บล็อกนี้เป็นเพียงช่องทางรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากที่ต่างๆ ผู้จัดทำไม่ได้มีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารหรือต้องการให้ร้าย องกรณ์ หน่วยงานและบุคคลใดๆทั้งสิ้น+++++ หากบทความใดผิดพลาดหรือกระทบต่อ องกรณ์ หน่วยงาน หรือบุคคลใด ผู้จัดทำก็กราบขออภัยไว้ล่วงหน้า +++++ ผู้อ่านท่านใดมีข้อมูลหักล้าง ชี้แนะ หรือมีความเห็นใดๆเพิ่มเติมก็ขอความกรุณาแสดงความเห็นเพื่อให้เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านท่านต่อๆไปได้ตามแต่จะเห็นสมควร ------------- ขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆท่านมา ณ. ที่นี้ด้วยครับ *******ช.ช้าง *******

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

“ลับเฉพาะ” อัยการกับคดี 16 ศพ โจทก์แดงฟ้อง 2 ล้าน แต่รัฐบาลให้ 7.75 ล้านบาท !?

กรณี 16 ศพ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตามธงของรัฐบาลที่จะดำเนินการเอาผิดกองทัพและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในข้อกล่าวหาว่า ทหารฆ่าประชาชนเมื่อเหตุการณ์เดือน เมษายน – พฤษภาคม 2553 นั้น เป็นไปอย่างน่าติดตามยิ่ง

เพราะกรณีนี้ถือเป็น 1 ใน 3 ประเด็นซึ่งเป็นจุดเปราะบางที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและเผชิญหน้าขั้นสูงสุดระหว่างกองทัพบกกับรัฐบาล นอกเหนือไปจากจุดเปราะบางเรื่องขบวนการจาบจ้วงและทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และจุดเปราะบางในเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา

หลังจากที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่อัยการจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทำการไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ เพื่อให้ศาลทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทำร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำเท่าที่จะทราบได้ อันเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน

เดิมทีมีกระแสข่าวว่าอัยการจะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อไต่สวนการชันสูตรพลิกศพ อันเป็นการเริ่มต้น “นับ 1” ในการพิจารณาคดีนี้ ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งมีข่าวว่าจะนำผลของคดีนี้ไปเชื่อมโยงกับการปล่อยประกันตัวให้กับนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แต่ทว่ามีการดำเนินการสับขาหลอกยื่นเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อให้ปล่อยตัวนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรองแทนเป็นผลสำเร็จเสียก่อน การยื่นเรื่องคดี 16 ศพต่อศาล จึงได้ชะลอออกไป

อย่างไรก็ตามคดีนี้มีระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 วรรคห้า ที่บัญญัติเอาไว้ว่าเมื่ออัยการได้รับสำนวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้ทำคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลไต่สวนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำนวน ถ้ามีความจำเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องบันทึกทำเหตุผลและความจำเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสำนวนชันสูตรพลิกศพ

อัยการได้รับสำนวนจากตำรวจวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554 จึงกำหนดครบ 30 วันไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555 และอัยการได้เลื่อนไปแล้ว 1 ครั้ง

แปลว่านับไปอีก 30 วัน ก็จะครบกำหนดการเลื่อนครั้งแรก ก็จะตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ซึ่งอัยการจะต้องทำความเห็นไปยังศาล หรือเลื่อนอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 อีกไม่เกิน 30 วัน

เมื่อนับไปอีก 30 วัน ครั้งที่สอง อัยการจะต้องทำความเห็นไปยังศาลเพื่อให้ไต่สวนภายในไม่เกินวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

แต่ประการสำคัญก็คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 นั้นจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเป็น “การตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงาน”

ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายการเมืองโดยพรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช. ได้รณรงค์ปลุกระดมมาโดยตลอดว่า “ทหารฆ่าประชาชน” อันเป็นผลทำให้คนเสื้อแดงจำนวนมากเกิดความคับแค้นในจิตใจ และรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ได้ตัดสินใจอาศัยเหตุในการปลุกระดมที่ผ่านมาว่าคนเสื้อแดงถูกรัฐบาลชุดที่แล้วและทหารฆ่าสังหารโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้ใช้มาตรการเยียวยาด้วยงบประมาณ 2,000 ล้านบาท และเตรียมจ่ายให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตสูงถึง 7.75 ล้านบาท ก่อให้เกิดขวัญกำลังใจต่อมวลชนคนเสื้อแดงที่ได้ลืมตาอ้าปากจากภาษีของประชาชนคนทั้งประเทศ

หลายคนไม่สงสัยอีกต่อไปแล้วหากรัฐบาลตั้งธงเอาไว้ก่อนว่า “ทหารฆ่าประชาชน” กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูและของกระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กระบวนการยุติธรรมต้นน้ำซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลต่างได้เตรียมตัวชงตั้งสำนวนไปตาม “ธง”ของรัฐบาลอย่างพร้อมเพรียงในคดี 16 ศพว่า “ทหารฆ่าประชาชน” เอาไว้แล้ว

ส่วนอัยการถือเป็นกระบวนการกลางน้ำสำคัญก่อนถึงมือศาล เพราะถ้าหากอัยการได้ตัดสินใจส่งให้ศาลไต่สวนแล้ว ก็ย่อมหมายความว่ากระบวนการยุติธรรมต้นน้ำและกลางน้ำผนึกกำลังกันเป็นหนึ่งเดียวในการยืนยันว่า การเสียชีวิต 16 ศพ ของกลุ่มคนเสื้อแดง สื่อมวลชนต่างประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือทหารทั้งสิ้น

และต้องไม่ลืมว่านายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดยุคปัจจุบันเคยตกเป็นที่ครหาอย่างหนักจากสังคมมาแล้ว กรณีที่ไม่คำร้องต่อศาลฎีกาในคดีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กรณีการหลบเลี่ยงภาษีการขายหุ้นชินคอร์ป ทั้งๆที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีความเห็นตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ใครจะไปเชื่อมั่นความเป็นธรรมของอัยการยุคนี้ว่ากล้าจะยืนตรงกันข้ามกับ “ธง”ของรัฐบาลได้

แต่ถ้าหาก“อัยการ “ ในฐานะ “ทนายแผ่นดิน” เมื่อตัดสินใจยืนข้างรัฐบาลและคนเสื้อแดง แล้ว ย่อมเท่ากับว่าทนายแผ่นดินย้ายข้างกลายเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับกองทัพบกทันที

เพราะหากคดีนี้เป็นผลทำให้สรุปออกมาเบื้องต้นว่า “ทหารฆ่าประชาชน” เมื่อไหร่ ก็ย่อมทำให้ “วีรบุรุษปราบโจรก่อการร้ายเผาเมือง” จะถูกเปลี่ยนสถานภาพเป็น “ฆาตรกรฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์” และถ้าถึงวันที่ทหารถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ในฐานะจำเลยสังคม วันนั้นก็จะถือเป็นชัยชนะทางการเมืองของคนเสื้อแดง สามารถนำไปป่าวประกาศโฆษณาชวนเชื่อขยายผลทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ และแสดงให้เห็นว่าคนเสื้อแดงได้รับความอยุติธรรม ซึ่งจะเป็นผลทำให้เป็นการเพิ่มความชอบธรรมในการได้รับเงินเยียวยา (จากภาษีประชาชนคนทั้งประเทศ) และสร้างความชอบธรรมในการรื้อโครงสร้างและการโยกย้ายผู้คุมกำลังในกองทัพยุคนี้ทั้งหมด

ในทางตรงกันข้ามหากทหารไม่ได้เป็นฝ่ายผิดก็ถือเป็นความพ่ายแพ้และเสียหายเพิ่มเติมอย่างใหญ่หลวงของคนเสื้อแดงเช่นกัน เพราะจะกลายเป็นว่าเรื่องที่ทหารฆ่าประชาชนนั้นกลายเป็นเท็จ และเป็นเรื่องโกหกหลอกลวงที่แกนนำคนเสื้อแดงมาปลุกระดมขึ้นมาเองทั้งสิ้น

และซ้ำร้ายอาจเป็นการตอกย้ำการกระทำความผิดของคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านบาท และอาจส่งผลทำให้คนเสื้อแดงเสียชีวิตไม่ได้รับเงินเยียวยา 7.75 ล้านบาทคืนด้วย

และไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใด คดีชันสูตรพลิกศพจะต้องส่งถึงศาลในทางใดทางหนึ่งไม่เกินวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 แน่นอน

ถ้าเช่นนั้นก็ต้องตั้งคำถามว่าเหตุใด อัยการ จึงไม่เร่งดำเนินการคดีนี้ให้เสร็จสิ้นและส่งถึงศาลให้รวดเร็ว? ก็คงได้แต่คิดถึงความเป็นไปได้หลายประการคือ

1. เนื้อหาสำนวนมีความยาวมากจึงต้องการใช้เวลา หรือ

2. ต้องการให้ฝ่ายการเมืองใช้เป็นเครื่องมือบีบและต่อรองทหารก่อนอัยการยื่นถึงศาล หรือ

3. คดีนี้มีปัญหายากที่จะยื่นถึงศาลได้ หรือยื่นแล้วคนเสื้อแดงอาจพ่ายแพ้เสียเอง

และความจริงก็มีอยู่ที่ว่าสำนวนชันสูตรพลิกศพที่สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำส่งอัยการนั้น มีช่องโหว่และโต้แย้งได้อยู่หลายประเด็น โดย 2 ประเด็นที่ถือเป็นสาระสำคัญคือ

1. รายงานผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ผลการตรวจพิสูจน์ปลอกกระสุนปืนเปรียบเทียบกับอาวุธปืน เอ็ม 16 ที่ทหารได้ส่งมานั้นไม่ตรงกัน ซึ่งฝ่ายตำรวจกลับทำสำนวนว่าอาวุธปืนดังกล่าวฝ่ายทหารเป็นผู้ทำบัญชีและส่งอาวุธปืนมาให้พนักงานสอบสวนตรวจฝ่ายเดียว จึงอาจเป็นสาเหตุโดยตรงทำให้ผลการพิสูจน์คลาดเคลื่อนได้

แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถมีหลักฐานได้ว่ากระสุนในศพผู้เสียชีวิตนั้นมาจากทหารจริงหรือไม่?

2. ไม่มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่รัฐคนใดเป็นคนยิง รวมทั้งวิถีกระสุนก็ไม่มีความชัดเจน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงใช้รูปแบบอื่นในการตั้งธงว่าทหารฆ่าประชาชน เช่น การอธิบายสภาพแวดล้อมว่าบริเวณที่มีผู้เสียชีวิต 16 ศพ ไม่มีชายชุดดำ และการจัดพยานคนเสื้อแดงและพยานบุคคลให้สอดคล้องกัน แล้วจึงสรุปสำนวนว่า:

“จึงเห็นว่าการตายของผู้ตาย เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด”

แต่ความเป็นจริงเรื่องนี้กำลังทำให้ “อัยการ” จะต้องตัดสินใจว่าตกลงแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุด จะยังคงเป็นสถาบันที่มีมาตรฐานหลงเหลืออยู่บ้างหรือไม่? หรือแท้ที่จริงแล้วสถาบันนี้ไม่มีมาตรฐานเพราะขึ้นอยู่กับว่าใครมีอำนาจทางการเมืองในเวลานั้นกันแน่?

เพราะก่อนหน้านี้ประมาณเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปรากฏว่ามีครอบครัวคนเสื้อแดงหลายที่เสียชีวิต ได้ยื่นคำฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายต่อศาลแพ่ง โดยมีกระทรวงการคลัง กระทรวงการโหม และกองทัพบก เป็นจำเลย ซึ่งเมื่อสำรวจแล้วปรากฏว่าฝ่ายโจทก์ได้เรียกร้องค่าเสียหายแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่อยู่ประมาณ 2 ล้านบาท และสูงสุดประมาณ 2.7 ล้านบาท

สังคมไทยจึงควรตั้งคำถามว่า 7.75 ล้านบาท ที่รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรีกำลังจะจัดให้กับคนเสื้อแดง จึงย่อมชัดเจนว่าเป็นการการจัดงบประมาณเกินกว่าคำฟ้องและความต้องการของโจกท์เสื้อแดงที่เรียกร้องสูงสุดในคดีความที่ 2.7 ล้านบาทนั้น เข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ !!!?

ที่น่าสนใจก็คือว่าอัยการในฐานะทนายแผ่นดินโดยการมอบอำนาจจากทั้ง 3 หน่วยงานและได้รับทราบคำฟ้องของโจทก์คนเสื้อแดงแล้ว ได้ขอให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์คนเสื้อแดง ด้วยการบรรยายที่ยาวเหยียดโดยหยิบยกในหลายประเด็น เช่น

“โจทก์กล่าวลอยๆ เพราะไม่ได้ระบุให้ชัดเจนลงไปว่าผู้ตายถูกฆ่าตายที่ไหน อย่างไร เวลาเท่าใด ด้วยอาวุธชนิดใด อาวุธของผู้ใด โดยใครทำให้ตาย คำฟ้องจึงเคลือบคลุม และไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

“ความเสียหายที่เกิดขึ้นในคดี ผู้ตายเป็นผู้มีส่วนร่วมก่อขึ้นด้วย ดังนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 422 ประกอบมาตรา 233 โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องเอาค่าเสียหายใดๆจากผู้หนึ่งผู้ใดได้... ผู้ตายไม่เชื่อฟังประกาศ คำสั่ง ข้อกำหนด และคำเตือนของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้รีบออกจากสถานที่ชุมนุม ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ชุมนุม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอันตรายจากการที่กลุ่มติดอาวุธสงครามที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้อาวุธสงครามร้ายแรงยิงทำร้ายเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไปอยู่ตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน พนักงานเจ้าหน้าที่เองก็ต้องหาที่กำบังเพื่อหลบกระสุนปืนและไม่ให้ถูกยิงด้วยอาวุธสงครามร้ายแรงจากกลุ่มผู้ติดอาวุธดังกล่าว

ดังนั้นโดยสถานการณ์ที่เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง ที่ทางราชการพยายามแก้ไขสถานการณ์ให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยเร็วนี้ ผู้ตายควรที่จะอยู่ในเคหสถานของตนและคอยฟังข่าวสารของทางราชการจาก สถานีวิทยุ, โทรทัศน์, สื่อสารมวลชนต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง แต่ผู้ตายกลับออกมาอยู่ในที่เกิดเหตุซึ่งมีการชุมนุม ทำให้การแก้ไขสถานการณ์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ยุ่งยากมากยิ่งขึ้น จึงถือได้ว่าผู้ตายเป็นผู้สมัครใจที่จะเข้าไปเสี่ยงภัย รับภัยพิบัตินั้นเอง ผู้ตายจึงเป็นผู้มีส่วนร่วมกันก่อเหตุ และร่วมกันทำให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะมาฟ้องเรียกร้องเอาค่าเสียหายใดๆ จากผู้หนึ่งผู้ใดรวมทั้งจากจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้”

อัยการซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก กระทรวงการคลัง กระทรวงกลาโหม และกองทัพบก ได้ให้การปฏิเสธคำฟ้องคดีความแพ่งที่โจทก์เสื้อแดงมาทุกคดี ด้วยเหตุผลที่มากมายหลายประเด็น แล้วจะมาเป็นทนายให้กับรัฐบาลอีกชุดยืนข้างคนเสื้อแดงว่าถูกทหารวิสามัญฆาตกรรมเพื่อเอาผิดกับทหารได้อย่างไร ?

ดังนั้น หากอัยการตัดสินใจส่งศาลฟ้องคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพคนเสื้อแดง ย่อมเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในคดีความ ผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง และเลวร้ายไปกว่านั้นอาจทำให้สถาบันอัยการถูกมองว่าเป็นเพียงแค่เครื่องมือทางการเมือง ที่ใช้กฎหมายมั่วๆอย่างไรก็ได้เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองในแต่ละยุคเท่านั้น

อัยการในวันนี้จึงมีแค่สามทางเลือก คือ

1. ถอนตัวออกจากเป็นทนายให้เจ้าหน้าที่รัฐในคดีความแพ่งที่คนเสื้อแดงฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหาว่าทหารฆ่าประชาชน แล้วยอมรับว่าที่ผ่านมาที่ต่อสู้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อไปเป็นทนายให้คนเสื้อแดงแล้วยื่นต่อศาลไต่สวนในคดีชันสูตรพลิกศพคนเสื้อแดงเพื่อเอาผิดทหาร หรือ

2. ไม่ยื่นการสำนวนการไต่สวนชันสูตรพลิกศพต่อศาลในคดีที่กล่าวหาว่าทหารฆ่าประชาชน และยืนหยัดตามสิ่งที่อัยการได้เคยต่อสู้ไปแล้วก่อนหน้านี้ในคดีความแพ่งหลายคดี ว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ผิด หรือ

3. ใช้กฎหมายมั่วๆ แล้วอ้างว่ามีคนละคดี และเป็นคนละกรณีกัน

อีกไม่เกิน 2 เดือน เราจะได้รู้กันเสียทีว่าคดีนี้จะเป็นความพ่ายแพ้ของทหาร หรือ จะเป็นความพ่ายแพ้ของคนเสื้อแดง ด้วยมาตรฐานของนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ว่าแบบไหนกัน !?

Manageronline

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รีโมท ซื้อ รีโมท จากผู้ค้าส่งโดยตรง ที่มีหน้าร้านจริง ที่ บ้านหม้อ และ คลองถม ราคาถูกกว่าใคร ปลอดภัย มีรับประกัน

คนไทยกู้แผ่นดิน บนเฟชบุ๊ค

บทความย้อนหลัง