บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

วิวาทะเรื่องนิติราษฎร์ "สมคิด เลิศไพฑูรย์ vs ธีระ สุธีวรางกูร" "คำนูณ สิทธิสมาน vs เกษียร เตชะพีระ"

พลันที่ข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ของคณะนิติราษฎร์ได้รับการขานรับโดย ครก.112 และประชาชน ผู้มารวมตัวกันอย่างหนาแน่น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา

ก็เกิดวิวาทะว่าด้วยข้อเสนอดังกล่าวขึ้นมา

คู่แรกเป็นการปะทะกันเล็กๆ ทางความคิด ระหว่าง "สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ "ธีระ สุธีวรางกูร" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และสมาชิก "นิติราษฎร์"

คู่ต่อมาเป็นการประลองยุทธระดับเข้มข้นระหว่างจอมยุทธผู้เคยผ่าน "เบ้าหลอมทางการเมือง" เดียวกันมาก่อน อย่าง "คำนูณ สิทธิสมาน" ส.ว.สรรหา และคอลัมนิสต์เครือผู้จัดการ กับ "เกษียร เตชะพีระ" แห่งคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

โปรดติดตามอ่านโดยระทึกในดวงหทัยพลัน

วิวาทะ "สมคิด เลิศไพฑูรย์" vs "ธีระ สุธีวรางกูร"

เสรีภาพในการวิจารณ์ "นิติราษฎร์"

สมคิด เลิศไพฑูรย์



(ที่มา เฟซบุ๊กส่วนตัว)

อ่านการให้สัมภาษณ์นิติราษฎร์แล้วไม่สบายใจ

มธ.ให้เสรีภาพนิติราษฎร์มาล่ารายชื่อในมธ. แต่นิติราษฎร์ให้สัมภาษณ์ว่าใครคัดค้านขัดขวางนิติราษฏร์ผิดกฏหมายเข้าชื่อ

อาจถูกจำคุก

ทำไมนิติราษฎร์เรียกร้องให้มีเสรีภาพในการวิจารณ์สถาบัน

แต่ไม่เห็นด้วยกับการมีเสรีภาพในการวิจารณ์นิติราษฏร์

ธีระ สุธีวรางกูร


ธีระ (เสื้อขาว)

(ที่มา เฟซบุ๊กส่วนตัว)

ขอเรียนชี้แจงท่านอธิการบดี การขัดขวางการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นความผิดตามมาตรา 15 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายพ.ศ. 2542 ครับ เราเพียงแต่เสนอข้อเท็จจริงเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง นิติราษฎร์ไม่เคยพูดที่ไหนว่าห้ามไม่ให้วิจารณ์พวกเรา ขอความกรุณาอย่านำเอาสิ่งที่ท่านพูดเอง มาบอกว่าเป็นคำพูดหรือการกระทำของนิติราษฎร์เลย ด้วยความเคารพท่านอธิการบดีครับ

วิวาทะ "คำนูณ" vs "เกษียณ"

"คณะนิติราษฎร์กำลังสานต่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475"

"แล้วคุณคำนูณกับสื่อเครือ ผู้จัดการกำลังสานต่อภารกิจใดหรือครับ? กบฎบวรเดช? คณะรัฐประหาร 2490 ของผิน-เผ่า? คณะปฏิวัติ 2500 ของจอมพลสฤษดิ์? คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 2519?"

ไม่ใช่แค่ 112 !



โดย คำนูณ สิทธิสมาน

(http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000006030)

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2555 มีการเปิดตัวคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีเป้าหมายรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนให้มาร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน
      
บ้านเมือง "ร้อน" ขึ้นทันตาเห็น !       
เพราะ คณะนี้เขามีร่างฯแก้ไขเพิ่มเติมไว้แล้ว เป็นร่างฯที่จัดทำให้คณะนิติราษฎรที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของเขามาตั้งแต่ปีที่ แล้ว และที่เห็นเป็นระบบชัดเจนที่สุดก็ในเอกสารเผยแพร่ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2554
      
โดยทั่วไปเขาจะใช้คำว่า "แก้ไข" แต่ดูรายละเอียดทั้งหมดแล้วนอกจากจะมีค่าเท่ากับ "ยกเลิก" แล้วยังเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประมวลกฎหมายอาญาในส่วนความมั่นคงแห่ง รัฐครั้งสำคัญ
             
1. ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
             
2. เพิ่มเติมลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
             
3. แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
             
4. แก้ไขอัตราโทษ โดยไม่บัญญัติอัตราโทษขั้นต่ำ ลดอัตราโทษขั้นสูง เพิ่มโทษปรับ โดยเปรียบเทียบกับอัตราโทษที่ใช้ในกรณีของบุคคลทั่วไป ให้การกระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์สูงกว่าบุคคลทั่วไป 1 ปี และแยกแยะโทษของการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นออกจากกัน
            
5. บัญญัติเหตุยกเว้นความผิดในกรณีติชมหรือแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อรักษาการ ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
          
6. บัญญัติเหตุยกเว้นโทษในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง แต่หากการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนห้ามไม่ให้พิสูจน์
             
7. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษ ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษ
       
      
เห็นแล้วก็รู้ทันทีว่าคณะนิติราษฎร์กำลังคิดอะไรอยู่ แต่ผมไม่รู้ว่าคณะที่รณรงค์ล่ารายชื่อและคนที่ร่วมลงชื่อจะรู้ทั้งหมดหรือไม่ ?
             
คณะนิติราษฎร์กำลังสานต่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ให้สำเร็จ !             
คณะนิติราษฎร์กำลังจะเสนอให้สถาบันพระมหากษัตริย์กลับไปสู่สถานะหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2475
           
พูด ง่าย ๆ ว่าคณะนิติราษฎร์ต้องการใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่ว คราว พุทธศักราช 2475 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีอายุบังคับใช้อยู่เพียง 5 เดือนเศษมาเป็นหลักในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย
             
ประเด็น นี้ผมเคยบอกท่านผู้อ่านมาแล้วเมื่อเห็นแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์เนื่องในโอกาส ครบ 5 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่าก่อนหน้านี้บรรดาคนที่คัดค้านการรัฐประหาร รวมทั้งนปช. และพรรคเพื่อไทย เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นตัวตั้ง หรือไม่ก็ให้เอามาใช้แทนเลย แต่คณะนิติราษฎร์ไปไกลกว่า โดยให้ค่ารัฐธรรมนูญ 2540 ไว้จำกัดจำเขี่ยมาก เพราะให้ย้อนไปดึงเอารัฐธรรมนูญของคณะราษฎรมาเป็นต้นแบบกันเลยทีเดียว เริ่มต้นตั้งแต่พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ตามมาด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 นี่เป็นหลักการใหม่ที่ทั้งนปช.และพรรคเพื่อไทยยังไม่เคยพูดชัดเจนมาก่อน ย้อนไปดูความในแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ประเด็นที่ 4 ข้อ 2 กันทุกตัวอักษรนะ
             
"...เห็น ว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สมควรเป็นพระ ราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรีภาพตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กร ทางรัฐธรรมนูญเท่าที่สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยก ร่าง"              
รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกลดคุณค่าไปแค่ "อาจนำ" มาร่วมพิจารณาเฉพาะส่วนโครงสร้างสถาบันทางการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญ เท่านั้น ไม่ใช่ปรัชญาและแนวทางหลัก
            
รัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 คืออะไร ?
             
รัฐ ธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น 3 วันหลังคณะราษฎรทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากในหลวงรัชกาลที่ 7 โดยคณะราษฎรเป็นผู้จัดทำฝ่ายเดียวแล้วนำมาถวายพระองค์ท่าน แม้พระองค์อาจไม่ทรงเห็นด้วยในเนื้อหาบางประการ แต่ด้วยพระราชปณิธานสูงสุดที่ไม่ต้องการให้แผ่นดินนองเลือดจึงทรงยินยอม แต่ก็ลงพระอักษรกำกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้ว่า "ชั่วคราว" อันเป็นผลให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พระองค์ท่านมีส่วนร่วมพระราช ทานความเห็นด้วยออกมาประกาศใช้ในอีก 5 เดือนเศษต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งมีเนื้อหาบางประการแตกต่างออกไป
             
ในรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่มีคำว่า "พระมหากษัตริย์" เหมือนรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อ ๆ มา โดยใช้คำว่า "กษัตริย์" เฉย ๆ
            
หลัก การสำคัญอันเป็นเสมือนการแสดงเจตนารมณ์ปฏิบัติประชาธิปไตย-เปลี่ยนระบอบ บรรจุอยู่ในมาตรา 1 ด้วยข้อความที่สั้น กระชับ เมื่อพูดถึงอำนาจสูงสุดของประเทศก็มีแต่คำว่า "ราษฎร" เท่านั้น ไม่มีข้อความต่อมาที่ระบุถึง "พระมหากษัตริย์" ไว้ในมาตราเดียวกันเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา
              
"อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย" 
            
ไม่ ใช่แต่เพียงภาษาเท่านั้นแต่ฐานภาพของ "กษัตริย์" ตามรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่เหมือน "พระมหากษัตริย์" ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาทุกฉบับต่อจากนั้น
             
อ่านหมวด 1 ข้อความทั่วไป และหมวด 2 กษัตริย์ ดูก็พอจะรับรู้อารมณ์และเจตนารมณ์ได้
             
ที่ สำคัญและเชื่อมโยงไปถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ยกเลิกด้วยก็คือ รัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ไม่มีหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อมาบัญญัติคุ้มครองสถาบันพระมหา กษัตริย์และองค์พระมหากษัตริย์ไว้เด็ดขาด ดังเช่นความในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งก็เหมือนฉบับ 2540 และฉบับอื่น ๆ ก่อนหน้า...
              
"องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ / ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้"             
หลัก การนี้มีที่มาที่ไปที่แสดงลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษของประเทศไทย และเพราะมีหลักการนี้บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเหตุให้มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
            
ถ้าหลักการนี้ไม่คงอยู่ในรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ไม่มีฐานรองรับ
             
แน่ นอนว่ารัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ก็ยังคุ้มครองฐานภาพของ "กษัตริย์" แต่ไม่ได้คุ้มครองไว้เด็ดขาดเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มาทุกฉบับจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ว่า...
              
"กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย"              
และไม่ใช่แค่ยกเลิกมาตรา 112 หรือแก้ไขแบบปรับเปลี่ยนโครงสร้างทั้งหมดเท่านั้น
             
ขณะนี้คนบางกลุ่มยังต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้กลับไปสู่สถานะก่อนปี 2500 และก่อนปี 2490
             
.............................................
             
(ท่านผู้อ่านช่วยเติมบรรทัดสุดท้ายให้ข้อเขียนชิ้นนี้ด้วยหลังรับรู้ว่าเขากำลังคิดอะไรกันอยู่แล้ว !!)

คำถามจาก "เกษียร เตชะพีระ" ถึง "คำนูณ สิทธิสมาน"



(ที่มา เฟซบุ๊กส่วนตัวของเกษียร เตชะพีระ)

คุณคำนูณกล่าวหาว่าคณะนิติราษฎร์ต้องการกลับไปสู่สภาพการณ์ระหว่าง 24 มิ.ย. 2475 - 10 ธ.ค. 2475 ไม่ใช่แค่แก้ม. 112

แล้วคุณคำนูณกับสื่อเครือผู้จัดการกำลังสานต่อภารกิจใดหรือ ครับ? กบฎบวรเดช? คณะรัฐประหาร 2490 ของผิน-เผ่า? คณะปฏิวัติ 2500 ของจอมพลสฤษดิ์? คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 2519?

... ไม่มีใครทำซ้ำภารกิจในอดีตขึ้นใหม่จริง ๆ ได้หรอก ประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยเอาเข้าจริงจึงไม่เคยมี เพราะทุกการ "ซ้ำรอย" ย่อมทำขึ้นในเงื่อนไขใหม่ทางประวัติศาสตร์เสมอ และเงื่อนไขใหม่ที่ปฏิสัมพันธ์กับการกระทำแบบเก่า ย่อมนำไปสู่ผลที่ต่างจากเดิม

ดังนั้นมากที่สุดที่คนเราทำได้ คือได้รับแรงบันดาลใจจากการต่อสู้ในอดีต รับสืบทอดคุณค่า/อุดมคติจากขบวนการในอดีต แล้วปรับมาทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเดินหน้าต่อไปในแนวนิยมของคุณค่าที่ตนสมาทานนั้น

ถ้าคณะนิติราษฎร์สมาทานคุณค่าของคณะราษฎรและ อ.ปรีดีซึ่งก็คือระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ทำจะส่งผลเป็นสภาพการณ์ระหว่าง 24 มิ.ย. 2475 - 10 ธ.ค. 2475 เพราะมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ในทางกลับกัน สมมุติ คุณคำนูณและสื่อเครือผู้จัดการต้องการสืบทอดคุณค่า/อุดมคติของคณะกู้บ้านกู้ เมือง (บวรเดช), คณะรัฐประหาร (2490), คณะปฏิวัติ (2500), คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (2519) ก็โอเคครับ แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจากปฏิบัติการของคุณคำนูณกับ สื่อเครือผู้จัดการจะเสกให้เหมือนอดีตได้ เรื่องในโลกย่อมไม่เป็นไปดังใจปรารถนาของมนุษย์เรานะครับ

แทนที่จะปลุกผีอดีตมาหลอกปัจจุบัน คำถามที่ผมอยากชวนคุณคำนูณและสื่อเครือผู้จัดการมาคิดคือ อะไร คือสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญที่เหมาะ สมและเป็นคุณแก่ความมั่นคงยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์ควบคู่กับประชาธิปไตยใน สถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยบทเรียนที่เราพบเห็นใน 4 - 5 ปีที่ผ่านมา? มาช่วยกันคิดดีกว่าครับ 


มติชน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง