บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

รู้จักกับ ‘กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ’ ให้งบจังหวัดละ 100 ล้านบาท

กลายเป็นข่าวข้ามประเทศเมื่อนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเวที World Economic Forum ที่ดาวอส ในหัวข้อ ”Women as the Way Forward” ในฐานะผู้นำประเทศที่เป็นผู้หญิง และพูดถึงโครงการ “กองทุนพัฒนาสตรี” ของรัฐบาลไทยบนเวทีด้วย (จากทำเนียบรัฐบาล)


“รัฐบาลจึงได้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมุ่งหวังว่าจะสนับสนุนและส่งเสริมให้สตรีไทยเป็นพลังสำคัญและการสร้างสรรค์และพัฒนาประเทศ กองทุนนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของสตรี รวมทั้งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำต่อสตรีเท่านั้น หากแต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพของสตรีไทย (Empowerment) และรวมถึงการสร้างความเข้มแข็งและการพัฒนาเครือข่าย (Partnership) ให้สตรีไทยได้มีบทบาทอย่างมากในการร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศต่อไป”

ถึงแม้จะเป็นประเด็นเล็กๆ ท่ามกลาง “วาระใหญ่ๆ” มากมายที่ดาวอส (โดยเฉพาะวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่ยังไม่ลุล่วง) แต่โดยเนื้อหาแล้ว “กองทุนพัฒนาสตรี” ก็น่าสนใจในตัวของมันเอง


ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประชุมร่วมกับ สภาสตรีแห่งชาติ
จุดกำเนิดจากนโยบายหาเสียงเพื่อไทย

กองทุนพัฒนาสตรี หรือชื่อเต็มๆ คือ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ” มีที่มาจากนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 โดยเว็บไซต์ของพรรคเพื่อไทยได้ให้ข้อมูลของนโยบายด้านสตรีไว้ 6 ประการ ดังนี้

นโยบายเพื่อพัฒนาสตรีของพรรคเพื่อไทย

1. พรรคเพื่อไทยมีนโยบายส่งเสริมสตรีทั้งในเรื่องของสิทธิ บทบาทความเท่าเทียมในสังคม และศักดิ์ศรี

2. พรรคเพื่อไทยมีนโยบายที่จะตั้งกองทุนส่งเสริมบทบาทสตรี โดยจะตั้งงบเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท เพื่อเป็นการส่งเสริมในเรื่องของรายได้และเป็นศูนย์ฝึกอาชีพให้กับสตรี ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลก็จะทำงานร่วมกับสภาสตรีฯ และกลุ่มแม่บ้านในแต่ละจังหวัดควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้โอท็อปถือเป็นการแสดงถึงความสามารถของสตรี ดังนั้นพรรคเพื่อไทยจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมอาชีพให้กับผู้หญิง และเพื่อให้องค์กรสตรีสามารถขับเคลื่อนได้ มีความคล่องตัวในการตอบโจทย์และวัตถุประสงค์ของสตรีอย่างแท้จริง

3. พรรคเพื่อไทยจะเทียบโอนหน่วยกิตให้กลุ่มแม่บ้านที่ไม่ได้จบการศึกษาระดับ ม.6 ?แต่มีความรู้ความสามารถ สามารถสอบซ่อมและเชื่อมหน่วยกิตที่เคยเรียนในอดีตเพื่อเป็นการยกระดับให้กับกลุ่มแม่บ้านภายใน 1 ปี เพื่อจะได้มีวุฒิไปใช้สมัครงานได้

4. เพิ่มและพัฒนาศักยภาพของศูนย์พึ่งได้ OSCC (One Stop Crisis Center) 24 ชั่วโมง

5. 1 อำเภอ 1 Day care Center สถานที่ดูแลเด็กในที่ทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนรวมไปถึงในชุมชน

6. การประยุกต์กฎหมายการละเมิดสตรีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยังเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุแล้วค่อยมาป้องกัน ด้วยการเพิ่มโทษผู้ที่กระทำความรุนแรงในครอบครัว พัฒนาสตรีให้มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากับชาย โดยการได้รับความคุ้มครองจากรัฐในการมีชีวิตอยู่โดยปราศจากการถูกกระทำรุนแรง และถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ส่วนตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเอง ก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ในขณะที่พบกับตัวแทนจากสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ไว้ดังนี้ (จากเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย)

ในฐานะที่เป็นสตรี อยากเห็นผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกันในสังคม และเชื่อว่า ประเทศไทยเองมีผู้หญิงเก่ง ที่ยังไม่ได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ซึ่งเข้าใจผู้หญิงในฐานะที่เป็นแม่และภรรยา หรือผู้ตามของครอบครัว โดยนโยบายของพรรคเพื่อไทย มีแนวนโยบายในการส่งเสริมสตรีในเรื่องของสิทธิ บทบาทเพื่อให้เกิดความทัดเทียมในเรื่องของความเป็นมนุษย์ ความเป็นผู้หญิงต่อครอบครัว รวมทั้งการส่งเสริมรายได้และอาชีพของสตรี คุณภาพแรงงาน ของสตรี เรื่องงบประมาณต่างที่จะช่วยให้องค์กรสตรีได้ขับเคลื่อนและตอบโจทย์ของสตรีอย่างแท้จริง ซึ่งพรรคมีนโนบายตั้งกองทุนส่งเสริมบทบาทสตรี และหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลก็จะมีการตั้งโดยเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอาชีพสตรี โดยจะทำงานร่วมกับสภาสตรีและจังหวัดทุกจังหวัด

โดยแนวคิดแล้ว “กองทุนสตรี” ของพรรคเพื่อไทย มีลักษณะใกล้เคียงกับกองทุนหมู่บ้านของพรรคไทยรักไทยในอดีต นั่นคือจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง และให้ส่วนท้องถิ่นทำหน้าที่บริหารจัดการกันเอง ซึ่งในกรณีของกองทุนหมู่บ้านให้งบหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท แต่ของกองทุนสตรีจะให้งบประมาณจังหวัดละ 100 ล้านบาทแทน

ความคืบหน้าของนโยบาย

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. น.ส.อรุณี ชำนาญยา ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย, ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับกลุ่มคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด (กพส.จ.) พะเยาว่ากองทุนสตรีน่าจะเริ่มได้ในปี 2555 โดยมอบเป็นหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้รับผิดชอบ (จาก ผู้จัดการ)

กพส.จ.พะเยา และเครือข่ายแม่ญิงฯ ได้สอบถามถึงความคืบหน้าเรื่องนโยบายกองทุนพัฒนาสตรี 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่หาเสียงไว้ด้วย

ประธาน กมธ.กล่าวอีกว่า จากเดิมหากไม่มีวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่การเดินหน้านโยบายกองทุนฯ จะเริ่มต้นได้แล้ว แต่เนื่องจากปัญหาวิกฤติน้ำท่วม คาดว่าจะเริ่มต้นได้ปี 2555 โดยการดำเนินนโยบายกองทุนฯ จะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ล่าสุดทราบว่าร่างระเบียบที่จะมีผลในทางปฏิบัติของกองทุนฯ สำเร็จประมาณร้อยละ 95 ซึ่งคงจะคล้ายคลึงกับระเบียบของกองทุนหมู่บ้าน (กทบ.) เพราะรัฐบาลต้องการให้กองทุนฯ มีความยั่งยืน ไม่สูญหาย

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 รมว.พัฒนาสังคมฯ ให้ข่าวว่าเริ่มประชุม “คณะกรรมการขับเคลื่อน” ตั้งกองทุนพัฒนาสตรีฯ ไปครั้งแรกแล้ว โดยบทบาทของกองทุนจะแบ่งเป็นสองส่วน ได้แก่ เงินกู้สำหรับพัฒนาอาชีพ และเงินจ่ายให้กับสตรีที่ตกทุกข์ได้ยาก กำหนดเสร็จวันที่ 8 มีนาคม “วันสตรีแห่งชาติ” (จากเว็บไซต์ พ.ม.)

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยภายหลัง การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ ว่า“กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ”เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ ๒๕๕๕ เพื่อใช้เป็นเงินกองทุนในการพัฒนาอาชีพ การสร้างงาน สร้างรายได้ การพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี การเพิ่มบทบาทและสร้างภาวะผู้นำ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ ตลอดจนการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพและสวัสดิการให้แก่สตรีในหมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาสตรีแห่งชาติ ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ดูแลและจัดสรรงบประมาณกว่า ๗,๗๐๐ ล้านบาท ให้จังหวัดละ ๑๐๐ ล้านบาท เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนพัฒนาสตรีในหมู่บ้าน มีคณะกรรมการของหมู่บ้านควบคุมดูแล แบ่งวงเงินออกเป็น ๒ ส่วน คือ ร้อยละ ๖๐-๘๐ เป็นเงินกู้เพื่อการลงทุนพัฒนาอาชีพ และอีกร้อยละ ๒๐-๔๐ เป็นเงินจ่ายขาดให้สตรีที่ตกทุกข์ได้ยาก

นายสันติ กล่าวต่อว่า โครงการนี้เป็นความหวังของสตรีทั่วประเทศกว่า ๓๓ ล้านคน ทางคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ กำหนดเปิดตัวโครงการและทำการอนุมัติวงเงินให้แต่ละจังหวัด ใน วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๕ นี้ ซึ่งเป็น “วันสตรีสากล” โดยนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานสั่งจ่าย และหากโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี อาจเสนอขอสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และจากภาษีอบายมุข เพิ่มเติมให้อีกด้วย

ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 31 มกราคม 2555 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสตรี โดยเป็นวาระเร่งด่วนในปีงบประมาณ 2555 (ข้อมูลจากทำเนียบรัฐบาล)

31 ม.ค.55 นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุมัติจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติตามนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2555 ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาสตรีประกอบด้วย

1. การสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนพัฒนาสตรีแบบดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย

2. การพัฒนาโอกาสในการงานและอาชีพการพัฒนาศักยภาพ การเพิ่มบทบาท และการสร้างภาวะผู้นำ

3. การเฝ้าระวังและดูแลปัญหาของสตรีช่วยเหลือเยียวยาสตรี

4. การรณรงค์ให้สังคมเข้าใจปัญหาสตรีในทุกมิติ ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์พลังงานสตรี ให้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ”

เครือข่ายสตรีสนับสนุน-ติงอย่าใช้เป็นนโยบายการเมือง

ด้านเครือข่ายสตรีออกมาสนับสนุนนโยบายนี้ของรัฐบาล พร้อมเร่งรัดให้ดำเนินการออก พ.ร.บ.ให้แล้วเสร็จใน 90 วัน และตั้งเป้าไม่ให้เป็นนโยบายตอบสนองฝ่ายการเมือง (ข้อมูลจาก MCOT)

เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายสตรีหลายองค์กรทั่วประเทศ ระดมความคิดเห็นต่อ “กองทุนพัฒนาสตรี” เพื่อแสดงจุดยืนและระดมข้อเสนอเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดให้ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ (ฉบับประชาชน) และร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตสตรีแห่งชาติ เป็นกฎหมายใน 90 วัน นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนนี้ต้องนำมาใช้เพื่อให้ผู้หญิงหลุดพ้นจากวงจร “โง่ จน เจ็บ” ไม่ใช่กองทุนที่หวังผลทางการหาเสียงหรือการเมือง และมีการบริหารกองทุนอยู่บนหลักการกระจายอำนาจโปร่งใส

» Siam Intelligence


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง