขณะที่ น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการนำเสนอเนื้อหาสาระการเรียนรู้เพื่อบรรจุใน คอมพิวเตอร์แบบพกพา (แทบเล็ต) ร่วมกับสำนักพิมพ์เอกชน จำนวน 14 สำนักพิมพ์ อาทิ บริษัท MCGRAWHILL, สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด, บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด, บริษัท อักษรเจริญทัศน์ (อจท.) จำกัด เป็นต้น
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ได้เชิญสำนักพิมพ์มาหารือเพื่อสอบถามถึงความพร้อมในการเตรียมเนื้อหาที่จะ บรรจุลงในแท็บเล็ต เพราะขณะนี้กระทรวงศึกษาฯ ได้เตรียมพร้อมเนื้อหาหลักสูตรของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1ในรูปแบบ Learning Object และ e-book เพื่อบรรจุลงในแท็บเล็ตใช้พื้นที่ความจำไปแล้ว 4กิกะไบต์ จาก 8 กิกะไบต์
ด้านนโยบายของกระทรวงศึกษาฯในระยะยาว ต้องการให้ทุกชั้นเรียนได้ใช้แท็บเล็ต หมายถึงตั้งแต่ชั้นป.2-6 และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จะต้องได้เรียนได้ใช้แท็บเล็ตด้วย โดยเฉพาะเนื้อหาสาระการเรียนรู้จำเป็นต้องเพิ่มหน่วยความจำถึง 16 กิกะไบต์  ซึ่งสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ ได้การันตีว่าสามารถบรรจุเนื้อหาสาระลงในแท็บเล็ตได้ ซึ่งขณะนี้เนื้อหาสาระในระดับชั้นประถมศึกษาได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว ซึ่งในระดับมัธยมศึกษาคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม

เปิดเลือก 4 ช่องทางดาวน์โหลดข้อมูลการเรียน

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวต่อถึงแนวทางการดำเนินการว่า ดำเนินการในรูปแบบทีโออาร์ยื่นซองประกวดราคา 2.ให้ดาวน์โหลดจากเซิร์ฟเวอร์ของสำนักพิมพ์ 3.ศธ.ทำเซิร์ฟเวอร์กลางและสำนักพิมพ์นำหลักสูตรมาใส่ไว้ เพื่อให้โรงเรียนดาวน์โหลด และ 4.สำนักพิมพ์จัดเก็บข้อมูลลงใน SD Card โดยจากข้อเสนอเหล่านี้ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางที่ 2 และ 3 อย่างไรก็ตามทางสำนักพิมพ์ต่างๆจะเสนอแนวทางและแผนดำเนินการที่เหมาะสมกลับ มายังกระทรวงภายวันที่ 10 ก.พ.นี้ นอกจากนี้ทางสำนักพิมพ์หลายแห่งได้เสนอตัวในการช่วยอบรมความพร้อมให้กับครู ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ด้วย

แบ่งกลุ่มเตรียมช่องทางเชื่อมต่อสัญญาณ

ทั้งนี้จากการสำรวจความพร้อมของสถานศึกษาที่ได้รับการแจกแท็บเล็ต ของกระทรวงศึกษาธิการ ในเดือน พฤษภาคม 2555 นี้ พบว่า มีการจัดแบ่งสถานศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม เนื่องจากสเป็คของแท็บเล็ต ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการเชื่อมต่ออินเตอร์ความเร็วสูง จึงมีการแบ่งกลุ่มประเภทในการใช้ระบบสัญญาณอินเตอร์ความเร็วสูง โดยได้รับรายงานข้อมูลเฉพาะจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า มีโรงเรียนทั้งหมด 24,098 แห่ง มีจำนวนนักเรียนชั้นป.1 จำนวน 507,148 คน แบ่งกลุ่มโรงเรียนที่ใช้ระบบอินเตอร์เน็ต เป็น 3 กลุ่มดังนี้
1.กลุ่มที่มีการติดตั้งระบบไฟเบอร์ ออฟติก (Fiber Optic) หรือเส้นใยแก้วนำแสงที่สามารถส่งสัญญาณได้ระยะทางไกลนับกิโลเมตร  เรียบร้อยแล้ว จำนวน 789 แห่ง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะประสานงานกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อติดตั้งกล่องรับสัญญาณเพิ่มเพื่อรองรับนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่าง ไกล
2.กลุ่มที่มีการใช้ระบบเอดีเอสแอล (ADSL) หรือระบบที่เชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์ จำนวน 6,457 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ระบบนี้นิยมใช้ในห้องคอมพิวเตอร์ โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ จะประสานกับกระทรวงไอซีทีให้มีการติดตั้งเพิ่มเติม
3.กลุ่มที่มีการใช้ระบบสัญญาณจานเดียวเทียม หรือ แซทเทิลไลท์ จำนวน 16,652 แห่ง ซึ่งกลุ่มนี้ค่อนข้างมีปัญหาในการเชื่อมต่อสัญญาณ ทางกระทรวงศึกษาธิการจึงจำเป็นต้องขอข้อมูลสถานศึกษาทุกสังกัด รวมทั้งสถานศึกษาที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เพื่อจะนำมาจัดวางแผนเพื่อขยายเครือข่าย

ศธ.เปิดประมูลแบบอีออคชั่น-ตปท.ประสานจีนซื้อ

ศูนย์ข่าว TCIJ  พบข้อมูลว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดเงื่อนไขการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) ผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ (eAuction) และได้ให้กระทรวงการต่างประเทศติดต่อกับรัฐบาลจีนเพื่อจัดซื้อ โดยลักษณะการซื้อขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจีทูจี โดยคาดว่าจะจัดจ้างได้ทันก่อนเปิดเทอมเดือนพ.ค.นี้

กำหนดสเป็กเครื่องละเอียดยิบ
ข้อกำหนดรายละเอียดครุภัณฑ์ และลักษณะเฉพาะมีดังนี้ คือ ต้องมีหน่วยประมวลผลกลางไม่ต่ำกว่า 1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) และซีพียูแบบดูอัล คอร์ ( Dual Core) ความยาวความหนาของทรานซิสเตอร์แต่ละตัวที่บรรจุอยู่ในซีพียูต้องมีขนาดเล็ก กว่าขนาด 45 นาโนเมตร มีความหน่วยความจำหลักไม่น้อยกว่า 512 เมกะไบท์ จอแสดงผลต้องมีขนาดไม่น้อยกว่า 17 นิ้ว วัดตามเส้นทะแยงมุม มีความละเอียดของจอภาพไม่น้อยกว่า 1024 x768 พิกเซลและทนต่อรอยขีดข่วน ทั้งนี้ต้องบันทึกข้อมูลภายในได้ไม่น้อยกว่า 16 กิกะไบท์
ด้านระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์ภายนอก สายสัญญาณต้องเป็นสายสัญญาณ Data Sync มีชุดหูฟังพร้อมไมโครโฟน นอกจากนี้ยังต้องมีช่องสำหรับใส่การ์ดบันทึก หรือไมโครเอสดี (Micro SD) มีอุปกรณ์เชื่อมต่อแบบยูเอสดี (USD) สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สาย Wireless Networking ตามมาตรฐานสถาบันวิศวกร ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Institute of Electrical and Electronics Engineers: IEEE802.11 b/g หรือที่ดีกว่าโดยใช้คลื่นความถี่ 2.4 กิกะเฮิรตซ์(GHz) ทั้งนี้ระบบมัลติมีเดียต้องเป็นแบบติดตั้งภายในตัวเครื่อง โดยมีลำโพง และไมโครโฟนด้วย
ส่วนระบบปฏิบัติเป็น แอนดรอยด์ ซึ่งถือเป็นซอฟแวร์ที่ติดต่อกับฮาร์ดแวร์ทุกชิ้น และทำหน้าที่ควบคุมการทำงานให้ทำงานร่วมกัน โดยสามารถดูหนัง ฟังเพลง เขียนหนังสือ หรือวาดรูปได้  ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดสเป็กแท็บเล็ตว่า จะต้องเป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android3.2 Honeycomb)  เพื่อสนับสนุนการใช้งานกับแท็บเล็ตขนาดหน้าจอ  7 นิ้วนั้น อีกทั้งยังสามารถใช้กับระบบปฏิบัติการลินิกซ์ เคอร์เนล 2.6.36 ขึ้นไป และรองรับแอนดรอยด์ 4.0 (ice cream sandwich) ลินิกซ์ เคอร์เนล 3.0.1 ได้ต่อไปในอนาคต
ด้านความปลอดภัยทางกระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบไว้ระบุว่า ต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัย มอก. 1561-2548 บริภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศเฉพาะด้านความปลอดภัย (IEC 60950) และเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งได้มาตรฐานเพื่อสิ่งแวดล้อม และโรงงานผู้ผลิตต้องได้มาตรฐาน มอก. 9001 หรือ รหน 9001

คาดบริษัทยักษ์ใหญ่‘หัวเว่ย’ได้โควต้า

ศูนย์ข่าว TCIJ ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ทางบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการแท็บเล็ตของรัฐบาลไทย โดยได้ดำเนินการให้ข้อมูลและนำเสนอผลิตภัณฑ์กับรัฐบาลอย่างต่อเนื่องมา ตั้งแต่สมัยที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล เป็นรมว.ศึกษาธิการ  ซึ่งนายไมเคิล แมคโดนัลด์ หัวหน้าคณะผู้บริหารฝ่ายเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า เราไม่เคยทำโครงการในรูปแบบนี้มาก่อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเท่าที่เคยทำคือ เป็นโครงการขายแท็บเล็ตพ่วงกับฟิกซ์ โอเปอเรเตอร์ ในฟิลิปปินส์ และก็มีขายเป็นล็อตใหญ่ๆ ให้ตลาดผู้ใช้ทั่วไปเท่านั้น ดังนั้นถ้าเรามีส่วนร่วมในโครงการแท็บเล็ตไทยครั้งนี้ได้ก็จะถือเป็นโปรเจค แท็บเล็ตขนาดใหญ่ในกลุ่มการศึกษาเป็นครั้งแรก

เผยแรงบันดาลใจ-สัมพันธ์ยาวนานกับ ‘ทักษิณ’
อย่างไรก็ตามหัวเว่ยก็ไม่ใช่บริษัทหน้าใหม่สำหรับเมืองไทย และไม่ใช่ไม่เคยทำธุรกิจกับรัฐบาลไทย เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปเมื่อสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เคยเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการของหัวเว่ยที่เมืองเสิ่นเจิ้นมาแล้ว และครั้งนั้นกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) กำลังมีการประมูลโครงการจัดจ้างสร้างชุมสายและสถานีวิทยุเครือข่ายโทรศัพท์ เคลื่อนที่ระบบ CDMA ด้วยระบบอีออคชั่น เป็นครั้งแรก ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณนำมาเล่าในรายการนายกฯ คุยกับประชาชนว่า เป็นครั้งแรกที่เห็นการประมูลแบบสดๆ และหัวเว่ยก็ได้ไปในราคา 6,000 ล้านบาท จากราคากลาง 13,400 ล้านบาท ทำให้ประเทศไทยประหยัดไปได้มาก แต่กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สาเหตุที่หัวเว่ยได้เพราะรู้ราคากลางมาก่อน และหลังจากนั้นมีญาติสนิทของพ.ต.ท.ทักษิณได้รับงานต่อจากหัวเว่ยด้วย
และเมื่อกลับมาถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีของคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตว่า “หัวเว่ยได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในระบบการเรียนการสอน เป็นระบบที่ข้อมูลเสียงและภาพอยู่ด้วยกัน ผ่านกล่องเดียวกันเป็นแนวที่โทรคมนาคมกับโทรทัศน์มารวมเป็นหนึ่ง พอผมดูอย่างนี้แล้วผมบอกว่ากลับมาปฏิรูปการศึกษาจะง่ายขึ้นอีกมาก เพราะว่าถ้าเราจะมานั่งพัฒนาครูรุ่นใหม่ให้เข้าไปสอน ต้องใช้เวลา แม่พิมพ์วันนี้ของเรายังอยู่ในแม่พิมพ์ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนมาก ดังนั้นผมคิดว่าเทคโนโลยีตัวนี้จะช่วยให้การสอนดีขึ้น ฉะนั้นผมคิดว่าเทคโนโลยีตัวนี้จะช่วยให้การสอนดี”
และนั่นเสมือนจุดเริ่มต้นที่พ.ต.ท.ทักษิณพยายามดันโครงการนี้ให้เป็นจริง ให้ได้ โดยมีหัวเว่ยเป็นแรงบันดาลใจและผู้บริหารของหัวเว่ยเอง ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่ว่า หัวเว่ยสามารถปรับรูปแบบของอุปกรณ์ได้ตามงบประมาณที่คนละไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งเสมือนเป็นการเปิดทางให้กับโครงการดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ในการพูดในรายการวิทยุครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่าไม่เคยได้ยินชื่อบริษัท หัวเว่ย เลย ทำให้บรรดาคอลัมนิสต์นำประเด็นดังกล่าวมาเขียนโดยตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้อย่างไรที่พ.ต.ท.ทักษิณไม่รู้จักหัวเว่ย ทั้งที่ทำธุรกิจกิจการโทรคมนาคม และประเด็นสำคัญคือ บริษัทหัวเว่ยเป็นพันธมิตรกับ บริษัท เอ็มลิงค์ ซึ่งผลิตเครื่องโทรศัพท์มือถือขายให้กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ของครอบครัวชินวัตรมายาวนาน  และบริษัทในเครือหัวเว่ยรุกคืบเข้ามาประมูล ดำเนินธุรกิจกับรัฐบาลมาแล้วอย่างต่อเนื่องหลายโครงการ และที่สำคัญชื่อเสียงของหัวเว่ยก็ไม่เป็นรองใคร เพราะทุกวันนี้นับเป็นบริษัทคมนาคมยักษ์ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

จดทะเบียน-ถือหุ้นบริษัทในไทยกว่าพันล้าน

จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทนำเข้า ส่งออก รวมถึงบริการฝึกอบรม ติดตั้ง บำรุงรักษา และซ่อมแซมเครื่องจักรี เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับเครือข่ายโทรคมนาคม ประกอบกิจการทางวิศวกรรมและเทคนิค  จดทะเบียนบริษัทในไทยในช่วงเดือนมิ.ย.2544 ด้วยทุนจดทะเบียน 100,000,000 บาท  สำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารแคพพิเทิล ทาวเวอร์ ออลซีซั่น เพลส ถ.วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน  กรุงเทพฯ โดยมีนายจาง เว่ย และนายฮุย ชุน เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด  ทั้งนี้ในจำนวนผู้ถือหุ้นสูงสุด 3 ราย ถือสัญชาติ เนเธอร์แลนด์ จำนวน 999,998 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.99  และผู้ถือหุ้น 2 ราย สัญชาติจีน ซึ่งมีบริษัทผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบด้วย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (เนเธอร์แลนด์ ) บี.วี.  ,บริษัท หัว หยิง แมนเนตเม้นท์ จำกัด และบริษัท หัวเว่ย เทค อินเวสเม้สท์ จำกัด

หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่า บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนสัญชาติจีน และมีบริษัทที่เกี่ยวข้องที่ได้ดำเนินกิจการในประเทศไทยประกอบด้วย 1.บริษัท ไซ เกอ ไฮเทค(ประเทศไทย) จำกัด  2.บริษัท ไบโอ แพคกิ้ง จำกัด 3.บริษัท เลเซอร์ ไฮ-เทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 4.บริษัท อิมพีเรียลสตาร์เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด  และ 5.บริษัท ฮอลลี่ สกาย-ไลท์ติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

ผู้ค้าส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์อื่นๆ

บริษัท
ทุนจดทะเบียน
(บาท)
สินทรัพย์รวม(บาท)
รายได้หลัก(บาท)
กำไร(ขาดทุน)สุทธิ(บาท)
1.บริษัทจักรวาลคอมมิวนิเคชั่น ซีสเท็ม จำกัด
100,000,000
568,640,861
347,119,401
11,014,181
2. บริษัทเซลลูลาร์วิชั่น (ไทยแลนด์)จำกัด
100,000,000
-
-
-
3.บริษัทออมรอน อีเลคทรอนิคส์ จำกัด
100,000,000
895,642,311
1,179,748,724
194,081,900
4.บริษัท ล็อกซเล่ย์ ไวร์เลส จำกัด
100,000,000
496,427,020
295,908,858
7,497,634
5. บริษัท เทค แปซิฟิก (ประเทศไทย) จำกัด
100,000,000
29,492,995
249,821
-4,668,007
6.บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
100,000,000
5,124,067,491
5,195,365,688
136,646,227
7.บริษัท พี.เค.ยู. ฟาวเดอร์ (ประเทศไทย)จำกัด

100,000,000
-
-
-
8. บริษัทเคมิ-คอน อิเล็กทรอนิคส์ (ไทยแลนด์)จำกัด
100,000,000
399,087,780
1,112,078,097
34,898,173
9.บริษัทดีบีเทล (ไทยแลนด์) จำกัด
100,000,000
-
-
-
10.บริษัทโซนี่ อีริคสัน โมบายล์ คอมมิวนิเคชั่นส์(ประเทศไทย)จำกัด
100,000,000
236,611,096
334,226,603
2,638,098
11.บริษัทเคียวเซร่า เอเชีย แปซิฟิค (ไทยแลนด์) จำกัด
100,000,000
183,157,629
479,059,429
26,823,863
ข้อมูลงบการเงินปี 2553 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 

รวบรวมโดยศูนย์ข่าว TCIJ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง